8 ปีประยุทธ์ เวียดนามแซงหน้าไทยเรื่องอะไรบ้าง

  • วัชชิรานนท์ ทองเทพ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่งมอบการเป็นประธานอาเซียนให้แก่นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนามเมื่อปี 2562

ที่มาของภาพ, Getty Images

เวียดนาม อยู่ในความสนใจของนักลงทุนต่างชาติมาหลายปีแล้ว วิกฤตโควิดทั่วโลกยิ่งเพิ่มการลงทุนจากต่างประเทศ นโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ในจีน ทำให้บรรดากลุ่มอุตสาหกรรมซับพลายเชนต่างๆ ประสบปัญหาใหญ่ตัดสินใจย้ายการผลิตมาที่ประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้

นโยบายส่งเสริมการลงทุน ค่าแรงที่ยังไม่สูงมาก การเมืองที่มีเสถียรภาพ รวมไปถึงโครงสร้างประชากรที่อยู่ในวัยทำงานจำนวนมาก ส่งผลให้เวียดนามสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง ล้วนเป็นปัจจัยที่สร้างความมั่นใจให้นักลงทุนต่างชาติ

หลายสิบปีที่ผ่านมา คนไทยมักมีคำถามว่า เมื่อไหร่ เวียดนามพัฒนาแซงหน้าไทยได้ แม้ว่าพิจารณาในภาพรวมแล้ว อาจจะมีบางส่วนที่ไทยยังดูเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้

ทว่า ณ วันนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเวียดนามบอกว่า มีหลายแง่มุมที่เวียดนามพัฒนามากขึ้นและถือว่าแซงหน้าประเทศไทยไปแล้ว โดยเฉพาะหลังจากที่ไทยต้องประสบปัญหาทางการเมืองและการรัฐประหารซ้ำซาก ทำให้เสน่ห์และความน่าสนใจด้านการลงทุนจากต่างประเทศลดลงเรื่อย ๆ

ต่างชาติลงทุนในเวียดนามมากกว่าไทย

ความขัดแย้งทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐฯ, และนโยบายการควบคุมโรคของจีน จนกลายเป็นอุปสรรคที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับผู้ประกอบการต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ล้วนส่งผลให้พวกเขาตัดสินใจย้ายฐานการผลิตมาที่เวียดนาม แทนที่จะเป็นไทย

ดร. พิสิฐ อำนวยเงินตรา ผู้เชี่ยวชาญด้านเวียดนามศึกษา อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเวียดนาม คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกกับบีบีซีไทยว่า “ถ้าพิจารณาในส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment – FDI) เวียดนามแซงไทยเมื่อปี 2014 หรือปี 2557 เป็นปีที่ไทยเกิดรัฐประหาร”

กราฟิกมูลค่าการลงทุนจากประเทศเทียบไทยเวียดนาม

ด้านเวียดนามมีการเมืองมีเสถียรภาพและนโยบายมีความต่อเนื่อง ฉะนั้นนักลงทุนเวลาพิจารณาย้ายการลงทุนไปต่างประเทศ จึงต้องพิจารณาเรื่องนี้มากพอสมควร จึงถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่พวกเขาเลือกที่จะย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนาม

นักวิชาการเจ้าของเพจ “Dr.Vietnam” ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านนี้และมีผู้ติดตามกว่า 2.2 หมื่นราย ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า หากย้อนกลับไปเมื่อ 12 ปีที่แล้ว และพิจารณา FDI ที่ไหลมายังภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะประเทศหลัก ๆ 5 ประเทศ ไทยจะได้รับเงินลงทุนจากต่างชาติราว 30% ของปริมาณการลงทุนทั้งหมด ส่วนเวียดนามได้รับส่วนแบ่งราว 10%

ทว่า 12 ปีให้หลังกลับสลับกัน ไทยได้รับการลงทุนจากต่างชาติเพียงสัดส่วน 10% ส่วนเวียดนามประมาณ 30%

“ตั้งแต่ 2014 เมื่อเขาแซงเราได้ปุ๊บ เขาก็แซงเราไกลเลยครับ (ด้วยสาเหตุดังกล่าว) ก็เลยเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการส่งออกของเขาด้วย”

แม้ว่า การเมืองไทยจะเปลี่ยนผ่านมาสู่รัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนจะยังไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเท่าที่ควร

“ในมุมของนักลงทุนชาวต่างชาติ จะมองย้อนกลับไปในอดีตของไทย ซึ่งมีการปฏิวัติบ่อยมาก นอกจากนี้ยังมีความไม่สงบทางการเมืองบ่อยครั้ง เช่น การชุมนุมทางการเมือง แต่ปัจจัยหลัก ๆ จริง ๆ ก็คือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม พอ ๆ กับการเมือง” ดร. พิสิฐ กล่าว

โปรดรอ

หากพิจารณาในแง่ขนาดเศรษฐกิจ มูลค่าของจีดีพีของไทยยังมีขนาดใหญ่กว่าของเวียดนาม เมื่อปี 2564 จีดีพีไทยมีมูลค่า 16.2 ล้านล้านบาท ในขณะที่ขนาดเศรษฐกิจของเวียดนามอยู่ที่ 13.76 ล้านล้านบาท

แต่ในแง่อัตราการเติบโต เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก การฟื้นตัวหลังวิกฤตโควิด-19 กำลังซื้อในประเทศที่แข็งแกร่ง ทำให้เวียดนามยังคงมีอัตราเติบโตสูงกว่าไทย โดยธนาคารโลกคาดการณ์จีดีพีในปี 2565 เวียดนามจะอยู่ที่ 7.2% ขณะที่ของไทยอยู่ที่ 3.1%

โปสเตอร์ขนาดใหญ่

ที่มาของภาพ, Reuters

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามจะดูโดดเด่น แต่ก็ยังมีจุดที่จะต้องปรับปรุงเพื่อช่วยให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้และความยั่งยืนในอนาคต

แคโรลีน เติร์ก ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำเวียดนาม กล่าวในรายงานล่าสุดของธนาคารโลกที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ว่า “เพื่อรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดไว้ เวียดนามต้องเพิ่มประสิทธิภาพให้ได้อย่างน้อย 2-3% ในทุก ๆ ปี จากประสบการณ์ของนานาชาติ สะท้อนให้เห็นว่า ประสิทธิภาพของแรงงานระดับสูง สามารถทำได้โดยการลงทุนด้านการศึกษา ที่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในภาพรวมของการลงทุนและปฏิรูป และความได้เปรียบทางด้านแรงงานนี้คือ สิ่งที่จำเป็นของเวียดนามในระยะยาว”

Vietnamese factory

ที่มาของภาพ, Getty Images

รายงานฉบับดังกล่าว ยังแนะนำให้เวียดนามพัฒนาในระดับอุดมศึกษาเพื่อเพิ่มผลิตภาพของประเทศ และยังจะช่วยให้ประสบความสำเร็จในการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางในระดับสูงภายในปี 2578 และประเทศที่มีรายได้สูงในปี 2588

โดยหากว่าเวียดนามอยากจะแตะเป้าหมายการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางในระดับสูง จะต้องมีนักเรียนเวียดนามที่ได้รับการศึกษาระดับอุดมศึกษามากกว่า 3.8 ล้านคน หรือคิดเป็นจำนวนเกือบสองเท่าจากที่มีในปี 2562

นอกจากนี้ธนาคารโลกยังแนะนำว่า เวียดนามจะต้องยกระดับและขยายการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ส่งเสริมบทบาทภาคเอกชน และการลดขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการเติบโตมากขึ้น

เวียดนามมีมูลค่าส่งออกแซงไทยแล้ว

ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 “การส่งออก” ดูเหมือนจะเป็นหนทางเดียวทางเศรษฐกิจที่จะสร้างรายได้หลักที่เข้ามาจุนเจือเศรษฐกิจ แต่รอยแผลที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารได้ส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตและการลงทุนจากต่างประเทศ

หากมองมาที่เพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ที่สามารถปรับตัวทางเศรษฐกิจได้ จนทำให้ยอดการส่งออกแซงหน้าไทยเป็นครั้งแรกในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 ด้วยมูลค่าการส่งออก 2.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ไทยมีมูลค่าการส่งออกรวมเพียง 1.93 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ นับจากนั้นเป็นต้นมาเวียดนามก็มีมูลค่าการส่งออกสูงกว่าไทย ที่สำคัญมีแนวโน้มห่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ

ดร. พิสิฐ อธิบายว่า การส่งออกของเวียดนามเชื่อมโยงกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ทำให้มูลค่าการส่งออกเวียดนามเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ และเมื่อลงรายละเอียดถึงสินค้าส่งออกแล้วจะเห็นแนวโน้มที่น่าสนใจ

กราฟิกเทียบการส่งออกไทยเวียดนาม

“หากเทียบสินค้าส่งออกหลักของไทย ยังคงเป็นกลุ่มยานยนต์สันดาปอยู่เลย ในขณะที่เวียดนามส่งออกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มซัพพลายเชน โดยเฉพาะ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิป เซมิคอนดักเตอร์ ก็เป็นสิ่งที่น่าห่วงกังวลสำหรับไทย” เขากล่าว

นักวิชาการรายนี้อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อเปรียบเทียบอุตสาหกรรมที่ลงทุนในไทยและเวียดนามจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน กล่าวคือ อุตสาหกรรมในไทยที่มีการลงทุนมาอย่างยาวนานและอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งใช้ระยะเวลาเปลี่ยนผ่านนานพอสมควร แต่สำหรับกรณีเวียดนามที่การลงทุนเพิ่มเข้ามา เป็นการตัดตอนมายังการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่เลยทำให้สามารถเดินหน้าได้รวดเร็วกว่า

เวียดนามมี FTA ครอบคลุมมากกว่าไทยสามเท่า

นักวิชาการรายนี้เล่าให้ฟังอีกว่า เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติมายังทุกกลุ่มอุตสาหกรรม แต่ที่เด่น ๆ นั้นคือ กลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อย่างกลุ่มโทรศัพท์มือถือ เช่น ซัมซุงก็ย้ายไปตั้งฐานผลิตใหญ่ในเวียดนาม โดยถือว่าในยอดการส่งออกของเวียดนามเป็นสัดส่วนที่เกิดขึ้นจากซัมซุงราว 20% และยังมีบริษัทเทคโนโลยีที่ย้ายมาผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น ฟอกซ์คอนน์ แอปเปิล

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าแฟชั่นแบรนด์ชั้นนำก็ย้ายไปที่เวียดนามเกือบทั้งหมด เช่น ไนกี้ อาดีดาส และนอร์ธเฟส และของเล่นอย่าง เลโก้

ดร.พิสิฐ อำนวยเงินตรา ผู้เชี่ยวชาญด้านเวียดนามศึกษา

ที่มาของภาพ, ดร.พิสิฐ อำนวยเงินตรา

ตามทัศนะของ ดร. พิสิฐ ต่อความได้เปรียบของเวียดนามที่มีเหนือไทยในขณะนี้คือ เวียดนามมีข้อตกลงด้านการค้าระหว่างประเทศครอบคลุมมากกว่าไทยสามเท่า นี่หมายถึงโอกาสที่ยิ่งใหญ่ในการเข้าถึงตลาดศักยภาพในโลกมากขึ้น โดยเฉพาะข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTTP

“ล่าสุดเขาเพิ่งเซ็น FTA กับอียู (สหภาพยุโรป) ทำให้ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าการส่งออกไปยังอียู ทำให้นักลงทุนสนใจลงทุนในเวียดนามมากขึ้น”

นอกจากนี้ ยังมีการให้สิทธิพิเศษด้านการลงทุนชาวต่างชาติอย่างน่าดึงดูดใจ โดยกระบวนการในการติดต่อทำธุรกิจในเวียดนามค่อนข้างรวดเร็ว เนื่องจากทางการเวียดนามกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัดสามารถอำนวยความสะดวกได้เต็มที่ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนชาวต่างชาติ โดยจะคิดเป็นดัชนีวัดความสำเร็จของแต่ละจังหวัดอีกด้วย

ผู้นำโลกเยี่ยมเยือนไม่ขาดสาย

คำถามจากสังคมเกี่ยวกับบทบาทของไทยในเวทีโลกที่หายไป เริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการที่นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัดสินใจไม่เดินทางเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค โดยเขาให้เหตุผลเรื่องครอบครัว

เหตุการณ์นี้อาจจะสะท้อนให้เห็นว่า เป้าหมายการเจริญสัมพันธ์และการเจรจาการค้าของนานาชาติเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านเวียดนามรายนี้สะท้อนให้เห็นถึงภาพความแตกต่างระหว่างไทยและเวียดนามดังนี้

นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ที่มาของภาพ, Getty Images

“หากลองมองย้อนกลับไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เราแทบจะไม่มีผู้นำระดับโลกมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการเพื่อเข้ามาเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หากไม่นับการจัดการประชุมเวทีระดับโลก หากเทียบกับกรณีเวียดนามจะเห็นได้ว่ามีผู้นำจากหลายประเทศเดินทางเยือนอย่างต่อเนื่อง”

บีบีซีไทยสำรวจข้อมูลที่ปรากฏในสื่อมวลชนต่างประเทศ พบว่ามีผู้นำนานาชาติระดับสูงบางส่วนที่เดินทางเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ

ย้อนไปปี 2562 ซึ่งเวียดนามเป็นประธานอาเซียน นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีน นายคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ สมเด็จพระราชาธิบดีฮัสซานัล โบลเกียห์ แห่งบรูไน และผู้นำจากเนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ล้วนไปเยือน

ในปี 2559 เจ้าชายวิลเลี่ยมแห่งราชวงศ์อังกฤษ เดินทางเยือนเวียดนาม และนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ภาพการเยือนของนายโอบามา อดีตผู้นำสหรัฐฯ ถูกแขวนไว้บนกำแพงในร้านอาหารที่เวียดนาม เพื่อย้ำเตือนว่าเขาเคยมารับประทานอาหารที่นั่น

ที่มาของภาพ, Getty Images

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งตั้งแต่ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อ 8 ปีก่อน ยืนยันว่า การลงทุนจากต่างประเทศในไทยเป็นไปอย่างต่อเนื่องตามแผนที่กำหนด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมใหม่ที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็เป็นไปด้วยดี

น.ส. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล บอกกับบีบีซีไทยว่า ที่ผ่านมา ไทยยังคงสานสัมพันธ์ทางการทูตการค้ากับรัฐบาลต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันยังส่งเสริมการลงทุนระหว่างเอกชนไทยและต่างชาติเสมอมาผ่าน 3 กลไกหลัก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)

โรงงาน

ที่มาของภาพ, Getty Images

“ธุรกิจที่จะตัดสินใจลงทุนจะอยู่ที่ระดับคอร์ปอเรต (องค์กร) มากกว่า และถ้าเป็นเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ดีมาอยู่แล้ว ส่วนภาคเอกชนก็มีการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบเอกชนต่อเอกชน อย่างเช่นการทำจับคู่ทางธุรกิจ การโปรโมตสิทธิพิเศษทางการลงทุนในประเทศและทิศทางยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมที่ส่งเสริมโดยเฉพาะในเขตอีอีซี” รองโฆษกรัฐบาล อธิบาย

แม้ว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลยังดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในไทยผ่านระบบออนไลน์ ส่วนอุตสาหกรรมที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ ได้แก่ กิจการกลุ่ม Bio-Circular-Green Economy หรือ เศรษฐกิจ BCG เพื่อทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยและอุดช่องว่างการส่งเสริมการลงทุนธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดห่วงโซ่อุปทาน

น.ส. รัชดา บอกว่า สิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลดำเนินการมาถูกทางคือ สถิติการขอรับส่งเสริมการลงทุนช่วง 6 เดือนแรกปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย.) มูลค่ารวม 219,710 ล้านบาท

“วินฟาสต์” รถ EV แห่งชาติเพื่อการส่งออก

ข่าวการประกาศการลงทุนเป็นมูลค่ากว่า 1.79 หมื่นล้านบาทของบีวายดี บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ที่ใหญ่ทีสุดของจีน โดยปักหลักสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ใน จ. ระยอง เพื่อการส่งออก กลายเป็นพาดหัวข่าวธุรกิจเมื่อต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา คือดีลธุรกิจครั้งใหญ่จากต่างประเทศและเป็นอุตสาหกรรมอนาคต

การลงทุนครั้งนี้ บริษัทดังกล่าวเปิดเผยว่า จะเริ่มเดินเครื่องในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิต 1.5 แสนคันต่อปี และคาดว่าจะช่วยให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถ EV ระดับโลก

เจ้าของเพจ ดร. เวียดนาม มองว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าจับตา เพราะเป็นการดึงดูดกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่เข้ามาลงทุนเพื่อการส่งออกและจำหน่ายในประเทศ

VinFast Reveals Its Electric Vehicle Lineup and Technologies at CES 2022 Las Vegas

ที่มาของภาพ, Getty Images

“ทิศทางดังกล่าวกลับแตกต่างจากความพยายามของเวียดนามที่เรียนรู้และใช้โมเดลการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศของไทย โดยมองเห็นว่า การเป็นเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกเพียงอย่างเดียวอย่างไทย ไม่สามารถทำให้ประเทศหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้” เขาอธิบาย

สิ่งที่เวียดนามกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้คือ การเจริญรอยตามประเทศทั้งที่จะกำลังจะประสบความสำเร็จและที่ทำได้แล้ว อย่างจีนและเกาหลีใต้ ที่พัฒนาจากประเทศการเป็นฐานการผลิตมาสู่ การสร้างแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเองเพื่อการบริโภคในประเทศและการส่งออก

“หนึ่งในโมเดลนั้นคือ วินฟาสต์ รถยนต์ EV สัญชาติเวียดนาม โดยได้ประกาศการลงทุนในสหรัฐฯ ไปแล้ว โดยคาดหวังว่าการมีฐานการผลิตในประเทศที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้ และมีเทคโนโลยีที่เหนือกว่าจะทำให้พวกเขาสามารถเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีมาเป็นของตนเองและมองว่าระบบนิเวศทางธุรกิจที่เอื้อต่อการพัฒนาสินค้า”

โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

ที่มาของภาพ, Getty Images

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการรายนี้มองว่า อาจจะเร็วเกินไปที่จะประเมินว่า โครงการดังกล่าวจะสำเร็จหรือไม่ เพราะยังอยู่ในช่วงเริ่มแรก และยังขาดทุน แต่เชื่อว่าเป็นความพยายามที่ดี ต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

“นี่เป็นความน่าสนใจที่เขากล้าทำ แต่ไทยยังไม่กล้าทำ”

ตลาดแรงงาน-ผู้บริโภคเวียดนามกำลังเติบโต

โครงสร้างประชากรของเวียดนาม ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งในแง่จำนวนแรงงาน ที่ค่าจ้างยังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับไทย ขณะเดียวกันในส่วนของการผลิตเพื่อป้อนความต้องการในประเทศก็ยังถือว่ามีโอกาส เพราะฐานประชากรที่ใหญ่โต และที่สำคัญคือ อัตราการเกิดในเวียดนามยังอยู่ในอัตราที่ดี

กราฟิกเทียบสัดส่วนประชากรไทยเวียดนาม

นักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านเวียดนามต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า โจทย์ใหญ่ของไทยคือ ประชากรกว่า 70 ล้านคน กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ขณะที่เวียดนาม ซึ่งมีประชากรกว่า 97 ล้านคนกลับเต็มไปด้วยคนวัยแรงงาน และยังมีอัตราการเกิดสูงกว่าด้วย

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investor) สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) เปิดเผยสื่อหลายสำนักเมื่อ ส.ค. ที่ผ่านมา วิเคราะห์ถึงปัจจัยที่สำคัญเมื่อเปรียบเทียบระหว่างไทยและเวียดนาม คือ “ประชากรไทยมีอายุสูงขึ้นมากและอัตราการเกิดต่ำมาก และกำลังเป็น “สังคมคนแก่” ซึ่งจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตนั้นเป็นไปได้ แต่ต้องเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน”

เวียดนาม

ที่มาของภาพ, Getty Images

ขณะที่ ดร. พิสิฐ บอกว่า แม้ว่ารายได้ต่อหัวของคนเวียดนามอยู่ราวปีละ 3,600 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งน้อยกว่าไทยที่มีรายได้เฉลี่ย 7,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีก็ตาม จากข้อมูลสิ้นปี 2564 แต่ด้วยจำนวนประชากรวัยแรงงานที่มีตลาดค่อนข้างใหญ่ ยังถือว่าเป็นโอกาสสำหรับกลุ่มนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนทั้งเพื่อการส่งออกและการจำหน่ายสินค้าในประเทศ

Staff wait to welcome guests in the lobby of the newly-inaugurated Hanoi Golden Lake hotel, the world"s first gold-plated hotel, in Hanoi on July 2, 2020.

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

“หากมองในภาพรวม เมื่อเม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจเติบโต คนในประเทศยังมีกำลังทำงาน มีกำลังซื้อ บริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการกระตุ้นการขายก็ต้องจัดกิจกรรมทางการตลาด เป็นผลให้เกิดการสนับสนุนการจัดอีเวนต์ทางการตลาดรวมถึงการเป็นเจ้าภาพประกวดต่าง ๆ รวมถึงเวทีนางงามสัญชาติไทยอย่าง มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่เวียดนามจะเป็นเจ้าภาพในปี 2566”

ผู้เชี่ยวชาญด้านเวียดนามรายนี้ ทิ้งท้ายว่า หากพิจารณาโดยภาพรวมแล้ว เวียดนามอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เทียบเท่ากับไทย แต่หากไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษกิจที่เติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพได้ ระยะเวลาดังกล่าวอาจจะไม่นานนัก


……

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว