น้ำรอระบายบนถนนท่วมทะลักเข้าไปภายในรถเมล์ จนคนวิจารณ์ว่า “เหมือนนั่งเรือ” ฝนตกเพียงไม่นานน้ำท่วมถึงเอวในย่านที่อยู่อาศัยเมืองทองธานี จนถูกขนานนามว่า “ทะเล” นี่คือสถานการณ์น้ำในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ต.ค. แต่ยังไม่ถึงจุดที่น่าวิตกสุดที่คาดว่าจะมาถึงช่วง 4 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 7-10 ต.ค. นี้
เข้าสู่เช้าวันที่ 5 ต.ค. ระดับน้ำในหลายพื้นที่ยังคงไม่ลดลง โดยที่บริเวณหน้าเมืองทองธานี ถึงสะพานข้ามแยกคลองประชา ถนนแจ้งวัฒนะ ยังคงมีน้ำท่วมขังสูงถึงทางเท้า จนผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์โพสต์วิจารณ์ว่า “นึกว่านั่งเรือ”
ขณะที่ 1197 สายด่วนจราจรรายงานตรงกันว่า ถนนแจ้งวัฒนะ จากเมืองทอง มุ่งหน้าไปแยกหลักสี่ ยังมีน้ำท่วมบนถนน
ด้านสำนักงานเขตหลักสี่รายงานผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กถึงจุดเฝ้าระวังที่พบปัญหาน้ำท่วมขัง จากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาวานนี้ (3 ต.ค.) ถึง 165.5 มิลลิเมตร โดยมีจุดเฝ้าระวัง ดังนี้
ถนนสายหลัก
1. ถนนแจ้งวัฒนะ มุ่งหน้าไปทางรามอินทรา น้ำท่วมขังคือจราจร 10-15 เซนติเมตร ระยะทางประมาณ 70 เมตร
2. ถนนแจ้งวัฒนะ มุ่งหน้าไปทางปากเกร็ด น้ำท่วมขังผิวจราจร 5-10 เซนติเมตร ความกว้าง 1 ผิวจราจร ยาวประมาณ 100 เมตร
ถนนสายรอง
1. ซอยแจ้งวัฒนะ 10 แยก 9-1 (ซอยมีสุข) น้ำท่วมผิวจราจร 10-15 เซนติเมตร ตลอดเส้น
2. หมู่บ้านสุขนิรันดร์น้ำท่วมขังผิวจราจร 15 เซนติเมตร ตลอดทั้งหมู่บ้าน
3. ซอยแจ้งวัฒนะ 14 น้ำท่วมขังผิวจราจร 20-60 เซนติเมตร ตลอดทั้งซอย บริเวณรอบบึงสีกัน
4. หมู่บ้านการไฟฟ้า ซอยประชาชื่น 14 น้ำท่วมขังสูง 10-15 เซนติเมตร ตลอดทั้งหมู่บ้าน
6. การเคหะท่าทราย ประชาชื่น 12 แยก 1 น้ำท่วมขังผิวจราจร 10-15 เซนติเมตร
7. ถนนนอร์ธปาร์ค ซอยงามวงศ์วาน 47 แยก 42 น้ำท่วมผิวจราจร 15- 30 เซนติเมตร ระยะทาง 250 เมตร
8. หมู่บ้านโสสุนคร น้ำท่วมขังจราจร 10-15 เซนติเมตร ตลอดหมู่บ้าน
กทม.-ปริมณฑล เตรียมเจอของจริง ?
ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ให้สัมภาษณ์ในรายการ “เจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์” ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเย็นวันที่ 3 ต.ค. ไม่ได้เป็นผลกระทบจากพายุโนรู แต่เกิดจากร่องมรสุมทางฝั่งตะวันตกจากมหาสมุทรอินเดีย เสริมด้วยอากาศเย็นจากมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้ช่วงเย็นมีฝนตกหนักเฉลี่ยทุกพื้นที่เกิน 100 มิลลิเมตร ใน 24 ชั่วโมง
พร้อมเตือนว่า “ปรากฎการณ์นี้ยังคงอยู่ ค่ำนี้คืนนี้ก็จะมีกลุ่มฝนเป็นระลอกอีก” เพราะมวลอากาศเย็นดังกล่าวยังคงอยู่ แต่จะค่อย ๆ อ่อนกำลังลง สิ่งที่รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้ในช่วง 4-10 ต.ค. มีดังนี้
- 4-7 ต.ค. – ฝนยังตกอยู่ และมีโอกาสจะเกิดเหตุการณ์เหมือนวันที่ 3 ต.ค. อีก
- 8 ต.ค. – ฝนตกมากขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล รวมถึงภาคอีสาน เหนือ กลาง และตะวันออก
- 9-10 ต.ค. – มวลอากาศเย็นรุนแรงจากจีนเริ่มเข้ามา ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีอากาศแห้งขึ้น แต่ช่วงแรกที่เข้ามาจะก่อให้เกิดฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักขึ้น
ส่วนเหตุผลที่ฝนตกใน กทม. และปริมณฑล หนักในช่วงนี้ เป็นเพราะ “ร่องมรสุมมันอยู่ในแนวภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออกเลย” และ “กรุงเทพฯ มีโอกาสจะเจอแบบเมื่อวันที่ 3 ต.ค. อีก มันจะเกิดปรากฎการณ์แบบนี้เสมอ”
การคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา สอดคล้องกับที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ยอมรับว่า สถานการณ์น้ำในกรุงเทพฯ กำลังอยู่ในจุดเปราะบางที่สุด จากน้ำเหนือไหลลงมา ประกอบกับมีน้ำทะเลหนุนเพิ่มเติม คาดว่าจะสูงสุดช่วง 7-10 ต.ค. นี้
แนวทางรับมือของชัชชาติ
วานนี้ (3 ต.ค.) นายชัชชาติ ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงมหาดไทยถึงแนวทางจัดการน้ำ โดย กทม. เสนอทำทางด่วนน้ำในเขตลาดกระบัง จากคลองลำปลาทิวลงมาทางทิศตะวันออก ไปออกที่คลองร้อยคิว เป็นระยะทาง 20 กิโลเมตร เพราะจุดนี้น้ำระบายออกยาก
แต่กรมชลประทานเสนอแนวทางที่ต่างกันว่า ให้ระบายน้ำออกทางคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต แต่เสริมคันคลองไปถึงบางปะกง ส่งผลให้แนวทางจัดการน้ำยังไม่ได้ข้อสรุป
กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนภัยสภาพอากาศ ช่วงวันที่ 4-13 ต.ค. ดังนี้
4-9 ต.ค. – ฝนทางตอนบนของภาคเหนือและภาคอีสาน จะเริ่มเบาลงบ้าง แต่ภาคกลาง (กทม. และปริมณฑล) ภาคตะวันออก และภาคใต้ ยังมีฝนตกต่อเนื่อง มีตกหนัก เนื่องมาจากมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุมทางตอนบน ทำให้ร่องมรสุมพาดผ่านภาคอีสานสานตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก
ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย และมีลมตะวันออก ลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดปกคลุมภาคอีสานเสริมอีกแรง
จึงยังต้องระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้
คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
10 -13 ต.ค. – จะมีฝนเพิ่มขึ้นในระยะแรก (10 ต.ค.) หลังจากนั้นฝนจะเริ่มลดลงชัดเจน ทิศทางลมเริ่มเปลี่ยนแปลงทิศทาง เนื่องจากมีมวลอากาศเย็น แผ่ลงมาปกคลุม ทางภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน จึงทำลมเริ่มเปลี่ยนทิศ เป็นลมตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น เป็นสัญญาณการเริ่มเปลี่ยนแปลงฤดูกาล