สี จิ้นผิง : จาก “เจ้าชายน้อย” แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน สู่ผู้นำจีนที่อาจครองอำนาจไปชั่วชีวิต

ในการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ในวันที่ 16 ต.ค. 2022 สี จิ้นผิง เตรียมขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีจีนเป็นสมัยที่ 3 ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เมื่อกฎที่จำกัดการดำรงตำแหน่งเพียง 2 วาระได้ถูกยกเลิกไปในปี 2018 เขาก็สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ไปชั่วชีวิต

ภายใต้การนำประเทศของเขาตั้งแต่ปี 2012 จีนมีความเป็นเผด็จการควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศมากขึ้น ปราบปรามผู้เห็นต่าง ผู้วิพากษ์วิจารณ์ และแม้กระทั่งเศรษฐีและบริษัทต่าง ๆ ที่ทรงอิทธิพล บางฝ่ายบอกว่าเขาเป็น “ผู้นำที่เป็นเผด็จการที่สุดตั้งแต่เหมา เจ๋อตุง”

จีนในยุคของเขาสร้าง “ค่ายปรับทัศนคติ” ในเขตปกครองตนเองซินเจียง ซึ่งโดนกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติอื่น ๆ จีนเข้าไปควบคุมฮ่องกงมากขึ้นและให้คำมั่นสัญญาว่าจะ “รวมชาติ” กับไต้หวันแม้จะต้องใช้กำลังก็ตาม

สิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าเขามีอิทธิพลมากแค่ไหนคือการที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนบัญญัติ “แนวคิดของ สี จิ้นผิง เกี่ยวกับสังคมนิยมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะแบบจีนสำหรับศักราชใหม่” ลงไปในธรรมนูญของพรรค โดยก่อนหน้านี้มีเพียงอดีตผู้นำอย่างเหมา เจ๋อตุง และเติ้ง เสี่ยวผิง ที่เคยทำได้

จากผู้ถูกใช้แรงงานสู่ผู้นำประเทศ

สี จิ้นผิง เกิดเมื่อปี 1953 เขาเป็นลูกของ สี จงซุน หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์และอดีตรองนายกรัฐมนตรี

ด้วยพื้นเพเช่นนี้ นายสีถูกมองว่าเป็น “เจ้าชายน้อย” หรือ “princeling” ซึ่งหมายถึงลูกเจ้าหน้าที่ระดับสูง

แต่จู่ ๆ ชะตากรรมก็พลิกผันหลังจากพ่อเขาถูกคุมขังในปี 1962 ด้วยความเคลือบแคลงสงสัยว่าคนในพรรคจะกบฏต่อต้าน เหมา เจ๋อตุง เลยสั่งกวาดล้างคนที่อาจขึ้นมาเป็นคู่แข่งเขาเขาได้ จากนั้นในปี 1966 ก็เกิดสิ่งที่เรียกกันว่า “การปฏิวัติวัฒนธรรมจีน” ที่คนหลายล้านถูกตีตราว่าเป็นศัตรูของวัฒนธรรมแบบจีน ทำให้เกิดความรุนแรงไปทั่วประเทศ

ครอบครัวของนายสีก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ข้อมูลทางการระบุว่าน้องสาวคนละแม่ของสีถูกประหัตประหารจนเสียชีวิต แต่รายงานโดยหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ระบุว่า นักประวัติศาสตร์ที่ใกล้ชิดกับชนชั้นผู้นำบอกว่าเธอน่าจะถูกขู่บังคับให้ฆ่าตัวตาย

นายสีในวัยเด็กต้องออกจากโรงเรียนที่เหล่าลูกนักการเมืองผู้มีอิทธิพลไปเรียนกัน ในที่สุด เมื่ออายุ 15 ปี เขาออกจากกรุงปักกิ่งและถูกสั่งไป “ปรับทัศนคติ” และถูกใช้แรงงานอย่างหนักในหมู่บ้านเหลียงเจียเหอ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ 7 ปี

Xi Jinping at the opening ceremony of the Beijing 2022 Winter Olympic Games

ที่มาของภาพ, Getty Images

แต่แทนที่จะเกลียดแค้นพรรคคอมมิวนิสต์จีน นายสีกลับอ้าแขนเปิดรับแนวคิดของพรรคนี้ เขาพยายามจะเข้าร่วมพรรคหลายรอบแต่ก็ไม่สำเร็จเพราะชื่อเสียงพ่อ

ในที่สุด เขาก็ได้รับเข้าพรรคในปี 1974 โดยเริ่มงานที่มณฑลเหอเป่ย์ ก่อนที่จะไต่เต้าได้ตำแหน่งอาวุโสขึ้นเรื่อยๆ

ในปี 1989 ขณะอายุ 35 ปี เขาเป็นหัวหน้าพรรคในเมืองหนิงเต๋อ ซึ่งอยู่ทางใต้ของมณฑลฝูเจี้ยน ขณะที่เกิดการประท้วงเรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่ง

แม้ว่ามณฑลนี้ห่างไกลจากเมืองหลวง แต่มีรายงานว่านายสีและเจ้าหน้าที่พรรคคนอื่น ๆ พยายามที่จะควบคุมไม่ให้กระแสประท้วงขยายมาในพื้นที่นี้ขณะที่การเคลื่อนไหวกำลังดำเนินไปในกรุงปักกิ่ง

ทุกวันนี้ เหตุประท้วงในครั้งนั้นซึ่งเป็นเสียงสะท้อนความไม่ลงรอยกันภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน และการปราบปรามอย่างรุนแรงในเวลาต่อมา ถูกลบทิ้งออกไปจากประวัติศาสตร์ของประเทศ การละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรงในครั้งนั้นทำให้จีนเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2000 ไม่สำเร็จ ประเมินกันว่าการปราบปรามที่จัตุรัสเทียนอันเหมินทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยไปจนถึงหลายพันราย

อย่างไรก็ดี เกือบ 2 ทศวรรษต่อมา นายสีได้รับมอบหมายให้จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2008 ที่กรุงปักกิ่ง จีนตั้งใจมากที่จะแสดงให้เห็นว่าเรื่องในอดีตผ่านไปแล้วและพวกเขาเหมาะสมที่จะเป็นเจ้าภาพ และนั่นก็ดูจะได้ผล การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าจีนเป็นชาติมหาอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับนายสีเอง เขามีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อย ๆ จนได้เป็นสมาชิกคณะกรรมการกรมการเมือง (Politburo Standing Committee) และในปี 2012 ก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี

Chinese President Xi Jinping and his wife, Peng Liyuan attend the welcoming banquet for the BRICS Summit, in Xiamen, China 4 September 2017.

ที่มาของภาพ, Reuters

นายสีและภรรยาเขา เผิง ลี่หยวน นักร้องดัง ออกสื่อของรัฐบ่อยครั้งในฐานะคู่สามีภรรยาหมายเลขหนึ่งของจีน ต่างจากภรรยาของผู้นำจีนคนที่ผ่านมา พวกเขามีลูกสาวหนึ่งคนชื่อ สี หมิงเจ๋อ แต่ไม่มีใครรู้เรื่องราวของเธอมากนักนอกจากว่าเธอเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด

ความฝันแบบจีน

นายสีใช้ความพยายามอย่างมากที่จะทำให้จีนเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ ภายใต้การนำของเขา จีนซึ่งเป็นชาติที่ขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ทำการปฏิรูปเพื่อรับมือกับเศรษฐกิจที่เติบโตช้า ไม่ว่าจะเป็นปฏิรูปกิจการที่เป็นของรัฐ, ลดระดับมลพิษ และดำเนินโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ที่มุ่งขยายเส้นทางการค้าของจีนไปทั่วโลก

Man cleaning a train

ที่มาของภาพ, Getty Images

บนเวทีโลก จีนแสดงความมั่นอกมั่นใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นท่าทีแข็งกร้าวมากบริเวณทะเลจีนใต้ ไปจนถึงการลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกา

อย่างไรก็ดี ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดเริ่มชะลอลงอย่างมากแล้ว โดยนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ที่ตัดขาดพวกเขาออกจากโลกภายนอก ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่เข้าไปใหญ่

“ผู้นำที่เป็นเผด็จการที่สุดตั้งแต่เหมา เจ๋อตุง”

ตั้งแต่ขึ้นเป็นผู้นำประเทศ นายสีสั่งปราบปรามการทุจริตอย่างกว้างขวางโดยแม้แต่นักการเมืองระดับสูงสุดในพรรคก็โดนด้วย ผู้วิพากษ์วิจารณ์มองว่านี่เป็นการจัดการศัตรูทางการเมือง

นอกจากนี้ จีนในยุคของเขายังจำกัดสิทธิเสรีภาพของคนในประเทศมากขึ้นด้วย

ในเขตปกครองตนเองซินเจียง กลุ่มสิทธิมนุษยชนเชื่อว่ารัฐบาลคุมขังชาวอุยกูร์มากกว่า 1 ล้านคนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยรัฐบอกว่าเป็น “ค่ายปรับทัศนคติ” จีนปฏิเสธข้อกล่าวหาจากสหรัฐฯ และชาติอื่น ๆ ว่ากำลังทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่นั่น

Protesters in Causeway Bay in 2019

ที่มาของภาพ, EPA

นอกจากนี้ จีนเข้าไปควบคุมฮ่องกงมากขึ้น โดยนายสีจัดการการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงด้วยการผ่านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติซึ่งกำหนดให้การแบ่งแยกดินแดน, การล้มล้างอำนาจ, การก่อการร้าย และการสมรู้ร่วมคิดกับกองกำลังต่างชาติหรือกองกำลังจากภายนอก เป็นอาชญากรรม และมีโทษสูงสุดคือการจำคุกตลอดชีวิต

กฎหมายนี้นำไปสู่การจับกุมนักเคลื่อนไหวและนักการเมืองมากมาย รวมถึงการปิดตัวของสื่อชั้นนำอย่าง แอปเปิล เดลี และสแตน นิวส์

ภายใต้การนำของนายสี จีนยังได้มุ่งความสนใจไปที่ไต้หวัน โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะ “รวมชาติ” กับไต้หวัน และขู่ใช้ความรุนแรงทางทหารหากไต้หวันพยายามจะประกาศตัวเป็นเอกราช

เมื่อดูอำนาจและอิทธิพลของจีนบนเวทีนานาชาติแล้ว ทั่วโลกจะจับตาดูการก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีจีนเป็นสมัยที่ 3 ของสี จิ้นผิง ชายวัย 69 ปีที่ถือว่าทรงอิทธิพลมากที่สุดในจีนตั้งแต่การเสียชีวิตของเหมา เจ๋อตุง ในทศวรรษ 1970

……

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว