
- เคต วอนเนล
- ผู้สื่อข่าวการเมือง, บีบีซีนิวส์
นางลิซ ทรัสส์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ส่งผลให้ต้องมีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งจะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของอังกฤษ
คาดว่าการแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟคนใหม่จะมีขึ้นภายในปลายสัปดาห์หน้า
ผู้ที่จะลงสมัครชิงชัยตำแหน่งนี้จะต้องได้รับการเสนอชื่อจาก ส.ส.พรรคคอนเซอร์เวทีฟอย่างน้อย 100 คน ซึ่งหมายความว่าจะมีผู้ลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟไม่เกิน 3 คน เพราะพรรคมีจำนวน ส.ส.ทั้งสิ้น 357 คน

ทว่าในทางปฏิบัติมักจะมีผู้ลงชิงตำแหน่ง 2 คน หรือแม้แต่คนเดียว ซึ่งกรณีที่มีผู้ลงชิงตำแหน่งเพียงคนเดียว บุคคลนั้นก็จะได้เป็นหัวหน้าพรรคโดยไม่ต้องมีการลงคะแนนชี้ขาดจากสมาชิกพรรคคอนเซอร์เวทีฟ
จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีผู้ใดยืนยันว่าจะลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่ก็มีผู้ที่อาจลงท้าชิงอยู่ด้วยกันหลายคน
ริชี สุนัค

ที่มาของภาพ, Reuters
ริชี สุนัค เคยเป็นคู่ท้าชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟกับนางทรัสส์ หลังจากนายบอริส จอห์นสัน ประกาศลาออกเมื่อช่วงกลางปีนี้ ในตอนนั้นเขาได้คะแนนสนับสนุนจาก ส.ส.พรรคมากที่สุด
ในช่วงการหาเสียงเขาเตือนว่าแผนนโยบายภาษีของนางทรัสส์จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร ทว่าถ้อยคำของเขาไม่สามารถจูงใจสมาชิกพรรคได้ และทำให้เขาพ่ายแพ้ไปในที่สุด
นายสุนัค เพิ่งจะได้เป็น ส.ส.ในปี 2015 ในเขตเลือกตั้งริชมอนด์ ของมณฑลนอร์ทยอร์กเชียร์ และไม่เป็นที่รู้จักของสาธารณชมมากนัก แต่ในเดือน ก.พ.ปี 2020 เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
หลังจากนั้นไม่นาน เขาต้องบริหารจัดการเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 โดยต้องใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตในช่วงที่ประเทศต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้คะแนนนิยมในตัวเขาพุ่งสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ชื่อเสียงของเขาเริ่มเสียหายหลังมีข่าวฉาวเรื่องการเลี่ยงภาษีของภรรยา และการถูกปรับฐานทำผิดกฎข้องบังคับเรื่องการล็อกดาวน์
นางแอนเจลา ริชาร์ดสัน ส.ส.พรรคคอนเซอร์เวทีฟ ประกาศตัวสนับสนุนนายสุนัคให้ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคต่อไป หลังจากก่อนหน้านี้เคยสนับสนุนเขาในการลงชิงตำแหน่งต่อจากนายจอห์นสันมาแล้ว
เพนนี มอร์ดอนท์

ที่มาของภาพ, Reuters
เพนนี มอร์ดอนท์ ได้ลิ้มรสการเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ หลังจากรับหน้าที่ตอบคำถามแทนนางทรัสส์ ในระหว่างการตั้งคำถามฉุกเฉินในการประชุมรัฐสภา
เธอได้รับคำชื่นชมว่ามีความมั่นใจในการทำหน้าที่ดังกล่าว และอาจคาดหวังจะได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำคนต่อไปของพรรคคอนเซอร์เวทีฟ
นางมอร์ดอนท์ เคยประกาศแข่งขันชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคมาแล้วก่อนหน้านี้ และได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งจากเพื่อน ส.ส.ในพรรค ทว่าเข้าไม่ถึงรอบ 2 คนสุดท้ายที่นางทรัสส์และนายสุนัคต้องขับเคี่ยวกัน
หลังจากให้การสนับสนุนนางทรัสส์ นางมอร์ดอนท์ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำฝ่ายรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎร และเป็นประธานสภาองคมนตรี ซึ่งทำให้เธอรับหน้าที่ประธานในสภาการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักร
ในปี 2019 นางมอร์ดอนท์ สร้างประวัติศาสตร์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหญิงคนแรกของหราชอาณาจักร
ขณะนี้นางมอร์ดอนท์ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส.ร่วมพรรคคือ จอห์น ลามอนต์, มาเรีย มิลเลอร์, บ๊อบ ซีลีย์ และเดเมียน คอลลินส์
บอริส จอห์นสัน

ที่มาของภาพ, Getty Images
บอริส จอห์นสันถูกบีบให้ประกาศลาออกจากตำแหน่งในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา หลังมีกระแสต่อต้านจากบรรดารัฐมนตรี และ ส.ส.ในพรรค ที่สืบเนื่องมาจากกรณีอื้อฉาวเรื่องการจัดงานเลี้ยงที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีในช่วงที่ประเทศดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ รวมทั้งเรื่องฉาวอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงการแต่งงานนายคริส พินเชอร์ เป็นรองวิปรัฐบาลทั้งที่รับรู้ว่านายพินเชอร์เคยถูกร้องเรียนอย่างเป็นทางการเรื่อง “พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม”
อย่างไรก็ตาม นายจอห์นสันยังมีพันธมิตรที่เป็น ส.ส.และสมาชิกพรรคคอนเซอร์เวทีฟ หนึ่งในผู้ที่ให้การสนับสนุนเขามายาวนานคือ นางนาดีน ดอร์รีส์ ซึ่งระบุว่านายจอห์นสันควรกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง เพราะเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนในการเลือกตั้งปี 2019
ส่วน ส.ส.คนอื่นที่หนุนการหวนคืนอำนาจของนายจอห์นสัน มีอาทิ พอล บริสโตว์, เบรนเดน คลาร์ก-สมิธ, แอนเดรีย เจนกินส์ และไมเคิล ฟาบริแคนต์
เคมี เบเดอนอค

ที่มาของภาพ, PA Media
เคมี เบเดอนอค ถือเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่สร้างความประหลาดใจในศึกชิงตำแหน่งครั้งที่ผ่านมา ซึ่งแม้เธอจะไม่ได้รับชัยชนะ แต่ก็ทำให้เธอกลายเป็นที่รู้สึกเพิ่มขึ้น
แม้จะเป็นรัฐมนตรีที่ค่อนข้างอ่อนอาวุโส แต่เธอก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐมนตรีรุ่นใหญ่อย่างไมเคิล โกฟ
นางเบเดอนอค เกิดในย่านวิมเบิลดันทางตอนใต้ของกรุงลอนดอน แต่ไปเติบโตในสหรัฐฯ และไนจีเรีย ซึ่งมารดาที่เป็นอาจารย์ด้านจิตวิทยามีงานสอนหนังสือ
ก่อนจะได้เป็น ส.ส.เธอเคยทำงานธนาคาร Coutts และนิตยสาร The Spectator
ตำแหน่งสูงสุดที่เธอทำในรัฐบาลคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ
ซูเอลลา เบรเวอร์แมน

ที่มาของภาพ, Getty Images
การลาออกของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นตัวเพิ่มแรงกดดันให้นางทรัสส์ ส่งผลให้เธอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรีในอีกไม่ถึง 24 ชั่วโมงถัดมา
แม้การลาออกของนางเบรเวอร์แมนจะเกี่ยวกับปัญหาการทำข้อมูลรัฐบาลรั่วไหล แต่จดหมายลาออกที่แสดงความโกรธของเธอบ่งชี้ว่ามีความขัดแย้งเรื่องคนเข้าเมือง
ที่ผ่านมา นางเบรเวอร์แมนดังดูดสมาชิกฝ่ายขวาของพรรคด้วยประเด็นด้านสังคม โดยชี้ว่า ความฝันของเธอคือการเริ่มส่งผู้อพยพไปยังประเทศรวันดา
นางเบรเวอร์แมนเป็นผู้สนับสนุนเบร็กซิต และเคยดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดในสมัยที่นายจอห์นสันเป็นนายกรัฐมนตรี เธอเคยลงชิงชัยตำแหน่งหัวหน้าพรรคต่อจากนายจอห์นสัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
พ่อแม่ของนางเบรเวอร์แมนอพยพมาอังกฤษจากเคนยา และมอริเชียส ในช่วงทศวรรษที่ 1960 และต่างลงเล่นการเมืองท้องถิ่น โดยที่แม่ของเธอเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น 16 ปี
นางเบรเวอร์แมนเป็นรัฐมนตรีคนแรกที่ใช้สิทธิลาคลอดบุตร หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย จากที่ในอดีตผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่ต้องการลาคลอดบุตรมักต้องลาออกจากตำแหน่ง
เบน วอลเลซ (ประกาศไม่ลงชิงตำแหน่ง)

ที่มาของภาพ, PA Media
แม้คนในพรรคคอนเซอร์เวทีฟจะมีทัศนคติที่แตกต่างกันเรื่องของหัวหน้าพรรคคนใหม่ แต่ดูเหมือนว่าคนส่วนใหญ่จะมองว่านายเบน วอลเลซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม นายวอลเลซประกาศในวันนี้ (21 ต.ค.) ว่าจะขอปฏิบัติภารกิจที่กระทรวงกลาโหมต่อไป และให้การสนับสนุนนายจอห์นสัน ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากประชาชนในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2019
เขากล่าวว่า “คุณจะต้องรู้สึกว่านี่คืองานสำหรับคุณจริง ๆ”
นายวอลเลซโพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ว่า “ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหราชอาณาจักร และภัยคุกคามในปัจจุบันจำเป็นต้องมีเสถียรภาพในกระทรวง”
นายวอลเลซได้รับความสนใจมากขึ้นนับแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครนปะทุขึ้น จากการที่สหราชอาณาจักรตัดสินใจอย่างรวดเร็วที่จะให้การสนับสนุนรัฐบาลยูเครนทางด้านอาวุธและการฝึกฝนด้านการทหาร
แม้จะมีแนวคิดต่อต้านเบร็กซิต แต่นายวอลเลซถือเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของนายจอห์นสัน และได้รับการตอบแทนให้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐบาลในปี 2019
ก่อนจะเป็นนักการเมือง นายวอลเลซเคยรับราชการทหารซึ่งถูกส่งไปประจำการในเยอรมนี ไซปรัส เบลิซ และไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเขาเคยสกัดการกลุ่มไออาร์เอที่พยายามก่อเหตุระเบิดโจมตีทหารอังกฤษ
หลังจากนายจอห์นสันลาออกจากตำแหน่งก็มีเสียงสนับสนุนให้นายวอลเลซลงชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค แต่เขาปฏิเสธแล้วให้การสนับสนุนนางทรัสส์แทน
……….
ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว