ริชี ซูแน็ก : ประวัติศาสตร์อันซับซ้อนของบรรพบุรุษนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร

  • แฮร์เรียต ออร์เรลล์
  • บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส

ขณะที่สหราชอาณาจักรกำลังได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ได้มีการพูดถึงรากเหง้าความเป็นมาผู้นำคนแรกของประเทศที่มีพื้นเพมาจากชาติพันธุ์กลุ่มน้อย

ริชี ซูแน็ก ครองสถิติคนแรกในหลายด้านในสหราชอาณาจักร เขาเป็นชาวอังกฤษเชื้อสายเอเชียคนแรกที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้นับถือศาสนาฮินดูคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้

พรรคคอนเซอร์เวทีฟ ซึ่งปัจจุบันมีเขาเป็นผู้นำ เคยให้คนที่ไม่ใช่คนผิวขาว ครองตำแหน่งที่มีอำนาจหลายตำแหน่ง แต่นี่เป็นครั้งแรกที่คนที่ไม่ใช่คนผิวขาวได้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม ชายที่มีบรรพบุรุษสืบเชื้อชายจากอินเดียผู้นี้มีประวัติความเป็นมาที่ซับซ้อนและน่าสนใจ กว่าที่จะได้ก้าวเข้ามาอยู่ในทำเนียบเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง ทั้งเรื่องของชนชั้น เชื้อชาติ การล่าอาณานิคม และโครงสร้างของจักรวรรดิอังกฤษเอง

ประวัติของตระกูลซูแน็ก

อักษตา มูรติ ภรรยาของริชี ซูแน็ก พร้อมกับแม่และพ่อของซูแน็ก ที่การหาเสียงเป็นหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟของเขาช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา

ที่มาของภาพ, Getty Images

ซูแน็กเกิดในเมืองเซาแทมป์ตัน เมืองท่าทางใต้ของอังกฤษในปี 1980 พ่อและแม่ของเขาคือ ยาชวีร์ และอุษา ซูแน็ก ทั้งคู่มีบรรพบุรุษเป็นชาวปัญจาบ แต่ว่าพวกเขาเดินทางมาจากอาณานิคมของอังกฤษในแอฟริกาตะวันออก

แม่ของเขาเกิดที่เมืองทังกันยีกา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแทนซาเนียในปัจจุบัน ส่วนพ่อของเขาเกิดและโตในอาณานิคมและรัฐในอารักขาเคนยา ก่อนที่จะได้รับเอกราชจากจักรวรรดิอังกฤษ

ปู่และตาของซูแน็กต่างเกิดในจังหวัดปัญจาบของบริติชอินเดีย ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ส่วนหนึ่งของปัญจาบอยู่ในปากีสถาน ก่อนที่จะย้ายไปยังอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษในแอฟริกาตะวันออก และตั้งรกรากที่นั่นพร้อมกับครอบครัวในช่วงทศวรรษ 1930

อย่างไรก็ตาม ประเทศในแอฟริกาเริ่มได้รับเอกราช ชาวอินเดียพลัดถิ่นจึงเริ่มที่จะเดินทางออกจากแอฟริกา และจำนวนมากได้เลือกที่จะย้ายไปอยู่สหราชอาณาจักร

จากชีวประวัติของซูแน็กเมื่อไม่นานนี้ ตาและยายของเขาสามารถอพยพเข้ามาในสหราชอาณาจักรได้ในช่วงทศวรรษ 1960 หลังจากที่ศรักษา ยายของเขา ขายอัญมณีที่ได้จากการแต่งงานเพื่อนำเงินมาใช้ในการเดินทาง

เส้นทางจากบริติชอินเดียมาอาณานิคมในแอฟริกาและค่อยย้ายมาที่สหราชอาณาจักร เป็นเส้นทางที่ผู้คนหลายพันครอบครัวใช้ แต่ประวัติศาสตร์เบื้องหลังเส้นทางนี้เป็นอย่างไร

ทำไมชาวอินเดียย้ายไปยังอาณานิคมในแอฟริกา

เอมิลี กลันเคลอร์ ครูสอนประวัติศาสตร์โลกที่คลิปวิดีโอติ๊กต็อกของเธอเกี่ยวกับเรื่องนี้กลายเป็นไวรัล กล่าวว่า ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 จักรวรรดิอังกฤษกำลังเข้าสู่การเป็นอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ประกอบกับมีการยกเลิกทาส ทำให้มีการขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก

“กลายเป็นช่องวางที่ชาวอินเดียถูกใช้เป็นแรงงานราคาถูกในระบบทาสผูกมัด ซึ่งพวกเขาจะได้รับสัญญาให้ไปช่วยสร้างทางรถไฟและอะไรทำนองนั้นในประเทศที่พึ่งพาการเพาะปลูกเหล่านี้ แต่ก็มักจะติดกับดักในสัญญา ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้” เธออธิบาย

เมื่อเวลาผ่านไปและชาวอินเดียพลัดถิ่นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทาสผูกมัดก็สิ้นสุดลง หลายคนเดินทางกลับไปอินเดีย แต่สุดท้าย อังกฤษได้เชิญชวนชาวเอเชียใต้กลับไปแอฟริกาตะวันออกพร้อมกับให้ความหวังว่า พวกเขาจะมีโอกาสในการทำมาหากินและมีชีวิตที่ดีขึ้น

กลันเคลอร์ กล่าวว่า ในกลุ่มประชากรที่มีการแบ่งลำดับชั้น ในประเทศอาณานิคมจะมองชาวอังกฤษผิวขาวเป็นคนในลำดับบนสุดและชาวแอฟริกันผิวดำอยู่ที่ระดับล่างสุด โดยมีชุมชนชาวเอเชียใต้อยู่ตรงกลาง

พวกเขามักจะได้ทำงานด้านบริหารและงานวิชาชีพต่าง ๆ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างชาวอังกฤษและชาวแอฟริกันพื้นเมือง

“ชาวอินเดียจำนวนมากย้ายมา เพราะพวกเขายอมรับว่า มีโอกาสทางธุรกิจในการอยู่ตรงกลางในระบบชนชั้นทางเชื้อชาติที่สร้างขึ้นในอาณานิคมแอฟริกา (โดยชาวอังกฤษ)” กลันเคลอร์ อธิบาย

ในเวลาเดียวกัน ชุมชนชาวแอฟริกาเชื้อสายอินเดียก็มีอำนาจเพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างในยูกันดา พวกเขาสามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1920 ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวยูกันดาผิวดำยังคงไม่สามารถทำได้ และระบบนี้ก็ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน

การได้รับเอกราชของแอฟริกา

สมาชิก 16 คนของครอบครัวของภักติ คันซารา อพยพออกจากยูกันดา ในช่วงที่มีการขับไล่ชนกลุ่มน้อยชาวเอเชีย

ที่มาของภาพ, BBC/handout

ในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 จักรวรรดิอังกฤษเริ่มเสื่อมถอย และประเทศต่าง ๆ ก็ได้รับเอกราช และมีการแต่งตั้งผู้นำที่เป็นชาวแอฟริกันผิวดำขึ้น ชาวอินเดียพลัดถิ่นจึงเริ่มอพยพออกจากอาณานิคมเหล่านี้

ในปี 1972 นายอีดี อามิน ประธานาธิบดียูกันดาในสมัยนั้น เรียกร้องให้ขับชาวยูกันดาที่มีสืบเชื้อสายมาจากชาวเอเชีย (หลัก ๆ คือชาวอินเดีย) ออกนอกประเทศ พวกเขามีเวลา 90 วันในการเดินทางออกจากประเทศ

ภักติ คันซารา เดินทางมาถึงสหราชอาณาจักรตอนที่เธออายุได้ 14 ปี พร้อมกับสมาชิกในครอบครัวอีก 15 คน ขณะที่พวกเขาอพยพออกมาจากยูกันดา

“ฉันอยู่ที่บ้านตอนที่ฉันได้ยินพ่อและพี่ชายบอกพวกเราว่า เราต้องเก็บของและย้ายไป” เธอกล่าวกับบีบีซี “เราไม่สามารถอยู่ในยูกันดาได้อีกต่อไป”

“เท่าที่ฉันจำได้คือ แม่ของฉันโกรธมาก ฉันจำได้ว่า ฉันไม่เป็นอะไร ฉันดีใจ”

“ฉันคิดว่า ‘โอ้ ฉันกำลังจะไปลอนดอน’ ไม่รู้ว่า กำลังเกิดอะไรขึ้น หรือไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย”

“เราขึ้นรถ 2 คันและเราก็มีคนจากกองทัพพาเราไปที่สนามบินเอนเทบเบ จากนั้น ฉันก็รู้สึกว่า ต้องมีเรื่องอะไรบางอย่างแน่ ๆ ทำไมต้องมีคนจากกองทัพต้องคุ้มกันเราเพื่อเดินทางมาลอนดอน”

พวกเขาเดินทางมาสหราชอาณาจักรในฐานะผู้ลี้ภัย แม้ว่าพวกเขาจะตั้งถิ่นฐานในบ้านใหม่ได้ดี แต่ก็มักจะตกเป็นเป้าของการเหยียดเชื้อชาติและทำให้พวกเขาต้องรู้สึกหวาดกลัวในหนีเพื่อหาที่ปลอดภัย ไม่ต่างจากผู้อพยพที่มาจากอาณานิคมในแอฟริกา

ชีวิตในสหราชอาณาจักร

ภาพขาวดำร้านขายยาซูแน็ก

ที่มาของภาพ, Rishi Sunak campaign video via PA

ปัจจุบัน เรฮา ลูกสาวของภักติ ทำงานเป็นผู้สื่อข่าวของบีบีซี และได้ผลิตชุดสารคดีเกี่ยวกับการขับไล่ของยูกันดา เธออธิบายว่า ผู้อพยพชาวแอฟริกันตะวันออกจำนวนมากสามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดีในสหราชอาณาจักร เพราะว่าพวกเขาก็เหมือนจะเป็นชนชั้นกลางอยู่แล้วก่อนที่จะอพยพมา

“พวกเขามีทักษะเฉพาะอย่างการใช้ภาษาอังกฤษ และ ‘สถานะชนชั้นกลาง’ ของพวกเขา ซึ่งทำให้พวกเขามีทักษะในวิชาชีพต่าง ๆ ที่ง่ายในการนำมาใช้ประโยชน์”

ตาของซูแน็กเคยเป็นเจ้าหน้าที่ภาษีในเมืองทังกันยีกาและได้งานที่สำนักงานสรรพากรของสหราชอาณาจักร หลังจากย้ายมาอยู่สหราชอาณาจักร

พ่อแม่ของเขาต่างก็ทำงานด้านการแพทย์ โดยพ่อของเขาเป็นแพทย์ของสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service) และแม่ของเขาเปิดร้านขายยา ซึ่งซูแน็กจำได้ดีว่า เขาต้องมาช่วยงานตั้งแต่อายุยังน้อย

ชุมชนนี้มีการขยายตัว แตกต่างไปจากชาวอังกฤษเชื้อสายเอเชียพลัดถิ่นกลุ่มอื่น ๆ ทำให้ชุมชนนี้ไม่ค่อยกลมกลืนกับคนในประเทศ

ผู้อพยพที่เรียกว่า “บินตรง” ซึ่งมาจากอินเดียโดยไม่ได้ผ่านเส้นทางอาณานิคมอย่างบรรพบุรุษของซูแน็กผ่านมา เริ่มเข้ามาในสหราชอาณาจักรหลังจากที่มีการแบ่งประเทศในปี 1947

พวกเขาส่วนใหญ่มาจากชุมชนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ส่วนมากเป็นชาวมุสลิม ไม่ใช่ชาวฮินดู และไม่ได้มีทักษะทางภาษาและวิชาชีพต่าง ๆ ที่ช่วยให้ได้งานที่มีผลตอบแทนดี ๆ

นายกฯ อังกฤษเชื้อสายอินเดียคนแรกของสหราชอาณาจักร

ริชี ซูแน็ก ที่ด้านนอกบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง

ที่มาของภาพ, Getty Images

นับตั้งแต่มีการแต่งตั้งนายซูแน็กเป็นนายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคคอนเซอร์เวทีฟได้ออกมาชี้ถึงความก้าวหน้าของพรรค พวกเขาเคยเลือกนายกรัฐมนตรีที่เป็นชาวยิวคนแรกคือ เบนจามิน ดิสราเอลลิ ในปี 1874 และมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในอีกกว่า 100 ปีต่อมา คือ มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ในปี 1979 และปัจจุบันหรืออีกเกือบ 50 ปีต่อมา พวกเขาได้เลือกคนที่ไม่ใช่คนผิวขาวคนแรกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี

ในช่วงไม่กี่ปีนี้ การเมืองอังกฤษมีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงในคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลพรรคคอนเซอร์เวทีฟด้วย ยกตัวอย่างรัฐมนตรีมหาดไทยคนปัจจุบันและคนก่อนได้แก่ ซูเอลลา เบรเวอร์แมน และพริที พาเทล ทั้งคู่ต่างเกิดในสหราชอาณาจักร โดยมีพ่อแม่เป็นชาวอินเดียที่มาจากแอฟริกาตะวันออก

“นี่คือการเปรียบเปรยอีกอย่างหนึ่งที่พบเห็นในการพูดคุยกันผ่านทางโซเชียลมีเดียว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเชื้อสายเอเชียของพรรคคอนเซอร์เวทีฟเหล่านี้ที่เคยอยู่ในคณะรัฐมนตรีเป็นชาวแอฟริกันตะวันออก” เรฮา กล่าว “นี่แสดงให้เห็นถึงระบบชนชั้นที่พวกเขาถูกนำเข้าไป”

สุดท้ายแล้ว การที่ซูแน็กได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรี คือช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับสหราชอาณาจักร

เรฮา กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม มีการแบ่งแยกกันในชุมชนชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดียระหว่างผู้ที่ยินดีที่เห็นซูแน็กได้เป็นนายกรัฐมนตรี และผู้ที่ไม่ยินดี เรฮาได้เห็นคนบางส่วนใช้เรื่องที่เขามีบรรพบุรุษมาจากแอฟริกาตะวันออกในการบอกว่า ซูแน็กไม่ได้เป็นตัวแทนของพวกเขา

“ฉันเคยเจอเรื่องนี้เช่นกัน” เธออธิบาย” “ฉันเคยเจอคนในอินเดีย กลุ่มชาตินิยมฮินดูบางส่วน บอกฉันว่า ตามหลักแล้ว ฉันไม่ใช่ชาวอินเดีย เพราะครอบครัวของฉันย้ายไปแอฟริกาตะวันออกก่อนที่จะมีการแบ่งแยกประเทศ ดังนั้นฉันจึงไม่มีบรรพบุรุษชาวอินเดีย เพราะอินเดียยังไม่เกิดขึ้นในเวลานั้น”

“คำพูดเช่นนี้เกิดขึ้นต่อไปจากคนต่าง ๆ ว่า คุณไม่ได้เป็นคนที่ไหนเลย และคุณไม่สามารถอ้างบรรพบุรุษเชื้อสายอินเดียได้ แต่ฉันมั่นคงเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของฉันมาก และฉันคิดว่า คุณสามารถเป็นชาวอังกฤษ อินเดีย และแอฟริกาได้ในเวลาเดียวกัน”

“มันเสียหายมากในการดูหมิ่นบรรพบุรุษของใครสักคนด้วยการดูว่า พวกเขาย้ายเข้ามาในสหราชอาณาจักรอย่างไร คนบางส่วนจากชุมชนเอเชียใต้ตื่นเต้นที่ซูแน็กสืบเชื้อสายอินเดีย”

“เขาเป็นชายผิวสีน้ำตาลคนแรก เป็นชาวฮินดูคนแรก ที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในสหราชอาณาจักร เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ของเรา”

……

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว