FTX : การล่มสลายของ “ราชันแห่งคริปโต” แซม แบงค์แมน-ฟรายด์

อาณาจักรคริปโต FTX ของ แซม แบงค์แมน-ฟรายด์ ที่สร้างขึ้นจากการเล่นเกม League of Legends แทบตลอดเวลา ล่มสลายลงได้อย่างไร

ในเวลาไม่ถึง 8 วัน แซม แบงค์แมน-ฟรายด์ กลายสภาพจากอภิมหาเศรษฐีฉายา “ราชันแห่งคริปโต” สู่การยื่นขอล้มละลายและก้าวลงจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไม่เพียงเท่านั้น เขายังเผชิญกับการสอบสวนจากสำนักสอบสวนกลางของสหรัฐฯ ถึงการบริหารการเงินของบริษัทที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โลกอินเทอร์เน็ตเต็มไปด้วยบทสัมภาษณ์ถึงเรื่องราวชีวิตและความสำเร็จของชายที่ชื่อ แซม แบงค์แมน-ฟรายด์ กับภาพจำของชายผมหยิกให้สัมภาษณ์ผ่านวิดีโอคอลล์จากโต๊ะทำงานของเขาในหมู่เกาะบาฮามาส

คนที่เคยชมบทสัมภาษณ์ของเขา อาจเคยได้ยินเสียง “คลิก” เหมือนคลิกเมาส์ อยู่เป็นระยะ ในช่วงที่เขากำลังเล่าเรื่องราวอันน่าทึ่งถึงการก้าวเป็นมหาเศรษฐีหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐในเวลาเพียง 5 ปี เมื่อฟังดูดี ๆ แน่ชัดว่า เสียง “คลิก” นั้นมาจากฝั่งของ แบงค์แมน-ฟรายด์ แน่นอน

การล่มสลายของ แซม แบงค์แมน-ฟรายด์

ที่มาของภาพ, Getty Images

ADVERTISMENT

“คลิก คลิก คลิก” เป็นเสียงที่ดังต่อเนื่อง และรัว ๆ ระหว่างนั้น สายตาของ แบงค์แมน-ฟรายด์ ก็ส่ายไปมาอยู่บนหน้าจอ

จากวิดีโอสัมภาษณ์ ยังไม่แน่ชัดว่าเขากำลังทำอะไรอยู่กับคอมพิวเตอร์ ในเวลาที่ให้สัมภาษณ์​ แต่เบาะแสสู่คำตอบนั้น หาไม่ยากเมื่อพิจารณาจากทวิตข้อความของเขา

“ผมเลื่องชื่อมาก เรื่องการเล่น ลีกออฟเลเจ็นดส์ (League of Legends) ระหว่างโทรศัพท์” เขาทวิตเมื่อเดือน ก.พ. ปี 2021 “ลีกออฟเลเจ็นดส์” คือเกมออนไลน์เกมหนึ่งที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก

เล่นเกมไป บริหารงานไป

แบงค์แมน-ฟรายด์ เป็นเกมเมอร์ หรือนักเล่นเกมตัวยง โดยเขาอธิบายผ่านทวิตข้อความของเขาที่มีผู้สนับสนุนเกือบ 1 ล้านคนว่า การเล่นเกมแฟนตาซี เป็นวิธีที่เขาจะเปลี่ยนโหมดจากการบริหารบริษัท 2 แห่งที่ต้องเทรดเงินมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน

“บางคนคิดว่าผมคลายเครียดด้วยการดื่ม (เหล้า) เล่นการพนัน ไม่ผมเล่นลีก (ออฟเลเจ็นดส์)” เขาระบุ

นับแต่อาณาจักรคริปโตเคอร์เรนซี ชื่อ FTX (เอฟทีเอ็กซ์) ของเขาล่มสลายในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ข้อมูลที่เป็นเกร็ดถึงการชอบเล่นเกมขณะบริหารงานของเขา ผุดขึ้นและเป็นที่ถกเถียงในโลกออนไลน์

บล็อกโพสต์หนึ่งจากบริษัท ซีคัวญา แคปิตอล (Sequoia Capital) บริษัทด้านการลงทุนแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ระบุว่า แบงค์แมน-ฟรายด์ เล่นเกม ลีกออฟเลเจ็นดส์ อย่างจริงจังมาก ระหว่างการประชุมวิดีโอคอลล์ที่เคร่งเครียดกับทีมลงทุนของทางบริษัท

แต่การหารือกับ แบงค์แมน-ฟรายด์ ที่เล่นเกมอย่างสุดตัวนั้น ไม่ได้ทำให้ ซีคัวญา แคปิตอล ขุ่นเคืองใจแต่อย่างใด เพราะทางบริษัทเดินหน้าลงทุนเป็นเงิน 210 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กับบริษัท FTX ของแบงค์แมน-ฟรายด์

FTX

ที่มาของภาพ, FTX

บริษัท ซีคัวญา แคปิตอล ไม่ได้เป็นนักลงทุนเดียวที่ต้อง “น้ำตาตก” จากการสูญเงินลงทุนมหาศาล หลังบริษัท FTX ของ แบงค์แมน-ฟรายด์ มูลค่ากว่า 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ล่มสลายลง

ในช่วงที่ FTX ต้องล้มละลายนั้น ทางบริษัทมีผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนไว้มากกว่า 1.2 ล้านคน เพื่อใช้แพลตฟอร์มของ FTX เพื่อเทรดซื้อขายโทเคนสกุลเงินดิจิทัล หรือคริปโตเคอร์เรนซี อาทิ บิตคอยน์ และสกุลอื่น ๆ อีกหลายพันสกุล

ผู้ใช้งาน FTX จำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะนักเทรดรายใหญ่ จนถึงผู้คลั่งไคล้การลงทุนในเงินคริปโตแบบรายวัน ต่างสงสัยว่า พวกเขาจะได้เงินทุนที่ออมไว้อยู่ในกระเป๋าเงินดิจิทัลของ FTX คืนหรือไม่ หลังบริษัทล้มละลาย

มันเป็นการร่วงหล่นจาก “บัลลังก์” อย่างฉุกละหุก สวนทางกลับการผงาดขึ้นของ แบงค์แมน-ฟรายด์ ที่กล้าเสี่ยง ใจปล้ำ และมีไลฟ์สไตล์สุดวัยรุ่น จนกลายเป็น “ราชันแห่งคริปโต”

เรื่องราวของ แซม แบงค์แมน-ฟรายด์

แบงค์แมน-ฟรายด์ ศึกษาจบปริญญาตรีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ หรือเอ็มไอที ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ โดยเขาศึกษาในสาขาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์

แต่ แบงค์แมน-ฟรายด์ เปิดเผยว่า การศึกษาในเอ็มไอที ไม่ใช่ปัจจัยสู่ความสำเร็จ แต่เป็นบทเรียนที่เขาได้เรียนรู้ในหอพักนักศึกษา ที่ทำให้เขาร่ำรวยถึงขนาดนี้ (ก่อนจะล้มละลาย)

Getty Images

ที่มาของภาพ, Getty Images

เขาให้สัมภาษณ์กับบีบีซีเรดิโอ (สถานีวิทยุของบีบีซี) เมื่อเดือนที่แล้ว เขาได้เข้าร่วมในการขับเคลื่อน “การเสียสละที่เปี่ยมศักยภาพ” ผ่านการเข้าร่วมในชุมชนของเหล่าบุคคลที่ “พยายามหาแนวทางที่เป็นรูปธรรม ที่จะทำให้ชีวิตของพวกเราสร้างประโยชน์เชิงบวกต่อโลกให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” เขากล่าว

ยกตัวอย่างเช่น แบงค์แมน-ฟรายด์ ตัดสินใจเข้าสู่วงการธนาคาร เพื่อหาเงินให้ได้มากที่สุด เพื่อนำเงินเหล่านี้คืนกลับให้สังคม

เขาเล่าว่า ได้เรียนการเทรดหุ้นจากการเข้าไปทำงานที่บริษัท เจน สตรีท ในนครนิวยอร์กอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่เขาจะเบื่อ แล้วหันไปลองทดลองเทรดบิตคอยน์

เขาสังเกตเห็นมูลค่าที่แตกต่างกันของบิตคอยน์ในแต่ละแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล จึงเริ่มการซื้อบิตคอยน์จากที่หนึ่งที่ราคาต่ำกว่า แล้วนำไปขายที่อื่น เพื่อผลกำไรจากส่วนต่างของมูลค่า

หลังจากทำกำไรได้ระดับหนึ่ง เขาจึงรวมกลุ่มกับเพื่อนสมัยมหาวิทยาลัย ก่อตั้งธุรกิจชื่อ อะลาเมดา รีเสิร์จ ขึ้น ซึ่ง แบงค์แมน-ฟราย ยอมรับว่า หนทางธุรกิจช่วงแรกไม่ได้ง่าย เพราะใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะขัดเกลาเทคนิกการย้ายเงินเข้าและออกจากธนาคารหลายแห่ง และข้ามพรมแดน แต่หลังทำธุรกิจไปได้ 3 เดือน พวกเขาก็เจอแจ็คพอต

นอนบนถุงผ้าในที่ทำงาน

ที่มาของภาพ, Twitter

“พวกเราแน่วแน่มาก” เขาบอกกับรายการพอดคาสต์ชื่อ “แจกซ์ โจนส์ แอนด์ มาร์ติน วอร์เนอร์ โชว์” เมื่อปีก่อน

“เราเดินหน้าต่อไม่หยุด ถ้าใครโยนหินมาขวาง เราจะใช้แนวคิดสร้างสรรค์เพื่อก้าวข้าม ถ้าระบบเรารับมือไม่ได้ เราก็สร้างระบบใหม่เพื่อให้ผ่านไปได้”

จนเมื่อเดือน ม.ค. ปี 2018 ทีมของ แบงค์แมน-ฟรายด์ ทำเงินได้ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน

ครั้งหนึ่ง ผู้สื่อข่าวสายธุรกิจของซีเอ็นบีซี ถามเขาตรง ๆ ว่า เวลานั้นรู้สึกอย่างไร เขาตอบว่า “มันก็สมเหตุสมผลอยู่แล้ว… แต่ในใจลึก ๆ ผมก็ตกใจอยู่ทุกวันนะ”

แซม แบงค์แมน-ฟรายด์ กลายเป็นอภิมหาเศรษฐีหลายพันล้านอย่างเต็มตัวในปี 2021 เป็นผลจากบริษัทแห่งที่ 2 ของเขา ที่มีชื่อเสียงในโลกคริปโต คือ FTX ซึ่งต่อมากลายเป็นแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ในโลก ถือเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการที่มีการเทรดเป็นมูลค่า 10,000-15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐทุกวัน เป็นรองเพียงไบแนนซ์

ช่วงต้นปี 2022 บริษัท FTX มีมูลค่ามากถึง 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และทรงอิทธิพลถึงขั้น มีการตั้งชื่อสนามบาสเก็ตบอลตามชื่อบริษัท และมีผู้มีชื่อเสียงมากมายให้การยอมรับ รวมถึงนักกีฬาเอ็นเอฟแอล ทอม เบรดี

ในห้วงเวลาของความสำเร็จอันหอมหวาน แบงค์แมน-ฟรายด์ ก็คอยบอกเล่าถึงไลฟ์สไตล์ของเขาผ่านทวิตเตอร์อยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นการชอบนอนบนถุงผ้า (bean bag) ข้างโต๊ะทำงานในออฟฟิศเป็นหลัก พร้อมโพสต์ภาพตัวเขาเอง นอนข้าง ๆ พนักงาน

อีกทวิตหนึ่ง เขาโพสต์ในช่วงเช้าตรู่ว่า “เขานอนไม่หลับ เลยเข้าไปทำงาน”

“อัศวินม้าขาวแห่งคริปโต”

ความฝันของเขาที่ต้องการมอบเงินมหาศาลให้มูลนิธิการกุศลนั้น ก็กลายเป็นจริง ตามที่เขาให้สัมภาษณ์กับบีบีซีเรดิโอเมื่อเดือนที่แล้ว โดยเขาอ้างว่า เขาได้บริจาคเงินไปแล้ว “หลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ”

ความเสียสละของเขายังไม่ใช่แค่กับมูลนิธิการกุศล เพราะในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ไม่เพียงฉายา “ราชันแห่งคริปโต” แต่เขายังมีอีกชื่อเล่นว่า “อัศวินม้าขาวแห่งคริปโต” ด้วย จากความเสียสละอย่างใจปล้ำ

เพราะในช่วงที่ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีระส่ำระส่ายอย่างหนักในปีนี้ หรือที่เรียกว่า “ฤดูหนาวแห่งคริปโต” แบงค์แมน-ฟรายด์ ยังยืนหยัด อัดฉีดเงินช่วยเหลือหลายร้อยล้านดอลลาร์เพื่อให้หลายบริษัทยังเดินหน้าต่อไปได้

เขาเล่าถึงเหตุผลที่ยังต่อสู้กับซีเอ็นบีซีว่า “มันไม่เป็นผลดีในระยะยาว ถ้าเราเจ็บหนักแล้วยอมแพ้ และมันไม่เป็นธรรมกับลูกค้า”

ที่มาของภาพ, Getty Images

เขายังอ้างในการให้สัมภาษณ์เดียวกันว่า เขามีเงินกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงินทุนสำรองเพื่อช่วยเหลือบริษัทคริปโตที่กำลังย่ำแย่

แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กลับกลายเป็นตัว แบงค์แมน-ฟรายด์ เอง ที่ตระเวนไปยังบริษัทคริปโตอื่น ๆ เพื่อระดมเงินมาช่วยบริษัทและลูกค้าของเขา

จุดเริ่มต้นสู่จุดจบ

จุดเริ่มต้นสู่จุดจบของ FTX เริ่มจากสำนักข่าวคอยน์เดส ตีแผ่บทความด้านงบดุลของบริษัท อะลาเมดา (บริษัทแรกของแบงค์แมน-ฟรายด์) และปัจจุบัน เป็นบริษัทย่อยของ FTX ว่า งบการเงินของทางบริษัท มีสินทรัพย์ 14,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และหนี้สินถึง 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเนื้อในของสินทรัพย์กว่า 1 ใน 3 อยู่ในรูปของเหรียญดิจิทัล FTT คิดเป็นเงินกว่า 5,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ข่าวนี้ทำให้นักวิเคราะห์ด้านตลาดคริปโตตั้งข้อสังเกตถึงงบดุลของ อะลาเมดา ยึดโยงอยู่กับเงินดิจิทัลที่บริษัมแม่ FTX สร้างขึ้นมา ไม่ใช่สินทรัพย์อิสระ

หายนะมาถึง เมื่อคู่แข่งหลักของ FTX อย่าง ไบแนนซ์ (Binance) ประกาศขายโทเคนคริปโตที่เชื่อมโยงกับ FTX ทั้งหมดในอีกไม่กี่วันต่อมา โดยประธานเจ้าหน้าที่บริหารไบแนนซ์ จางเผิง เจ้า ทวิตถึงผู้ติดตามกว่า 7.5 ล้านคนของเขาว่า ทางบริษัทจะขายเงินดิจิทัลเหล่านี้ “จากประเด็นที่เป็นข่าว”

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไบแนนซ์ จางเผิง เจ้า

ที่มาของภาพ, Getty Images

การเทขายเงินคริปโต FTX ของไบแนนซ์ ทำให้ลูกค้าตื่นตระหนกและถอนเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐออกจาก FTX จนราคาเหรียญ FTT ร่วงหนัก ซึ่งทาง แบงค์แมน-ฟรายด์ ได้สั่งระงับการถอนเงินออก และพยายามตระเวนระดมเงินมาช่วยเหลือบริษัทของเขาเอง

ช่วงหนึ่ง บริษัท ไบแนนซ์ ประกาศสาธารณะว่าสนใจจะซื้อบริษัท FTX ก่อนจะล่าถอยไป โดยให้เหตุผลว่า ได้รับรายงานหลายฉบับถึง “การบริหารเงินทุนลูกค้าที่ผิดพลาด รวมถึงการสอบสวนของทางการสหรัฐฯ”

ไม่กี่วันต่อมา บริษัท FTX ถูกประกาศสถานะล้มละลาย และ แบงค์แมน-ฟรายด์ ออกมาทวิตขอโทษว่า “ผมขอโทษจริง ๆ ที่เรามาถึงจุดนี้”

“ผมหวังว่าเราจะฟื้นตัวกลับมาได้ หวังว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ จะนำมาซึ่งความโปร่งใส ความไว้เนื้อเชื่อใจ และธรรมาภิบาลต่อลูกค้าของเรา”

เขายังกล่าวว่า “รู้สึกตกใจที่สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นในลักษณะนี้”

และนั่นทำให้โลกแห่งคริปโตปั่นป่วนมากขึ้นไปอีก มูลค่าบิตคอยน์ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี จนทำให้หลายคนสงสัยว่า ถ้า FTX ล่มสลายลงได้เช่นนี้ ทั้งที่มีผู้นำระดับ แบงค์แมน-ฟรายด์ แล้วใครจะเป็นรายต่อไป

“ผมขอโทษจริง ๆ ที่เรามาถึงจุดนี้” แบงค์แมน-ฟรายด์

ที่มาของภาพ, Getty Images

……

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว