รัสเซีย ยูเครน : โจมตีสายส่งไฟฟ้า จนประชาชนตกในความมืด หนาวเหน็บ ถือเป็นอาชญากรรมสงครามหรือไม่

 

ชาวยูเครนหลายล้านคนกำลังได้รับผลกระทบจากไฟดับ

EPA
ชาวยูเครนหลายล้านคนกำลังได้รับผลกระทบจากไฟดับ

 

รัสเซียโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของยูเครนเป็นวงกว้างบ่อยครั้ง ทำให้ผู้คนหลายล้านอยู่ท่ามกลางความมืดมิด ไม่มีพลังงานสร้างความอบอุ่น ไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ ขณะที่เข้าสู่ฤดูหนาวและอุณหภูมิได้ลดต่ำลงกว่าศูนย์องศาเซลเซียส

ผู้นำชาติตะวันตกและยูเครนประณามการโจมตีนี้ว่า เป็นอาชญากรรมสงคราม เพราะพลเรือนได้รับอันตราย แต่การโจมตีสายส่งพลังงานเป็นส่วนหนึ่งของการทำสงครามมานานแล้ว แล้วยุทธศาสตร์ของรัสเซียเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่

ด้วยข้อจำกัดบางอย่าง สายส่งไฟฟ้าบางส่วนอาจถือว่า เป็นเป้าหมายที่ชอบธรรมในการโจมตีได้ ถ้าถูกใช้ในการให้พลังงานแก่สถานที่เกี่ยวข้องกับการทหาร

ต่อให้เป้าหมายนี้มีการวัตถุประสงค์ในการใช้งานเพื่อประชาชนเช่นเดียวกับเพื่อการทหารด้วย ตราบใดที่การทำลายเป้าหมายนี้ “ทำให้เกิดความได้เปรียบทางการทหารอย่างชัดเจน” ก็ถือว่าชอบธรรม

กองทัพสหรัฐฯ ได้โจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของอิรักในปี 1991 ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก กองกำลังของนาโตเคยพุ่งเป้าโจมตีสายส่งไฟฟ้าในเซอร์เบียในปี 1999 ทั้งสองกรณีนี้ พลเรือนต่างได้รับผลกระทบจากกระแสไฟฟ้าขัดข้อง

ความจริงแล้ว บางครั้งการทำลายเป้าหมายทางการทหารด้วยการตัดไฟฟ้า ดีกว่าการโจมตีเป้าหมายเหล่านั้นด้วยปืนใหญ่หรือขีปนาวุธโดยตรง

ไมเคิล ชมิตต์ ศาสตราจารย์กิตติคุณที่วิทยาลัยการทัพเรือ (Naval War College) ของสหรัฐฯ กล่าวกับบีบีซีว่า “ผมจะทำให้ประชาชนไม่มีไฟฟ้าใช้สักช่วงเวลาหนึ่ง แทนที่จะเสี่ยงทำให้ประชาชนเสียชีวิตสืบเนื่องจากผลของการใช้อาวุธพลังงานจลน์ไหม ครับ ผมคงจะทำเช่นนั้น”

รัสเซียปฏิเสธการจงใจโจมตีพลเรือน และได้หาความชอบธรรมในการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานของยูเครน โดยแถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหมระบุเมื่อ 18 พ.ย. ว่า เป็นการโจมตี “ระบบบัญชาการทางทหารของยูเครนและสถานที่ด้านพลังงานที่เกี่ยวข้อง”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า จะเป็นเป้าหมายทางการทหารที่ชอบธรรม แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายอย่างเกี่ยวกับช่วงเวลาและรูปแบบในการโจมตี

ดร.มาเรีย วารากี จากแผนกสงครามศึกษาของคิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน กล่าวกับบีบีซีว่า “รัฐมีข้อผูกพันภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (international humanitarian law–IHL) ในการเลือกเป้าหมายหรือกลยุทธ์ที่สร้างความเสียหายต่อพลเรือนน้อย ทำให้มีการบาดเจ็บล้มตายน้อย แต่ยังสามารถที่จะยังได้เปรียบทางการทหารอยู่”

การบาดเจ็บและเสียชีวิตของพลเรือนจากการโจมตีเป้าหมายทางการทหารไม่จำเป็นต้องเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศเสมอไป แต่ต้องมีการพิจารณาหลักการเรื่องความได้สัดส่วนประกอบด้วย ซึ่งระบุไว้ว่า อันตรายที่เกิดกับพลเรือนจากการพยายามแย่งชิงความได้เปรียบทางการทหารต้องไม่มากเกินกว่าเหตุ ฝ่ายต่าง ๆ ต้อง “ใช้ความระมัดระวังตลอดเวลา” ในการรักษาชีวิตและทรัพย์สินของพลเรือน

ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนกล่าวหลังเกิดการโจมตีหลายครั้งในเดือน พ.ย. ว่า มีประชาชนต้องอยู่โดยไม่มีไฟฟ้าใช้ราว 10 ล้านคน และสูญเสียขีดความสามารถในการผลิตไฟฟ้าของประเทศลงครึ่งหนึ่ง เขากล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงคืนวันพฤหัสบดี ประชาชน 6 ล้านคนยังคงไม่มีไฟฟ้าใช้

ศ. ชมิตต์ กล่าวว่า บางขณะ “เสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อพลเรือนมาก ถึงขนาดที่ไม่สามารถลั่นไกได้”

กราฟิก

BBC

ลักษณะความได้เปรียบที่ได้จากการโจมตีก็เป็นอีกปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาว่า การโจมตีนั้นละเมิด IHL หรือไม่

“การทำลายขวัญกำลังใจประชาชน ทำให้ผู้คนหวาดกลัว ไม่ถือเป็นความได้เปรียบทางการทหารที่สามารถยอมรับได้” ดร.วารากี อธิบาย เธอกล่าวว่า ความจริงแล้ว กลับตรงข้ามกัน “การทำให้พลเรือนหวาดกลัวถือว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม”

นอกจากรัสเซียจะยืนกรานว่า ตั้งเป้าโจมตีเฉพาะเป้าหมายทางทหารเท่านั้น รัฐบาลรัสเซียได้บอกเป็นนัยถึงอีกเหตุผลหนึ่งในการโจมตีนั่นก็คือ การโน้มน้าวให้รัฐบาลยูเครนเจรจา

“การไม่เต็มใจของฝ่ายยูเครนในการตกลงแก้ไขปัญหา ในการเริ่มการเจรจา การไม่ยอมหาสิ่งที่ยอมรับร่วมกัน นี่คือผลพวงที่พวกเขาต้องเผชิญ” นายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซียกล่าว

กองกำลังที่โจมตีอาจหวังว่า การทำลายสายส่งไฟฟ้าของพลเรือนจะทำให้ศัตรูเสียขวัญและกำลังใจ แต่นี่ไม่เพียงพอในการสร้างความชอบธรรมในการโจมตีตามกฎหมายระหว่างประเทศ ต้องมีความได้เปรียบทางการทหารที่เป็นรูปธรรม การโจมตีจึงจะถือว่า ถูกกฎหมาย

ศ.ชมิตต์ กล่าวว่า ขอบเขตและระดับที่รัสเซียโจมตีโครงสร้างพื้นฐานของยูเครน ไม่น่าที่จะทำให้พวกเขาสามารถอ้างความชอบธรรมด้วยแนวทางนี้ได้

“ปัจจุบัน เราอยู่ในจุดซึ่งพวกเขาโจมตีเป้าหมายมากมาย จนผมไม่อาจจินตนาการได้ว่า พวกเขาเลือกโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าที่เข้าคุณสมบัติวัตถุประสงค์ทางการทหารในทุกกรณี”

ในฐานะอดีตเจ้าหน้าที่ระบุเป้าหมายของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ศ.ชมิตต์ ยังกังขาด้วยว่า รัสเซียได้ตรวจสอบเป้าหมายทุกครั้งที่โจมตีอย่างเต็มที่หรือไม่ ซึ่งเป็นข้อกำหนดอีกอย่างหนึ่งของ IHL ด้วย

“คุณไม่สามารถปฏิบัติการโจมตีหนักขนาดนั้น และถี่ขนาดนั้นทั่วประเทศ และต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องของเป้าหมายตามกำหนดด้วย” เขาอธิบาย

เมื่อคำนึงถึงเรื่องนี้ ศ.ชมิตต์ เชื่อว่า ขณะนี้ “ค่อนข้างชัดเจน” ว่า แรงจูงใจหลักของรัสเซีย อย่างน้อยในการโจมตีบางส่วน คือ “การสร้างความหวาดกลัวให้พลเรือน”

ไม่ว่าเหตุผลที่แท้จริงในการโจมตีสายส่งไฟฟ้าของรัสเซียจะคืออะไร ดร.วารากี กล่าวว่า รัสเซียก็ไม่เคยแสดงการให้คำมั่นสัญญามาก่อนว่า จะทำอันตรายต่อพลเรือนให้น้อยที่สุด

เธอระบุว่า การเสียชีวิตจำนวนมากของพลเรือนไม่ได้ทำให้กองทัพรัสเซียเกิดความกังวล

ยูเครนระบุว่า มีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานมากกว่า 200 แห่ง ถูกโจมตี

Reuters
ยูเครนระบุว่า มีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานมากกว่า 200 แห่ง ถูกโจมตี

 

กระทรวงกลาโหมระบุว่า วันที่ 28 พ.ย. รัสเซียโจมตีเป้าหมายต่าง ๆ มากกว่า 200 แห่งที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของยูเครน ผู้คนหลายล้านคนไม่มีไฟฟ้าใช้ และมีการจำกัดการใช้ไฟฟ้าในภูมิภาคกว่าสิบแห่ง

แต่กระนั้น ศ.ชมิตต์ กล่าวว่า ถ้ารัสเซียหวังว่าจะทำลายขวัญกำลังใจประชากร กลยุทธ์นี้ก็ไม่น่าที่จะใช้ได้ผล

“ตามประวัติศาสตร์ ไม่มีเหตุผลที่จะเชื่อว่า ขวัญกำลังใจของชาวยูเครนจะเสียไป… [ปูติน] กำลังทำให้ความมุ่งมั่นในการต่อต้านรัสเซียในสงครามนี้หนักแน่นขึ้น นี่คือการคำนวณที่ผิดพลาดทางยุทธศาสตร์”

แล้วรัสเซียได้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ กระบวนการทางกฎหมายในอนาคตจะต้องพิจารณาก่อนว่า เป้าหมายจำนวนมากถือเป็นเป้าหมายที่ชอบธรรมทางการทหารหรือไม่

ถึงแม้ว่า จะเป็นเป้าหมายที่ชอบธรรม การทำอันตรายต่อพลเรือนจากการโจมตีก็ไม่ควรจะมากจนเกินไป เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับความได้เปรียบที่เป็นรูปธรรมที่ได้มา โดยความได้เปรียบนั้นจะต้องเป็นความได้เปรียบทางการทหารอยู่แล้วเป็นธรรมดา การทำให้ประชาชนหวาดกลัวไม่ใช่เหตุผลที่ชอบธรรมในการเปิดฉากโจมตี

รัสเซียและยูเครนต่างก็เป็นภาคีสมาชิกของพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 1 อนุสัญญาเจนีวา (Additional Protocol I of the Geneva Conventions) ซึ่งมีการกำหนดนิยามของกฎเกณฑ์เหล่านี้ไว้ และยังต้องรอดูว่า รัสเซียจะชี้แจงว่า ปฏิบัติการของตัวเองสอดคล้องกับกฎเกณฑ์เหล่านั้นอย่างไรหรือไม่

….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว