เลือกตั้ง 2566 : ฟังเสียง “ส.ส. งูเห่า” ในวันที่หัวหน้าภูมิใจไทยประกาศ “ตอกเสาเข็ม” สู้ “แลนด์สไลด์”

หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ประกาศ “ตอกเสาเข็ม” ให้มั่นคง เพื่อสู้กับการประกาศ “แลนด์สไลด์” ของพรรคคู่แข่งขัน หลังเปิดพรรคต้อนรับอดีต ส.ส. รวม 34 คน จาก 10 พรรคการเมือง ที่สมัครเป็นสมาชิกพรรค เพื่อเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งในช่วงต้นปีหน้า

จากเคยเป็น “พรรคอันดับสามในสภา” ภท. ตั้งเป้าหมายเป็น “พรรคใหญ่” ในการเลือกตั้ง 2566 โดยพร้อมส่งผู้สมัครครบทุกเขต แต่ยังไม่เปิดเผยตัวเลขที่นั่งเป้าหมาย หลังก่อนหน้านี้แกนนำพรรคเคยออกมาระบุว่าเป็นพรรค +100 เสียง

ส.ส. ที่ย้ายมาสังกัด ภท. ในวันนี้ คิดเป็น 6.8% ของเสียงในสภาล่าง 500 คน

อดีต ส.ส. อย่างน้อย 3 คนจากพรรคก้าวไกล, พรรคเพื่อไทยเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ ที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก ภท. วันนี้ (16 ธ.ค.) บอกกับบีบีซีไทยว่า นายอนุทินมีความเหมาะสมที่จะเป็นนายกฯ คนที่ 30

อนุทิน
Thai News Pix นายอนุทิน ชาญวีรกูล ต้อนรับอดีต ส.ส. ที่ย้ายมาสังกัด ภท. 16 ธ.ค. ซึ่งเขาบอกว่าเป็น “ฤกษ์สะดวก”

“ตำแหน่งที่ท่านเป็นอยู่คือรองนายกฯ มันยากเลยที่จะเป็นนายกฯ คนต่อไป ผมเชื่อว่าท่านเข้ากับทุกพรรคได้ไม่ว่าฝ่ายไหน” นายนิยม ช่างพินิจ อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าว

อนุทินประกาศ “ตอกเสาเข็ม” สู้ “แลนด์สไลด์”

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค ภท. กล่าวต้อนรับสมาชิกใหม่ 34 คน จาก 10 พรรคการเมือง พร้อมระบุว่า หลังจากนี้หากมีใครมาร่วมงานอีก ก็เพิ่มความแข็งแกร่งให้พรรค

“เราใช้คำว่า ‘ตอกเสาเข็ม’ อยู่อย่างมั่นคง ไม่ใช่ ‘แลนด์สไลด์’ เพราะพวกที่แลนด์สไลด์ดินถล่ม เพราะไม่มั่นคง ไม่มีเสาเข็ม… เราจะตอกไปเรื่อย ๆ หัวหน้าพรรคชอบตอกเสาเข็ม” หัวหน้าพรรค ภท. กล่าว

สำหรับ “แลนด์สไลด์” เป็นแคมเปญหาเสียงของพรรคเพื่อไทย (พท.) ภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ “อุ๊งอิ๊ง” หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ผู้เป็นบุตรสาวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยวันนี้มีอดีต ส.ส. พท. 8 คน ย้ายมาสังกัด ภท. ด้วย

ภท.
Thai News Pix อดีต ส.ส. ของสภาชุดที่ 25 จำนวน 34 คน ที่ทยอยลาออกจากตำแหน่งและพรรคต้นสังกัดเก่า ถ่ายภาพร่วมกับผู้บริหาร ภท. หลังสมัครเป็นสมาชิกพรรค

ขณะที่ในฟากฝั่งรัฐบาลด้วยกัน มีอดีต ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ร่วมเปิดหน้า-เปิดตัวสมัครเป็นสมาชิก ภท. จำนวน 13 คน ทำให้ผู้สื่อข่าวนำคำกล่าวของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ที่ว่า “เอาไปให้หมดเลยก็ได้ ผมไม่ว่าอะไร ผมจะได้ปิดพรรค” มาย้อนถามหัวหน้าพรรค ภท. ที่ “ดูด” ลูกพรรค พปชร. เข้ามาอยู่ใต้ชายคา

ทว่านายอนุทินได้แต่ยิ้ม และพยายามหลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถามนี้โดยบอกว่า “ขอคำถามต่อไป” ก่อนกล่าวว่า “ท่านเมตตาพวกเราเสมอ โดยเฉพาะกับเลขาธิการพรรค ซึ่งเลขาธิการพรรคเป็นหลานเลิฟของหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เราพูดคุยตลอด และพูดคุยกับทุกพรรค”

ส่วนที่ก่อนหน้านี้ นายอนุทิน ผู้มีชื่อเล่นว่า “หนู” เคยเปรียบตัวเองเป็นหนูที่คอยช่วยราชสีห์ มาวันนี้จะไม่ช่วยราชสีห์แล้วใช่หรือไม่ นายอนุทินตอบว่า หนูก็เป็นหนูวันยังค่ำ 50 ปีก็ชื่อหนู ไม่ได้ชื่อสิงโต

“ผมเป็นหนูที่พร้อมช่วยราชสีห์ ทำงานให้บ้านเมือง ให้ประเทศ มันก็ไปด้วยกันได้ ราชสีห์มุดรูไม่ได้ แต่หนูมุดรูได้ หนูตะปบเสือไม่ได้ แต่หนูไปช่วยราชสีห์ได้” หัวหน้าพรรค ภท. กล่าว

เสียงจาก ส.ส. ที่ถูกตั้งสมญาว่า “งูเห่า”

คนการเมืองที่ตัดสินใจหันหลังให้สภาก่อนครบวาระ แล้วเดินหน้าสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของพรรค ภท. อย่างน้อย 3 คน ต่างออกมาตัดพ้อที่ถูกสังคมและสื่อมวลชนตั้งสมญาว่า “ส.ส. งูเห่า” ในระหว่างให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย

“ผมไม่ได้เป็นงูเห่า” และ “ผมยอมโดนกระทืบมาตลอด 2 ปีโดยไม่ตอบโต้เลย เพราะคิดว่าสังคมไม่อยู่ในสถานะที่พร้อมรับฟังเหตุผล” นายเกษมสันต์ มีทิพย์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าว

เขาชี้แจงว่า เมื่อครั้งเป็น ส.ส.อนาคตใหม่/ก้าวไกล ได้ลงมติตามแนวทางของพรรคมาโดยตลอด แต่ยอมรับว่า “เคยไม่ได้ทำตามความประสงค์ของผู้มีอำนาจในการควบคุมพรรค” ในประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของประชาชนคือ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 1 และ 2

พร้อมอ้างว่า ภายหลังยุบพรรค อนค. มีการพูดคุยกันภายในสมาชิกก้าวไกลว่าจะไม่ผลักดันประเด็นเหล่านั้นต่อ แต่ต่อมากลับมีการขับเคลื่อนประเด็นอ่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของพรรค

นายเกษมสันต์ยังไล่เรียง “คะแนนที่หายไป” ของพรรคต้นสังกัดเดิม เริ่มจากการเลือกตั้ง 2562 อนค.​ ได้คะแนนที่ จ.พิษณุโลก เขต 1 มา 9.8 หมื่นคะแนน แต่พอเลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปลายปี 2563 ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการชุมนุมเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ พรรคเหลือคะแนนใน จ.พิษณุโลก เพียง 4.2 หมื่นคะแนน หรือหายไปกว่า 50% ไม่ต่างจากสนาม กทม. ที่ อนค. เคยมีคะแนนมหาชนสูงสุดถึง 8 แสนเสียงในการเลือกตั้งทั่วไป ก่อนเหลือเพียง 4 แสนเสียงในศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าราชการ กทม. และสมาชิกสภา กทม. ปี 2565 หลังหาเสียงด้วยการท้าชนกับทุกสถาบัน

“ดังนั้นจะบอกว่าผมทรยศประชาชน มันไม่ได้ เพราะประชาชนสะท้อนออกมาแล้วจากการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งบอกเป็นนัยว่าคนเกิน 50% เลิกสนับสนุนพรรค ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น” อดีตนักการเมืองพรรคสีส้มกล่าว

นายเกษมสันต์ มีทิพย์
Hataikarn Treesuwan/BBC Thai นายเกษมสันต์ มีทิพย์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก.ก. แจ้งความประสงค์กับแกนนำพรรค ภท. ว่าอยากลงสมัคร ส.ส.พิษณุโลก แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของพรรค

ในวันที่ตกเป็นส่วนหนึ่งของพาดหัวข่าว “ส.ส. งูเห่า” เปิดหน้าเลื้อยเข้า ภท. นายนิยม ช่างพินิจ อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคเพื่อไทย (พท.) บอกว่า “รู้สึกเฉย ๆ” พร้อมตั้งคำถามกลับว่า ถ้าย้ายออกบอกเป็นงูเห่า แต่ถ้าย้ายเข้า บอกว่ามีอุดมการณ์อย่างนั้นหรือ

ส่วนนายจักรพันธ์ พรนิมิต อดีต ส.ส.กทม. และอดีตประธานภาค กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แจกแจงว่า หากเป็นงูเห่าต้องหมายถึงคนที่ตัวอยู่พรรคหนึ่ง แต่มีพฤติกรรมสนับสนุนอีกพรรคหนึ่ง แต่อดีต ส.ส.กทม. พปชร. ทั้ง 3 คนที่เพิ่งสมัครเข้าเป็นสมาชิก ภท. ปฏิบัติตามมติพรรค พปชร. มาโดยตลอด และมีสถิติเข้าร่วมประชุมสภาราว 90% ตรงกันข้ามเมื่อตัดสินใจว่าจะย้ายสังกัด ก็ได้ลาออกจาก พปชร. ทันทีเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในหมู่ประชาชน

หากถามว่า ภท. มีอะไรดี ถึงดูด-ดึงนักเลือกตั้งอาชีพให้พร้อมใจกันย้ายเข้าบ้านหลังใหม่ได้ขนาดนี้

คำตอบของ 3 นักการเมืองค่อนข้างใกล้เคียงกันคือ ภท. เป็นพรรคที่ทำให้นโยบายที่หาเสียงไว้เกิดผลในทางปฏิบัติ, ผู้บริหารพรรคให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาของประชาชน และเป็นพรรคการเมืองที่ไม่อยู่ในวงวันของความขัดแย้ง

นายเกษมสันต์กล่าวว่า ครั้งที่แล้วอาจเป็นการ “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่” แต่ที่ ภท. ไม่มีเงื่อนไขที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคม ซึ่งเป็นอย่างนี้มา 20 ปีแล้ว ส่วนตัวเชื่อว่าทุกคนที่อยู่ตรงนี้ไม่ต้องการความขัดแย้งมาทำการเมือง หรือหาเสียงกับความขัดแย้ง

เช่นเดียวกับนายนิยมที่ให้ความเห็นว่า ต้องการยุติการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายประชาชนเป็น เหลือง-แดง, ซ้าย-ขวา, ถูกชี้ว่าเป็นเผด็จการ-อ้างว่าตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย และเห็นว่า ภท. ไม่อยู่ในการเมือง 2 ขั้ว แต่พร้อมเล่นบทตัวกลาง จึงเชื่อว่าจะเป็นพรรคที่ทำให้เกิดความสมานฉันท์ทางการเมืองได้

สมาชิกใหม่ ภท. ยังพร้อมใจกันปฏิเสธว่า การย้ายพรรคในหนนี้ไม่มีเรื่องเงิน ซึ่งถูกมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการทำงานการเมืองยุค “แจกกล้วย” แต่อย่างใด

อดีต ส.ส. เพื่อไทย 8 คนถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน ภายใต้เสื้อภูมิใจไทย
Hataikarn Treesuwan/BBC Thai อดีต ส.ส. เพื่อไทย 8 คนถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน ภายใต้เสื้อภูมิใจไทย

อย่างไรก็ตามนายนิยม อดีต ส.ส. “พรรคทักษิณ” ตั้งแต่ยุคไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย ยอมรับว่า การ “ตีจากตระกูลชินวัตร” มาสังกัดพรรคการเมืองใหม่ เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่

ขณะที่นายจักรพันธ์ อดีต ส.ส. พปชร. ก็พร้อมชี้แจงข้อเท็จจริงกับประชาชนถึงสาเหตุที่ตัดสินใจ “ทิ้งลุงป้อม-ลุงตู่” แล้วมาอยู่กับ “เสี่ยหนู” เช่นกัน

“ถ้าเอาเฉพาะเรื่อง ‘ลุงตู่’ นะ คนที่ติดตามการเมืองย่อมรู้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลที่สนับสนุนการทำงาน ‘ลุงตู่’ เข้มแข็งที่สุด มีระเบียบวินัยมากที่สุด คือพรรคนี้นะถ้าพูดกันตรง ๆ ผมว่าภูมิใจไทยไม่เคยบิดพลิ้ว เบี้ยวอะไรเลย และทำตามกติกาพรรคร่วมรัฐบาลเต็มที่” อดีต ส.ส.กทม. พปชร. กล่าว

ส่วนที่มีการมองกันว่าสมาชิก พปชร. หลายคนได้เป็น ส.ส. เพราะกระแส พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น นายจักรพันธ์มองว่ามีหลายปัจจัย ซึ่งกระแสของ พล.อ.ประยุทธ์ มีผลแน่นอน แต่ ส.ส.กทม. ของ พปชร. 12 คน แต่ละคนก็มีจุดขายของตัวเองและมีการทำพื้นที่ จึงไม่ใช่เรื่องกระแส พล.อ. ประยุทธ์ล้วน ๆ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นพรรคต้องได้เป็น ส.ส.กทม. ครบ 30 คนแล้ว

อีกประเด็นที่อดีต 3 ส.ส. ทั้งนายจักรพันธ์-นายเกษมสันต์-นายนิยมพูดตรงกันคือ “ท่านอนุทินเป็นนายกฯ ได้”

จากวีรกรรม “ดูด” ยกแรก ถึง “สูบ” ล็อตใหญ่

ภายหลังเลือกตั้ง 2562 ภท. เป็นพรรคอันดับห้าของสภา หิ้ว ส.ส. เข้าสภาได้ 51 คน โดยตามหลังพรรคเพื่อไทย ที่มี ส.ส. 136 คน, พรรคพลังประชารัฐ 116 คน, พรรคอนาคตใหม่ 81 คน และพรรคประชาธิปัตย์ 53 คน ส่วนคะแนนมหาชน (ป็อบปูลาร์โหวต) ที่ ภท. ได้รับอยู่ที่ 3.7 ล้านเสียง

ต่อมาเมื่อ ม.ค. 2563 ภท. ได้รับ น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ เข้าเป็นสมาชิกใหม่ หลังถูกต้นสังกัดเดิมอย่าง อนค. ขับพ้นพรรคเพื่อนเพื่อน ส.ส. รวม 4 คน เนื่องจากมีพฤติกรรมลงมติไม่ตรงกับมติพรรคในหลายครั้ง จนถูกเรียกขานว่า “งูเห่าสีส้ม” ทำให้เสียงในสภาของ ภท. เพิ่มขึ้นเป็น 52 คน

ศรีนวล
กองโฆษก พรรคอนาคตใหม่ น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 กับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคคนแรกของเธอ

จากนั้นเมื่อเกิดเหตุพลิกผันทางการเมืองจากกรณีศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค อนค. และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรค เมื่อ 21 ก.พ. 2563 ทำให้ ส.ส. ที่เหลืออยู่รวม 65 ชีวิต ต้องหาพรรคสังกัดใหม่ภายใน 60 วันเพื่อไม่ให้ขาดสมาชิกภาพตามรัฐธรรมนูญ

ในช่วงนั้นเองที่ ภท. เปิดฉาก “ดูด” ชาวอนาคตใหม่เข้าพรรคไปได้ 9 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 7 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2 คน เป็นผลให้ ภท. แซงขึ้นมาเป็นพรรคอันดับสามทันที ด้วยยอด ส.ส. ที่เพิ่มขึ้นเป็น 61 คน ขณะเดียวกันยังช่วยแก้ปัญหาให้แก่รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ด้วยการทำให้สัดส่วนเสียงระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านขยับห่างกันเป็น 274 ต่อ 214 เสียง

การพลิกขั้วการเมืองของ ส.ส.ฝ่ายค้าน เกิดขึ้นในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ระหว่างวันที่ 24-27 ก.พ. 2563 ซึ่งเป็นศึกซักฟอกหนแรกของรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” โดยไม่มีรัฐมนตรีสังกัด ภท. ถูกยื่นอภิปรายแต่อย่างใด

อดีต ส.ส. อนค. นำโดยนายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เปิดแถลงข่าวที่สภาเมื่อ 25 ก.พ. 2563 โดยได้เปิดคลิปเสียงสนทนาทางโทรศัพท์ แฉอดีตเพื่อนร่วมพรรค ซึ่งปรากฏเสียงของชายคนหนึ่งพูดว่า “เรื่องเงินมันก็เป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่ง อยู่พรรคเดิม เงินไม่พอใช้หนี้ ชักหน้าไม่ถึงหลัง จำเป็นต้องไปอยู่พรรคที่มีเงิน”

ร้อนถึงนายอนุทินต้องออกมาตอบโต้ โดยไม่ได้ปฏิเสธว่ามีเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจริงหรือไม่ พร้อมเหน็บแนมไปยังชาวอนาคตใหม่ว่า “เป็นโรคอะไร แถลงต้องเปิดคลิป มีการอัดเทป อีกหน่อยไม่มีใครพูดความจริงกันแล้ว มารยาทไม่มี โต ๆ กันแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่อารยชนทำ มาอัดเทปได้อย่างไร เขาไม่ทำกัน” อย่างไรก็ตามหัวหน้า ภท. บอกว่าจะไม่ฟ้องคนที่ออกมาแถลงข่าว แต่เรียกคนเหล่านั้นว่า “กุ๊ย”

นอกจากนี้ในการลงมติสำคัญ ๆ กลางสภา ไม่ว่าจะเป็น ศึกซักฟอกครั้งอื่น ๆ หรือร่างกฎหมายงบประมาณ ยังมี ส.ส.ก้าวไกล 4-5 คน โหวตสวนทิศทางพรรค-แสดงจุดยืนเคียงข้าง ภท. จนถูกเรียกขานไปต่าง ๆ นานา บ้างก็ว่าเป็น “งูเห่าสีส้ม” ระลอกสาม บ้างก็ว่า “ส.ส. ฝากเลี้ยง”

แม้ทางนิตินัย ส.ส. กลุ่มดังกล่าวยังสังกัด ก.ก. เนื่องจากพรรคเลือก “ขัง” คนเหล่านี้เอาไว้ แทนที่จะขับพ้นพรรค-ปล่อยอออไปเติมเสียงให้พรรครัฐบาล แต่ในทางพฤตินัย ส.ส. กลุ่มนี้ไม่ได้สังฆกรรมกับพรรคสีส้มมานานแล้ว ก่อนที่ทั้ง 5 คนจะเปิดตัวเป็นสมาชิก ภท. อย่างเป็นทางการในวันนี้

………..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว