สุดยอดการค้นพบทางโบราณคดีแห่งปี 2022

แม้ปี 2022 เป็นปีที่ทุกคนต้องการจะผ่านพ้นไปให้ได้ โดยต่างก็มองไปยังอนาคตอันสดใสที่คาดว่ารออยู่ข้างหน้าในปี 2023 แต่แวดวงโบราณคดียังคงให้ความสนใจกับการค้นพบอันน่าพิศวงของเรื่องราวในอดีต ซึ่งจะช่วยอธิบายปัจจุบันและนำทางมนุษยชาติสู่อนาคต

ชาวยุโรปอาจเป็นคนกลุ่มแรกที่ริเริ่มทำมัมมี่

เมื่อพูดถึงมัมมี่ หลายคนจะต้องนึกถึงวิธีทำศพของชาวอียิปต์โบราณเป็นอันดับแรกอย่างแน่นอน แต่ใครจะคาดคิดว่าคนกลุ่มแรกที่เริ่มคิดค้นการรักษาสภาพศพให้แห้งและคงทน อาจไม่ใช่ชาวอียิปต์แต่เป็นชาวยุโรป

เมื่อต้นปีนี้มีผู้ค้นพบหลักฐานการทำมัมมี่ของคนยุคหินกลางเมื่อราว 8,000  ปีก่อน โดยร่องรอยดังกล่าวอยู่ในภาพถ่ายโครงกระดูก ซึ่งพบในสุสานโบราณของหุบเขาซาดู (Sado) ทางตอนใต้ของโปรตุเกส

ภาพจำลองขั้นตอนการทำมัมมี่แบบตากแห้ง ซึ่งพบร่องรอยที่เป็นหลักฐานในโครงกระดูกของคนยุโรปยุคหินกลาง
PEYROTEO STJERNA ET AL. ภาพจำลองขั้นตอนการทำมัมมี่แบบตากแห้ง ซึ่งพบร่องรอยที่เป็นหลักฐานในโครงกระดูกของคนยุโรปยุคหินกลาง

ผลวิเคราะห์ภาพถ่ายโครงกระดูกดังกล่าวชี้ว่า  ศพเหล่านั้นเคยผ่านกระบวนการทำมัมมี่ให้ร่างแห้งและหดเล็กลงก่อนจะทำพิธีฝัง โดยมีการนำศพไปตากแห้งและค่อย ๆ มัดแขนขาของศพให้แน่นขึ้นทีละน้อย จนอวัยวะต่าง ๆ มีท่าทางที่ถูกจัดให้อยู่ในมุมงอซึ่งไม่อาจเป็นไปได้ตามธรรมชาติ

วิธีการนี้ทำให้ศพเล็กลงและมีน้ำหนักเบา ซึ่งจะง่ายต่อการขนย้ายไปฝังในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ห่างไกลออกไป

การแพทย์ยุคหินล้ำสมัยเกินคาด

ร่องรอยการตัดขาท่อนล่างด้านซ้ายที่น่าจะเป็นการผ่าตัดทางการแพทย์

TIM MALONEY
ร่องรอยการตัดขาท่อนล่างด้านซ้ายที่น่าจะเป็นการผ่าตัดทางการแพทย์

นอกจากการทำมัมมี่ในยุดหินกลางแล้ว ย้อนไปเมื่อราว 31,000 ปีก่อนในยุคหินเก่า มนุษย์เราอาจมีความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ในระดับสูงอย่างเหลือเชื่อ โดยมีผู้พบโครงกระดูกโบราณในถ้ำบนเกาะบอร์เนียวของอินโดนีเซีย ซึ่งมีร่องรอยการผ่าตัดรักษาโรค ด้วยการตัดขาท่อนล่างด้านซ้ายออกอย่างสวยงามและไม่มีการติดเชื้อเลย

สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ รอยตัดกระดูกขาในแนวเฉียงดูเรียบเสมอและประณีตอย่างยิ่ง ทั้งยังมีการเติบโตของเซลล์กระดูกใหม่โดยรอบ ทำให้คนผู้นี้รอดชีวิตจากการถูกตัดขาในวัยเด็กมาได้และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แสดงว่าศัลยแพทย์ในยุคนั้นต้องมีความรู้เรื่องกายวิภาค, การใช้สมุนไพรฆ่าเชื้อ, วิธีห้ามเลือด, และการระงับความเจ็บปวดเป็นอย่างดี

ร่องรอยการกรีดและเจาะกะโหลกศีรษะหลังใบหู เพื่อรักษาโรคหูชั้นกลางอักเสบ

NAVARRO ET AL.
ร่องรอยการกรีดและเจาะกะโหลกศีรษะหลังใบหู เพื่อรักษาโรคหูชั้นกลางอักเสบ

ส่วนที่สเปนมีการค้นพบกะโหลกศีรษะผู้หญิงอายุเก่าแก่ราว 6,000 ปี ซึ่งมีร่องรอยการผ่าตัดรักษาโรคหูชั้นกลางอักเสบถึงสองครั้ง นับว่าเป็นการผ่าตัดทางการแพทย์เข้าไปในช่องหูส่วนลึกครั้งแรกของโลก โดยสามารถช่วยชีวิตหญิงผู้นี้ไว้ไม่ให้อาการอักเสบลุกลามไปถึงเยื่อหุ้มสมอง

มนุษย์กับไฟอยู่คู่กันมานับล้านปี

ภาพจำลองการใช้ประโยชน์จากไฟของบรรพบุรุษมนุษย์

Getty Images
ภาพจำลองการใช้ประโยชน์จากไฟของบรรพบุรุษมนุษย์

การรู้จักใช้ประโยชน์จากไฟและควบคุมไฟได้ตามต้องการ ถือเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีครั้งสำคัญของมนุษยชาติ โดยไฟช่วยให้มนุษย์ได้รับสารอาหารบำรุงสมองมากขึ้นจากการปรุงสุก สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ในเวลาค่ำคืน และช่วยให้อพยพไปตั้งถิ่นฐานได้ไกลขึ้นในดินแดนที่มีอากาศหนาวเย็น

ล่าสุดมีการค้นพบหินไฟและเครื่องมือหินที่ผ่านความร้อนจากการก่อกองไฟ ในแหล่งโบราณคดียุคหินเก่าตอนต้นของอิสราเอล ซึ่งชี้ว่ามนุษย์โบราณบางสายพันธุ์อย่างเช่นโฮโมอีเร็กตัส อาจรู้จักใช้และควบคุมไฟได้อย่างเชี่ยวชาญมาตั้งแต่ 1 ล้านปีก่อน

นอกจากนี้ยังพบซากฟันปลาโบราณในตระกูลปลาคาร์ป ตามแหล่งโบราณคดีริมฝั่งแม่น้ำจอร์แดนหลายแห่ง โดยฟันปลาเหล่านี้มีผลึกที่เกิดจากเคลือบฟันโดนความร้อนในระดับต่ำ แสดงว่าคนเราใช้ไฟประกอบอาหารมานานกว่าที่เคยคิดกัน อย่างน้อยก็ตั้งแต่ 780,000 ปีที่แล้ว

ต้นกำเนิดไก่บ้านทั่วโลกมาจากโคราช

ทีมนักโบราณคดีนานาชาติเผยการค้นพบหลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่บ่งชี้ว่า ไก่ป่าอาจถูกมนุษย์นำมาเป็นสัตว์เลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์จนกลายมาเป็นไก่บ้านครั้งแรก ในช่วงรอยต่อระหว่างปลายยุคหินใหม่กับยุคสัมฤทธิ์ ระหว่าง 1,650 ปี ถึง 1,250 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งล่าช้ากว่าที่เคยคิดกันไว้หลายพันปี

หลักฐานดังกล่าวคือกระดูกไก่บ้านอายุเก่าแก่ 3,670 ปี ที่พบในหลุมฝังศพของแหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ซึ่งช่วยยืนยันว่าไก่ป่าสีแดงที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นบรรพบุรุษของไก่บ้านหลากสายพันธุ์ที่ผู้คนทั่วโลกเลี้ยงกันอยู่ทุกวันนี้

ไก่ป่าสีแดง (Red junglefowl) เป็นบรรพบุรุษของไก่บ้านหลากสายพันธุ์ที่คนเลี้ยงกันทุกวันนี้
Getty Images ไก่ป่าสีแดง (Red junglefowl) เป็นบรรพบุรุษของไก่บ้านหลากสายพันธุ์ที่คนเลี้ยงกันทุกวันนี้

นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า ไก่ป่าในอดีตละทิ้งที่อยู่อาศัยบนต้นไม้และลงมาหากินบนพื้นใกล้บ้านเรือนของมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ หลังเริ่มมีการปลูกข้าวและธัญพืช ทำให้เกิดการคัดเลือกปรับปรุงสายพันธุ์จนกลายเป็นไก่บ้านในที่สุด

ดร. โอฟีลี เลอบราสเซอร์ จากศูนย์มานุษยชีววิทยาและจีโนมิกส์แห่งนครตูลูสของฝรั่งเศส บอกว่ากระดูกไก่บ้านจากแหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัดถูกฝังอย่างระมัดระวังรวมกับร่างมนุษย์ในหลุมศพ โดยไม่พบร่องรอยว่ามันถูกเชือดแต่อย่างใด แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับไก่บ้านในเชิงพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ มากกว่าจะเป็นการเลี้ยงเพื่อนำมาเป็นอาหาร ซึ่งการเลี้ยงไก่ไว้กินเนื้อและไข่นั้นเกิดขึ้นในภายหลังช่วงยุคจักรวรรดิโรมัน

นักโบราณคดีชี้ต้นกำเนิดไก่บ้านทั่วโลก มาจากแหล่งอารยธรรมยุคหินใหม่ของไทย

ฟันกรามเด็กหญิง 1.3 แสนปี ชี้เคยมีมนุษย์เดนิโซวานในลาว

มีการค้นพบฟอสซิลฟันกรามของมนุษย์โบราณซี่หนึ่ง ที่ถ้ำหินปูนในเทือกเขาอันนัม (Annamite Mountains) ส่วนที่อยู่ในทางตอนกลางของลาว โดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าฟันกรามนี้เป็นของเด็กหญิงเชื้อสายเดนิโซวาน (Denisovan) มนุษย์โบราณที่ได้สูญพันธุ์ไปแล้วเมื่อราว 40,000 ปีก่อน

ทีมนักบรรพมานุษยวิทยานานาชาติ ทั้งจากลาว สหรัฐฯ และหลายประเทศในยุโรป ร่วมกันเสนอผลการค้นพบล่าสุดในวารสาร Nature Communications โดยระบุว่าฟอสซิลฟันดังกล่าวมีอายุเก่าแก่ระหว่าง 131,000 – 164,000 ปี และน่าจะเป็นของเด็กหญิงอายุเพียง 3.5 – 8.5 ขวบ เนื่องจากเคลือบฟันเพิ่งจะพัฒนาตัวมาอยู่ในสภาพสมบูรณ์ได้ไม่นานก่อนเสียชีวิต และไม่พบร่องรอยการสึกหรอแม้แต่น้อย

DEMETER ET AL.
คำบรรยายภาพ,
ฟอสซิลฟันกรามซึ่งขุดพบที่ “ถ้ำงูเห่า 2” ในเขตเทือกเขาอันนัมของลาว

หากได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการว่า ฟอสซิลฟันดังกล่าวเป็นของมนุษย์เดนิโซวานจริง นี่จะเป็นหลักฐานชิ้นแรกที่ยืนยันการมีอยู่ของมนุษย์โบราณสายพันธุ์ลึกลับในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากเมื่อหลายสิบปีก่อนมีการค้นพบฟอสซิลกระดูกส่วนต่าง ๆ ของเดนิโซวาน ที่เทือกเขาอัลไตในไซบีเรียและบริเวณที่ราบสูงทิเบตเท่านั้น

ทีมวิจัยมีโครงการจะตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอของฟอสซิลฟันนี้ดูในอนาคต ซึ่งผลที่ได้อาจช่วยยืนยันทฤษฎีที่ว่า เผ่าพันธุ์มนุษย์เดนิโซวานมีการแพร่กระจายประชากรในวงกว้างลงมาทางซีกโลกใต้ จนได้ผสมพันธุ์กับมนุษย์ยุคใหม่และทำให้ชาวเอเชียบางส่วนเช่นชนพื้นเมืองในฟิลิปปินส์และออสเตรเลีย มียีนของบรรพบุรุษที่เป็นเดนิโซวานอยู่จนถึงทุกวันนี้

ชาวอียิปต์โบราณใช้สาขาแม่น้ำไนล์ที่เหือดแห้งไปแล้วสร้างพีระมิด

มหาพีระมิดแห่งกีซา
Getty Images มหาพีระมิดแห่งกีซา

หลักฐานใหม่ทางโบราณคดียืนยันว่า เมื่อราว 4,500 ปีก่อน ชาวอียิปต์โบราณสามารถก่อสร้างมหาพีระมิดแห่งกีซา (The Great Pyramids of Giza) ที่ตั้งอยู่กลางทะเลทรายได้ โดยอาศัยการขนส่งหินก้อนใหญ่ที่หนักอึ้งมาทางลำน้ำสาขาของแม่น้ำไนล์ ซึ่งปัจจุบันทางน้ำนี้ได้เหือดแห้งหายไปจนหมดสิ้นแล้ว

ทีมผู้วิจัยระบุว่าใช้หลักฐานทางนิเวศวิทยาบรรพกาล (paleoecology) หรือข้อมูลจากชั้นดินและหินรวมทั้งซากพืชและสัตว์เท่าที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมโดยรอบของมหาพีระมิด ประกอบสร้างลักษณะภูมิประเทศในอดีตตลอดช่วง 8,000 ปีก่อนขึ้นมาใหม่

ผลปรากฏว่าบริเวณที่ราบสูงกีซาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงไคโรนั้น เมื่อราว 4,500 ปีก่อนตั้งอยู่ติดกับลำน้ำสาขาหนึ่งของแม่น้ำไนล์ ทั้งระดับน้ำในยุคโบราณก็สูงกว่าในปัจจุบันมาก จึงไม่น่าแปลกใจว่าชาวอียิปต์โบราณจะใช้ประโยชน์จากลำน้ำสาขานี้ เพื่อลำเลียงวัสดุก่อสร้างมายังสถานที่ตั้งของมหาพีระมิดได้อย่างสะดวกสบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่น้ำขึ้นหรือในฤดูกาลที่แม่น้ำไนล์หลากท่วมตามธรรมชาติ ระดับน้ำจะสูงขึ้นและทำหน้าที่เหมือนเครื่องยกไฮดรอลิกไปโดยปริยาย

ที่ซ่อนร่างราชินีองค์สุดท้ายของอียิปต์อยู่ที่ไหน ?

Getty Images
นักโบราณคดีค้นพบอุโมงค์ใต้ดินที่วิหาร “ทาโปไซริส แม็กนา” ใกล้เมืองอเล็กซานเดรีย

ปริศนาเรื่องสถานที่เก็บพระศพพระนางคลีโอพัตราที่ 7 ฟาโรห์หญิงองค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรอียิปต์โบราณ ถือเป็นสิ่งที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญพยายามค้นหาความจริงมายาวนาน ล่าสุดทีมนักโบราณคดีจากอียิปต์และสาธารณรัฐโดมินิกันบอกว่า พวกเขาอาจใกล้พบสุสานของพระนางแล้ว หลังเจออุโมงค์ลับใต้ดินที่วิหาร “ทาโปไซริส แม็กนา” (Taposiris Magna) ใกล้เมืองอเล็กซานเดรีย

อุโมงค์นี้สูงเกือบ 2 เมตร และมีความยาวเกือบ 1.6 กิโลเมตร ตั้งอยู่ใต้วิหารที่เคยพบของโบราณและกรุสมบัติมากมายที่เกี่ยวข้องกับพระนางคลีโอพัตรา รวมทั้งมัมมี่ลิ้นทองคำที่มีชื่อเสียงด้วย ทีมนักโบราณคดีที่ค้นหาความจริงเรื่องนี้บอกว่า หากมีโอกาสขุดค้นและสำรวจต่อไป เราอาจได้เห็นการค้นพบทางโบราณคดีครั้งสำคัญที่สุดของโลกยุคปัจจุบัน

วัดพุทธเก่าแก่ที่สุดในโลกอยู่ที่ปากีสถาน

เชื่อว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วราว 2-3 ร้อยปี

ISMEO / CA’FOSCARI UNIVERSITY OF VENICE
เชื่อว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วราว 2-3 ร้อยปี

คณะนักโบราณคดีจากปากีสถานและอิตาลี ค้นพบวัดในพุทธศาสนาที่เชื่อว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งที่เคยมีการค้นพบมาคือกว่า 2,000 ปี ในดินแดนที่ศาสนาพุทธเคยเจริญรุ่งเรืองในหุบเขาสวัต (Swat Valley) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองบาร์ริกอต (Barikot) ทางภาคเหนือของปากีสถาน

ผู้ทำการขุดค้นเชื่อว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้น หลังจากพระโคตมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันของศาสนาพุทธได้เสด็จปรินิพพานไปแล้วราว 2-3 ร้อยปี (พ.ศ. 200-300) หรือประมาณช่วงกลางของศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล

ในอดีตบริเวณนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นคันธาระ (Gandhara) ซึ่งถูกพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเข้ายึดครอง ส่งผลให้มีงานพุทธศิลป์ที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะกรีกปรากฏอยู่ดาษดื่นในพื้นที่แถบนี้

การขุดค้นพบวัดโบราณความสูงกว่า 3 เมตร ซึ่งประกอบไปด้วยสถูป ห้องสำหรับพระสงฆ์ บันได เสากลม โถงทางเข้า และสนามหญ้าที่มุ่งสู่ถนนในยุคโบราณ นักโบราณคดีระบุว่าวัดแห่งนี้สร้างอยู่บนซากของวัดโบราณอีกแห่ง ที่คาดว่าจะมีอายุย้อนไปถึงศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล