อุ้มบุญ : หญิงอเมริกันเล่าประสบการณ์รับจ้างตั้งครรภ์ให้คนดังของโลก

 

Shanna St.Clair

Elizabeth Nichols
แชนนา เซนต์แคลร์ เปิดใจกับบีบีซึถึงประสบการณ์รับจ้างตั้งท้องให้คนดัง 2 รายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ทุกวันนี้เราได้ยินข่าวดารานักร้องและบุคคลมีชื่อเสียงมากมายเลือกใช้บริการอุ้มบุญให้กำเนิดทายาทของตัวเอง อีกทั้งพูดถึงเรื่องนี้อย่างเปิดเผย เช่น นาโอมิ แคมป์เบล, ปริยังกา โจปรา โจนาส, อีลอน มัสก์, คิม คาแดเชียน และล่าสุดปารีส ฮิลตัน

แต่การเป็นแม่อุ้มบุญให้บุคคลมีชื่อเสียงเป็นอย่างไร แชนนา เซนต์แคลร์ หญิงชาวอเมริกันเปิดใจกับบีบีซึถึงประสบการณ์รับจ้างตั้งท้องให้คนดัง 2 รายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

โทรศัพท์แชนนากะพริบขึ้น มันเป็นสายเรียกเข้าจากแคเธอรีน (นามสมมุติ)

แชนนาจำได้ว่า ปลายสายเริ่มต้นบทสนทนาโดยที่ไม่กล่าวทักทายใด ๆ “ฟังนะ ฉันอยากบอกเธอก่อนที่เธอจะรู้จากข่าวว่าฉันจ้างแม่อุ้มบุญอีกคน และเธอเพิ่งจะคลอดลูก”

แชนนาประคองตัวลงนั่ง ขณะนั้นเธอกำลังตั้งท้องลูกของแคเธอรีนได้ไม่กี่สัปดาห์ แต่แคเธอรีนกลับมีลูกอีกคน เธอไม่ใช่แม่อุ้มบุญคนเดียวของแคเธอรีน นี่มันหมายความว่าอย่างไรกัน แล้วแคเธอรีนจะยังต้องการลูกของเธอที่อยู่ในท้องของแชนนาอยู่อีกหรือเปล่า

“ฉันหวังว่าคุณจะบอกฉันเร็วกว่านี้” แชนนารวบรวมคำพูดตอบกลับไป “เราคุยกันเรื่องนี้หลังจากฉันไปตรวจครรภ์พรุ่งนี้ได้ไหม”

แคเธอรีนตกลง แล้ววางสายไป

แชนนาส่งข้อความหาแคเธอรีนในอีกไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น

“ฉันประหลาดใจกับข่าวครั้งนี้นิดหน่อย แต่ฉันก็ดีใจด้วย ขอให้คุณมีความสุขกับลูกน้อย แล้วเดี๋ยวเราค่อยคุยกันหลังจากฉันไปตรวจครรภ์”

แคเธอรีนไม่ได้ตอบกลับแชนนา หรือโทรหาเธอในวันถัดมา

Pregnant woman sitting on a sofa holding her belly

Getty Images
การอุ้มบุญช่วยให้ผู้มีปัญหาด้านการเจริญพันธุ์ หรือคู่รักเพศเดียวกันสามารถมีทายาทจากเลือดเนื้อเชื้อไขของตนเองได้

แชนนาได้รู้จักเรื่องการอุ้มบุญจากบทความในนิตยสารฉบับหนึ่ง ตอนนั้นเธอกำลังจิบเครื่องดื่มอุ่น ๆ พร้อมกับคอยดูลูกทั้ง 3 คน เล่นอยู่ด้านนอกบ้านไร่ในเขตชนบทของรัฐเพนซิลเวเนีย

ในบทความนี้ เธอได้รู้จักคำว่า “อุ้มบุญแท้” (traditional surrogacy) ที่หมายถึงการใช้น้ำเชื้อจากผู้บริจาคผสมเทียมกับไข่ของแม่อุ้มบุญ และ “อุ้มบุญเทียม” (gestational carrier) ซึ่งหมายถึงการที่แม่อุ้มบุญตั้งท้องโดยเอาไข่และน้ำเชื้อของผู้ต้องการมีบุตรที่ได้รับการผสมเรียบร้อยแล้วใส่เข้าไปในมดลูก โดยเด็กที่เกิดมาจะไม่มีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมกับแม่อุ้มบุญ

นอกจากนี้ แชนนายังได้เรียนรู้ถึงความแตกต่างระหว่าง “การอุ้มบุญเชิงพาณิชย์” (commercial surrogacy) ซึ่งแม่อุ้มบุญได้รับค่าจ้างจากการตั้งท้องแทนผู้อื่น และการช่วยอุ้มบุญโดยไม่คิดค่าตอบแทน (altruistic surrogacy)

บทความดังกล่าวนำเสนอเรื่องการอุ้มบุญในแง่ดี โดยชี้ว่าแม้แต่การอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ก็เป็นดั่งของขวัญสำหรับพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว และคู่รักเพศเดียวกันที่ต้องการมีลูกจากเลือดเนื้อเชื้อไขของตัวเอง

บางอย่างทำให้แชนนาสนใจเรื่องนี้

ตอนนั้นเธออายุได้ 30 ปี และผ่านประสบการณ์ตั้งท้องอย่างราบรื่นมา 3 ครั้ง อย่างไรก็ตามเธอกับสามีไม่ได้ต้องการลูกเพิ่มอีก

แต่แชนนาคิดว่าตัวเองสามารถรับจ้างเป็นแม่อุ้มบุญได้

การจะเป็นแม่อุ้มบุญได้นั้น แชนนาและสามีจะต้องตอบคำถามในเอกสารกองโต แล้วเข้ารับการประเมินจากนักจิตวิทยาและแพทย์ อีกทั้งต้องเข้าพบทนายความหลายสิบครั้ง

ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา แชนนาก็ได้รับโทรศัพท์จากคู่รักคนดังอย่าง เจนนิเฟอร์และมาร์ก (นามสมมุติ) ที่ได้อ่านประวัติของเธอ และอยากนัดพบกับเธอในนิวยอร์ก

เมื่อได้พบกัน แชนนาก็รู้สึกผูกพันกับทั้งคู่ในทันที

“พวกเขาเป็นคนจิตใจดี…พยายามทำความรู้จักกับชีวิตและลูก ๆ ของฉัน” แชนนาเล่า

การรับอุ้มบุญครั้งนี้ แชนนาได้รับค่าจ้างที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น การเดินทางไปคลินิกทำเด็กหลอดแก้ว ที่พัก น้ำมันรถ อาหาร และรายได้ที่เธอต้องสูญเสียไปขณะอุ้มท้องลูกให้เจนนิเฟอร์และมาร์ก โดยในระยะเวลา 3 ปี เธอได้รับเงินจากงานนี้ทั้งสิ้น 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ในตอนนั้น แชนนาต้องใช้ความพยายามหลายครั้งกว่าจะตั้งครรภ์สำเร็จ ตอนที่เธอคลอดลูกให้เจนนิเฟอร์และมาร์ก พวกเขาเข้ามาจับมือเธอ ร้องไห้ และขอบคุณที่เธอช่วยให้กำเนิดลูกแก่พวกเขา

ดังนั้นเมื่อเจนนิเฟอร์โทรหาแชนนาในอีกหลายเดือนต่อมา เพื่อถามว่าจะแนะนำเธอให้แคเธอรีนได้ไหม แชนนาจึงตอบตกลง

แคเธอรีนมาจากครอบครัวที่มีชื่อเสียง เธอพยายามมีลูกมาหลายปีแต่ไม่สำเร็จ ไม่ว่าจะด้วยวิธีจ้างแม่อุ้มบุญหรือพยายามตั้งท้องด้วยตัวเอง และเมื่อเธอได้ยินเรื่องความสำเร็จของเจนนิเฟอร์ เธอจึงอยากติดต่อแชนนา

“พอมองย้อนกลับไป ก็มีสัญญาณเตือนมากมายจากบทสนทนาทางโทรศัพท์ครั้งนั้น” แชนนากล่าว

แคเธอรีนบอกว่าต้องการเลี่ยงใช้บริษัทให้บริการอุ้มบุญ เพราะอยากประหยัดค่าใช้จ่าย จากนั้นเธอก็จัดหาทนายความมาร่างสัญญาจ้างอุ้มบุญกับแชนนา

The feet of a new born child

Getty Images

การอุ้มบุญครั้งนี้ ต้องใช้ความพยายามถึง 3 ครั้งกว่าที่แชนนาจะตั้งท้องสำเร็จ ในครั้งแรกเธอและสามีเดินทางไปพบกับแคเธอรีนที่คลินิกทำเด็กหลอดแก้ว

แคเธอรีนในชุดหรูหราสง่างาม รอพวกเธออยู่แล้ว

แชนนาตรงเข้าสวมกอดแคเธอรีน แต่อีกฝ่ายทำท่าถอยห่าง จากนั้นก็บอกว่าเธอจะอยู่ส่งตัวแชนนาเข้ารับบริการจากแพทย์ แต่อยู่นานไม่ได้เพราะมีธุระต้องไปทำหลังจากนั้น และจะให้คนขับรถพาแชนนากับสามีกลับไปส่งที่โรงแรม

ตอนนั้นแชนนาคิดอยู่ในใจว่า “ครั้งนี้คงไม่เป็นเหมือนกับเจนนิเฟอร์และมาร์ก”

ความพยายามตั้งท้องครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จ และในคืนก่อนหน้าวันเข้ารับการทำเด็กหลอดแก้วครั้งที่ 2 แคเธอรีนเชิญแชนนาและสามีไปทานอาหารค่ำ ทว่าแชนนากลับรู้สึกไม่สบายใจเลย ตอนนั้นแคเธอรีนเอาแต่เล่าถึงชีวิตอันหรูหรา เครื่องบินส่วนตัว และเฟอร์นิเจอร์ของนักออกแบบดัง

วันรุ่งขึ้น แคเธอรีนไปคลินิกด้วย และพยายามให้แชนนากินยาแวเลียม ซึ่งเป็นยากล่อมประสาทที่มีฤทธิ์ทำให้จิตใจสงบลง และช่วยรักษาโรควิตกกังวล โดยชี้ว่าการที่แชนนาตั้งท้องไม่สำเร็จในครั้งแรกเป็นผลมาจากความวิตกกังวล

ตอนแรกแชนนาไม่ยอมกิน แต่แคเธอรีนคะยั้นคะยอ และเอายาใส่ปากแชนนา ซึ่งเธอไม่ต้องการโต้เถียงจึงยอมโดยดี ก่อนที่จะบ้วนยาทิ้งตอนที่แคเธอรีนไม่เห็น

ทว่าความพยายามในครั้งที่สองก็ยังไม่เป็นผล

Shanna St.Clair

Elizabeth Nichols

ในการพบกันที่คลินิกครั้งที่สาม แคเธอรีนมัวยุ่งกับการคุยโทรศัพท์กับแม่ และแทบไม่ได้พูดคุยกับแชนนาเลย

อย่างไรก็ตาม ในอีก 10 วันต่อมา แชนนาตรวจพบว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์

“ฉันดีใจที่สุด” แชนนาเล่า

แต่แคเธอรีนกลับไม่แสดงอารมณ์ใด ๆ เธอบอกว่าไม่อยากตื่นเต้นจนเกินไป เพราะแม่อุ้มบุญคนก่อนก็เคยตั้งท้อง และแท้งลูกของเธอในเวลาต่อมา

แคเธอรีนบอกว่าทั้งหมดเป็นความผิดของแม่อุ้มบุญคนนั้น ที่ดึงดันจะรอขึ้นเครื่องบินนาน 12 ชั่วโมงเพื่อเดินทางไปเยี่ยมพ่อที่กำลังป่วย ทั้งที่เธอพยายามทัดทานแล้วก็ตาม

แชนนาอึ้งตอนที่ได้ยินแคเธอรีนพูดว่า “ฉันห้ามเธอไม่ให้เดินทาง แต่เธอก็ยังทำ แล้วดูสิว่าเกิดอะไรขึ้น!…เด็กตาย”

ไม่กี่วันถัดมา ระดับฮอร์โมน hCG ที่บ่งชี้เรื่องการตั้งครรภ์ของแชนนาลดลงเล็กน้อย แต่แพทย์บอกเธอว่าอย่าเพิ่งสิ้นหวัง และเมื่อแจ้งเรื่องนี้กับแคเธอรีน เธอก็บอกว่าให้รอดูต่อไป


การอุ้มบุญทั่วโลก

  • ยูเครน โคลัมเบีย เม็กซิโก และรัสเซีย อนุญาตให้มีการอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ได้ แต่กัมพูชา อินเดีย เนปาล และไทย อนุญาตให้ทำได้เช่นกันแต่มีข้อห้ามสำหรับการอุ้มบุญให้คนต่างชาติ
  • ในสหราชอาณาจักรกำหนดให้การรับจ้างอุ้มบุญเป็นสิ่งถูกกฎหมาย แต่ห้ามบุคคลที่ 3 ได้รับประโยชน์จากการเป็นสื่อกลางจับคู่แม่อุ้มบุญกับผู้ต้องการมีบุตร โดยตัวเลขการอุ้มบุญที่นี่เพิ่มขึ้น 4 เท่าระหว่างปี 2011-2020
  • ในสหรัฐฯ กฎเกณฑ์เรื่องการอุ้มบุญแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ เช่นที่ รัฐเพนซิลเวเนียที่แชนนาอยู่นั้น อนุญาตให้สามารถทำข้อตกลงรับค่าตอบแทนจากการอุ้มบุญได้ ซึ่งถือเป็นรัฐที่มีกฎหมายเป็นมิตรต่อการอุ้มบุญ
  • นักสตรีนิยมชื่อดังอย่าง กลอเรีย สไตเนม และจูเลีย บินเดิล ชี้ว่า ธุรกิจอุ้มบุญทำให้ร่างกายผู้หญิงกลายเป็นสินค้าที่ซื้อขายกันได้ และทำให้แม่อุ้มบุญซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจนเสี่ยงต่อการถูกแสวงหาผลประโยชน์

หลังจากแคเธอรีนโทรหาแชนนาเพื่อแจ้งเรื่องที่แม่อุ้มบุญอีกคนเพิ่งให้กำเนิดลูกแก่เธอ ก็ขาดการติดต่อไป

แชนนายังคงเข้ารับการตรวจครรภ์ตามปกติ โดยที่ไม่รู้ว่าแคเธอรีนยังคงต้องการเด็กในท้องของเธอหรือไม่

4 สัปดาห์ต่อมา แชนนาได้รับแจ้งว่าระดับฮอร์โมน hCG ของเธอตกลงอย่างมาก และเธอก็แท้งบุตร

แชนนาโทรหาแคเธอรีน แต่อีกฝ่ายไม่รับโทรศัพท์ เธอจึงส่งข้อความไปบอกข่าวร้าย

หลายชั่วโมงต่อมา แคเธอรีนส่งข้อความกลับมาว่าจะโทรหาเธอ “เร็ว ๆ นี้”

แต่หลายวันผ่านไปแชนนาก็ยังไม่ได้ยินข่าวจากแคเธอรีน เธอจึงส่งข้อความหาอีกครั้ง

“สวัสดีค่ะ ฉันหวังว่าคุณและลูกน้อยจะสบายดี ฉันส่งบิลค่าใช้จ่ายที่เหลือไปให้ได้ไหมคะ”

เสียงแจ้งข้อความตอบกลับจากแคเธอรีนดังขึ้น

“แชนนา ความสัมพันธ์ของเราจบสิ้นแล้ว…ฉันช็อกกับความเย็นชาของคุณที่มีต่อการเกิดของลูกฉัน ส่งบิลมาได้เลย”

จากนั้นแชนนาและแคเธอรีนก็ไม่ได้พูดกันอีก

Shanna St.Clair

Elizabeth Nichols

แอเรีย ซิมูเอล ซึ่งทำบริษัทให้บริการอุ้มบุญแบบวีไอพีในรัฐแคลิฟอร์เนียระบุว่า “คนดังอาจเริ่มเปิดเผยเรื่องการอุ้มบุญมากขึ้น แต่ต้องใช้เวลาอยู่นานหลายปี”

แอเรียและหุ้นส่วนต่างเคยเป็นแม่อุ้มบุญมาก่อน จึงมีความเข้าใจในปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น

เธออธิบายว่า บริษัทให้บริการอุ้มบุญที่ดีมีหน้าที่ต้องสร้างความสบายใจและให้ความช่วยเหลือแม่อุ้มบุญให้ได้รับเงื่อนไขที่เป็นธรรม รวมทั้งทำการตรวจสอบประวัติและจัดการประเมินด้านจิตวิทยา ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาความเป็นส่วนตัวให้ลูกค้าคนดังที่มาใช้บริการไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการหาผลประโยชน์จากแม่อุ้มบุญ

4 ปีหลังเผชิญประสบการณ์ไม่น่าประทับใจกับแคเธอรีน แชนนาก็ได้รับการติดต่อจากบริษัทให้บริการอุ้มบุญเดิม ที่สอบถามว่าเธอต้องการรับอุ้มบุญให้ผู้ต้องการมีบุตรคู่หนึ่งหรือไม่

หลังจากได้พบปะทำความรู้จักกัน แชนนาก็รู้สึกชอบทั้งคู่ และตกลงรับอุ้มบุญเป็นครั้งสุดท้าย

ครั้งนี้เธอให้กำเนิดลูกแฝดแก่ทั้งคู่

“ฉันต้องการเรื่องดี ๆ มาลบล้างประสบการณ์แย่ ๆ กับแคเธอรีน” แชนนาบอก

“ฉันมีประสบการณ์อุ้มบุญที่งดงาม 2 ครั้ง และอีก 1 ครั้งเป็นประสบการณ์เลวร้าย ที่เป็นแค่เรื่องทางธุรกิจ” เธอบรรยาย

ปัจจุบันแชนนามีร้านเสริมสวยของตัวเอง ซึ่งลูกค้ามักพูดคุยเรื่องข่าวซุบซิบของเหล่าคนดัง รวมถึงเรื่องการมีลูก และครอบครัว

“การอุ้มบุญไม่ใช่เรื่องที่เหมาะกับทุกคน แต่เป็นเรื่องเฉพาะตัว ถ้าผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายรู้สึกดี…เราก็ไม่ควรตัดสินทางเลือกของคนอื่น” แชนนากล่าวทิ้งท้าย

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว