กุน ขแมร์ :  วัฒนธรรมไทย-เขมร ย้อนดูประวัติศาสตร์ที่อาจเป็นเหตุก่อ ‘ดรามา’ ของสองชาติ

 

Getty Images

Getty Images
อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง หรือ ปราสาทหินพนมรุ้ง ที่ จ.บุรีรัมย์

 

ไม่ว่าจะเป็นเหตุจลาจลที่สถานทูตไทยในพนมเปญจากกรณีสื่อกัมพูชาแพร่ข่าวอ้างดาราสาวของไทย “กบ สุวนันท์” กล่าวนครวัดเป็นของไทย เมื่อปี 2546 เหตุเรื่องเขาพระวิหาร จนถึงภาพปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ ในมิวสิควิดีโอของลิซ่า แบล็คพิงค์ ที่ทำให้โซเชียลกัมพูชาบอกว่าเป็นสมบัติของประเทศ และล่าสุดเรื่อง “กุน ขแมร์” มวยเขมรในซีเกมส์ ดูเหมือนว่าไทยกับประเทศเพื่อนบ้านฝั่งตะวันออกประเทศนี้จะมีเหตุ “ดรามา” มากกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นใด

จากยุคแอนะล็อกของประเด็นนครวัดของดาราไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ถึงยุคดิจิทัล ที่ข้อพิพาทระหว่างประชาชนเกิดขึ้นทางโซเชียลมีเดีย นักประวัติศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านกัมพูชา มีคำตอบที่อธิบายได้ว่า ประวัติศาสตร์ของสองชาติต่างเป็นเหตุที่ทำให้เกิด “ปัญหา” อย่างที่เห็นในทุกวันนี้

อะไร คือ มรดกทางศิลปวัฒนธรรมอะไรที่ไทยและกัมพูชามีร่วมกัน และเราแยกกันไปตอนไหน

อาจารย์ ดร.ธิบดี บัวคำศรี อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ทั้งไทยและกัมพูชา “เราร่วมและแยกกันมาตั้งแต่ก่อนการเกิดรัฐชาติ” เพียงแต่ว่าการเกิดขึ้นของรัฐชาติของกัมพูชา ซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และเคยเป็นมีสัมพันธ์กับสยาม  ยิ่งทำให้ความต่างนั้นชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา เลยทำให้ความต่างนั้นเป็นปัญหาจากเดิมที่ไม่เคยเป็นปัญหามาก่อน

สำหรับยุคสมัยปัจจุบัน หากกล่าวถึงว่า วัฒนธรรมแต่ละอย่างมีเรื่องใดบ้างที่เป็นวัฒนธรรมร่วมระหว่างไทยกับกัมพูชา หรืออะไรบ้างที่เป็น “ราก” เดียวกัน อ.ดร. ธิบดี ให้ทัศนะว่า เราอาจจะพูดว่าเป็นรากเดียวกันหรือร่วมกันได้ แต่อีกส่วนหนึ่งวัฒนธรรมเหล่านี้อาจจะ “ผสม” หรือ “แลกเปลี่ยน” ไปมา ไม่เห็นชัดว่ามีรากอยู่ที่ไหน

“จริง ๆ อาจจะไม่มีรากก็ได้ มีแต่คนรุ่นเราที่พยายามจะกลับไปหาว่ามีราก มีต้นกำเนิดจากนี่ แต่ผมคิดว่า อาจจะไม่มีประโยชน์ ที่จะนับแบบนั้น เพราะจริง ๆ เราอาจจะหาไม่ได้ ว่ารากมันอยู่ที่ไหน เพราะจริง ๆ มันก็แลกเปลี่ยนกันไปมา เพราะคนก็อยู่กันไปมา เจอกันตรงนี้ หรือทำสงครามกัน ทะเลาะกัน…”

สงครามกับช่องทางแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม

เมื่อถามว่า อารยธรรมเรื่องใดที่สยาม (ไทย) มีร่วมกับชนชาติเขมร และมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ อาจารย์ ดร. ธิบดี กล่าวว่า หากให้ย้อนจริง ๆ อาจมีมาตั้งแต่สมัยยุคหิน หรืออย่างช้าที่สุดอาจย้อนกลับไปได้ถึง ตั้งแต่ศตวรรษที่  12-13 หรือก่อนหน้านั้น “ถ้าพูดให้เข้าใจคือช่วงก่อนสมัยสุโขทัย”

นักประวัติศาสตร์ผู้ศึกษากัมพูชา กล่าวว่า หากกล่าวในแง่ของภาษา ซึ่งอาจจะสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มทางเชื้อชาตินั้น ภาษาไทยและเขมร เป็นคนละกลุ่มกัน แต่ด้วยความที่ชุมชนของคนสองกลุ่มนั้นอยู่ใกล้กัน มีปฏิสัมพันธ์กัน จึงทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนกัน จึงทำให้ทั้งสองภาษามีอิทธิพลต่อกัน

ดร.ธิบดี กล่าวด้วยว่า การมีปฏิสัมพันธ์นั้นมีทั้งในแง่ความสัมพันธ์อันดีต่อกันอย่างการค้าขาย และเรื่องของสงครามระหว่างกันและการกวาดต้อนผู้คนจากที่หนึ่งมายังอีกที่หนึ่ง ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งของการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกัน

“บางคราวก็มีการทำสงครามกัน บางคราวก็มีการติดต่อค้าขายกัน บางคราวแต่งงานกัน ก็ทำให้เกิดการติดต่อมีปฏิสัมพันธ์กัน ดังนั้น ภาษาไทย เราจึงเห็นอิทธิพลของภาษาเขมรในภาษาไทย และเห็นภาษาไทยอยู่ในภาษาเขมร”

สำหรับสงครามครั้งสำคัญ ๆ อาจารย์ ดร.ธิบดี เล่าว่า เท่าที่มีหลักฐาน สงครามใหญ่ครั้งแรก คือ ช่วงศตวรรษที่ 15 หรือประมาณ 100 ปี หลังจากตั้งกรุงศรีอยุธยา สยามยกทัพไปยึดศูนย์กลางทางการเมืองการปกครองของกัมพูชา ซึ่งเวลานั้นอยู่ที่เสียมราฐ หรือที่ตั้งของนครวัด นครธม สงครามครั้งนั้นได้มีการกวาดต้อนเอาผู้คน รวมถึงบรรดาสมณะ ชีพราหมณ์ ทรัพย์สมบัติสิ่งของทั้งหลายทั้งปวง รวมถึงบรรดารูปสำริดอื่น ๆ กลับมาที่อยุธยาด้วย

“นี่เป็นการทำให้เกิดการรับอายรยธรรมครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งที่ไทยรับจากกัมพูชา”

เขมรนิยมไทย หรือไทยนิยมเขมร

ดร. ธิบดี เล่าต่อว่า เมื่อเข้ามาช่วงธนบุรี กลางศตวรรษที่ 18 หรือต้นกรุงเทพฯ (รัตนโกสินทร์) ครึ่งหลังศตวรรษ ที่ 18 สงครามเพิ่มจำนวนความถี่ขึ้น ในกัมพูชาเองกลุ่มการเมืองของเจ้านายและขุนนางก็มีการสู้รบตบตีแย่งอำนาจกันภายใน ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาหรือตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 แล้ว เมื่อฝ่ายหนึ่งสู้ไม่ได้ก็เข้ามาขอความช่วยเหลือกับอยุธยาหรือกรุงเทพฯ

ความเป็นไปเช่นนี้ ทำให้เกิดอีกสิ่งตามมาคือ เกิดบรรดากลุ่มของคนที่ “โปร” (สนับสนุน) สยาม ซึ่งอาจหมายรวมถึงการยินดีหรือชื่นชอบในวัฒนธรรมของสยามด้วย เนื่องจากตนเองต้องเข้ามาอยู่ในสยาม เมื่อได้มาเห็น แล้วก็มารับเอาวัฒนธรรมต่าง ๆ กลับไป

อย่างไรก็ตาม  มีผู้ศึกษาประวัติศาสตร์บางสายอธิบายว่า การรับเอาวัฒนธรรมไประหว่างกัน อาจจะไม่ได้ผ่านสงครามเพียงอย่างเดียว

“เช่น ก่อนหน้าที่จะเห็นสุโขทัยหรืออยุธยา เราเห็นอาณาจักรในกัมพูชาที่มีอำนาจทางการเมืองและวัฒนธรรมที่เหนือกว่า แล้วคนในไทยปัจจุบันก็นิยมชมชื่นหรือรับเอาวัฒนธรรมนั้นมา มันมีทั้งสองแบบและทั้งสองฝ่ายก็เป็นแบบนั้น” ดร.ธิบดี กล่าว พร้อมยกตัวอย่างอาณาจักรที่รุ่งเรืองของเขมร ก็คือ อาณาจักรพระนคร (Angkor Empire)

Getty Images

Getty Images
“อังกอร์วัด” หรือ “นครวัด”  ในเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา

ทำไมไทย เขมร จึงมีข้อพิพาทต่อกันเสมอ

นักวิชาการประวัติศาสตร์จากรั้วจุฬาฯ กล่าวว่า มีนักวิชาการจำนวนหนึ่งอธิบายว่า การที่ไทยและกัมพูชามี “ประเด็น” ต่อกันหลายเรื่องนั้น เป็นเพราะมรดกของอาณานิคม หรือเป็นระเบิดเวลาจากอาณานิคม  แต่ในทัศนะของ อ.ดร.ธิบดี มองว่า ยังประกอบไปด้วยปัจจัยของชนชั้นนำกัมพูชาเองที่รับเอาชุดความคิดที่ฝรั่งเศสทำไว้เช่นกัน

ยุคอาณานิคมฝรั่งเศส คือตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2406) ถึง รัชกาลที่ 9 ของไทย กัมพูชา เพิ่งได้เอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2497 รวมระยะเวลาตกอยู่ใต้การปกครองของฝรั่งเศสประมาณ 90 ปี

ดร. ธิบดี บรรยายว่า นักวิชาการจำนวนหนึ่งอธิบายว่า สิ่งที่ฝรั่งเศสปกครองกัมพูชาในฐานะอาณานิคม ก็คือ การตัดกัมพูชาออกจากสัมพันธ์ที่เคยมีกับสยาม เพื่อที่จะทำให้กัมพูชาอยู่ใต้การปกครองของฝรั่งเศสเพียงเท่านั้น เช่น ก่อนยุคอาณานิคมฝรั่งเศส เคยมีพระเดินทางมาเรียนที่สยามแล้วกลับไปสอนหนังสือบาลีต่อที่กัมพูชา สิ่งที่ฝรั่งเศสทำ คือ การห้ามการเดินทาง การขีดเส้นแบ่งทั้งในทางการเมือง และในทางวัฒนธรรมระหว่างกัมพูชาและสยาม

Getty Images

Getty Images
ภาพการเยือนอย่างเป็นทางการ ในนิทรรศการอาณานิคมปารีส ในภาพปรากฏอังกอร์วัดในฉากหลังเมื่อเดือน มิ.ย. ปี 1931 (พ.ศ. 2474)

 

อีกประเด็นที่เป็นผลจากการเข้ามาปกครองกัมพูชาของฝรั่งเศส คือ การสร้างตัวตนหรืออัตลักษณ์ของกัมพูชาขึ้นมา โดยอิงกับสิ่งที่มีอยู่เดิมของกัมพูชาขึ้นมา นั่นคือบรรดาโบราณสถานทั้งหลายทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนครวัด

“พูดอย่างสั้นที่สุด มีคนเสนอว่า ฝรั่งเศสทำให้นครวัด กลายเป็นจิตวิญญาณ และเป็นสัญลักษณ์ เป็นศูนย์กลาง เป็นทุกอย่างของประวัติศาสตร์กัมพูชา เมื่อฝรั่งเศสออกไป  กัมพูชาเป็นเอกราชแล้ว ชนชั้นนำในกัมพูชา ยังคงรับเอาชุดความคิด อย่างนั้นของฝรั่งเศสมา”

อย่างไรก็ตาม ดร. ธิบดีเล่าเกร็ดจากเรื่องนี้ด้วยว่า สิ่งที่ต่างอย่างหนึ่งระหว่างสิ่งที่ฝรั่งเศสพูดกับคนกัมพูชาพูด คือ ฝรั่งเศสบอกว่า คนที่มาอยู่กัมพูชาสมัยที่ฝรั่งเศสปกครอง เป็นคนละพวกกับคนที่สร้างนครวัด เพราะฝรั่งเศสไม่สามารถเชื่อได้ว่า “พวกที่ตัวเองปกครองอยู่เป็นคนป่าเถื่อนจะสร้างสิ่งปลูกสร้างสมหัศจรรย์ได้ ขณะที่คนกัมพูชาเชื่อว่าคนที่สร้างนครวัด คือ ชาวเขมร และเชื่อว่าตัวเองสืบเชื้อสายจากคนพวกนั้นด้วย ดังนั้น เป็นประจักษ์พยานของความรุ่งเรือง”

“(ฝรั่งเศส) ทำเยอะ และทำโดยอาศัยความร่วมมือของชนชั้นนำกัมพูชาด้วย ไม่ได้ทำโดยลำพัง… แต่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างฝรั่งเศสและกัมพูชาที่เป็นชนชั้นนำและอยู่ในระบอบการปกครองของฝรั่งเศส”

วัฒนธรรมไทย-กัมพูชา เรื่องใดที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน

อ.ดร. ธิบดี ได้ไล่เรียงวัฒนธรรมแต่ละชุดที่ไทยและ กัมพูชา มีการรับและแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน โดยบางช่วงสำคัญเป็นการรับวัฒนธรรมผ่านราชสำนักในช่วงต้นรัตนโกสินทร์

  • ภาษา

อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ อธิบายว่า เรื่องของภาษา “เรารับจากเขมร มากกว่า เขมรรับของไทยไป มีร่องรอยของภาษาที่ใช้กันทุกวันนี้ที่เป็นคำในภาษาไทย และไม่ได้เพิ่งเห็นใน 100-300 ปี แต่ย้อนกลับไปได้ไกลกว่านั้น แต่โดยเปรียบเทียบ เราเห็นภาษาเขมรในภาษาไทยมากกว่า เห็นภาษาไทยในภาษาเขมร”

  • ศิลปะการแสดง

ดร. ธิบดี ชี้ว่า ย้อนกลับไปไม่ได้มาก เพราะไม่มีหลักฐาน แต่เท่าที่มีหลักฐานตั้งแต่ ต้นศตวรรษที่ 19 ช่วงราวรัชกาลที่ 2-3 มีคณะละครไทย ที่อยู่ราชสำนักกัมพูชา หรือมีครูละครของไทยอยู่ในราชสำนักกัมพูชา เนื่องจากในเวลานั้น กษัตริย์กัมพูชา (มีทั้งกษัตริย์ที่ “โปร” หรือนิยมสยามและโปรเวียดนาม) พวกกษัตริย์ที่ “นิยม” สยาม มีอำนาจขึ้นมาจำนวนหลายพระองค์  ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 ถึง ต้นศตววรษที่ 19 ถูกส่งตัว “มาเรียน” ในเมืองไทย เกิดและโต ในเมืองไทย จำนวนไม่น้อยก็มีความนิยม หรืออย่างน้อยก็เป็นความคุ้นชินในวัฒนธรรมไทย

“หลายคนพูดภาษาไทยไทยได้ อ่านหนังสือไทยออก พอกลับไปก็นำเอาหลายอย่างกลับไปด้วย หลายอย่างที่นำเอาไป หรืออยากจะมี เช่น เรื่องคณะละคร เพราะว่าคณะละคร เป็นเครื่องแสดงอำนาจบารมีของผู้ปกครอง… นอกเหนือจากความนิยมชมชอบว่าเอาฉันฟังเพลงไทย เหมือนเราฟังเพลงเค-ป็อป ถ้าเรามีวง มีคอนเสิร์ตมาคงจะดี ดังนั้น จึงมีความพยายาม ที่จะเอาครูละคร ตัวละครจากไทยเข้าไปในกัมพูชา”

อ.ดร. ธิบดี อธิบายถึงนิยามของคำว่า “มาเรียน” ของกษัตริย์กัมพูชาด้วยว่า “หลาย ๆ กรณี ไม่ใช่ศึกษาหาความรู้ แต่เป็นการส่งมาเป็นตัวประกัน ทำให้ ‘โซเชียลไลซ์’ (ขัดเกลาทางสังคม) มีความภักดีต่อไทย” ซึ่งกษัตริย์กัมพูชาที่ถูกกล่าวถึงในประวัติศาสตร์ช่วงนี้ เป็นสมัยที่กัมพูชามีการฟื้นฟูในทางวัฒนธรรมและปรากฏวัฒนธรรมของไทย ได้แก่ สมัยของสมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง)

Getty Images

Getty Images
การแสดงรำของกัมพูชา

 

ต่อมาในสมัยอาณานิคมฝรั่งเศส มีการเข้าไปรื้อฟื้นจัดการเรื่องละครรำโดยนำเอาคณะละครของหลวง ไปอยู่ในความดูแลของชาวฝรั่งเศส ยังตั้งโรงเรียนสอนศิลปะ เช่น เรื่องลายไทย หรือลายเขมร เป็นผลจากการเข้าไปรื้อฟื้นของฝรั่งเศสขึ้นมา  ซึ่งสัมพันธ์กับช่วงที่กษัตริย์ของกัมพูชา เอนเอียงไปทางฝรั่งเศสมากขึ้นด้วย แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่ามีส่วนที่เป็นของกัมพูชาเดิม หรือของไทยอยู่แค่ไหน และฝรั่งเศสดำเนินการอย่างไรบ้าง

“เรื่องของศิลปะการแสดงละคร มีการย้อนกลับไปถึงสมัยพระนคร (อังกอร์) เพื่อที่จะตัดไม่ต้องให้ใครมาอยู่ตรงนี้ ให้เป็นประวัติศาสตร์ของตัวเองอยู่ตรงนั้นว่ามีความยิ่งใหญ่”  ดร. ธิบดี ระบุ

  • ชุดแต่งกาย/ ดนตรี

อ.ดร. ธิบดี ชี้ว่า ชุดแต่งกายของไทย และกัมพูชา มีความคล้าย แต่มีความต่าง

อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานว่า ความต่างเกิดขึ้นเมื่อใด เนื่องจากสันนิษฐานว่า ก่อนหน้าที่ละครไทยจะเข้าไปกัมพูชา เชื่อว่ากัมพูชาน่าจะมีละครของตัวเองอยู่ก่อนด้วย

หากเทียบจริง ๆ ตัวการแต่งกาย ของละครไทย กับกัมพูชามีความต่างกันอยู่ แม้ดูเผิน ๆ จะเหมือนกัน หรือเครื่องดนตรี แม้มีปี่พาทย์ มโหรีย์ เหมือนกัน แต่เมื่อดูรายละเอียด เครื่องดนตรีบางอย่างมีวิธีการในการทำเครื่องดนตรี ในการถ่วง เช่น ระนาด ที่ต่างกัน

“ไม่รู้ว่า เป็นความต่าง ที่มีมาตั้งแต่ก่อนที่ไทยเข้าไป หรือว่าเป็นความต่างที่เพิ่งเกิดเมื่อฝรั่งเศสเข้ามาขีดเส้นแบ่งทางการเมืองวัฒธรรม”

Getty Images

Getty Images
  • ศาสนา

มีพุทธนิกายธรรมยุทธ์อยู่ในกัมพูชา ชัดเจนว่ามาจากไทย เพราะเกิดขึ้นที่ไทยเนื่องจาก รัชกาลที่ 4 ตั้งขึ้นตอนบวช สมัยรัชกาลที่ 3 แต่ว่า ธรรมยุทธ์ในกัมพูชา ไม่เป็นที่นิยม คือมีพระน้อยกว่า มีวัดน้อยกว่า

“ในทางการศึกษาของพระก็ตัด (อิทธิพลของพระไทย) ออกไป ในทางศิลปะก็มีของตัวเองขึ้นมา และของตัวเองก็สัมพันธ์กับความรุ่งเรืองที่มีมายาวนานในอดีต” ดร. ธิบดีระบุ

  • วรรณคดี

มีวรรณคดี ไทย (รวมวรรณคดีที่ไทยได้อิทธิพลจากภาษาอื่น และของไทยเอง) ไปปรากฏในกัมพูชาด้วย เพราะวรรณคดีส่วนหนึ่งใช้เป็นบทละครสำหรับแสดงละครด้วย

การรับเอาวรรณคดีจากสยามไป เกิดในช่วงเดียวกันกับละครรำ ช่วงทศวรรษ 1840 สมัยรัชกาลที่ 3 ช่วงที่กษัตริย์ของกัมพูชา เป็นกษัตริย์ที่ไทยสนับสนุน

เหตุที่เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ เพราะว่า ก่อนหน้านั้น สงครามเกิดขึ้นกว่า 10 ปี ทำให้เกิดการกวาดต้อนผู้คน การเผาทำลายสิ่งต่าง ๆ รวมถึงวัดวาอาราม ดังนั้น มันคล้ายสิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนสมัยเขมรแดง ทำให้เกิดการสูญหายทางวัฒนธรรม ทั้ง คน ที่เป็นครูละคร นักละครพระ รวมถึงบรรดา ตำราต่าง ๆ ในช่วงทศวรรษ 1840-1850 จึงเกิดการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมหลาย ๆ ด้านขึ้นในกัมพูชา โดยแหล่งที่มาของงานทางศิลปวัฒนธรรมส่วนหนึ่งมาจากไทย

ตัวอย่างวรรณกรรมที่ไปปรากฏที่กัมพูชา เช่น เรื่องกากี วรรณกรรมบางเรื่องที่่ร่วมกันจากการดัดแปลงชาดกทางพุทธศาสนา สามก๊ก ฉบับที่ไทยแปลจากจีนในสมัยรัชกาลที่ 1 แล้วกัมพูชาแปลจากฉบับภาษาไทยอีกทีหนึ่ง

  • ปราสาท โบราณสถาน

ปราสาทโบราณสถานในไทย อย่างเช่น ปราสาทหินพนมรุ้ง จ. บุรีรัมย์ กับศิลปะโบราณสถานในกัมพูชา อ. ธิบดี บอกว่า สร้างในยุคเดียวกัน อย่างไรก็ตาม มีงานศึกษาชั้นหลังที่เกิดมาประมาณ 30-40 ปี พยายามอธิบายว่า กษัตริย์เขมรบางกลุ่ม สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มที่อยู่ในอีสานตอนใต้ แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นใคร ซึ่งหนังสือประวัติศาสตร์เดิมไม่มีคำอธิบายเช่นนี้

“หนังสือเรียนไม่ได้มีเรื่องนี้  พูดแต่ว่า กษัตริย์สืบต่อวงศ์กันมา แต่ไม่ได้พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างแถบทะเลสาบเขมรกับแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำมูลในอีสานตอนล่าง ซึ่งไม่รู้ว่าตรงนั้นคือใครบ้าง ไม่ได้หมายความว่า ตรงนั้นเป็นไทย เป็นลาว หรือเขมร แต่เรามักจะเคลมว่าอยู่ในประเทศไทยก็ต้องเป็นไทย”

อ. ธิบดี กล่าวว่า ไม่แน่ชัดว่าจะเรียกว่าเป็น “การแลกเปลี่ยนกัน” ได้หรือไม่ เพราะอาจจะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน หรือ เกิดจากการแต่งงานกันไปมา และลงไปตั้งศูนย์อำนาจที่อื่น ดังนั้น “เมื่อมีชาติ ประวัติศาสตร์ชาติเกิดขึ้น เรื่องพวกนี้ไม่ถูกเล่า ก็จะขีดเส้นแบ่งทางการเมืองและอาณาเขต และพอเห็นอะไรที่คล้ายกัน จึงทำให้ต่างคนต่างบอกว่าเป็นของตัวเอง”

ไทยกับเพื่อนบ้านอื่น

เกี่ยวกับประเด็นพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ทำไมจึงดูเหมือนว่า ไทยมีกรณีกับกัมพูชามากกว่าชาติอื่น นักประวัติศาสตร์จากจุฬาฯ ชี้ว่า ในความเป็นจริงแล้ว เรามีกรณีกับทุกชาติ แต่สำหรับกัมพูชา มีความชัดเจนกว่าที่อื่น จากปัจจัยทางประวัติศาสตร์

“เหตุหนึ่งเพราะว่า เมื่อฝรั่งเศสถอนตัวออกไปแล้วจากลาว (สหรัฐ) อเมริกาเข้ามาสนับสนุนรัฐบาลฝ่ายขวาในลาว แล้วไทยก็ร่วมกับอเมริกา ดังนั้น รัฐบาลลาวในเวลานั้น จะเป็นมิตรกับรัฐบาลไทย ต่างจากกัมพูชา หลังได้เอกราช ผู้นำกัมพูชามีท่าทีที่ไม่เป็นมิตรนักกับอเมริกา นั่นหมายความว่า เป็นปฏิปักษ์กับไทยไปด้วยโดยปริยาย ดังนั้น ปัญหาก็เลยยิ่งมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับชาติอื่น ๆ” อ.ดร. ธิบดี ระบุ

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว