“เรือรบหรือขนมเค้ก” ส.ส.ก้าวไกลร่ายปัญหา-สาเหตุเรือหลวงสุโขทัยล่ม

 

ชัยชาญ พิจารณ์

Thai News Pix
พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม (ซ้าย) ชี้แจงหลังนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ (ขวา) อภิปรายเรื่องการทุจริตภายในกองทัพ ที่นำไปสู่โศกนาฏกรรมเรือหลวงสุโขทัยอับปาง

ส.ส. พรรคก้าวไกลอภิปรายกล่าวหา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และผู้บริหารกองทัพเรือ (ทร.) ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และการซ่อมเรือรบ ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมเรือหลวงสุโขทัยอับปางเมื่อ 2 เดือนก่อน

ด้าน พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ยืนยันว่า การดำเนินการต่าง ๆ ต้องทำให้โปร่งใส และเกิดประสิทธิภาพ แต่ไม่ได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านเรื่องการ “แบ่งเค้ก” ภายในกองทัพ

เหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอับปางกลางทะเล จ.ประจวบคีรีขันธ์ เกิดขึ้นเมื่อ 18 ธ.ค. 2565 ระหว่างเคลื่อนเรือออกจากฐานทัพเรือสัตหีบ เพื่อไปร่วมพิธีเทิดพระเกียรติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่บริเวณหาดทรายรี จ.ชุมพร ส่งผลให้กำลังพลเสียชีวิต 24 นาย และจนถึงปัจจุบัน ยังมีอีก 5 นายที่กลายเป็นผู้สูญหาย

โศกนาฏกรรมครั้งนั้น ถูกหยิบยกมาอภิปรายในวันที่ 2 ของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152

นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งคำถามว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็น “ความบกพร่องโดยสุจริต” หรือเป็น “ความจงใจบกพร่องจากการทุจริตทีละน้อย” ซึ่งแม้แต่ผู้กระทำผิดเองก็คาดไม่ถึงว่าจะนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างมหาศาล

เรือหลวงสุโขทัยอับปางหลังเผชิญคลื่นลมแรง

Getty Images
เรือหลวงสุโขทัยอับปางหลังเผชิญคลื่นลมแรง เมื่อ 18 ธ.ค. 2565

นายพิจารณ์สรุปความเป็นไปได้ที่ทำให้เกิดเหตุเรือหลวงอับปางไว้ 3 ประการ

หนึ่ง ความผิดพลาดของมนุษย์ – เมื่อเรือหลวงสุโขทัยไปถึงจุดที่มีคลื่นลมแรง ทำให้ไม่สามารถทอดสมอได้ จำเป็นต้องเข้าเทียบท่า หากดูจากแผนที่ ท่าเรือที่ใกล้ที่สุดคือท่าเรือบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ คำถามคือ เหตุใดเรือหลวงสุโขทัยจึงไม่เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือดังกล่าว นายกฯ ต้องชี้แจงว่าใครเป็นคนสั่งให้เรือหลวงสุโขทัยฝ่าคลื่นลมกลับไปที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จนนำมาสู่การล่มอับปาง

สอง สภาพอากาศ – ทร. พยายามชี้แจงว่า วันเกิดเหตุมีคลื่นลมรุนแรงมากกว่าปกติ เมื่อดูรายงานการพยากรณ์อากาศของกรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ มีความคลาดเคลื่อนจากการพยากรณ์อากาศของทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา และของบริษัทเดินเรือเอกชนเป็นอย่างมาก เพราะ ทร. บอกว่าวันนั้นคลื่นจะสูงประมาณ 2.5 เมตร ขณะที่การพยากรณ์ของเอกชนระบุว่าคลื่นจะสูงถึง 6 เมตร อย่างไรก็ตามอดีตข้าราชการทหารเรือหลายคนยืนยันกับตนว่า ไม่มีทางที่เรือหลวงสุโขทัยจะจมจากคลื่นลม เพราะถือเป็นเรือระดับคอร์เวต สามารถทนคลื่นสูงถึง 6 เมตรได้หากเรืออยู่ในสภาพพร้อมรบ

สาม สภาพความพร้อมใช้งานของตัวเรือ – นายพิจารณ์ได้อ้างข้อมูลจากเอกสารการซ่อมเรือหลวงสุโขทัย ด้วยงบประมาณ 60 ล้านบาท ในช่วงเดือน พ.ค. 2561-ม.ค. 2564 ที่เขาได้รับมา พบว่า แม้เรือหลวงสุโขทัยซ่อมเสร็จแล้ว แต่ยังมีปัญหาหลายจุด ตั้งแต่จุดเล็ก ๆ ไปจนถึงจุดใหญ่ ๆ

  • สมอเรือ เมื่อทดสอบการใช้งานจริงหลังการซ่อม พบว่ามอเตอร์ฝั่งขวาขัดข้อง มีอาการหยุดการทำงานในบางจังหวะ
  • มาตรวัดแรงดันต่าง ๆ ที่ใช้ในเรือ ยังใช้การไม่ได้
  • เครื่องจักรหลายตัวมีค่าการสั่นสะเทือนที่ผิดปกติ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐาน
  • เครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Power Generator) เสีย ใช้ได้ 3 เครื่อง จาก 4 เครื่อง

“นี่ไม่ใช่ความบกพร่องโดยสุจริต แต่เป็นความจงใจบกพร่อง เป็นการทุจริตในการซ่อม แบ่งกันกินทีละส่วน คนละคำ จนผมชักไม่แน่ใจว่าตกลงนี่มันเรือรบ หรือขนมเค้กกันแน่” นายพิจารณ์กล่าว

อภิปราย

Thai news Pix

อีกปัญหาสำคัญที่นายพิจารณ์ยกมาอภิปรายคือ การซ่อมตัวเรือ ซึ่งมีทั้งส่วนที่อยู่ใต้แนวน้ำ ผิวน้ำ และเหนือน้ำ แม้ตัวถังเรือจะทำมาจากเหล็ก แต่เมื่อใช้งานไปนาน ๆ โดยเฉพาะส่วนที่ต้องจมอยู่ใต้น้ำ ก็จะถูกกร่อนจนบางไปเรื่อย ๆ และต้องมีการซ่อมบำรุงด้วยการตัดเชื่อมเหล็กตัวเรือใหม่ให้มีความหนาตามมาตรฐาน

จากเอกสารลงวันที่ 12 ก.ย. 2561 ระบุว่า มีทั้งหมด 13 จุดที่ต้องเปลี่ยนเหล็กให้หนาขึ้น แต่สรุปแล้วซ่อมเพียง 5 จุด ไม่ได้ซ่อมอีก 8 จุด และกลับไปซ่อมอีก 10 จุดที่เหล็กหนาอยู่แล้ว

“เมื่อตรวจสอบพบว่า เอกชนรายหนึ่งที่มาซ่อมเป็นบริษัทห้องแถว ที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับ พล.ร.ท. (อักษร) ว. คนหนึ่ง สรุปคือกินกันหนัก กินเหล็ก กินลวดเชื่อม และหลับหูหลับตา ซ่อมเรือให้ลอยนำได้ก็พอ” นายพิจารณ์ กล่าว และว่าบริษัทดังกล่าวมีทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท และมีพนักงานประจำ 20 คน แต่รู้กันทั้ง ทร. ว่าเอกชนรายนี้ได้งานซ่อมตัวเรืออยู่เสมอ เพราะมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับ พล.ร.ท. (อักษร) ว.

ขณะที่การซ่อมครีบกันโคลง (Fin Stabilizer) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้รักษาสมดุลและการทรงตัวของเรือ ทาง ทร. ชี้แจงในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ทหาร สภาผู้แทนราษฎรว่า เรือเก่าแล้ว หาอะไหล่มาซ่อมไม่ได้ อีกทั้งการซ่อมครีบกันโคลงหากทำได้ไม่ดี กลับจะเป็นผลร้ายต่อสมดุลของเรือเสียมากกว่า จึงถอดทิ้งไปเลย เรืออาจจะโคลงมากขึ้น แต่ไม่เป็นไร พร้อมยืนยันว่าครีบกันโคลงจะมีหรือไม่มี ก็ไม่ได้มีผลทำให้เรือล่ม

นักการเมืองจากพรรคก้าวไกลที่ติดตามงบกลาโหมมาโดยตลอด อภิปรายต่อไปว่า ในปีงบประมาณ 2566 เรือหลวงสุโขทัยยังมีคิวรอซ่อมอยู่ 19 รายการ ภายใต้งบประมาณ 16.25 ล้านบาท งานซ่อมที่ใหญ่ที่สุดคือการซ่อมเกียร์ฝั่งซ้าย 7.5 ล้านบาท จึงนึกไม่ออกเลยว่าทำไมถึงอนุญาตให้เรือที่รอซ่อมเกียร์และอื่น ๆ รวม 19 รายการ ออกไปปฏิบัติภารกิจได้ นี่จึงเป็นหลักฐานว่าเรือหลวงสุโขทัยไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมรบ

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความพร้อมในเรื่องอัตรากำลังพลที่ต้องมี 97 อัตรา แต่วันนั้นขาดไป 22 อัตรา ซึ่งหนึ่งในตำแหน่งที่ว่างคือต้นกล หรือหัวหน้าวิศวกร ซึ่งมีความสำคัญมากในการควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉิน

“ในท้ายที่สุด เรือหลวงสุโขทัยที่มีรูรั่ว ขาดต้นกล ขาดมาตรวัดที่ใช้งานได้จริง ขาดครีบกันโคลง และขาดกำลังเครื่องยนต์ที่จะไปต่อ จึงต้องจมลงสู่ก้นอ่าวไทย สังเวยชีวิตทหารเรือ 24 นาย สูญหายอีก 5 นาย”

“ทำไมถึงจ้องจะกินกันให้ได้ทุกส่วน การซ่อมบำรุงก็ไม่ได้มาตรฐาน อะไหล่ที่ควรจะเปลี่ยนก็ไม่เปลี่ยน ผู้รับเหมาที่จ้างมาซ่อม แทนที่จะเป็นบริษัทดี ๆ กลับเป็นบริษัทห้องแถวที่ไหนก็ไม่รู้ สรุปแล้วเป็นเรือรบ หรือเป็นขนมเค้กกันแน่ครับ”

“ท่านปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในทุกกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพ รวมถึงการซ่อมเรือรบของกองทัพ ปล่อยให้กำลังพลพี่น้องทหารเรือต้องทนใช้เรือรบที่ไม่ได้ถูกซ่อมบำรุงอย่างเหมาะสมให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้ทำศึกสงคราม จนเกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้” นายพิจารณ์ กล่าว

เรือหลวงสุโขทัย

THAI ROYAL NAVY
เรือหลวงสุโขทัย

ด้าน พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ได้รับมอบหมายชี้แจงแทน พล.อ.ประยุทธ์ โดยระบุว่า รมว.กลาโหมเสียใจต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น และได้สั่งการให้ดูแลครอบครัวกำลังพลอย่างดีที่สุด พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบสวนสาเหตุข้อเท็จจริง โดยให้รายงานให้กระทรวงกลาโหมทราบทุก 15 วัน

ขณะเดียวกัน ยังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบในส่วนของกระทรวงกลาโหมด้วย เร่งรัดดำเนินการเพื่อให้ทราบสาเหตุ ขั้นตอนการค้นหา ตลอดจนเรื่องที่สังคมยังมีข้อสงสัย โดยมีการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องไปแล้ว 289 คน เบื้องต้น สามารถลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ แต่ต้องมีข้อมูลอื่น ๆ ประกอบด้วย ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์สั่งให้รีบสรุป

ส่วนข้อสังเกตของ ส.ส. พรรคก้าวไกล รมช.กลาโหม พูดเพียงหลักการกว้าง ๆ ไม่ได้ตอบในเชิงรายละเอียดแต่อย่างใด

  • การซ่อมบำรุงเรือ: เป็นไปตามแผน ห้วงเวลา ดำเนินการแผนตามวงรอบ ช่างต้องผ่านการอบรม มีใบประกอบวิชาชีพวิศวกร กรณีต้องให้เอกชนตรวจสอบก็ต้องมีประกอบวิชาชีพเช่นกัน
  • ประสิทธิภาพเรือหลวงสุโขทัย: มีการซ่อมใหญ่เมื่อปี 2563 ส่งมอบเรือมาใช้งานเดือน ม.ค. 2564 ปฏิบัติภารกิจเป็นปกติ การซ่อมของกรมอู่ทหารเรือมีการทดลองก่อนส่งมอบใช้งาน แต่ก็ต้องตรวจสอบอีกครั้งเรื่องสาเหตุ การซ่อมว่าเป็นไปตามแผนงาน หรือมีข้อบกพร่องหรือไม่
  • การกู้เรือหลวงสุโขทัยที่อับปาง: ทร. ตั้งคณะกรรมการในการพิจารณาในการกู้เรือ โดยมี 30 บริษัทมาเสนอ แต่อยู่ระหว่างการพิจารณา

รมช.กลาโหมย้ำว่า การดำเนินการต่าง ๆ ต้องทำให้โปร่งใส เกิดประสิทธิภาพ


ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว