แผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย : เสียงจากคนไทยผู้ “สิ้นหวัง หมดหวัง” ก่อนได้กลับมาตุภูมิ

 

ภาพความเสียหายจากคนไทยที่กลับมาจากตุรกี

Thai News Pix
คนไทยที่กลับมาจากตุรกีแสดงภาพความเสียหายจากโทรศัพท์มือถือ

บ้านสะเทือน ผนังพังทลาย ผืนดินที่ยืนอยู่สั่นไหวจนแทบขยับไปไหนไม่ได้ แล้วยังต้องอยู่กลางความมืดมิดในช่วงเช้ามืด คือสิ่งที่ สิรินดา แอลวาจือ คนไทยที่เพิ่งกลับจากตุรกี ยังจำได้ไม่ลืม ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2566 วันที่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.8 ในช่วงเช้า และอีกครั้งในช่วงเย็น

“บ้านเริ่มสั่น เหมือนบ้านถูกบิด ตอนแรกคิดว่าเป็นพายุ” สิรินดา ย้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งในขณะนั้น เธออยู่ที่บ้านพักตากอากาศนอกตัวเมืองอีสต์แคนดารู จังหวัดฮาทัย ทางตอนใต้ของตุรกี

“สักพัก มันเหมือนมีสกรูหมุนอยู่ใต้บ้าน บ้านเริ่มสั่น ผนังเริ่มพัง เรารู้แล้วว่าเกิดแผ่นดินไหว เรายืนขึ้นแต่ขยับไม่ได้ เพราะเจอแรงกระชาก”

โชคดีที่บ้านพักของเธอไม่ได้พังทลาย แต่ห่างออกมา 15 กิโลเมตร ในตัวเมืองที่ครอบครัว รวมทั้งสามีและลูกของเธออาศัยอยู่ บ้านเรือนจำนวนมากพังทลาย ผู้คนติดอยู่ใต้ซากอาคาร เช่นเดียวกับอีกหลายเมืองทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งจนถึงตอนนี้ ยอดผู้เสียชีวิตในตุรกี อยู่ที่ 38,044 คน แต่หากรวมผู้เสียชีวิตในซีเรียแล้ว ยอดผู้เสียชีวิตรวมทั้งหมดเกือบ 42,000 คน

สิรินดา เป็นหนึ่งในคนไทยชุดแรก 36 คน ที่เดินทางกลับถึงมาตฺุุภูมิ หลังเกิดแผ่นดินไหว เครื่องบินกองทัพอากาศนำพวกเขาเดินทางถึงกรุงเทพฯ เมื่อกลางดึกวันที่ 16 ก.พ. และวันนี้ (17 ก.พ.) พวกเขาได้เข้ารับการรักษาและตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลบำราศนราดูร ก่อนทยอยกลับบ้าน

และนี่คือเรื่องราวการเอาตัวรอดของคนไทยในตุรกีที่ “สิ้นหวัง” กับสิ่งที่เห็น และกังวลถึงอนาคตต่อจากนี้ จนต้องขอมาตั้งต้นใหม่ในประเทศไทย

“หันไปทางไหนก็เจอแต่คนตาย”

สิรินดา อายุ 52 ปี ได้แต่งงานกับสามีและย้ายไปอยู่ในตุรกีมานานถึง 14 ปีแล้ว มีลูกด้วยกัน 1 คน

บ้านหลักของครอบครัว เป็นคอนโดมีเนียมที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ในตัวเมืองอีสต์แคนดารู จ.ฮาทัย แต่วันที่ 6 ก.พ. นั้น เธออาศัยอยู่ที่บ้านพักตากอากาศของครอบครัว ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองไปกว่า 15 กิโลเมตร

แม้อยู่ห่างออกมาไกล แต่บ้านพักที่เธออยู่ก็ยังสั่นสะเทือนรุนแรง จากแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ที่ตอนแรก เธอคิดว่าเป็นแค่ “พายุ”

เมื่อแรงสั่นสะเทือนผ่านไป เธอรีบคว้าเสื้อกันหนาว 2 ตัว โทรศัพท์ และกระเป๋าออกไปนอกบ้านในเวลาตี 4 กว่า ๆ ทุกอย่างด้านนอกมืดสนิท จากระบบไฟฟ้าที่พังลง โทรศัพท์ของเธอไม่มีสัญญาณ อินเทอร์เน็ตใช้ไม่ได้ น้ำประปาก็ไม่ไหล คืนนั้น เธอจึงซุกตัวนอนในรถยนต์ มีเพียงเสื้อกันหนาวให้ความอบอุ่น ท่ามกลางอากาศที่หนาวจัด

“ต้องใช้คำว่าสิ้นหวัง หมดหวัง เห็นภาพเพื่อนบ้านที่ตายยกครัว

Thai News Pix
“ต้องใช้คำว่าสิ้นหวัง หมดหวัง เห็นภาพเพื่อนบ้านที่ตายยกครัว” สิรินดา

สามวันนับแต่เกิดแผ่นดินไหว และตัดขาดจากโลกภายนอกทั้งทางกายภาพและการติดต่อ สิรินดา บอกกับบีบีซีไทยว่า “แทบไม่ได้นอน” เพราะพอจะงีบหลับ ก็ต้องสะดุ้งขึ้นจากแรงสั่นสะเทือน หรืออาฟเตอร์ช็อกที่ยังเกิดตามมาอย่างต่อเนื่อง

วันที่เธอได้เดินทางกลับเข้าเมืองไปยังคอนโดมีเนียมที่ลูกกับสามีอาศัยอยู่ เธอโล่งใจที่ คอนโดฯ เสียหายไม่มาก ส่วนหนึ่งเพราะเป็นคอนโดฯ สร้างใหม่ ที่สร้างเพื่อรับแรงสั่นสะเทือนอยู่แล้ว ส่วนสามีและลูกของเธอ ปลอดภัยดี

แต่สิ่งที่ทำให้เธอไม่ยินดีกับสวัสดิภาพของครอบครัว คือ สภาพบ้านเรือนและชุมชนที่เธออาศัยมานานหลายปี

“ต้องใช้คำว่าสิ้นหวัง หมดหวัง เห็นภาพเพื่อนบ้านที่ตายยกครัว หันไปทางไหนก็เจอแต่คนตาย ครอบครัวนี้ตาย ครอบครัวนี้ก็ตาย นี่ก็ตาย” สิรินดา เล่า พร้อมเสริมว่า บางครอบครัวที่เสียชีวิต ก็เป็นเพื่อนบ้านของเธอเอง

สิ่งที่ทำให้เธอตัดสินใจพาลูกกลับไทย เพราะมองว่า ไม่อยากให้เด็กต้องเติบโตอยู่ในสภาพที่หดหู่ใจเช่นนั้น จึงขอกลับไทยมาตั้งต้นใหม่ก่อน

“สามีไม่เท่าไหร่ เพราะเขาเป็นผู้ใหญ่” เธออธิบาย “แต่ลูกเราล่ะ เพื่อนหายไปกี่คน ครูหายไปกี่คน… สภาพโรงเรียนยังไม่รู้เลยว่าพังหรือเปล่า”

ความหวัง… ริบหรี่

ผ่านมากว่า 10 วันแล้ว นับแต่แผ่นดินไหวในตุรกีและซีเรีย จำนวนผู้รอดชีวิตที่พบใต้ซากปรักหักพังในแต่ละวัน ลดจำนวนลงเรื่อย ๆ

ผู้รอดชีวิตรายล่าสุด หลังผ่านมา 266 ชั่วโมงนับแต่เกิดแผ่นดินไหวเป็นเด็กวัย 17 ปีในตุรกี และหญิงอายุกว่า 20 ปี แต่ในหลายพื้นที่ ปฏิบัติการค้นหาแทบจะไม่เหลือความหวังแล้ว ด้วยโอกาสรอดน้อยลงเรื่อย ๆ จากอากาศที่หนาวจัด ไร้ซึ่งอาหาร น้ำ และสุขาภิบาลที่เหมาะสม อีกทั้งความเสี่ยงเรื่องโรคร้ายอีกด้วย

จนถึงวันนี้ เพื่อนบ้านของ สุพรรณี วงศ์รอฮีม ชาวไทยวัย 43 ปีที่อาศัยในตุรกีมานาน ยังไม่ทราบว่า เพื่อนบ้านของเธอในเมืองซานลืออูร์ฟา ที่ติดอยู่ใต้อาคารที่ถล่มลงมา ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

“รอบบ้านของเรา ตึกถล่มลงมาเลยทั้งตึก มีคนติดอยู่ในนั้น” เธอบอกกับบีบีซีไทย และเช่นเดียวกับสิรินดา เธอเป็นหนึ่งในคนไทย 36 คน ที่ตัดสินใจเดินทางกลับมาไทย

EPA

EPA
ยอดผู้เสียชีวิตในตุรกีและซีเรีย เกือบ 42,000 คนแล้ว

การเดินทางกลับมาไทยครั้งนี้ของเธอ ถือว่าเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง เพราะอันที่จริง วันที่ 6 ก.พ. เธอเพิ่งเดินทางจากไทยกลับไปตุรกีได้เพียง 1 วันเท่านั้น แต่ก็ต้องเจอกับแผ่นดินไหว

“แผ่นดินไหวมันหนัก เหมือนคนมาขย่มบ้าน” สุพรรณี เล่า “ต้องหนีออกมา ห่วงลูกด้วย ตีสี่ด้วย มันดึก เพิ่งกลับจากไทยไป คืนนั้นก็เจอเลย”

เธอเล่าต่อว่า คนในพื้นที่ แม้แต่คนแก่เฒ่า ต่างไม่เคยเจอเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงเช่นนี้มาก่อน ทำให้รับมือกับสถานการณ์ไม่ได้ เธอกับครอบครัวเองก็เช่นกัน ตอนที่สถานทูตไทยในตุรกีติดต่อมาว่า ต้องการกลับไทยหรือไม่ เธอจึงรีบตอบตกลง

“อย่างน้อยก็ปลอดภัย 100%” เพราะแม้บ้านของเธอเสียหายไม่มาก และวิศวกรเข้ามาตรวจสอบแล้ว แต่เธอก็ยังไม่กล้ากลับเข้าไปในบ้าน

รัฐบาลไทยเยียวยาจิตใจอย่างไร

17 ก.พ. นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เข้าเยี่ยมเหล่าคนไทยจากตุรกี ที่สถาบันบำราศฯ โดยยืนยันว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับขวัญกำลังใจของพวกเขา

“หลังจากเกิดเหตุการณ์ ย่อมส่งผลต่อขวัญกำลังใจ ทำให้คนไทยส่วนหนึ่งอยากกลับประเทศ จึงได้รับการประสาน และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งในส่วนกระทรวงสาธารณสุขรับท่านเข้าดูแล ทั้งการตรวจร่างกาย และดูแลจิตใจ หลังจากนั้นทางกระทรวงคมนาคม จะจัดพาหนะเพื่อนำส่งทุกท่านกลับสู่ภูมิลำเนาอย่างปลอดภัย ขอให้ทุกท่านเดินทางกลับอย่างสวัสดิภาพ หากมีสิ่งใดให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลสามารถบอกกล่าวกันได้” ปลัด สธ.กล่าว

ส่วนจะมีคนไทยเดินทางกลับมาเป็นชุดที่ 2 หรือไม่นั้น นพ. โอภาส ยอมรับว่า ยังไม่ได้ประสาน แต่เมื่อประสบภัยแล้ว จากนั้นต้องระวังเรื่องโรคระบาด ซึ่งทางการตุรกีจะเป็นผู้ดูแล สำหรับประเทศไทยก็เตรียมอยู่ 3 ขั้นตอน คือ ภารกิจการกู้ภัย ซึ่งมีทีมประเทศไทยลงไปช่วย

รอยยิ้ม หลังผ่านประสบการณ์เลวร้ายของคนไทยในตุรกี

Thai News Pix
รอยยิ้ม หลังผ่านประสบการณ์เลวร้ายของคนไทยในตุรกี

ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข มีแพทย์ 3 คนจากกรมการแพทย์ไปช่วย โดยภารกิจกู้ภัยน่าจะเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนภารกิจที่ 2 ก็จะมีการเตรียมยา เวชภัณฑ์ ไปสนับสนุน ซึ่งมีการประสานกันอยู่ เพราะเมื่อเกิดสาธารณภัยจะมีผู้ประสบเหตุหลายแสนคน และมีโอกาสเกิดโรคระบาดได้ง่าย ทางไทยจะประสานกับตุรกีว่า ยินดีสนับสนุนยา เวชภัณฑ์ช่วยเหลือ และภารกิจ 3 หากจำเป็นและตุรกีต้องการ เราจะมีหน่วยแพทย์ดูแล ซึ่งอยู่ขั้นตอนประสาน รวมไปถึงคนไทยที่ต้องการกลับภูมิลำเนาก็จะมีขั้นตอนต่อไป

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว