เกาหลีเหนืออวดแสนยานุภาพกองทัพ แต่ชาวบ้านกำลังอดตายจากวิกฤตขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่

 

People take part in an annual rice planting event in Nampho City in Chongsan-ri, near Nampho on May 12, 2019

Getty Images
ทางการเกาหลีใต้ระบุว่า ในปี 2022 เกาหลีเหนือผลิตอาหารได้น้อยกว่าปี 2021 ถึง 180,000 ตัน

บรรดาผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เกาหลีเหนือกำลังเผชิญวิกฤตขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่

เกาหลีเหนือเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญภาวะขาดแคลนอาหารอยู่เนือง ๆ แต่การควบคุมพรมแดนอย่างเข้มงวด ประกอบกับสภาพดินฟ้าอากาศที่เลวร้าย และการคว่ำบาตรจากนานาชาติทำให้ปัญหานี้ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

สื่อทางการเกาหลีเหนือรายงานว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศจะร่วมการประชุมช่วงสิ้นเดือน ก.พ.นี้ เพื่อหารือถึง “การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ” เกี่ยวกับนโยบายด้านเกษตรกรรมของชาติ

สำนักข่าวเคซีเอ็นเอรายงานว่า นี่คือ “ภารกิจเร่งด่วนและสำคัญยิ่ง” ท่ามกลางปัญหา “ฉุกเฉิน” ด้านเกษตรกรรม

ข่าวนี้มีขึ้นในขณะที่รัฐบาลเกาหลีเหนือยังเดินหน้าแสดงแสนยานุภาพอันยิ่งใหญ่ของกองทัพ

กระทรวงรวมชาติของเกาหลีใต้เตือนเรื่องภาวะขาดแคลนอาหารในเกาหลีเหนือเช่นกัน และได้ร้องขอความช่วยเหลือไปยังโครงการอาหารโลก (World Food Programme หรือ WFP) แห่งสหประชาชาติ

ภาพถ่ายดาวเทียมของทางการเกาหลีใต้แสดงให้เห็นว่า ในปี 2022 เกาหลีเหนือผลิตอาหารได้น้อยกว่าปี 2021 ถึง 180,000 ตัน

เมื่อเดือน มิ.ย.ปีก่อน WFP แสดงความกังวลว่าสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว เช่น ภัยแล้ง และน้ำท่วม อาจทำให้ผลผลิตทางการเกษตรในฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิของเกาหลีเหนือมีปริมาณลดลง

สื่อทางการเกาหลีเหนือรายงานว่า เมื่อปลายปีที่แล้ว ประเทศได้เผชิญภัยแล้ง “ครั้งใหญ่อันดับ 2” นับแต่มีการเก็บบันทึกข้อมูลมา

People take part in an annual rice planting event in Nampho City in Chongsan-ri, near Nampho on May 12, 2019

Getty Images
ข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของคนเกาหลีเหนือมีราคาพุ่งสูงขึ้นทำให้ชาวบ้านต้องหันไปรับประทานข้าวโพดและอาหารอื่นที่ราคาถูกกว่า

เบนจามิน คัตเซฟฟ์ ซิลเบอร์สไตน์ จาก 38North.org ที่วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ ระบุว่า ในปีนี้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นตามที่คาดการณ์ ท่ามกลางปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำ ทำให้คนเกาหลีเหนือต้องหันไปพึ่งพาอาหารราคาถูก

ริมจิน-กัง (Rimjin-gang) นิตยสารข่าวสารเกาหลีเหนือที่มีสำนักงานในญี่ปุ่นรายงานว่า ราคาข้าวโพดถีบตัวสูงขึ้น 20% ช่วงต้นปี 2023 โดยชาวเกาหลีเหนือหันไปรับประหารอาหารชนิดอื่นที่มีราคาถูกกว่าข้าวกันมากขึ้น

นายซิลเบอร์สไตน์ กล่าวว่า “ถ้าผู้คนซื้อข้าวโพดมากขึ้น หมายความว่าอาหารส่วนใหญ่มีราคาแพงขึ้น โดยเฉพาะอาหารหลักอย่างข้าว” ซึ่งปัจจุบันมีราคาประมาณกิโลกรัมละ 3,400 วอนเกาหลีเหนือ (ราว 130 บาท)

เกาหลีเหนือถูกจัดให้เป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในโลก แม้ข้อมูลประมาณการล่าสุดจะหาได้ยาก แต่ CIA World Factbook ซึ่งเป็นข้อมูลจากสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ หรือ ซีไอเอ ประเมินว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ต่อหัวประชากรเกาหลีเหนือในปี 2015 อยู่ที่ประมาณ 1,700 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 57,800 บาท)

นี่หมายความว่า เราไม่อาจล่วงรู้สถานการณ์และตัวเลขที่แท้จริงในปัจจุบัน เนื่องจากความไม่โปร่งใสทางเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือ

เจมส์ เฟรตเวลล์ นักวิเคราะห์จากเอ็นเคนิวส์ (NK News) ที่นำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับเกาหลีเหนือระบุว่า “เนื่องจากมาตรการควบคุมโควิดที่เข้มงวดต่อบุคคลและสินค้าบริเวณพรมแดนเกาหลีเหนือ ทำให้ไม่มีทางที่คนภายนอกจะเข้าไปในประเทศ เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้”

เขาอธิบายว่า มาตรการดังกล่าวยังทำให้เป็นการยากที่องค์กรต่างชาติจะส่งความช่วยเหลือให้เกาหลีเหนือในยามวิกฤต

North Korean leader Kim Jong Un, his wife Ri Sol Ju and their daughter Kim Ju Ae attend a banquet to celebrate the 75th anniversary of the Korean People's Army the following day, in Pyongyang, North Korea February 7, 2023 in this photo released February 8, 2023 by North Korea's Korean Central News Agency (KCNA).

Reuters

โซคีล พัก ผู้อำนวยการ Liberty in North Korea หรือ Link องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในเกาหลีใต้ บรรยายมาตรการรับมือโควิดของรัฐบาลเกาหลีเหนือว่า “สุดโต่ง และทำด้วยความหวาดระแวง”

องค์กรของนายพัก ซึ่งช่วยผู้ลี้ภัยเกาหลีเหนือให้ตั้งรกรากในเกาหลีใต้ หรือสหรัฐฯ ระบุว่า สินค้าอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐานในเกาหลีเหนือลดน้อยอยู่แล้วตั้งแต่โควิดเริ่มแพร่ระบาด และ Link ได้รับข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่ามีคนเสียชีวิตจากความอดอยาก

นอกจากนี้เกาหลีเหนือยังได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากประชาคมโลกน้อยลง สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า เมื่อปีก่อน เกาหลีเหนือได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศและหน่วยงานต่าง ๆ มูลค่า 2.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2021 ที่ได้รับความช่วยเหลือ 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในขณะที่ภาวะขาดแคลนอาหารอาจมาจากการปิดพรมแดนที่ยาวนาน แต่เจ้าหน้าที่หน่วยงานบรรเทาทุกข์บางคนบอกบีบีซีว่า มาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติที่รุนแรงขึ้นเพื่อตอบโต้การยั่วยุทางการทหารของเกาหลีเหนือ ก็เป็นอุปสรรคต่อการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปในประเทศ

อย่างไรก็ตาม มีสัญญาบ่งชี้ว่าเริ่มมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศเกิดขึ้นอีกครั้ง นิคเคอิเอเชีย รายงานเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าเริ่มมีการเดินรถบรรทุกระหว่างเกาหลีเหนือกับจีนอีกครั้ง ซึ่งการค้ากับจีนคิดเป็น 90% ของการค้าทั้งหมดของเกาหลีเหนือ

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า คุณภาพชีวิตของชาวบ้านเกาหลีเหนือจะดีขึ้น

Missile launchers displayed at the parade

Reuters
รัฐบาลเกาหลีเหนือทุ่มเทงบประมาณชาติไปกับการเสริมแสนยานุภาพกองทัพ

นายพักบอกว่า รัฐบาลเกาหลีเหนือทุ่มเททรัพยากรส่วนใหญ่ของชาติไปกับการเสริมแสนยานุภาพของกองทัพ และการโฆษณาชวนเชื่อ

เมื่อปีก่อน รัฐบาลเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธกว่า 70 ลูก ซึ่งรวมถึงขีปนาวุธข้ามทวีป (intercontinental ballistic missile หรือICBM) ที่อาจมีพิสัยการยิงไกลถึงแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ และเมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. ก็ได้จัดขบวนสวนสนามทางทหารเพื่ออวดโฉม ICBM ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศ

นายพักกล่าวว่า “รัฐบาลเกาหลีเหนือรู้ดีถึงความยากลำบากของสามัญชนคนเกาหลีเหนือ แต่ยังให้ความสำคัญกับการโฆษณาชวนเชื่อ พิธีเฉลิมฉลองให้คนตระกูลคิม การยิงขีปนาวุธ และการควบคุมพลเมืองอย่างเข้มงวด”

บรรดาผู้เชี่ยวกังวลว่า ภาวะขาดแคลนอาหารในเกาหลีเหนือจะเลวร้ายลงอีก และอาจนำไปสู่สถานการณ์ใกล้เคียงกับช่วง “ทุพภิกขภัยในเกาหลีเหนือ” (Arduous March) ซึ่งเป็นคำที่ทางการเกาหลีเหนือเรียกห้วงเวลาที่ประเทศเผชิญภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงระหว่างปี 1994 – 1998 โดยเป็นช่วงที่อดีตสหภาพโซเวียตล่มสลายทำให้เกาหลีเหนือขาดความช่วยเหลือที่สำคัญ ส่งผลให้ประชาชนราว 6 แสนถึง 1 ล้านคนต้องเสียชีวิตจากโรคขาดสารอาหาร

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว