ฝุ่น PM 2.5 : ไทยพบจุดความร้อนสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2566 พบอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์-ป่าสงวนเกือบ 80%

 

getty

Getty Images

ปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มักเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพในช่วงเดือน ธ.ค.- มี.ค. ของทุกปี แม้รัฐบาลเริ่มแก้ปัญหาในระดับโครงสร้างไปแล้วบางส่วน แต่ตัวเลขระดับฝุ่นพิษตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงสัปดาห์นี้ ยังคงอยู่ในระดับสูงทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด

ช่วงสัปดาห์แรกของเดือน มี.ค. 2566 เป็นช่วงที่ควรเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ โดย กทม. มีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงได้ในบางพื้นที่ช่วงวันที่ 2-7 มี.ค.

ขณะที่พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงในพื้นที่ภาคเหนือทั้งตอนบนและล่างระหว่างวันที่ 2-8 มี.ค.

ข้อมูลจาก รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกษตร สิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ประเทศไทยเผาในที่โล่งครองแชมป์อาเซียนติดต่อกันวันที่ 2

ค่าฝุ่นพิษ PM 2.5 ของกรุงเทพมหานคร เช้านี้ (1 มี.ค.) เมื่อเวลา 08.00 น. เกินคำแนะนำ 24 ชั่วโมงขององค์การอนามัยโลก 5 เท่า ในกรุงเทพฯ และหลายพื้นที่ในทุกภูมิภาคของไทยต่างก็ได้รับผลกระทบ

โดย 11 จังหวัดแรกที่มีค่ามลพิษทางอากาศสูงมาก ได้แก่ พิษณุโลก หนองบัวลำภู สุโขทัย ฉะเชิงเทรา ลำปาง แพร่ ลำพูน หนองคาย อุตรดิตถ์ นครพนม และ สุพรรณบุรี ตามลำดับ

สำหรับกรุงเทพมหานคร แอปพลิเคชัน Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ แสดงค่าฝุ่นเกินขนาดมาตรฐานหลายจุดใน กทม.และปริมณฑล เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเมื่อเวลา 09.00 น. ค่าฝุ่นสูงสุดวัดที่ ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ตรวจวัดค่าปริมาณฝุ่น PM 2.5 ได้ 97 มคก./ลบ.ม. (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.)

สาเหตุหลักของฝุ่นพิษ

รศ.ดร. วิษณุ อธิบายว่า สาเหตุหลักของฝุ่นพิษวันนี้ในทุกภูมิภาคมาจากลมที่อ่อนตัวลง และการเผาในที่โล่งแจ้งในภาคเกษตรและป่าไม้ที่เพิ่มขึ้นอีกจากวันที่ผ่านมา (28 ก.พ.) ทำให้ฝุ่นพิษในพื้นที่จากยานยนต์และโรงงานอุตสาหกรรมระบายออกได้ยาก และมีฝุ่นนอกพื้นที่จากการเผาเข้ามาสมทบ

อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุด้วยว่า ตัวเลขดังกล่าวชี้ว่า ประเทศไทยมีการเผาในที่โล่งสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน ทุบสถิติเดิมจากวันก่อน

นอกจากนี้ จุดความร้อนในประเทศไทยที่รายงานโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ยังเพิ่มขึ้นจาก 3,691 จุด เป็น 3,768 จุด ซึ่ง รศ. ดร.วิษณุ ชี้ว่า การพยากรณ์ล่วงหน้ายังไม่สามารถช่วยทำให้ฝุ่นพิษลดลงได้ และยังเพิ่มขึ้นอีก

“บ่งชี้ว่ามาตรการที่ใช้ในปัจจุบันไม่ได้ผล สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะการที่ยังไม่มีหน่วยงานที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการดูแลเรื่องมลพิษทางอากาศและกฎหมายที่เป็นแท่ง ๆ ไม่บูรณาการ”

บีบีซีไทย ยังตรวจสอบข้อมูลจาก GISTDA ที่เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของวันที่ 28 ก.พ. 2566 ไทยพบจุดความร้อนเพิ่มขึ้นนำอันดับ 1 ( 3,768 จุด) นับว่าสูงสุดตั้งแต่ 1 ม.ค. 2566 เป็นต้นมา ตามด้วย สปป.ลาว 3,370 จุด เมียนมา 2,809 จุด กัมพูชา 2,758 จุด และเวียดนาม 732 จุด

จากค่าจุดความร้อนดังกล่าวนี้ รศ.ดร. วิษณุ ชี้ทิศทางว่า จังหวัดของประเทศไทยที่ใกล้พรมแดนเริ่มได้รับผลกระทบจากฝุ่น เช่นเดียวกับจิสด้าที่ระบุว่า ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์การจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากกระแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา และปัญหาไฟป่าหมอกควัน

1 มี.ค. พบจุดความร้อนในป่าอนุรักษ์มากที่สุด

ตัวเลขจากดาวเทียมของจิสด้า ชี้ให้เห็นจุดความร้อนในประเทศไทย ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 1,937 จุด, พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 1,043 จุด, พื้นที่เกษตร 280 จุด, พื้นที่ชุมชนและอื่น ๆ 271 จุด, พื้นที่เขต สปก. 219 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 18 จุด

ส่วนของจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ กาญจนบุรี ตาก อุตรดิตถ์ น่าน และแพร่ ตามลำดับ ทั้งนี้ จากการรวบรวมจำนวนจุดความร้อนในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 28 ก.พ. 2566 พบแล้วกว่า 52,000 จุด

ส่วนค่าฝุ่น PM2.5 เมื่อตรวจสอบจากแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” เมื่อเวลา 10:00 น. พบว่าในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ อาทิ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก เชียงราย น่าน ลำพูน พะเยา แพร่ อยู่ในระดับสีแดงที่มากกว่า 90 ไมโครกรัม ซึ่งมีผลต่อสุขภาพแล้ว ในขณะที่ทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร อยู่ระดับสีส้มที่เริ่มจะมีผลต่อสุขภาพ

การเผาในภาคการเกษตรมีมากแค่ไหน รัฐบาลทำอะไรบ้าง

จากตัวเลขจุดความร้อนล่าสุด ของวันที่ 1 มี.ค. 2566 รศ.ดร. วิษณุ เปิดเผยว่า การเผาในข้าวมีจำนวนจุดความร้อนมากที่สุด 204 จุด ตามมาด้วยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 132 จุด และอ้อยโรงงาน 67 จุด พื้นที่เกษตรอื่นอีก 239 จุด ลดลงจากวันที่ 28 ก.พ.

มาตรการเพื่อลดการเผาในภาคการเกษตรจากรัฐบาล ปัจจุบัน มีเพียงมาตรการอุดหนุนเกษตรกรไร่อ้อยภายใต้โครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเข้าสู่ปีที่ 3 โดยช่วยเหลือเกษตรกรที่ตัดอ้อยสดในอัตรา 120 บาทต่อตัน

ทว่า ในภาคของเกษตรนาข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า “ยังไม่มีมาตรการใดที่เป็นรูปธรรมที่ตั้งใจลดการเผาอย่างมีนัยสำคัญ มีเพียงมาตรการ CSR (การทำกิจกรรมเพื่อสังคม) เล็กน้อยจากภาครัฐที่ยังน้อยกว่าพื้นที่การเผาโดยรวมที่เกิดขึ้นหลายล้านไร่”

ส่วนการรับซื้ออ้อยโรงงาน ตัวเลขจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ล่าสุด ตัวเลขอ้อยจากการเผาหรือที่เรียกว่าอ้อยไฟ ณ วันที่ 27 ก.พ. 2566 อยู่ที่ 31.58% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด

สัดส่วนนี้ นักวิชาการจาก ม.เกษตรฯ ชี้ว่า ยังสูงกว่าเมื่อปี 2565 ที่สัดส่วนของอ้อยไฟไหม้อยู่ที่ 27.28% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด พร้อมระบุว่า ยังคงห่างไกลจากมติ ครม. แม้จะได้เงินช่วยเหลือเพิ่มหลายพันล้านจากรัฐ “สะท้อนว่ามาตรการลดการเผาในไร่อ้อยที่ใช้ในปัจจุบันเอาไม่อยู่และควรปรับปรุง”

อ้อยไฟไหม้ คืออะไร พื้นที่ไหนยังมีการเผาซ้ำซาก

การเผาไร่อ้อยที่คนไทยคุ้นเคย ไม่ใช่เพียงการเผาหลังเก็บเกี่ยวเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเผาเพื่อเก็บเกี่ยวอ้อยส่งโรงงานน้ำตาล เพราะมีต้นทุนที่น้อยกว่าการใช้แรงงานคนหรือเครื่องจักร การเผาจำนวนมากนี้เป็นเหตุให้เกิดฝุ่นพิษในช่วงอย่างน้อย 5 ปีก่อนหน้านี้ที่ประเทศไทยเริ่มตระหนักถึงปัญหาฝุ่นพิษ ในช่วงปลายปี 2560

มาตรการสำหรับการลดเผาภาคเกษตร รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 11 พ.ค. 2564 ซึ่งกำหนดให้ปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2565/2566 ไม่เกิน 5% และในฤดูการผลิตปี 2566/2567 ปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบต้องเป็น 0% ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

สำหรับปัญหามลพิษจากการเผาไร่อ้อย นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ใน 3 พื้นที่ประกอบด้วย พื้นที่ในเมือง พื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตรกรรม โดยในช่วงเดือน ธ.ค.-เม.ย. ของทุกปี จะเกิดปัญหา PM2.5 ในหลายพื้นที่ของประเทศ และเป็นช่วงเวลาที่ตรงกับฤดูเก็บเกี่ยวอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุการคาดการณ์ว่า ในปีนี้คาดว่า ผลผลิตอ้อยทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้น มีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยประมาณ 12 ล้านไร่ และมีจำนวนอ้อยเข้าหีบจำนวนประมาณ 74 ล้านตัน โดยประมาณการว่าจะมีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบในสัดส่วน 30%

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2564-2566 พบจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกอ้อย ประมาณร้ 3-4% ของพื้นที่เพาะปลูกอ้อยทั้งหมดทั่วประเทศ ทำให้การดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ยังไม่เป็นไปตามมติ ครม. ที่กำหนดปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบเอาไว้

ด้านสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ตรวจพบพื้นที่ปลูกอ้อยที่มีไฟไหม้ ซ้ำซาก ยังคงมีอยู่ในบริเวณรอยต่อระหว่าง จ. ชัยภูมิ นครราชสีมา และบริเวณรอยต่อ จ. ขอนแก่น อุดรธานี กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม

เสียงจากชาวไร่อ้อยอีสาน

นายศิริชัย ธรรมมา นายกสมาคมชาวไร่อ้อยสุรินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบัน อ้อยที่เข้าสู่โรงงานน้ำตาลในพื้นที่ จ.สุรินทร์ กว่า 90% เป็นอ้อยตัดสด มีอ้อยไฟหรืออ้อยที่เกษตรกรเผาเพื่อเก็บเกี่ยวอยู่ราว 10% จากการเก็บเกี่ยวตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ธ.ค. ปีที่แล้วจำนวนกว่า 1 ล้านตัน

นายศิริชัยกล่าวว่า ผลผลิตอ้อยของ จ.สุรินทร์ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ราว 1.5-1.7 ล้านตัน โดยเป็นเกษตรกรที่ทำอ้อยแปลงเล็กมากถึง 80% เมื่อมีมาตรการอุดหนุนจากรัฐ จากเดิมที่สัดส่วนการตัดอ้อยไฟอยู่ที่ 50% ก็ปรับลดลงมาเหลือ 10% ตามลำดับ

โดยส่วนที่ยังเป็นอ้อยไฟนั้น เกิดจากในช่วงเริ่มเก็บเกี่ยว เกษตรกรเจอฝนที่ตกไม่ตามฤดูกาล จึงจำเป็นต้องเผาบางส่วนเพื่อเร่งเก็บเกี่ยวหนีฝน นอกจากนี้สาเหตุของฝุ่น PM 2.5 ยังเกิดจากกลุ่มนาข้าวด้วย ไม่ใช่เพียงไร่อ้อยอย่างเดียว

“ไม่อยากให้เหมารวมว่า (การเผา) เป็นไร่อ้อย ตอนนี้พี่น้องชาวไร่นา ต้นเดือนที่ผ่านมามีฝน เขาเริ่มเผาซังข้าว ที่รก และไถ เพราะถ้าไม่เผาจะไถดินไม่เข้า ก็อยากให้มองอีกมุมหนึ่งด้วย”

geet

Getty Images

มาตรการอุดหนุนชาวไร่อ้อยที่ล่าช้า

สำหรับปีนี้ทางสมาคมฯ ตั้งเป้าว่าจะกดให้ปริมาณอ้อยไฟเหลือแค่ 10-12% แต่เกษตรกรยังกังวลเรื่องมาตรการเงินชดเชยสำหรับฤดูกาลผลิตปีนี้ ที่ยังไม่มีความชัดเจนของรัฐบาลออกมาว่าจะยังมีหรือไม่ ซึ่งมีผลต่อแรงจูงใจในการตัดอ้อยสดแทนการเผา

“บางโรงงานปิดหีบไปแล้วทางอีสานเหนือ สุรินทร์จะปิดภายในเดือนมีนาฯ จนป่านนี้ ชาวไร่ถามว่าปีนี้จะมีเงินช่วยเหลือไหม ทางสมาคม ไม่สามารถจะพูดได้ว่ามีหรือไม่มี” นายศิริชัยกล่าว พร้อมระบุว่า หากรัฐบาลใช้วิธีตั้งงบประมาณเหมือนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อุดหนุนชาวนา จะทำให้การอุดหนุนเป็นระบบ

“พอไม่มีความชัดเจน ชาวไร่บางส่วนกลัวฝนฟ้าตก กลัวตัดไม่ทัน ก็ต้องรีบเผาเพื่อจะได้ ส่งเข้าโรงน้ำตาล”

บีบีซีไทยพบว่า สำหรับฤดูการผลิต 2564/2565 ( ธ.ค. 2564 ถึง พ.ค. 2565) คณะรัฐมนตรีเพิ่งเห็นชอบกรอบวงเงินช่วยเหลือ 8,159.14 ล้านบาท ไปเมื่อเดือน ม.ค. 2566

สำหรับปีนี้ หรือฤดูการผลิตปี 2565/2566 นับเป็นปีที่ 3 ของมาตรการนี้ แต่ยังไม่มีการอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาล

เป็นไปได้หรือไม่ ขจัดการเผาอ้อยให้เป็นศูนย์

นายกสมาคมชาวไร่อ้อยสุรินทร์ แจกแจงรายละเอียดต้นทุนการเก็บเกี่ยวอ้อยแบบไม่ใช้การเผาหรือการตัดอ้อยสดว่า มีต้นทุนสูงมาก ตกอยู่ที่ตันละ 500-600 บาท เป็นค่าแรง 300 และค่าบรรทุก ค่าคีบ จากราคาขายบวกกับค่าความหวานที่ถึงเกณฑ์ จะขายได้ตันละ 1,200-1,300 บาท หากหักลบค่าแรงตัดอ้อยสดไป จะทำให้ได้อยู่ที่ประมาณตันละ 800 บาท

ดังนั้น การอุดหนุนเงินชดเชย 120 บาทต่อตัน ก็จะสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรได้และจะทำให้สัดส่วนของอ้อยไฟลดลงอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนดังกล่าว ยังไม่ปัญหาแรงงานภาคเกษตรที่คนรุ่น 20-30 ปี ไม่มีแล้ว ส่วนการใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วย ด้วยข้อจำกัดที่เป็นอ้อยแปลงเล็กถึงกว่า 80% ทำให้ไม่สามารถเข้าไปตัดได้ ก็เป็นข้อจำกัดประการหนึ่ง

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว