ขุนพันธ์ 3 หนังดัง โรงน้อย กับเสียงสะท้อนของการจัดโรงฉาย-รอบหนัง “ไม่เป็นธรรม”

Getty Images

ทำไมหนังเรื่องหนึ่งถึงยืนโรงได้อย่างยาวนาน ส่วนอีกเรื่องมีรอบฉายอยู่น้อยนิด และเป็นรอบที่ดึกหรือเช้าเกินไป ไม่ใช่เวลาที่ผู้บริโภคจะดูหนังในช่วงนั้น ผู้ผลิตหนังมองว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะโรงภาพยนตร์มีอำนาจจัดสรรต่อรองที่เหนือกว่าทั้งคนทำหนังและคนดู แต่เรื่องนี้ถือว่าเป็นธรรมแล้วจริงหรือ

จำนวนรอบฉายของภาพยนตร์ไทยฟอร์มยักษ์ “ขุนพันธ์ 3” และจำนวนโรงที่ฉายที่เครือโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์เจ้าใหญ่ กำหนดรอบฉายที่น้อยกว่าภาพยนตร์ที่ผลิตจากในเครือ คือกรณีล่าสุด ที่เกิดขึ้นกับภาพยนตร์ไทย

จดหมายเปิดผนึกของสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย เรื่อง การจัดโรงและรอบฉายภาพยนตร์ไทยที่ไม่เป็นธรรม ที่ออกมาเมื่อ 7 มี.ค. ชี้ให้เห็นว่า ประเด็นการจัดโรงและรอบฉายภาพยนตร์ไทย “เป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นเรื่อยมา” และรับรู้อย่างกว้างขวางในหมู่คนทำงานวงการภาพยนตร์ไทย ซึ่งกรณีล่าสุดกำลังเกิดกับภาพยนตร์เรื่อง ขุนพันธ์ 3 ของค่ายสหมงคลฟิล์ม

สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ระบุว่า ในฐานะคนทำหนัง ขอแสดงจุดยืนในการปกป้องผู้กำกับภาพยนตร์และคนทำงานที่ “ควรได้รับโอกาสในการเผยแพร่ผลงานอย่างเป็นธรรม” โดยขอให้สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติเร่งแก้ไขปัญหา เข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาต่อรองหรือจัดสรรรอบฉายของภาพยนตร์ไทยให้เกิดความเป็นธรรม และเป็นไปเพื่อนำเสนอภาพยนตร์ไทยคุณภาพออกสู่สายตาผู้ชม สร้างความหลากหลายในการชมภาพยนตร์

การที่ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งไม่ได้รับโอกาสการเผยแพร่สู่ผู้ชมที่ “เป็นธรรม” มีผลอย่างไร จดหมายเปิดผนึกของสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ชี้ว่า เมื่อการสร้างหนังไม่อาจเป็นหลักประกันได้ว่า หนังจะมีโรงและรอบฉายที่มากเหมาะสมกับการสร้างรายได้ ส่งผลต่อผู้สร้างจำนวนมากไม่กล้าลงทุนในหนังที่ที่มีเนื้อหาหลากหลาย จนเป็นเหตุให้ผู้ชมจำนวนมากรู้สึกเสื่อมศรัทธากับภาพยนตร์ไทย เพราะมีเนื้อหาที่ซ้ำซาก ไร้การพัฒนา

“แต่ในขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องที่มีเนื้อหาแปลกใหม่ มีคุณภาพ กลับได้รับการจัดโรงและรอบที่น้อยจนหมดโอกาสในการสร้างผู้ชมและรายได้”

เกิดอะไรขึ้น

ความแตกต่างของรอบฉายภาพยนตร์ไทยสองเรื่องนี้ ทำให้คอหนังและเพจวิจารณ์ภาพยนตร์หลายเพจ แชร์ข้อมูลจำนวนโรงฉายและรอบฉายภาพยนตร์เรื่อง ขุนพันธ์ 3 ซึ่งเข้าโรงเมื่อต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา มีจำนวนรอบฉายในโรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป น้อยกว่าภาพยนตร์เรื่อง “ทิดน้อย” อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งภาพยนตร์ ทิดน้อย สร้างโดยเอ็ม พิคเจอร์ส ค่ายหนังในเครือของเมเจอร์ฯ ที่เข้าฉายมาตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. 2566

หากกดดูรอบฉายในโรงเมเจอร์สาขารัชโยธิน ประจำวันที่ 7 มี.ค. 2566 รอบฉาย ทิดน้อย มีอยู่ 7 รอบ ขณะที่ขุนพันธ์ 3 มีฉายอยู่ 3 รอบ ยังไม่นับเรื่องเวลาฉายที่ส่งผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบของหนัง

สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์ฯ ว่าอย่างไร

เรื่องการจัดจำนวนโรงและการจัดสรรรอบฉาย นายพรชัย ว่องศรีอุดมพร เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ยอมรับกับบีบีซีไทยว่า ปัจจุบันส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องของธุรกิจ บางอย่างทางสมาพันธ์สามารถให้คำแนะนำได้ แต่คนที่ตัดสินสุดท้ายคือ คนดูจะเป็นตัวกำหนดอุปสงค์อุปทานของการจัดสรรโรงและรอบ

“คนที่ตัดสินคนสุดท้าย คือ คนดู โรงภาพยนตร์ก็ทำธุรกิจ เราเป็นคนผลิตภาพยนตร์ เราก็ทำธุรกิจเหมือนกัน ถ้าคนดูไม่ลดลง ไม่มีทางที่โรงเค้าจะให้โรงไม่เพียงพอ” พรชัย กล่าวพร้อมบอกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอุตสาหกรรมภาพยนตร์เผชิญกับสภาวะที่ไม่ปกติหลังยุคโควิด อย่างในปัจจุบัน ที่หนังบางเรื่องไม่เฉพาะหนังไทย แต่ยังรวมถึงหนังต่างประเทศที่คนดูน้อยมาก

นายพรชัย ยังกล่าวด้วยว่า ทางสมาพันธ์ ซึ่งมีผู้มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไม่ว่าทางค่ายหรือโรงภาพยนตร์เองได้ร่วมกัน ประเมินสถานการณ์ของภาพยนตร์ไทยเพื่อหาแนวทางให้หนังไทยอยู่รอดในยุคหลังโควิดกันมาก่อนหน้านี้แล้ว และพยายามจะใช้แนวทางการกำหนดบุกกิ้งวันเข้าฉายหนัง โดยสมาพันธ์ จะเป็นตัวแทนกลาง ให้ค่ายหนังมาวางบุ๊กกิ้ง เพื่อให้หนังไทยแต่ละเรื่องเลี่ยงการเข้าโรงฉายพร้อมกัน รวมทั้งอาจมีการกำหนดเกณฑ์และการพัฒนาดิสทริบิวเตอร์ ที่จะต้องมีความรู้ที่เพียงพอเพื่อลดความเสียหายต่อผู้ลงทุน

สำหรับประเด็นที่สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย เผยแพร่ในจดหมายเปิดผนึก เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ แสดงความเห็นว่า จริง ๆ แล้วมีปัญหาหลายส่วน และตัวภาพยนตร์เอง ก็มีปัญหาในเชิงธุรกิจด้วย “ไม่ใช่ทางโรงภาพยนตร์เขาจะไม่ฉาย” ยกเว้นการฉายในโรงภาพยนตร์ที่ภาคตะวันออก ตั้งแต่ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นต้นไป ที่ไม่ถูกฉายในโรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์ฯ เป็นเพราะการตัดสินใจของสายหนังที่ซื้อภาพยนตร์ไปฉาย

“ทางสายหนัง ที่เขาซื้อหนังไปแล้ว ทางตะวันออก ไม่ส่งหนังให้เมเจอร์ ทางเมเจอร์จึงยังไม่ได้ฉาย” นายพรชัย กล่าว

Getty Images

Getty Images

การทำโปรแกรมมิ่งหนังของเมืองไทย กับวัฒนธรรมการดูหนัง

อนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ชี้ให้เห็นว่า นี่เป็นปัญหาที่มีหลายเรื่องต่อเนื่องกันมา โดยหลัก ๆ แล้วปัญหาอยู่ที่การผูกขาดของระบบโรงภาพยนตร์ ทั้งในแนวระนาบและแนวดิ่ง

อนุชา หรือนุชี่ ผู้กำกับมากฝีมือของประเทศไทย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ในแนวระนาบ การที่ประเทศไทยมีเครือโรงภาพยนตร์ใหญ่อยู่เพียง 2 ราย ได้แก่ เมเจอร์ และเอสเอฟเอ็กซ์ ทำให้โรงภาพยนตร์มีอำนาจต่อรองเหนือกว่าผู้สร้างหนัง นอกจากนี้ ยังมีการผูกขาดในแนวดิ่งด้วย เพราะโรงภาพยนตร์มาสร้างหนังเอง มีค่ายหนังของตัวเอง และจำหน่ายภาพยนตร์เอง เป็นธุรกิจครบวงจร ด้านหนึ่ง ทำให้ตลาดไม่เอื้อต่อการพัฒนา เพราะมีคนที่กินรวบโดยตลอดมา จึงเป็นสาเหตุของปัญหาการจัดสรรจำนวนรอบและเวลาฉาย

“ที่สุดแล้ว การทำโปรแกรมมิ่งของโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย ไม่ได้เอื้อต่อการสร้างวัฒนธรรมการดูหนังที่ดีเท่าไหร่ ไม่ได้เป็นหนังที่หลากหลาย หรือหลายประเภทที่มีความน่าสนใจ นอกเหนือไปจากหนังตลาดที่คนดูชอบดูอยู่แล้ว ก็จะถ่ายเทโรงให้กับโรงเหล่านั้น เพราะหนังดราม่า หนังแนวรางวัล หรือหนังที่มีความชาเลนจ์กับสังคมและคนดู จะไม่ค่อยทำรายได้เท่าไหร่ ซึ่งมันเป็นผลจากการโปรแกรมมิ่งของโรงหนัง ที่ทำหน้าที่ตรงนี้ได้ไม่ดีพอ”

อนุชา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ทางสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ มีการพูดคุยกับค่ายหนังอยู่ถึงการวางโปรแกรมมิ่งหรือการวางวันฉายให้ทางสมาพันธ์ฯ จัดสล็อตให้สำหรับภาพยนตร์ไทยเพื่อไม่ให้ฉายชนกันหรือแย่งคนดูกัน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีอะไรรูปธรรม แต่เกิดกรณีของภาพยนตร์เรื่องขุนพันธ์ 3 ขึ้นมาก่อน

“ทุกคนทราบกันดีอยู่ในวงการภาพยนตร์ มันทำให้บั่นทอนกำลังใจคนทำงาน” อนุชา กล่าว

สำหรับสัดส่วนรายได้จากค่าตั๋วหนัง อนุชา เปิดเผยว่าภาพยนตร์แต่ละเรื่อง แบ่งสัดส่วนไม่เท่ากัน แต่โดยมากแล้วจะอยู่ที่ 50: 50 เป็นมาตรฐาน แต่บางโรงจะได้มากกว่าตัวหนัง เช่น 60:40 หรือ 55:45 เป็นเพราะอำนาจการต่อรองกับโรงภาพยนตร์ของหนังน้อยกว่า

อนุชา กล่าวว่า แม้ทางสมาคมฯ จะมีโครงการที่ทำร่วมกับสมาพันธ์ฯ ให้กับหนังอิสระทุนน้อย แต่เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมแล้วก็เป็นสเกลที่เล็กไม่ได้เป็นระดับภาพใหญ่ แต่ทั้งนี้เป็นภารกิจที่ทางสมาคมผู้กำกับฯ เลือกทำตรงนี้ขึ้นมาก่อนเพื่อสนับสนุนการสร้างบุคลากรของวงการหนังขึ้นมาใหม่ด้วย เพราะการพัฒนาแนวหนังใหม่ ๆ มันก็ต้องมาจากหนังอิสระก่อน

 Getty Images

Getty Images

ว่าด้วย หนังไทย กับหนังต่างประเทศ

นอกจากการผูกขาดของโรงภาพยนตร์แล้ว สถานการณ์วงการหนังไทย ยังเผชิญกับการเทรอบฉายให้กับภาพยนตร์ต่างประเทศทุนสร้างมหาศาลและหนังบล็อกบลัสเตอร์ ที่โรงภาพยนตร์มองว่า อาจการันตีคนดูและรายได้ได้มากกว่า

อนุชา กล่าวว่า หากดูกลไกทางการตลาด ภาพยนตร์ต่างประเทศมีคุณภาพดี คนดูอาจจะเลือกดูภาพยนตร์ต่างประเทศมากกว่าตามกลไกระบบทุนนิยม แต่ก็ต้องมองด้วยว่า การแข่งขันตรงนี้เป็นธรรมจริงหรือเปล่า เพราะหากเทียบต้นทุนของภาพยนตร์ต่างประเทศ กับภาพยนตร์ไทย ภาพยนตร์ไทยทุนสร้างน้อยกว่าอย่างเทียบไม่ได้ เป็น 10 หรือเป็น 100 เท่า ทำให้การแข่งขันไม่สามารถแข่งกันได้ในความเป็นจริง

นอกจากนี้ในแง่ผู้ชม ภาพยนตร์ไทยเป็นภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องเมืองไทย เป็นหนังที่พูดภาษาไทย ตลาดไม่ได้กว้างเท่าภาษาอังกฤษ ซึ่งอาจจะขายได้ในละแวกประเทศเพื่อนบ้าน โอกาสทางการตลาดก็จะน้อยกว่าหนังภาษาอังกฤษอยู่แล้ว ดังนั้น หากมองว่าภาพยนตร์ไม่ใช่เพียงสินค้า แต่มีความสำคัญในเชิงวัฒนธรรมด้วย ในหลายประเทศก็เลือกที่จะปกป้อง อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของตัวเอง ด้วยการทำให้การแข่งขันในตลาดมีความเป็นธรรมมากขึ้น

“ในเกาหลี มีการกำหนด โควตาว่าโรงภาพยนตร์ ต้องฉายภาพยนตร์เกาหลีสัดส่วน ไม่น้อยกว่า 40% ของรอบฉายทั้งหมด ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีแข่งขันกับภาพยนตร์ต่างประเทศได้ แม้ทุนสร้างจะสู้ไม่ได้ แต่อย่างน้อยยังได้เปรียบช่องทางการเผยแพร่ ให้ตลาดสมดุลกัน ไม่ใช่มีฝ่ายใดได้เปรียบเสียเปรียบเยอะกว่ากัน ทำให้เกิดการพัฒนา” อนุชากล่าว

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว