นาซาพบดาวเคราะห์น้อยเสี่ยงชนโลกในอีก 23 ปีข้างหน้า

ในวันแห่งความรักหรือวันวาเลนไทน์ของปี 2046 ผู้คนทั่วโลกอาจต้องมาร่วมลุ้นกันว่า มนุษยชาติจะอยู่รอดต่อไปได้หรือไม่ เพราะมีความเสี่ยงอยู่บ้างที่ดาวเคราะห์น้อย 2023 DW ซึ่งองค์การนาซาเพิ่งค้นพบใหม่ อาจชนปะทะเข้ากับโลกของเราในวันนั้น

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำเพียง 1 ใน 625 ตามการคำนวณขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) ส่วนการคาดการณ์ของศูนย์เฝ้าระวังภัยทางอวกาศขององค์การนาซา ประเมินความเป็นไปได้ที่ดาวเคราะห์น้อย 2023 DW จะชนโลกไว้สูงกว่าที่ 1 ใน 560

ปัจจุบันดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวเป็นวัตถุอวกาศชิ้นเดียวที่ถูกจัดว่าเป็นอันตรายต่อโลกในระดับ 1 ตามมาตรวัดอันตรายจากการชนปะทะทอริโน (Torino Impact hazard Scale) ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 10 ระดับด้วยกัน ในขณะที่วัตถุอวกาศอื่น ๆ ที่นาซาค้นพบ ถูกจัดว่าเป็นอันตรายต่อโลกในระดับ 0 ซึ่งหมายความว่าพวกมันไม่มีโอกาสที่จะชนโลกเลย

เจ้าหน้าที่ขององค์การนาซาระบุว่า อันตรายในระดับ 1 ของดาวเคราะห์น้อย 2023 DW หมายความว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่มันจะชนเข้ากับโลก แต่ความเสี่ยงที่มีอยู่ในระดับต่ำมากนี้อาจเพิ่มสูงขึ้น เมื่อนักดาราศาสตร์มีโอกาสติดตามเก็บข้อมูลและปรับการคำนวณเพิ่มเติมในระยะยาวหลายปีข้างหน้า

องค์การนาซาเพิ่งค้นพบดาวเคราะห์น้อย 2023 DW เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยพบว่ามันมีเส้นผ่านศูนย์กลางกว้างประมาณ 50 เมตร หรือเท่ากับสระว่ายน้ำมาตรฐานโอลิมปิก โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยความเร็ว 25 กิโลเมตรต่อวินาที ใช้เวลา 271 วันในการโคจรให้ครบ 1รอบ และขณะนี้ยังอยู่ห่างจากโลกราว 18 ล้านกิโลเมตร

ภาพจำลองดาวเคราะห์น้อย 2023 DW จากองค์การนาซา

NASA
ภาพจำลองดาวเคราะห์น้อย 2023 DW จากองค์การนาซา

หากดาวเคราะห์น้อยนี้เกิดชนเข้ากับโลกจริง ๆ ในอีก 23 ปีข้างหน้า แรงปะทะจะทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงได้หากมันตกลงใกล้กับเมืองหรือชุมชนขนาดใหญ่ ดังเช่นเหตุระเบิดจากอุกกาบาตตกที่เมืองเชลยาบินสก์ของรัสเซีย เมื่อปี 2013 ซึ่งทำให้อาคารบ้านเรือนจำนวนมากพังทลายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บถึง 1,500 คน แม้ว่าหินอวกาศที่ก่อหายนะภัยในครั้งนั้นมีขนาดเพียงครึ่งเดียวของ 2023 DW เท่านั้น

ผลคำนวณล่าสุดพบว่าดาวเคราะห์น้อยนี้จะเฉียดเข้าใกล้โลกทั้งหมด 10 ครั้ง ในช่วงระหว่างปี 2046 – 2054 โดยจะเฉียดเข้าใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 14 ก.พ. 2046 ที่ระยะห่าง 1.8 ล้านกิโลเมตร

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วองค์การนาซาแถลงยืนยันถึงความสำเร็จของภารกิจ DART ซึ่งสามารถใช้จรวดยิงสกัดดาวเคราะห์น้อยให้เบี่ยงทิศทางการโคจร จนพ้นไปจากแนวที่เสี่ยงจะชนเข้ากับโลก แต่ก็ยอมรับด้วยว่าวิธีดังกล่าวต้องใช้เวลาเตรียมการล่วงหน้านานหลายปี จึงจะสามารถกำจัดวัตถุอวกาศที่เป็นอันตรายได้

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว