รู้จักนักคณิตศาสตร์อัจฉริยะที่โลกลืม ผู้วางรากฐานให้ไอแซก นิวตัน

ASTLEY HALL MUSEUM เจเรไมอาห์ ฮอร์ร็อกซ์ เป็นคนแรกที่ได้ทำนายและสังเกตปรากฏการณ์ทรานซิตของดาวศุกร์

ในช่วงบ่ายที่ท้องฟ้าปกคลุมด้วยเมฆมืดครึ้มเหนือกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ปี 1639 หรือ 384 ปีก่อน เจเรไมอาห์ ฮอร์ร็อกซ์ นักคณิตศาสตร์หนุ่มน้อยชาวอังกฤษวัย 20 ปี กลายเป็นคนแรกของโลกที่ทำนายการเกิดปรากฏการณ์ทรานซิต (transit) ของดาวศุกร์ รวมทั้งวัดระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ได้อย่างแม่นยำ

ผลงานของเขาคือการพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นครั้งแรกว่า โลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาลแต่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งขัดกับความเชื่อกระแสหลักทางศาสนาในยุคนั้น ผลงานดังกล่าวยังช่วยวางรากฐานให้กับเซอร์ไอแซก นิวตัน ในการอธิบายเรื่องแรงโน้มถ่วงด้วย

ถึงแม้จะมีผลงานสำคัญที่ส่งผลกระทบยิ่งใหญ่ระดับโลก แต่ฮอร์ร็อกซ์กลับกลายเป็นอัจฉริยะที่ถูกลืมเพราะด่วนจากไปก่อนเวลาอันควร โดยเขาเสียชีวิตลงในสองปีต่อมา หลังจากได้สังเกตปรากฏการณ์ทรานซิต หรือการเคลื่อนผ่านตัดหน้าดวงอาทิตย์ของดาวศุกร์แล้ว

ดร. แมตต์ บอธเวลล์ นักดาราศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ของสหราชอาณาจักร กล่าวถึงฮอร์ร็อกซ์ซึ่งไม่เคยได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานทางดาราศาสตร์อย่างเป็นทางการ หรือได้รับการชื่นชมสรรเสริญในวงกว้างเลยว่า “หากไม่มีเขา จะไม่มีความรู้พื้นฐานที่จำเป็นทั้งหมดให้นิวตันนำไปต่อยอด ไม่มีใครเข้าใจว่าผลงานของเขาสำคัญเพียงใดเป็นเวลานานหลายสิบปี จนกระทั่งนิวตันหยิบมันขึ้นมาใช้”

จุดเริ่มต้นของผลงานสำคัญของฮอร์ร็อกซ์ มาจากการที่เขาค้นพบข้อผิดพลาดทางคณิตศาสตร์ในการคำนวณของเคปเลอร์ นักดาราศาสตร์ชื่อก้องโลก การแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวทำให้เขาสามารถคำนวณได้ว่า ปรากฏการณ์ทรานซิตของดาวศุกร์ครั้งต่อไปกำลังจะเกิดขึ้นภายในไม่กี่วันข้างหน้า และจะไม่เกิดขึ้นอีกจนกว่าจะถึงปี 1761

ภาพถ่ายในย่านรังสีอัลตราไวโอเลต แสดงให้เห็นดาวศุกร์ขณะเกิดปรากฏการณ์ทรานซิตเมื่อปี 2012

NASA / SDO ภาพถ่ายในย่านรังสีอัลตราไวโอเลต แสดงให้เห็นดาวศุกร์ขณะเกิดปรากฏการณ์ทรานซิตเมื่อปี 2012

ฮอร์ร็อกซ์ได้ใช้โอกาสนี้สังเกตปรากฏการณ์ดังกล่าวร่วมกับวิลเลียม แครบทรี เพื่อนนักดาราศาสตร์มือสมัครเล่น โดยเฝ้าดูดาวศุกร์เคลื่อนผ่านตัดหน้าดวงอาทิตย์จากสถานที่สองแห่งบนโลกพร้อมกัน และใช้กล้องโทรทรรศน์ที่ทำให้เกิดเงาของดาวศุกร์ตกกระทบบนฉากรับภาพ

เทคนิคดังกล่าวเป็นวิธีเดียวในยุคนั้นที่สามารถจะตรวจจับความเคลื่อนไหวของดาวศุกร์ ซึ่งโคจรอยู่ระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ได้อย่างแม่นยำ ทั้งยังสามารถนำข้อมูลจากการสังเกต มาคำนวณหาระยะห่างระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ได้โดยใช้หลักตรีโกณมิติ

ภาพวาดเจเรไมอาห์ ฮอร์ร็อกซ์ ขณะสังเกตการณ์ดาวศุกร์ ผลงานของ Eyre Crowe ศิลปินยุควิกตอเรียน

WIKIMEDIA COMMONS ภาพวาดเจเรไมอาห์ ฮอร์ร็อกซ์ ขณะสังเกตการณ์ดาวศุกร์ ผลงานของ Eyre Crowe ศิลปินยุควิกตอเรียน

ฮอร์ร็อกซ์เกิดเมื่อปี 1618 ในครอบครัวของช่างทำนาฬิกาที่เมืองลิเวอร์พูล เขาเรียนรู้วิชาการคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ ก่อนจะได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยรับทุนการศึกษาที่กำหนดให้ต้องทำงานที่ใช้แรงกาย เช่นงานทำความสะอาดหรือเทกระโถนขับถ่ายในหอพักนักศึกษาด้วย

แต่น่าเสียดายว่าฮอร์ร็อกซ์ไม่ได้อยู่เล่าเรียนจนสำเร็จการศึกษา เนื่องจากความขัดสน แต่เขาก็ยังคงมุ่งมั่นทำงานวิชาการด้านคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ต่อไปจนวาระสุดท้ายของชีวิต

เซอร์ไอแซก นิวตัน ได้กล่าวชื่นชมและให้ความสำคัญกับผลงานของฮอร์ร็อกซ์ไว้เมื่อปี 1687 ในหนังสือ Principia โดยบอกว่าเขาไม่อาจจะสร้างทฤษฎีว่าด้วยแรงโน้มถ่วงได้สำเร็จ หากฮอร์ร็อกซ์ไม่ได้คำนวณและลงมือสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ทรานซิตของดาวศุกร์ในวันนั้น

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว