ซีเซียม : คนไทยควรมียาต้านพิษรังสี “ปรัสเซียนบลู” เป็นยาสามัญประจำบ้านแล้วหรือไม่

McGuffMedical / Getty Images ยาปรัสเซียนบลูยี่ห้อหนึ่ง

จากกรณีวัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหายจากโรงไฟฟ้าไอน้ำใน จ.ปราจีนบุรี และมีแนวโน้มสูงที่จะถูกหลอมกลายเป็น “ฝุ่นเหล็กปนเปื้อนกัมมันตรังสี” ทำให้สังคมไทยเริ่มตั้งคำถามถึงมาตรการรับมือ ถึงเหตุการณ์กัมมันตรังสีรั่วไหล ที่อาจกระทบต่อสุขภาพ และหนึ่งในสิ่งที่กำลังเป็นที่พูดถึง คือ ยาต้านพิษรังสี “ปรัสเซียนบลู” ที่ยังไม่มีใช้ในประเทศ

วันนี้ (22 มี.ค.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว “ซีเซียม (Cesium, Cs-137) กับยาต้านพิษ ปรัสเซียนบลู (Prussian blue)” ยืนยันว่า คนไทยยังไม่ถึงจุดที่จำเป็นต้องใช้ยาตัวนี้ จากกรณีความเสี่ยงซีเซียม-137 รั่วไหลใน จ.ปราจีนบุรี

“ซีเซียม-137 ที่สูญหายอยู่ที่ 505 ไมโครกรัม (0.5 มิลลิกรัม) ปริมาณรังสีต่างจากเชอร์โนบิล 56.7 ล้านเท่า… และน้อยกว่าเหตุการณ์ที่เกิดที่ฟูกุชิมะที่ญี่ปุ่น 11 ล้านเท่า” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤศณัฏฐ์ เชื่อมสามัคคี ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบาย

ไม่เพียงเท่านั้น การหลอมเหล็กที่โรงหลอมใน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ยังเป็นระบบปิด เช่นเดียวกับ การเก็บรักษาฝุ่นเหล็กราว 24 ตัน ที่อาจปนเปื้อนกัมมันตรังสี ค่อนข้างมิดชิด ทำให้ “โอกาสที่ฝุ่น (ปนเปื้อน) จะหลุดรอด รั่วไหลออกมาสู่สิ่งแวดล้อม ค่อนข้างน้อย”

ด้าน รองศาสตราจารย์ พญ. สารทริยา ตระกูลศรีชัย ศูนย์พิษวิทยาและภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ม.มหิดล อธิบายว่า ยาปรัสเซียนบลู เป็นยาทานสำหรับกรณีผู้ป่วยรับรังสีซีเซียม-137 เข้าไปในร่างกายเท่านั้น อีกทั้งการใช้ยาตัวนี้ ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์

ผู้ป่วยที่ต้องรับยาตัวนี้ “ต้องมีการตรวจวัดปริมาณรังสีในร่างกายค่อนข้างสูง แพทย์ถึงจะให้ขนาดยาตามปริมาณรังสีในร่างกาย”

เธอยังเตือนว่า ประชาชนทั่วไปไม่ควรซื้อปรัสเซียนบลู ที่ใช้ในการวาดภาพศิลปะจากอินเทอร์เน็ตมาใช้ เพราะถ้าเป็นกรณีซีเซียม-137 จะต้องเป็นปรัสเซียนบลู ที่ผลิตสำหรับใช้เป็นยาโดยเฉพาะเท่านั้น

แล้วปรัสเซียนบลู คืออะไร บีบีซีไทยชวนมาทำความรู้จักยาต้านพิษรังสีตัวนี้ ที่ศูนย์พิษวิทยา ม.มหิดล เคยครอบครองตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน แต่ไม่เคยมีโอกาสได้ใช้ จนหมดอายุใช้งาน ทำให้ปัจจุบัน ยังไม่มียาตัวนี้ในประเทศไทย

จากสีในงานศิลปะ สู่ยาต้านรังสีนิวเคลียร์

ดร. กนกพร บุญศิริชัย กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ หรือ สทน. อธิบายในบทความเผยแพร่ในเว็บไซต์ของ สทน. ว่า เดิมที ปรัสเซียนบลู เป็นสารสีน้ำเงินที่ใช้ในงานศิลปะมายาวนาน ยกตัวอย่างภาพที่มีชื่อเสียงคือ Entombment of Christ ที่จัดแสดงอยู่ในพระราชวังเมืองพอตสดัม ของเยอรมนี และภาพ The Great Wave off Kanagawa ของ โฮกุไซ จิตรกรชาวญี่ปุ่น

ผู้สังเคราะห์ ปรัสเซียนบลู ขึ้นมาครั้งแรก คือ นักผสมสีชื่อ นายโยธาน จาค็อบ ไดส์บาค เมื่อปี ค.ศ. 1706 เกิดเป็นผงคริสตัลละเอียดสีน้ำเงินเข้ม ไม่ละลายน้ำ โดยองค์กรประกอบของปรัสเซียนบลู ประกอบด้วย เหล็ก และไซยาไนด์

Getty Image

Getty Images
ภาพ The Great Wave off Kanagawa ของ โฮกุไซ จิตรกรชาวญี่ปุ่น

ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 1960 ปรัสเซียนบลู เริ่มถูกนำมาใช้นอกเหนือจากงานศิลปะ เพราะนำมาใช้รักษาผู้ป่วยที่ได้รับซีเซียม-137 รวมถึงแทลเลียม-201 และไอโซโทปเสถียรของแทลเลียมด้วย หากผู้ป่วยได้รับปริมาณสารกัมมันตรังสีเหล่านี้ในระดับอันตราย

ปรัสเซียนบลู จึงกลายเป็นที่รู้จักในฐานะ “ยาต้านพิษไอโซโทปรังสีของซีเซียมและแทลเลียม” ดร.กนกพร กล่าวในบทความ โดยเมื่อร่างกายรับยาปรัสเซียนบลูเข้าไป จะช่วยขับไอโซโทปอันตรายออกจากร่างกายได้

ศูนย์พิษวิทยาและภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่า การใช้ปรัสเซียนบลู “จะต้องใช้เฉพาะในผู้ป่วยที่มีการปนเปื้อนซีเซียมภายในร่างกาย (Internal contamination) เท่านั้น ไม่ใช้รักษาหากได้รับทางผิวหนังหรือปนเปื้อนตามเสื้อผ้า”

กลไกการออกฤทธิ์หลักของ ปรัสเซียนบลู คือ มันจะจับกับซีเซียมในลำไส้ ป้องกันไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ ยังลดการดูดซับกลับของซีเซียมจากที่มีผลยับยั้งขบวนการดูดกลับจากทางเดินอาหารไปยังตับและขับออกมาทางน้ำดีกลับสู่ทางเดินอาหารอีกครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา

การทำงานของปรัสเซียนบลู

CDC
การทำงานของปรัสเซียนบลู

อย่างไรก็ตาม “ปรัสเซียนบลู มีผลข้างเคียงเกิดขึ้นจากการได้รับยาในขนาดที่ใช้ในการรักษาได้ เช่น ท้องผูก หรือ ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ อาจทำให้สีอุจจาระ เยื่อบุ หรือฟัน เปลี่ยนสีได้” รศ. พญ. สารทริยา กล่าวระหว่างการแถลงข่าว

เหตุการณ์กัมมันตรังสีปนเปื้อนที่ยาปรัสเซียนบลูถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย คือ กรณีการปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากซีเซียม-137 ในเมืองโกยาเนีย เมื่อปี 1987 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 4 คน และผู้ป่วยจากการรับรังสีเกือบ 250 คน

ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศกล่าวว่า ผู้ใหญ่เพศชายสามารถรับประทานปรัสเซียนบลูในปริมาณ 10 กรัมต่อวันโดยไม่มีอันตราย

การประเมินความเสี่ยงวิกฤตปนเปื้อนซีเซียม-137 จากแพทย์รามา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กฤศณัฏฐ์ อธิบายว่า หากเทียบกับกรณีวิกฤตกัมมันตรังสีเชอร์โนบิลในยูเครน และกรณีที่เกิดกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ แล้ว ปริมาณซีเซียม-137 ที่หายไปนั้น ถือว่าต่ำกว่าเป็นกว่า 10-56 ล้านเท่า

ปริมาณซีเซียม-137 ที่สูญหายอยู่ที่ 41.4 mCi ซึ่งเมื่อเทียบกับความแรงรังสีเริ่มต้นวัดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2538 อยู่ที่ 80 mCi หรือถ้าคิดเป็นน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 0.000505 กรัม (505 ไมโครกรัม) ในทางอุตสาหกรรมถือว่าอยู่ในระดับต่ำเพราะจากที่หาข้อมูลมีการใช้งานตั้งแต่ 1 – 10,000 mCi

หากเทียบปริมาณรังสีซีเซียมในอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl) เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2529 คาดว่ามีการปนเปื้อนซีเซียมสู่สิ่งแวดล้อม 27 กิโลกรัม หรือ 2.35×109 mCi เท่ากับปริมาณรังสีมากกว่ากรณีที่เกิดเหตุสูญหายในไทย 56.76 ล้านเท่า

การแถลงข่าวของแพทย์ รพ.รามาธิดบี ม.มหิดล

Thai News Pix
การแถลงข่าวของแพทย์ รพ.รามาธิดบี ม.มหิดล

ส่วนปริมาณรังสีซีเซียมในอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554 คาดว่ามีการปนเปื้อนซีเซียมสู่สิ่งแวดล้อม 17 PBq = 4.60×108 mCi เท่ากับปริมาณรังสีมากกว่ากรณีที่เกิดเหตุในไทย 11 ล้านเท่า (โดยประมาณ 24% จากเหตุการณ์นี้ในญี่ปุ่นถูกปล่อยลงสู่ทะเลโดยตรง)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาครังสีวิทยา ยังยืนยันว่า กระแสข่าวว่า การหลอมวัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 มีความเสี่ยงทำให้ “ฝุ่นซีเซียม-137 ปลิวไกลเป็นพันกิโลเมตร ไม่เป็นความจริง”

และยังไม่มีความกังวลว่า ผลไม้และอาหารที่ผลิตใน จ.ปราจีนบุรี จะมีโอกาสปนเปื้อนกัมมันตรังสี เพราะจากปริมาณรังสีในพื้นที่ ที่สำนักงานปริมาณูเพื่อสันติตรวจวัด ถือว่าอยู่ในระดับปกติ อีกทั้ง การที่สารกัมมันตรังสีจะลงไปในดินและน้ำ เข้าไปสู่ผลไม้และพืชผล ต้องใช้เวลานาน

“ไม่มีโอกาสเลยที่จะทำให้ผลไม้ในพื้นที่ เช่น ทุเรียน จะมีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี” เขากล่าว

ส่วนคำแนะนำต่อประชาชนนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กฤศณัฏฐ์ ระบุว่า “ตอนนี้ ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าซีเซียมที่ถูกหลอมเป็นชิ้นที่หายไปจริง ยังรอกระบวนการพิสูจน์” จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่ ยังควรต้องสังเกตป้ายสัญลักษณ์รังสี และแจ้งสายด่วน 1296 กรณีเจอวัตถุต้องสงสัยเหมือนในรูปที่ประกาศสูญหาย

Thai News Pix

Thai News Pix
“ตอนนี้ ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าซีเซียมที่ถูกหลอมเป็นชิ้นที่หายไปจริง ยังรอกระบวนการพิสูจน์” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาครังสีวิทยา

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว