เลือกตั้ง 2566 : กระแส-กระสุน-เก้าอี้นายกฯ คุยกับหัวหน้า “พรรคตัวแปร” อนุทิน ชาญวีรกูล

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ในขณะที่ทุกพรรคการเมืองกำลังต่อสู้กันอย่างเต็มที่เพื่อเก็บชัยชนะใน 400 เขตเลือกตั้งทั่วประเทศ ดูเหมือนว่าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ภายใต้การนำของ อนุทิน ชาญวีรกูล จะมองการณ์ไกล-เดินอีกยุทธศาสตร์ควบคู่กันไป จนเกิดภาพ “รบไป จับมือกันไป”

จำนวนนักเลือกตั้งอาชีพที่หลั่งไหลไปสังกัด ภท. ตั้งแต่ยังไม่ยุบสภา

จำนวนที่นั่งเป้าหมายตาม “โพลลับ” ที่แกนนำแต่ละพรรคการเมืองถืออยู่ในมือ ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีนัยสำคัญต่อการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้พรรคคู่แข่งไม่กล้าตัดสัมพันธ์กับ ภท.

เป็นผลให้ อนุทิน รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค ภท. ต้องตอบคำถามสื่อมวลชนเรื่อง “ดีลตั้งรัฐบาล” ตั้งแต่ประชาชนยังไม่ทันได้เลือกตั้ง

อนุทินเปิดที่ทำการพรรคภูมิใจไทย ถ.พหลโยธิน ให้บีบีซีไทยไปร่วมสนทนา สำรวจความพร้อมสู้ศึกเลือกตั้งของพรรคสีน้ำเงิน ซึ่งทราบในภายหลังว่าเขาเพิ่งออกจากมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ก่อนมาให้สัมภาษณ์

ในขณะที่ใครต่อใครมองว่า ภท. คือ “พรรคตัวแปร” ในการจัดตั้งรัฐบาลภายหลังเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 พลพรรคภูมิใจไทยคาดหวังว่าพวกเขาจะกลายเป็น “พรรคตัวหลัก” นั่นหมายถึงโอกาสเป็นแกนนำรัฐบาล และส่งอนุทินเข้าทำเนียบฯ ในฐานะนายกฯ คนที่ 30

“พรรคบ้านนอกขอเข้ากรุง”

ภท. มี ส.ส.คนแรกที่ จ.ปราจีนบุรี ในศึกเลือกตั้งซ่อมปี 2552 และในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดปี 2562 ปราจีนบุรียังเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ ภท. ชนะเลือกตั้งยกจังหวัด

anutin

Thai News Pix หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยขอคะแนนเสียงจากชาวคลองเตย กทม. โดยเปิดปราศรัยที่ศูนย์เยาวชนคลองเตย เมื่อ 5 ก.พ.

 

ตลอดเวลา 1 ทศวรรษที่ทำหน้าที่หัวหน้าพรรค ภท. เดินสายลงพื้นที่-ช่วยลูกพรรคหาเสียงนับจังหวัดไม่ถ้วน นี่เป็นครั้งแรกที่อนุทินรู้สึกถึงโอกาสปักธงในเมืองหลวง หลังดูด-ดึงอดีต ส.ส.กทม. 8 คนเข้ามาอยู่ในสังกัด จึงประกาศว่า “พรรคบ้านนอกขอเข้ากรุง”

“เวลาบอกว่าเราเป็นพรรคบ้านนอกเข้ากรุง หมายความว่าเราเติบโตมาจากต่างจังหวัดก็จริง แต่ตั้งใจเข้ามาทำงานให้คนเมืองใหญ่ ๆ เช่น กทม. ทำให้เห็นว่าภูมิใจไทยสามารถทำงานให้ชาว กทม. ได้” หัวหน้าพรรคการเมืองที่ก่อตั้งมา 15 ปี ทว่าไม่เคยชนะเลือกตั้งในกรุงเทพฯ กล่าว

การมีแฟนคลับขอถ่ายรูปด้วย มีเสียงทวนคำขวัญ “พูดแล้วทำ” จริงนะ แน่นะ ในระหว่างเดินหาเสียงกลางเมืองกรุง ถือเป็นความสุขอย่างหนึ่งของอนุทิน แต่ช่วงเวลาเหล่านั้นคล้ายต้องสะดุดหยุดลง เมื่อเผชิญกับแคมเปญต่อต้าน “กัญชาเสรี” และ “พรรคนายทุน” ของ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์

แม้พลพรรคภูมิใจไทยออกมายืนยันหลายครั้งว่าความเคลื่อนไหวของ “จอมแฉ” ไม่กระทบต่อคะแนนนิยมของ ภท. ไม่เสียสมาธิ และไม่ให้ราคา แต่นั่นอาจสวนทางกับพฤติกรรมทางการเมืองของคนกรุงเทพฯ ที่ตัดสินใจโดยคำนึงถึงกระแสและอยู่บนพื้นฐานความรู้สึก ทำให้คอการเมืองจับตามองว่างานนี้ “กระสุนจะแพ้กระแส” หรือไม่

“สำหรับภูมิใจไทย เราไม่มีทั้งกระแส เราไม่มีทั้งกระสุน แต่เรามีผลงานของการตั้งใจทำงานรับใช้พี่น้องประชาชน เรายึดถือและเชื่อมั่นในประชาชนที่ให้โอกาสเราเข้ามาทำงาน” อนุทินตอบทันควัน และย้ำว่า เรื่องใด ๆ ก็ตามที่ไม่ได้อยู่ในการทำงานของ ภท. หรือว่าเป็นเรื่องที่เป็นการกล่าวหาในสิ่งที่พรรคไม่ได้ทำ ก็ไม่ได้ให้ความสนใจที่จะไปข้องแวะ

Chuvit

Thai News Pix ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ รณรงค์คัดค้านนโยบาย “กัญชาเสรี” ที่หน้าปากซอยละลายทรัพย์ ถ.สีลม เมื่อ 21 มี.ค.

ส่งตอม่อ-ตอกเสาเข็ม สู้ แลนด์สไลด์

4 ปีก่อน ภท. ส่งผู้สมัคร ส.ส. ครบ 350 เขต โดยเน้นดูด “นักเลือกตั้งเบอร์รอง” เข้าพรรค เพื่อเก็บคะแนนผู้แพ้มากองรวมกัน แล้วคำนวณหายอด ส.ส.บัญชีรายชื่อ ภายใต้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งมีบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว

ผลคือ ภท. เข้าสภาในฐานะพรรคอันดับ 4 ด้วยยอด ส.ส. “ครึ่งร้อย” แบ่งเป็น ส.ส.เขต 39 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 12 คน โดยมีคะแนนมหาชนทั้งประเทศราว 3.7 ล้านเสียง

แต่ในการเลือกตั้ง 2566 กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แยกการตัดสินใจเลือก ส.ส. ทั้ง 2 ระบบ สูตรในการคัดตัวผู้สมัครของพรรคจึงเน้นคนที่ “พื้นที่แข็ง” และ “ตอม่อแข็ง” ซึ่งอนุทินให้คำจำกัดความไว้ว่าเป็นคนที่ “ประสบความสำเร็จในชีวิตระดับหนึ่ง พึ่งพาตนเองได้ ไม่ใช่เข้ามามีอาชีพหรือหารายได้จากการเป็นนักการเมือง ประวัติสะอาด และเป็นที่ยอมรับของสังคม” พร้อมกำหนดที่นั่งเป้าหมายของพรรคสีน้ำเงินให้เป็น “พรรคแตะร้อย”

ในวันที่อดีต ส.ส. ย้ายค่าย-พลิกขั้วมาร่วมงานกับ ภท. ก่อนสภาชุดที่ 25 จะสิ้นสุดลง อนุทิน ผู้มีอาชีพแรกเป็นวิศวกร และเจ้าของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการรับเหมาก่อสร้าง ประกาศยุทธศาสตร์ “ตอกเสาเข็ม” สู้แลนด์สไลด์ จากนั้นได้เดินสายหาเสียงในหลายเวที โดยขอให้ประชาชนเลือก ภท. ยกจังหวัด

ในการเลือกตั้ง 2562 ภท. กวาด ส.ส. ยกจังหวัดไป 6 จังหวัด รวม 17 เขต มาครั้งนี้ ภท. แผ่อิทธิพลไปอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือตอนล่าง และภาคอีสานเหนือ

  • ภาคอีสาน – บุรีรัมย์ (เดิม 8 เขต/ ใหม่ 10 เขต)
  • ภาคกลาง – อุทัยธานี (2 เขต), อ่างทอง (เดิม 1 เขต/ ใหม่ 2 เขต)
  • ภาคตะวันออก – ปราจีนบุรี (3 เขต)
  • ภาคใต้ – สตูล (2 เขต), ระนอง (1 เขต)

ไม่มีดีล แต่มี “จับขั้วกลาย ๆ”

โพลที่อยู่บนโต๊ะอาหาร-ในวงหารือระหว่างหัวหน้าพรรค ภท. กับหัวหน้าพรรค พปชร. ภายในมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ณ สัปดาห์ที่ 3 ของเดือน มี.ค. พบว่า 2 พรรคมีโอกาสหิ้ว ส.ส. เข้าสภาพรรคละ 70 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้โยนขึ้นมากลางวง ก่อนที่มือดีจะจงใจปล่อยทั้งตัวเลข-บทสนทนา-ภาพถ่ายออกสู่สาธารณะ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามเอา “โพลลับ” 70 เสียงไปขอคำยืนยันจากอนุทิน เจ้าตัวโยนคำถามกลับมาว่า “ทำไมให้น้อยจัง” พร้อมประกาศว่า ภท. จะเป็น “พรรคแตะร้อย” ต่อมาเมื่อบีบีซีไทยถามถึงตัวเลข 100 เสียง อนุทินบอกว่า “เป้าหมายของเราไม่มีขีดจำกัด”

คำถามที่เกิดขึ้นคือ หาก ภท. มั่นใจว่าจะเป็น “พรรคแตะร้อย” จริง ทำไมต้องชิงจับขั้วล่วงหน้า ทั้งที่ยังไม่ทันเลือกตั้ง และต่างฝ่ายต่างยังไม่เห็นตัวเลขจริงของกันและกัน

อนุทินยิ้มกรุ้มกริ่ม ส่งเสียงหัวเราะหึ ๆ ในลำคอ ก่อนเอ่ยขึ้นว่า “ยังไม่เคยมีการพูดว่าภูมิใจไทยไปจับขั้วล่วงหน้ากับใคร”

เขาบอกว่า การไปทานอาหารร่วมกับกลุ่มคนที่ทำงานด้วยกันมาตลอดระยะเวลา 4 ปี ถือเป็นเรื่องปกติมาก และไม่มีนัยแฝงใด ๆ ทางการเมือง

แต่นอกจากภาพที่ถูกปล่อยออกมา ดูเหมือนหัวหน้าพรรค ภท. เองเป็นคนให้คำอธิบายประกอบภาพเป็นข่าว ในระหว่างให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสว่า “ดีลระหว่าง ภท. กับ พปชร. ลงตัวแล้ว”

“ไม่มีดีลครับ ภูมิใจไทยเราดีลกับประชาชนเท่านั้น ประชาชนต้องการให้เราทำอะไร ประชาชนก็จะแสดงออกมาจากการลงคะแนน” เขาปฏิเสธอีกครั้ง

anutin

PR พรรคภูมิใจไทย

 

อนุทิน วัย 55 ปี กล่าวว่า การไปทานข้าวกับ พล.อ. ประวิตร ไปในฐานะที่ท่านเป็นผู้ใหญ่ และมีบทบาทเป็นผู้จัดการรัฐบาล จึงไปหารือสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน และอัพเดทว่าท่านคิดอย่างไร มีแนวทางอย่างไร และได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน มองสถานการณ์การเมืองร่วมกันไปข้างหน้า

“ความเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่ทำงานด้วยกันมา เราก็บอกว่าถ้าไม่มีอะไรที่มัน… เอ่อ เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน มันก็ไม่ได้เป็นสิ่งแปลกที่เราจะพยายามทำงานกับกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ๆ ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว มันมีอัตราส่วนของที่นั่งในสภาฯ ที่มันไม่ต่างกันจนเกินไปนัก ผมก็คิดว่ามันก็มีการ ‘จับขั้วกันกลาย ๆ’ อย่างน้อยก็ถือว่าเป็นตุ๊กตาที่เราตั้งเอาไว้ แต่ไม่ได้หมายความว่าตรงนี้จะต้องเป็นการลงสัตยาบรรณ หรือจับเซ็นสัญญาเอ็มโอยูอะไรกัน เพราะว่าเรายังไม่ทราบผลการตัดสินใจของประชาชน” อนุทินกล่าว

หากไม่มีปัจจัยพลิกผัน ในสมการตั้งรัฐบาลของ ภท. จะมี พปชร. ด้วยเสมอใช่หรือไม่

อนุทินไม่ปฏิเสธ โดยบอกว่า เราก็พยายามจับมือกันในระหว่างพรรคร่วมฯ ด้วยกัน ซึ่งมันน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด ส่วนใครจะเป็นตำแหน่งอะไร ใครจะเป็นนายกฯ รัฐมนตรี หรือรับตำแหน่งสำคัญทางการเมืองในด้านการบริหารประเทศ ต้องดูผลการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม วิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรค พปชร. หนึ่งในผู้ร่วมโต๊ะทานอาหารระหว่าง 2 แกนนำขั้วรัฐบาล ในรอบ 2 เมื่อ 22 มี.ค. ได้เปิดเผยผ่านเนชั่นทีวีว่า ภท. พร้อมสนับสนุน 2 ป. เป็นนายกฯ หากพรรคใดได้ ส.ส. มากกว่า

ร้อนถึงอนุทินต้องออกมาชี้แจงว่า เป็นเพียงการพูดหยอกเย้า เฮฮา แซวกัน ไม่เป็นทางการ และไม่ควรนำมาพูดต่อสาธารณะ

“เรื่องบนโต๊ะอาหาร ถ้าพูดให้ถูก ทุกคนใครที่อยู่ในขั้วรัฐบาล ใครได้เสียงมากที่สุดก็เป็นนายกฯ ไป เราพูดกันแค่นี้แล้วก็หัวเราะ แต่ผมไม่ได้พูด มีแค่ส่ายหัวปลก ๆ แต่ที่มีคนไปออกรายการแล้วแอบอ้างเรื่องแบบนี้ คิดว่าเสียมารยาท” หัวหน้าพรรค ภท. ตำหนินักการเมืองต่างค่ายในระหว่างให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อ 24 มี.ค.

เขายังส่งสัญญาณด้วยว่าหากเสียง ภท. มากกว่า รทสช. และ พปชร. จะไม่มีเหตุให้ยกเก้าอี้นายกฯ ให้ “2 ลุง”

“หากภูมิใจไทยได้ (ส.ส.) มากที่สุด พรรคภูมิใจไทยต้องได้เป็นนายกฯ เพราะถ้าเราได้เสียงมากแล้วจะเอาตำแหน่งไปให้คนอื่น จะไปมองหน้าประชาชนได้อย่างไร” อนุทินระบุ

แกนนำพรรคคร่วมฯ

.
แกนนำ ภท. กับแกนนำ พปชร. รับประทานอาหารร่วมกันที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เมื่อ 22 มี.ค. ซึ่งทำให้สื่อมวลชนตั้งประเด็นเรื่องการ “จับขั้วบนโต๊ะอาหาร” ต่อมาอนุทินยืนยันว่ารูปนี้ไม่ได้ถูกปล่อยมาจาก ภท.

รัฐบาลแห่งชาติ กับ คุณสมบัติผู้นำคนที่ 30

กว่าจะรู้ชื่อ-ได้ตัวนายกฯ คนที่ใหม่ ภาพการ “จับขั้วกลาย ๆ” คล้ายทำให้ ภท. ต้องแบกต้นทุน-แบกภาระของ ป.ประวิตร ด้วยหรือไม่ เพราะมีอย่างน้อย 3 พรรคการเมืองที่ประกาศ “ปิดสวิตช์ 3 ป.” และไม่จับมือกับ รทสช. และ พปชร.

ในทัศนะของหัวหน้าพรรค ภท. ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการประกาศว่าจะไม่ร่วมกับพรรคนั้นพรรคนี้ เพราะ “ประชาชนไม่ได้เลือกพวกเราเข้ามาแล้วให้เรามาแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันก่อน เราควรจะเข้ามาด้วยความใส ไม่มีปัญหา แล้วค่อยมานั่งเจรจากันว่าแนวทางของแต่ละพรรคเป็นอย่างไร” โดยเอาเจตนารมณ์และแนวนโยบายของแต่ละพรรคเป็นตัวตัดสินว่าจะร่วม-ไม่ร่วมกิจกรรมทางการเมืองกัน

ส่วนจดหมายน้อยฉบับที่ 6 ของ พล.อ. ประวิตร ซึ่งมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า หากได้เป็นรัฐบาล “จะตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก นำนโยบายดี ๆ ของทุกพรรคที่ใช้ในการรณรงค์หาเสียง เอามาทำและปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้จริง โดยไม่ได้มีความรังเกียจหรือแบ่งแยก…” ทำให้เกิดการตีความว่าเป็นการส่งสัญญาณตั้งรัฐบาลแห่งชาติหรือไม่

อนุทินยิ้มรับคำถาม แต่บอกว่าไม่ได้ถามหัวหน้า พปชร. เรื่องนี้ในระหว่างมุดบ้านป่ารอยต่อฯ

เขาย้ำว่า “ภูมิใจไทยไม่มีปัญหาอะไรกับใคร เรามีปัญหากับความลำบากของประชาชน การที่ประเทศไม่สามารถพัฒนาได้ และการที่สังคมมีความขัดแย้งแตกแยก” พร้อมเสนอตัวทำหน้าที่เชื่อมประสานความแตกแยก ขัดแย้ง และความเห็นต่าง

ในฐานะสั่งสมประสบการณ์การเมืองมานาน 19 ปี และเป็นหนึ่งในบุคคลที่เสนอตัวเป็นนายกฯ คนที่ 30 ให้ประชาชนพิจารณา เขาไม่ลังเลในการไล่เรียงคุณสมบัติของผู้นำประเทศที่พึงประสงค์เอาไว้ ดังนี้

  • มีประสบการณ์ และมีความสามารถในการทำงาน ไม่ต้อง “รำมวย” หรือ “ทดลองงาน”
  • มีพื้นฐานทางการเมืองค่อนข้างมั่นคง เป็นตัวของตัวเอง
  • มีความชำนาญในงานของทั้ง 2 สภา
  • รู้จักประชาชนในพื้นที่
  • เข้าใจระบบการบริหารงานภาครัฐ/ภาคราชการ ผลักดันนโยบายได้อย่างรวดเร็ว
  • มีสายสัมพันธ์อันดีและประสานได้กับทุกขั้ว ทั้งทางราชการ และทางการเมือง
อนุทินสวมกอดนายกฯ โชว์สื่อมวลชนภายหลังประชุม ครม.ชุดรักษาการนัดแรกเมื่อ 21 มี.ค. และยังเป็นวันคล้ายวัยเกิดของ พล.อ. ประยุทธ์ด้วย

Thai News Pix อนุทินสวมกอดนายกฯ โชว์สื่อมวลชนภายหลังประชุม ครม.ชุดรักษาการนัดแรกเมื่อ 21 มี.ค. และยังเป็นวันคล้ายวัยเกิดของ พล.อ. ประยุทธ์ด้วย

 

“คนที่มีความพร้อมเหล่านี้ในแคนดิเดตนายกฯ จริง ๆ แล้วมีไม่กี่คนนะ แต่ผมมั่นใจว่าแคนดิเดตนายกฯ ของภูมิใจไทย ซึ่งก็คือตัวผมเอง มีคุณสมบัติที่มีความจำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดินค่อยข้างจะครบ ก็จะทำให้การทำงานต่าง ๆ เป็นไปได้ด้วยความราบรื่น ได้รับความร่วมมือ และเกิดความรวดเร็ว” ว่าที่แคนดิเดตนายกฯ ในบัญชี ภท. เพียงหนึ่งเดียวกล่าว

หากต้องเป็นลูกน้องอุ๊งอิ๊ง ?

เมื่อให้อธิบายความสัมพันธ์กับ 2 ผู้บังคับบัญชาที่เขาเคยร่วมวงเป็นรัฐมนตรีด้วย เขาบรรยายไว้ ดังนี้

  • พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คนที่ 29 : การทำงานในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา อยู่ในระบบที่ดีมาก ๆ, มีความเคารพเกรงใจซึ่งกันและกัน, มีจิตใจสนับสนุนการทำงานให้รัฐบาลมีผลงาน และประคับประคองซึ่งกันและกัน ทำให้รัฐบาลอยู่ครบวาระ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก
  • ทักษิณ ชินวัตร นายกฯ คนที่ 23 : เขาเคยบอกไว้ว่าเป็น “ผู้มีพระคุณ” และเป็น “ผู้บังคับบัญชาชั่วชีวิต” เพราะเป็นคนให้โอกาสสัมผัสเก้าอี้รัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อ 19 ปีก่อน แต่ขณะนี้ทักษิณไม่ได้อยู่ในระบบการเมืองที่เป็นทางการ แต่ ภท. ก็ทำงานร่วมกับฝ่ายค้านได้ ไม่เคยหลบเลี่ยงกลไกการตรวจสอบ

แล้วถ้าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง คนชื่ออนุทินจะเป็นลูกน้องของ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวอดีตนายกฯ ได้หรือไม่

“ถ้าสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น ผมก็ต้องแสดงความยินดีกับท่านนายกฯ ท่านใหม่ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม คนที่เป็นนายกฯ ได้ก็ต้องถือว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เขาก็ต้องมีความสามารถ จะด้วยองค์ประกอบใด ๆ ก็แล้วแต่”

“ภท. ยืนยันอีกครั้งหนึ่ง ในความเป็นพรรคการเมือง เราไม่เคยมีปัญหากับใคร ในการทำงานก็แล้วแต่บทบาท บทบาทการทำงานของพรรคการเมืองต้องได้รับฉันทานุมัติจากประชาชน ประชาชนเป็นคนเลือกให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคมีจำนวนผู้แทนฯ ในการทำงาน ถ้ามีมาก ก็แสดงว่าเขาอยากให้เราทำงานเป็นรัฐบาลด้วยความเข้มแข็ง ถ้ามีน้อย ก็แสดงว่าเขาไม่เชื่อในการทำงานของพวกเรา เราก็ควรต้องรับทราบเจตนารมณ์ของประชาชน เราก็อาจจะอยู่ในฝ่ายที่ไม่มีบทบาทที่สำคัญมากนัก” หัวหน้าพรรค ภท. กล่าวทิ้งท้าย

https://www.youtube.com/watch?v=mNRUG11NwBU


หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว