
สุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 ด้วยเหตุผลที่ว่า “มีศักยภาพในการต่อต้านระบอบทักษิณไม่ให้กลับมามีอำนาจอีก”
สุเทพ เทือกสุบรรณ กับ ทักษิณ ชินวัตร วัยย่าง 74 ปี เคย “นับเพื่อน” กัน โดยต่างฝ่ายต่างเอ่ยปากชวนกันเข้าพรรค ก่อนที่ความสัมพันธ์จะขาดสะบั้นถึงขั้น “ไม่เผาผี”
อดีตแกนนำมวลชนที่เรียกตัวเองว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กำหนดให้ “ระบอบทักษิณ” เป็น “ศัตรูถาวร” ในทางการเมือง
เลือกตั้ง 2562… เขาคือผู้บัญญัติศัพท์ “แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย” เพื่ออธิบายกลวิธีแตกพรรคของฝ่ายทักษิณ หวังแก้เกมกฎหมายเลือกตั้ง 2562 ภายใต้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม
เลือกตั้ง 2566… เขาไม่เชื่อว่าพรรคเพื่อไทย (พท.) จะบรรลุยุทธศาสตร์ “แลนด์สไลด์” ชนะอย่างถล่มทลาย จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จ เพราะประชาชนยังไม่ลืมสิ่งที่อดีตนายกฯ จากตระกูลชินวัตรเคยทำเอาไว้ในช่วงเรืองอำนาจทางการเมือง พร้อมบรรยายพฤติกรรมเอาไว้ใน 3 กรณี
- ใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบ : ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยมิชอบ
- ทุจริตคอร์รัปชัน : รัฐมนตรีหลายรายต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาล จากการการทุจริตเชิงนโยบาย
- ใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยมิชอบ : เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และออกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม “ฉบับสุดซอย” ซึ่งสุเทพกับพวกเชื่อว่าเป็นไปเพื่อลบล้างความผิดคดีอาญา-พาชายชื่อทักษิณกลับบ้าน

“เชื่อว่าบุคคลที่ออกมาขับเคลื่อนต่อต้านในครั้งนั้น ซึ่งมาจากหลายภาคของประเทศ โดยเฉพาะใน กทม. และภาคใต้มากที่สุด คนเหล่านั้นไม่สามารถเปลี่ยนใจไปลงคะแนนเสียงให้กับระบอบทักษิณได้ในการเลือกตั้งคราวนี้ เพราะยังจำเหตุการณ์เหล่านั้นได้อยู่” สุเทพกล่าวกับบีบีซีไทย
“วันนี้ไม่มี กปปส. แล้ว”
เมื่อพรรค พท. เปิดตัว แพทองธาร ชินวัตร หรือ “อุ๊งอิ๊ง” บุตรสาวทักษิณ เป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค นอกจากกระแสต่อต้านจะไม่รุนแรงแล้ว “ดีเอ็นเอทักษิณ” ยังได้รับการตอบรับ สะท้อนผ่านการมีชื่อ “ยืนหนึ่ง” ในฐานะบุคคลที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ตามผลโพลหลายสำนัก สวนทางกับการประเมินของสุเทพ
“ระบอบทักษิณเขาก็ฉลาดนะ เขาก็เลือกเอาคุณอุ๊งอิ๊งมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ พฤติกรรมที่คุณทักษิณ หรือคุณยิ่งลักษณ์ทำการทุจริต ใช้อำนาจโดยมิชอบ มันคงไม่โยงไปถึงคุณอุ๊งอิ๊งว่าได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการที่ไม่ชอบทั้งหลายเหล่านั้น”
อดีตนักการเมืองรุ่นพ่อให้คำจำกัดความต่อผู้ท้าตัวชิงเก้าอี้นายกฯ รุ่นลูกเอาไว้ว่า “หน้าตาดี-พูดจาได้ดี-ดูเป็นคนใหม่” แต่เห็นว่า แม้มีการเปลี่ยนตัวจากทักษิณ ยิ่งลักษณ์ มาเป็นแพทองธาร โครงสร้างพรรค พท. และระบบครอบครัวการเมืองก็ยังคงเดิม ไม่สามารถทำให้ผู้คนคลายความกังวลใจไปได้

แล้วถ้า พท. ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย-ได้นายกฯ คนใหม่ชื่อแพทองธาร กปปส. จะหวนคืนสู่ท้องถนนหรือไม่
คำตอบของอดีตผู้นำขบวนการ “มวลชนนกหวีด” คือ กปปส. ไม่ใช่องค์กรถาวร เมื่อทำหน้าที่เสร็จก็กลับบ้าน ไม่เคยมีการประชุม กปปส. สร้างกิจกรรม กปปส. หลังจากนั้น จะว่าไปคือ “วันนี้ไม่มี กปปส. แล้ว”
“ผมเองเป็นผู้นำ กปปส. วันนี้ผมเจออะไร ผมเจอคดี ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 5 ปี คนอื่น ๆ ก็โดนลงโทษจำคุกกันหมด รอว่าศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจะว่าอย่างไร ไม่มีเวลาที่จะไปคิดทำอย่างอื่น นอกจากสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม และยืนยันว่าไม่หลบหนีไปไหน”
“ถ้าเกิดว่าโชคร้ายประเทศไทย มีระบอบทักษิณมาปกครองบริหารประเทศอีก แล้วสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นอีก ประชาชนในวันข้างหน้า ก็ต้องไปคิดอ่านหาการต่อสู้ในรูปแบบใหม่ วันนี้จะชวนคนมาเดินขบวนยากแล้ว” เขาระบุ
ศาลอาญาพิพากษาเมื่อ 24 ก.พ. 2564 ให้จำคุกแกนนำและแนวร่วม กปปส. รวม 26 คน ตั้งแต่ 4 เดือน ถึง 9 ปี 24 เดือน ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ ล้มล้างระบอบการปกครอง และข้อหาอื่น ๆ จากการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2556-2557
- 3 รมต. ในรัฐบาลประยุทธ์ พ้นตำแหน่งทันที หลังศาลสั่งจำคุกคดี กปปส. แต่หลุดข้อหากบฏ
- “ม็อบนกหวีด” กับ 4 เรื่องหลังฉาก กปปส.
- นักรัฐศาสตร์วิพากษ์ “การเมืองคนดี” จากยุค กปปส. ถึง ระบอบประยุทธ์

ไม่อยากเห็น พท.-ก.ก. จับมือกันเป็นรัฐบาล
ในขณะที่สุเทพเตือนคนไทยไม่ให้ลืมวีรกรรมในอดีตของระบอบทักษิณ ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร/ราษฎร” เมื่อปี 2563-2564 ได้เกิดปรากฏการณ์ “สลิ่มกลับใจ” มีอดีตแนวร่วม กปปส. ออกมาขอโทษสังคมที่เคยร่วม “เป่านกหวีด” แล้วนำไปสู่รัฐประหาร 2557 สะท้อนว่าค่านิยม-อุดมการณ์ทางการเมืองของผู้คนเปลี่ยนไปแล้วหรือไม่
“ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของพรรคก้าวไกล หรืออดีตพรรคอนาคตใหม่” สุเทพอธิบาย ก่อนขยายความว่า ตอนเปิดตัวพรรค อนค. ใหม่ ๆ ได้รับความสนใจจากประชาชนกลุ่มหนึ่งที่เห็นว่าพวกเขามีความคิดเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง แต่หลังจากนั้น มีการแสดงออกที่กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนและความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีไว้เพื่อปกป้องประมุขของชาติไม่ให้ถูกละเมิด และเป็นปกติในทุกประเทศที่มีกฎหมายไม่ให้ใครไปใส่ร้าย ใส่ความ หมิ่นประมาทประมุขประเทศ
“ผมไม่อยากเห็นพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลจับมือกันเป็นรัฐบาล สิ่งที่ผมจะทำได้ก็คือถ้าผมจะบอกกับพรรคพวกเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง คนที่ชอบพอกันได้ก็คืออย่าเลือก 2 พรรคนี้ เพราะผมกลัวประเทศจะเสียหาย ส่วนเลือกตั้งแล้ว ใครจะจับมือกับใคร ผมก็ได้แต่หวังว่าถ้าพวกเพื่อไทย ก้าวไกล ทำหน้าที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน แล้วให้คนที่เหลือเขาจัดตั้งรัฐบาลได้ อันนั้นน่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับประเทศในสายตาผม”
ผู้ก่อตั้งพรรครวมพลัง (ร.พ. – เปลี่ยนชื่อจากพรรครวมพลังประชาชาติไทย หรือ รปช.) ซึ่งประกาศตัวเป็น “พรรคพลเมืองที่เป็นพสกนิกรปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์” บอกว่า ไม่รังเกียจหากพรรคสีส้มจะได้รับการเลือกตั้ง-มีเสียงจำนวนหนึ่งในสภา-ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านอย่างเข้มแข็ง พร้อมเล่าว่าได้ติดตามการอภิปรายของ ส.ส.ก้าวไกล หลายคนพูดจาดี ทำให้นึกถึงพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในอดีต
“พรรคการเมืองนี้เหมาะจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านในสภา ประชาชนจะพึ่งพาได้ ถ้าให้มาเป็นรัฐบาล เป็นฝ่ายบริหาร น่ากังวลใจ ผมกลัวแกจะทะลุไปถึงไหนก็ไม่รู้ ทำให้ประเทศวุ่นวาย สร้างปัญหาใหม่ ๆ ที่เราอาจจะไม่เคยเจอมาก่อน” สมาชิกพรรค ร.พ. ซึ่งเป็นอดีตเลขาธิการ ปชป. กล่าว

ระบอบทักษิณ vs ระบอบประยุทธ์
ท่ามกลางบรรยากาศการต่อสู้อย่างเข้มข้นในสนามเลือกตั้ง “ลุงกำนัน” ขวัญใจชาว กปปส. ยังสนับสนุนให้ “ลุงตู่” พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ต่อไป ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็น “ผู้นำทางการเมืองที่สุจริต” และ “รักชาติ รักแผ่นดิน จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” ที่สำคัญคือ “มีศักยภาพในการต่อต้านระบอบทักษิณไม่ให้กลับมามีอำนาจอีก”
สุเทพเล่าถึงการมี “ประวัติศาสตร์ร่วมกัน” กับ พล.อ. ประยุทธ์ ในการต่อสู้กับฝ่ายทักษิณ อย่างน้อย 2 เหตุการณ์
- ช่วงชุมนุม นปช. ปี 2553 : สุเทพเป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ. – ต่อมามีการเปลี่ยนให้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม เป็น ผอ.ศอฉ.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ รอง ผบ.ทบ. เป็น ผช.ผอ.ศอฉ.
- ช่วงชุมนุม กปปส. 2557 : สุเทพเป็นเลขาธิการ กปปส. ส่วน พล.อ. ประยุทธ์เป็น ผบ.ทบ. และผู้นำรัฐประหาร โดยสุเทพระบุว่า “ถ้าท่านไม่ออกมายึดอำนาจ พวกเรามวลมหาประชาชนจะตายอีกสักกี่คน”
บทบาทที่ผ่านมา ทำให้สุเทพถูกมองเช่นกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “ระบอบประยุทธ์” ทว่าเจ้าตัวปฏิเสธแทนอดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าไม่ได้สร้างระบอบใด ๆ ขึ้นมา ในการเลือกตั้ง 2562 พล.อ. ประยุทธ์ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคใดและไม่ได้ทำพรรคเอง เพิ่งมาแสดงตัวชัดเจนว่าอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในการเลือกตั้งครั้งนี้

“ถ้า พล.อ. ประยุทธ์ไม่ได้ไปอยู่ พรรครวมไทยสร้างชาติก็คงไม่มีคะแนนนิยมอะไร วันนี้ถึง พล.อ. ประยุทธ์แสดงตัวว่าเป็นส่วนหนึ่งของรวมไทยสร้างชาติ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ก็ไม่ง่ายเท่าไรที่จะได้คะแนนการเลือกตั้ง” ชายวัยเลข 7 ผู้สั่งสมประสบการณ์การเมืองมาค่อนชีวิตยอมรับ
เมื่อถามว่า มีโอกาสหรือไม่ที่จุดจบทางการเมืองของหัวหน้าคณะรัฐประหาร 2557 จะซ้ำรอยหัวหน้าคณะรัฐประหาร 2549 พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ซึ่งเปิดตัวเป็นหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ (มภ.) และลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในศึกเลือกตั้งปี 2554 ปรากฏว่า มภ. ได้ ส.ส. เพียง 2 ที่นั่งเท่านั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ สุเทพปฏิเสธจะให้ความเห็น โดยบอกว่า “ผมไม่เปรียบเทียบ ขออนุญาตไม่วิจารณ์บิ๊กบัง (พล.อ. สนธิ) เดี๋ยวไปกระทบเขา” และขอพูดถึงเฉพาะ พล.อ. ประยุทธ์เท่านั้น ซึ่งเป็นคนที่เขา “ไว้วางใจมาก เชื่อว่าจะไม่ทำให้ประเทศวุ่นวาย ไม่ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน”
โซ่ข้อกลาง-ผู้นำขจัดความขัดแย้ง “เพ้อ”
หากชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยมยังมองเห็น-ยอมรับศักยภาพในตัว พล.อ. ประยุทธ์ แบบที่สุเทพเชื่อ ทำไมถึงเกิดปรากฏการณ์แยกพรรคของพี่น้อง 2 ป. และการเล่นบท “ผู้นำก้าวข้ามความขัดแย้ง” ของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคประชารัฐ (พปชร.)
“ไอ้นี่มันเฉพาะเรื่องของ พล.อ. ประยุทธ์ กับ พล.อ. ประวิตร เท่านั้นละ คนอื่นก็ไม่ได้แสดงความแตกแยกอะไร ก็เหมือนกันครับ พวกผมที่เคยอยู่พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้ก็แยกกันไปอยู่หลายพรรค พวกผมที่เคยมาต่อสู้ด้วยกันในการชุมนุมเดินขบวนของ กปปส. ก็แยกไปอยู่ 5-6 พรรคแล้ว อันนี้ผมไม่คิดว่าเป็นเรื่องของความแตกแยกนะ มันเป็นเรื่องความคิดทางการเมืองต่อสถานการณ์ในปัจจุบันว่าใครคิดว่าจะเดินทางไหน ทำอย่างไร เป็นอย่างนั้นเสียมากกว่า”

“ส่วนที่คุณได้พูดถึงคนพยายามทำตัวเป็น ‘กลุ่มอำนาจที่ 3’ เป็น ‘โซ่ข้อกลาง’ เป็น ‘ผู้ขจัดความขัดแย้ง’ มันเพ้อ ๆ ไปหน่อยนะสำหรับผม ผมเคยได้ยินตั้งแต่ พล.อ. ชวลิต (ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเสนอตัวเป็น ‘โซ่ข้อกลาง’ เชื่อมประสานคู่ขัดแย้งการเมืองหลังรัฐประหาร 2549) พูดครั้งแรกแล้ว ก็เห็นว่าเพ้อ ๆ ไป ไม่ค่อยเป็นจริง”
เมื่อมองจากมุมของสุเทพ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องระหว่างประชาชนผู้รักชาติกับระบอบทักษิณ ไม่ใช่ประชาชนกับประชาชน สิ่งที่ต้องทำคือจำกัดไม่ให้ระบอบทักษิณกลับมามีอำนาจอีก
“ไม่จำเป็นต้องอาศัยโซ่ข้อกลาง ไม่ต้องอาศัยมือใครขึ้นมาทำเป็นคนกลาง นี่ผมไม่พูดถึงว่าไอ้คนที่อาศัยว่าจะเป็นคนกลางน่าไว้ใจหรือเปล่านะ ไม่อยากจะพูด” เขากล่าวพลางหัวเราะในลำคอยาวนาน

นายกฯ ที่ถูกเลือก = นายกฯ ที่ประชาชนเลือก
ภาพการไม่เป็นเอกภาพของฝ่ายอนุรักษนิยม ทำให้เกิดคำถามว่า สัญญาณเรื่องการเป็น “นายกฯ ที่ถูกเลือก” เปลี่ยนแปลงไปแล้วหรือไม่
“คนอาจจะพยายามที่จะสร้างภาพให้คนเข้าใจผิด ๆ นะ แต่ผมคิดว่า ‘นายกฯ ที่ถูกเลือก’ คือนายกฯ ที่ประชาชนเลือก ไม่ใช่เรื่องอื่น เอาว่าวันที่ พล.อ. ประยุทธ์ยึดอำนาจ 22 พ.ค. 2557 วันนั้นประชาชนชอบใจนะ จะเรียกว่าประชาชนเป็นคนเลือกก็ได้ ถ้าวันนั้นประชาชนไม่มีความรู้สึกอย่างนั้น ผมคิดว่า พล.อ. ประยุทธ์ก็ไม่สามารถทำการยึดอำนาจได้สำเร็จ”
จากนั้นสุเทพได้ร่ายยาวถึง 8 ปีที่ พล.อ. ประยุทธ์ครองอำนาจ โดย 4 ปีแรก ไม่มีใครต่อต้าน ยกเว้นกลุ่มระบอบทักษิณ ส่วน 4 ปีต่อมา ประชาชนก็ยังชอบใจ แต่กับการเลือกตั้งรอบนี้ เขายอมรับว่าการอยู่ในตำแหน่งมานานคือจุดอ่อน
“โดยธรรมชาติอยู่นานไปก็น่าเบื่อ คนก็อาจจะรู้สึกเบื่อได้ แต่ผมก็คิดว่าในระหว่างนั้น หากยังไม่มีใครดีกว่า คนเก่าก็ยังทำได้… อยากให้ พล.อ. ประยุทธ์มาทำต่อ ไม่ว่าจะเป็นครึ่งสมัย สองปีก็ยังดี”
ปั้น “พรรค 5 เสียง” ไม่รู้สึกล้มเหลว
หลังแสดงทัศนะต่อคนการเมืองอื่น ๆ มามากแล้ว บีบีซีไทยชวนสุเทพ ผู้อยู่ในแวดวงการเมืองมา 4 ทศวรรษ ย้อนกลับมามองดูตัวเองบ้าง
การเลือกตั้ง 14 พ.ค. นี้ จะเป็นครั้งที่ 2 ที่อดีต ส.ส. 12 สมัย เลือกอยู่ “นอกสนาม” นับจากประกาศ “ไม่หวนกลับมาเล่นการเมืองอีกต่อไป” หลังจบภารกิจ กปปส.
4 ปีก่อน เขาเลือกเล่นบท “ขี้ข้าประชาชน” “กุนซือ” และ “โค้ช” ของผู้เล่นจากพรรค รปช. ที่เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเมื่อ 5 ปีก่อน และยังเป็นสมาชิกพรรคจนในปัจจุบัน แม้อดีต ส.ส. ทั้งหมดจะย้ายออกจากพรรคไปแล้วก็ตาม
ผลการเลือกตั้ง 2562 พบว่า รปช. ได้ ส.ส. เพียง 5 ที่นั่ง ผิด-พลาดจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 50 ที่นั่ง ทำให้บทบาทของสุเทพคล้ายเลือนหายไป แม้ รปช. ได้เป็น 1 ใน 19 พรรคร่วมรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” และได้ 1 เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) มารองก้นให้หัวหน้าพรรคก็ตาม

จากเคยมี “มวลมหาประชาชน” นับล้านเดินตามหลัง ในระหว่างเป็นผู้นำการประท้วง รปช. มีคะแนนมหาชนทั้งประเทศเพียง 416,234 เสียง แต่สุเทพไม่รู้สึกว่าเป็นความล้มเหลว
“เฉย ๆ นะ เพราะว่าในขณะที่ทำพรรครวมพลังประชาชาติไทย ผมก็เชียร์ พล.อ. ประยุทธ์เหมือนคนอื่น สนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์เหมือนคนอื่น” เขาพูดด้วยสีหน้าเรียบเฉย
ในทัศนะของสุเทพ อาจมีคนที่รักชอบในตัวเขา หรือมีความคิดเห็นการเมืองในแนวทางเดียวกัน แต่ตัดสินใจเลือก พปชร. ในการเลือกตั้ง 2562 เพราะหวังว่า พล.อ. ประยุทธ์จะมาเป็นผู้นำประเทศที่ต้านระบอบทักษิณได้ จึงไม่ใช่เรื่องที่คนไม่ชอบ รปช. หรือไม่เห็นด้วย ส่วนในการเลือกตั้ง 2566 แม้ ร.พ. ไม่ได้ต่อสู้อย่างเข้มข้นในสนามเลือกตั้ง แต่เขาก็ยังรักษาพรรคการเมืองนี้เอาไว้ ตามอุดมการณ์และอุดมคติเรื่องการทำการเมืองของประชาชนที่แท้จริง
“มันไม่ได้จบเท่านี้ล่ะครับ บ้านเมืองมันก็ต้องเดินหน้าต่อไป การทำงานการเมืองก็ยังต้องทำต่อไป” เขากล่าวทิ้งท้าย
https://www.youtube.com/watch?v=g7tXMuo9kQM
หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว