เลือกตั้ง 2566 : รวมจังหวัดพลิกล็อก ล้ม “บ้านใหญ่” และ “จังหวัดที่แพ้ไม่ได้”

การเลือกตั้ง 2566 เกิดปรากฏการณ์ล้ม “บ้านใหญ่” ตระกูลการเมืองที่ยึดครองจังหวัดมาอย่างยาวนาน และปรากฏการณ์ “ปักธงใหม่-ขยายเขตเดิม” ของพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้ง

ผลเลือกตั้งที่ จ. เชียงใหม่ นครราชสีมา สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง ภูเก็ต คือพื้นที่ที่เกิดปรากฏการณ์ “พลิกล็อก” ในการเลือกตั้งครั้งนี้

นอกจากนี้ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ยัง “ล้มช้าง” ได้ที่นั่ง ส.ส. ทุกเขตทั้งจังหวัด จากรายงานผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการใน 8 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ นนทบุรี ตราด จันทบุรี ระยอง และภูเก็ต

เพื่อไทย เสีย “เมืองหลวง” จ.เชียงใหม่ ก้าวไกล ปักธงส้มได้ 7 เขต

จ. เชียงใหม่ บ้านเกิดของสองอดีตนายกฯ ตระกูลชินวัตร ซึ่งถือเป็น “จังหวัดที่แพ้ไม่ได้” และ “ไม่เคยแพ้” ของพรรคฝ่ายทักษิณ นับจากตั้งพรรคไทยรักไทย (ทรท.) มาถึงพรรคพลังประชาชน (พปชร.) และพรรคเพื่อไทย (พท.) ถูกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ตีแตกทั้งสิ้น 7 เขต จากทั้งหมด 10 เขต

ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ 99% จาก กกต. ใน 10 เขตของ จ.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล สามารถล้ม ส.ส. เพื่อไทย เจ้าของพื้นที่เดิม ทั้งสิ้น 7 เขต ตามด้วย พรรคเพื่อไทย 2 เขต และพลังประชารัฐ 1 เขต

นี่ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี ที่พรรคฝ่าย ทักษิณ ชินวัตร ที่ชนะเลือกตั้งใน จ.เชียงใหม่ ยกจังหวัด ต้องเสียที่นั่งในจังหวัดนี้ เพราะนับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2544 จนถึงปี 2562 พรรคการเมืองของ “ชินวัตร” คว้าที่นั่ง ส.ส. ได้ทุกเขตยกจังหวัด มีเพียงการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ที่อดีตพรรคอนาคตใหม่ได้ที่นั่งมา 1 ที่ในเขต 8

หากดูเฉพาะเขต 3 เขตบ้านเกิดของอดีตนายกฯ ทักษิณ และ ยิ่งลักษณ์ ที่ อ. สันกำแพง ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล จากพรรคก้าวไกล เอาชนะ ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งโยกมาจากเขต 1 ชนิดห่างกันเกือบ 4,000 คะแนน

สำหรับพรรคเพื่อไทย 2 เขต ที่ยังเหลือรอดมาได้ ได้แก่ เขต 5 จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และเขต 10 ศรีโสภา โกฏคำลือ

ส่วนเขตที่พลังประชารัฐได้ที่นั่ง คือ เชียงใหม่ เขต 9 นเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คนใกล้ชิด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เอาชนะ สุรพล เกียรติไชยากร อดีต ส.ส.เชียงใหม่ 8 สมัย จากพรรคเพื่อไทย โดยผลคะแนนห่างกันราว 4,000 คะแนน

ิbbc

BBC

ก้าวไกล ล้ม “บ้านใหญ่” จ.สมุทรปราการ กวาด 8 เขต ทั้งจังหวัด

ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ 99% จาก กกต. จ.สมุทรปราการ 8 เขต พรรคก้าวไกล กวาดที่นั่ง ส.ส. ยกจังหวัด

ถือเป็นอีกจังหวัดที่ผลคะแนนเกิดการพลิกล็อก หลังจาก “บ้านใหญ่” จ. สมุทรปราการ ของตระกูลการเมือง “อัศวเหม” สูญเสีย ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม แกนนำใหญ่ก่อนการเลือกตั้ง ผู้สมัครจากเครือข่ายของอัศวเหม ในนาม พปชร. สอบตกทุกเขต รวมถึงนายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก พปชร. เขต 8 ที่จบคะแนนได้เพียงอันดับ 3

หากนับเฉพาะผู้สมัครนามสกุลอัศวเหมที่สอบตก มีจำนวน 3 เขต ได้แก่ อัครวัฒน์ อัศวเหม (เขต 1) วรพร อัศวเหม (เขต 4) ต่อศักดิ์ อัศวเหม (เขต 7)

ก้าวไกล ล้ม “บ้านใหญ่” จ.ชลบุรี งูเห่าอดีตอนาคตใหม่ สอบตก 2 เขต

ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ 98% จาก กกต. ใน 10 เขตของ จ. ชลบุรี พรรคก้าวไกล คว้า 7 เขต จากทั้งสิ้น 10 เขต

ในการเลือกตั้ง 2566 ชลบุรี มีเขตเลือกตั้งเพิ่มจาก 8 เป็น 10 เขต ผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ส.ส. จังหวัดภาคตะวันออกแห่งนี้ เป็นการแบ่งที่นั่งระหว่างพรรคพลังประชารัฐ 5 เขต และอดีตพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) 3 เขต ทว่าอดีต ส.ส. อนค. กลายเป็น “งูเห่า” ย้ายขั้วไปอยู่ฝ่ายรัฐบาล 2 คน

พรรคก้าวไกล คว้า 7 เขต จากทั้งสิ้น 10 เขต ขณะที่พรรคการเมือง “บ้านใหญ่” และ “บ้านใหม่” ทั้ง “คุณปลื้ม” และ “ชมกลิ่น” หลงเหลือแค่พรรคละ 1 เขต

พรรครวมไทยสร้างชาติ , เพื่อไทย และพลังประชารัฐ ได้พรรคละ 1 ที่นั่ง

สำหรับ จรัส คุ้มไข่น้ำ ส.ส. อดีตพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งยังคงอยู่กับก้าวไกล รักษาที่นั่ง ส.ส. เอาไว้ได้ในเขต 8

ส่วนเขตเลือกตั้งของ “งูเห่า” อดีตพรรคอนาคตใหม่ 2 เขต ที่ย้ายไปอยู่ฝ่ายรัฐบาลต่าง “สอบตก” และพ่ายให้กับพรรคก้าวไกล ได้แก่

  • ขวัญเลิศ พานิชมาท ซึ่งย้ายสังกัดไปอยู่พรรคภูมิใจไทย สอบตกที่เขต 6 จบคะแนนได้เพียงอันดับ 4
  • กวินนาถ ตาคีย์ ซึ่งย้ายสังกัดไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ สอบตกที่เขต 9 จบคะแนนที่อันดับ 4 เช่นกัน
ิbbc

BBC

พลังประชารัฐ สูญพันธุ์โคราช

จ. นครราชสีมา ที่มีจำนวน ส.ส. ได้มากที่สุดของภาคอีสาน จำนวน 16 เขต เพิ่มจากเลือกตั้งปี 2562 ที่มี 14 เขต

ผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. ถือเป็นการสอบตกยกจังหวัดของตระกูล “รัตนเศรษฐ” ตระกูลการเมืองในโคราช ซึ่งสังกัดพรรคพลังประชารัฐ จากเดิมที่มีที่นั่งในเมืองย่าโมถึง 6 เขต (จาก 14 เขต เมื่อปี 2562)

สำหรับปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในสมรภูมิโคราชรอบนี้

  • พลังประชารัฐ สูญพันธุ์ในโคราช จากเดิมที่มี ส.ส. 6 คน และเป็นการพ่ายแพ้ของนักการเมืองนามสกุล “รัตนเศรษฐ” 3 คน ในจังหวัด และรวมถึงนายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้า และแกนนำคนสำคัญของ พปชร. เป็นหัวเรือ ที่คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ไปไม่ถึงลำดับที่ 9 และนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ ซึ่งอยู่ปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 4
  • เพื่อไทย ได้ ส.ส. ทั้งหมด 12 เขต จากเดิมมีอยู่ 4 เขต
  • ก้าวไกล คว้า 3 ที่นั่ง ในเขต 1-3 เอาชนะผู้สมัครจากพรรคชาติพัฒนากล้าของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ “บ้านใหญ่” เดิมของโคราช

เขต 1 ฉัตร สุภัทรวณิชย์ พรรคก้าวไกล ชนะอันดับสอง เทวัญ ลิปตพัลลภ พรรคชาติพัฒนากล้า

เขต 2 ปิยชาติ รุจิพรวศิน พรรคก้าวไกล ชนะอันดับสอง วัชรพล โตมรศักดิ์ พรรคชาติพัฒนากล้า

เขต 3 ศุทธสิทธิ์ พจน์ฐศักดิ์ พรรคก้าวไกล ชนะอันดับสอง สมศักดิ์ กาญจนวัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า

bbc

BBC

ก้าวไกล ปักธงส้มแดนใต้กวาด ส.ส. ภูเก็ต ยกจังหวัด

ผลการเลือกตั้งที่ จ. ภูเก็ต ซึ่งมี ส.ส. ได้ 3 เขต ถือเป็นการปักธงของพรรคก้าวไกล ครั้งแรกในชนิดที่ “ยกจังหวัด” เป็นจังหวัดหนึ่งเดียวในภาคใต้

หากดูผลเลือกตั้งในจังหวัดภาคใต้ 60 เขต นำด้วยชัยชนะของพรรคประชาธิปัตย์ 17 ที่นั่ง, รวมไทยสร้างชาติ 14 ที่นั่ง ภูมิใจไทย 12 ที่นั่ง พลังประชารัฐ 7 ที่นั่ง และประชาชาติ 7 ที่นั่ง

ในการเลือกตั้งปี 2562 ภูเก็ต มีจำนวนที่นั่ง ส.ส. 2 เขต โดยพลังประชารัฐ โค่นแชมป์เก่าประชาธิปัตย์ได้ทั้งหมด ส่วนการเลือกตั้งปี 2566 ได้เก้าอี้ ส.ส. เพิ่มมาเป็น 3 เขต

ชะตากรรมของ ส.ส. พลังประชารัฐ เจ้าของพื้นที่เดิม 2 คน พ่ายแพ้ห่างหลายอันดับ ได้แก่ เขต 2 สุทา ประทีป หล่นไปอยู่อันดับ 7 ส่วนเขต 3 นัทธี ถิ่นสาคู หล่นไปอยู่อันดับที่ 6

bbc

BBC

เมืองนนท์ ปทุมฯ และ 3 สมุทร “สีส้ม”

จังหวัดปริมณฑลรอบกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล มาแรงกวาดที่นั่งยกจังหวัดใน จ.นนทบุรี (8 เขต) สมุทรปราการ (8 เขต) สมุทรสงคราม (3 เขต) และสมุทรสาคร (1 เขต)

ส่วน จ. ปทุมธานี 7 เขต เหลือให้เพื่อไทย 1 ที่นั่ง ขณะที่พรรคก้าวไกลกวาดไปทั้งสิ้น 6 ที่นั่ง รวมทั้งเขตอดีต “งูเห่า” ที่ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมประชาธิปไตย มาลงสมัครทวงคืนเก้าอี้พรรค “ส้ม” เอาชนะอดีต “งูเห่า” อย่าง อนาวิล รัตนสถาพร ที่ย้ายไปอยู่ภูมิใจไทย (ภท.) ที่มีคนกาเลือกมาเป็นอันดับสาม

ส่วนที่ จ.นนทบุรี ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นฐานใหญ่ของมวลชนกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง เมื่อการเลือกตั้ง 2562 เพื่อไทย (พท.) คว้า ส.ส. มา 5 ที่นั่งจาก 6 เขตเลือกตั้ง แบ่งให้พรรคพลังประชารัฐในเขตเลือกตั้งที่ 1

แต่ครั้งนี้ นับเป็นการพ่ายแพ้ในทุกเขตของพรรคเพื่อไทย

บ้านใหญ่ “ปิตุเตชะ” สอบตกยกจังหวัดที่ จ. ระยอง

5 เขตของ จ.ระยอง แห่งภาคตะวันออก ซึ่งมีบ้านใหญ่ “ปิตุเตชะ” ของพรรคประชาธิปัตย์ ยึดครองมาอย่างยาวนาน ถูกยึดพื้นที่ใหม่ด้วยผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล

นี่เป็นการพ่ายแพ้แบบยกจังหวัดของ “ปิตุเตชะ” ที่ส่งคนนามสกุลเดียวกันลง 4 เขต รวมทั้ง สาธิต ปิตุเตชะ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่แพ้ให้กับก้าวไกลในเขต 2 คะแนนทิ้งห่างเกินกว่า 10,000 คะแนน

ส่วนบัญญัติ เจตนจันทร์ ปชป. ระยอง เขต 3 ก็สอบไม่ผ่าน จบได้เพียงอันดับสาม

bbc

BBC

จันทบุรี ก้าวไกล รักษาที่นั่งเดิม ยึดคืนเขต “งูเห่า”

เมื่อปี 2562 ทั้ง 3 เขต ของ จ.จันทบุรี อดีตพรรคอนาคตใหม่ กวาดทั้งหมด แต่มี 2 ส.ส. คือ นายจารึก ศรีอ่อน และ พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ถูกขับออกจากพรรค หลังมีพฤติกรรมโหวตสวนมติพรรคในเรื่องพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์

ครั้งนี้พรรคก้าวไกล กลับมายึดครองพื้นที่ จ.จันทบุรี ทั้งหมดอีกครั้ง โดยที่อดีต “งูเห่า” 2 เขต สอบตก

ขณะที่ ญาณธิชา บัวเผื่อน ส.ส. ก้าวไกล จันทบุรี เขต 3 ยังรักษาแชมป์ไว้ได้

นอกจากนี้ “จังหวัดที่แพ้ไม่ได้” ที่พ่ายยับ ยังเกิดขึ้นที่ จ.ตรัง เขต 2 สาทิตย์ วงศ์หนองเตย จากพรรคประชาธิปัตย์ พ่ายให้กับผู้สมัครจากพลังประชารัฐ

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว