พบวิธีสะกดให้หนูหลับจำศีล ชี้เป็นก้าวแรกพามนุษย์ท่องห้วงอวกาศลึก

NASA / SPACEWORKS ภาพจากจินตนาการของศิลปิน แสดงการนอนหลับจำศีลระยะสั้นระหว่างเดินทางสู่ดาวอังคาร

แม้นวนิยายและภาพยนตร์แนวไซ-ไฟ มักแสดงให้เห็นภาพของมนุษย์อวกาศที่นอนหลับในแคปซูลเพื่อจำศีล (hibernation) ระหว่างการเดินทางแสนยาวนานนับร้อยปีสู่ห้วงอวกาศลึก แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรายังไม่สามารถคิดค้นวิธีเหนี่ยวนำให้ร่างกายมนุษย์เกิดการหลับจำศีลเพื่อประหยัดพลังงานได้

แต่ล่าสุด ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ (biomedical engineering) จากมหาวิทยาลัยวอชิงตันของสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการใช้คลื่นอัลตราซาวด์เข้าสะกดการทำงานของสมองหนูทดลอง จนร่างกายของพวกมันเข้าสู่ภาวะเฉื่อยชาเหมือนจำศีลได้ ซึ่งนี่อาจเป็นก้าวแรกในการนำเทคนิคดังกล่าวไปช่วยชีวิตผู้ป่วยวิกฤต หรือสนับสนุนการนำพามนุษย์ออกไปท่องเที่ยวในห้วงอวกาศอันไกลโพ้น

ทีมผู้วิจัยตีพิมพ์รายงานการค้นพบดังกล่าวในวารสาร Nature Metabolism ฉบับวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุว่าได้ยิงคลื่นอัลตราซาวด์ไปที่สมองส่วนไฮโปทาลามัส ซึ่งเป็นบริเวณทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิร่างกาย ระบบเผาผลาญ และการนอนหลับของหนูทดลอง ทำให้อุณหภูมิร่างกายของพวกมันลดลงได้สูงสุดถึง 3.5 องศาเซลเซียสในทันที ทั้งอัตราการเต้นของหัวใจก็ช้าลง และอัตราการใช้ออกซิเจนก็ลดลงอย่างมาก

รศ.ดร. หง เฉิน ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า “หากวิธีการนี้สามารถนำไปใช้กับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย มันจะมีศักยภาพอย่างสูงในการประยุกต์ใช้งานด้านอวกาศและในทางการแพทย์ เพื่อให้ร่างกายของคนไข้หยุดทำงานชั่วคราวและขยายช่วงเวลาสำคัญที่แพทย์จะสามารถเข้าช่วยชีวิตผู้ป่วยวิกฤตได้สำเร็จให้มีเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่นในกรณีของผู้ที่หลอดเลือดสมองตีบหรือแตก หรือหัวใจวายเฉียบพลัน”

ตามปกติแล้ว การนอนหลับจำศีลพบได้ในนก ปลา แมลง สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิด อย่างเช่นหมี ค้างคาว หรือไพรเมตบางสายพันธุ์ เมื่ออากาศหนาวเย็นลงและเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร โดยร่างกายจะมีการเผาผลาญใช้พลังงานน้อยลงมาก เลือดจะไหลเวียนช้าลง อัตราการเต้นของหัวใจลดลงเหลือเพียงไม่กี่ครั้งต่อนาที และอาจหายใจเข้าออกเพียงครั้งเดียวในสิบนาที ซึ่งทำให้สัตว์เหล่านี้อยู่รอดได้จนผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบาก

การนอนหลับจำศีลพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิด อย่างเช่นหมี ค้างคาว หรือไพรเมตบางสายพันธุ์

Getty Images
การนอนหลับจำศีลพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิด อย่างเช่นหมี ค้างคาว หรือไพรเมตบางสายพันธุ์

ทีมวิจัยของ ดร. เฉิน ได้ประดิษฐ์หมวกขนาดเล็กที่สามารถปล่อยคลื่นอัลตราซาวด์ได้ แล้วนำไปสวมให้หนูทดลองจำนวนหนึ่ง ก่อนจะเปิดสวิตช์ยิงคลื่นดังกล่าวไปที่สมองเป็นระยะ จนทำให้พวกมันเซื่องซึมเฉื่อยชาและกินอาหารน้อยลง โดยสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะจำศีลเทียม ซึ่งคล้ายกับการจำศีลในธรรมชาติได้นานถึง 24 ชั่วโมง โดยหนูทดลองไม่เป็นอันตรายหรือแสดงสัญญาณของอาการเจ็บปวดออกมา

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปอีก เพื่อให้เข้าใจถึงกลไกการทำงานของภาวะจำศีลอย่างถ่องแท้ก่อนจะนำไปใช้กับมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาเหตุที่เหนี่ยวนำให้เกิดการจำศีลเทียมในหนูทดลองครั้งนี้ เกิดจากช่องทางขนส่งแลกเปลี่ยนไอออนบางส่วนในเซลล์สมองถูกยับยั้งเอาไว้ ซึ่งถือว่าแตกต่างจากกลไกการเกิดภาวะจำศีลในธรรมชาติ ที่มีความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและสารเคมีในระดับโมเลกุลอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว