กลุ่มชาติร่ำรวย 7 ประเทศเปิดตัวโครงการเพื่อโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนคานอิทธิพลของจีน

Getty Images

ผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก หรือ จี 7 (G7) เปิดเผยรายละเอียดการระดมทุนเพื่อดำเนินโครงการช่วยเหลือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของโลก ซึ่งถูกมองว่าเป็นคู่แข่งกับโครงการเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 หรือ โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt & Road Initiative หรือ BRI) ของจีนที่ถูกกล่าวหาว่ากำลังทำให้ชาติยากจนมีหนี้สินล้นพ้นตัว

โครงการความเป็นหุ้นส่วนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนโลก (Partnership for Global Infrastructure and Investment หรือ PGII) ต่อยอดมาจากแผน “สร้างโลกที่ดีกว่าขึ้นมาใหม่” (Build Back Better World หรือ B3W) ซึ่งกลุ่มผู้นำจี 7 ประกาศในการประชุมสุดยอดที่อังกฤษเมื่อปีที่แล้ว

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ระบุว่า โครงการนี้ไม่ใช่โครงการความช่วยเหลือหรือการกุศล แต่เป็นโครงการลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนแก่ทุกคน โดยจะเปิดโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ ได้เห็นถึงประโยชน์ที่รูปธรรมจากการเป็นหุ้นส่วนกับชาติประชาธิปไตย

โครงการนี้เรียกร้องให้ผู้นำกลุ่มจี 7 ช่วยกันระดมเงินทุน 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 21 ล้านล้านบาท) ภายในระยะเวลา 5 ปี เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ

สหรัฐฯ ให้คำมั่นจะระดมทุนให้ได้ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7 ล้านล้านบาท) ผ่านเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ, งบประมาณจากรัฐบาลกลาง และการลงทุนภาคเอกชน ส่วนสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศจะระดมทุนให้ได้ 3 แสนล้านยูโร (ราว 11 ล้านล้านบาท)

Leaders of the G7 group of nations are officially coming together under the motto: "progress towards an equitable world" and will discuss global issues including war, climate change, hunger, poverty and health

ที่มาของภาพ, Getty Images

โครงการนี้มีเป้าหมายสำคัญในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การยกระดับระบบสาธารณสุขโลก การสร้างความเสมอภาคทางเพศ และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล

ตัวอย่างของโครงการนี้ เช่น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในแองโกลา การสร้างโรงงานผลิตวัคซีนในเซเนกัล รวมทั้งโครงการเคเบิลใต้น้ำระยะทาง 1,609 กม.ที่เชื่อมต่อการสื่อสารโทรคมนาคมระหว่างสิงคโปร์กับฝรั่งเศสผ่านทางอียิปต์และจะงอยแอฟริกา

คานอำนาจจีน

โครงการนี้มีขึ้นเพื่อแข่งขันกับโครงการ BRI ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเปิดตัวในปี 2013 โดยมีเป้าหมายในการสนับสนุนเงินกู้แก่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เพื่อใช้ในการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ท่าเรือ ถนนหนทาง และสะพาน

จีนต้องการเพิ่มการเชื่อมโยงกับตลาดโลก

ที่มาของภาพ, AFP

แม้ BRI จะช่วยพัฒนาการเชื่อมโยงเส้นทางการค้า แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่า เป็นโครงการที่สร้างกับดักหนี้ ทำให้ชาติยากจนมีหนี้สินล้นพ้นตัว ส่งผลให้ประเทศเหล่านี้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของจีน หากไม่สามารถชำระเงินกู้คืนได้

นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่า เป้าหมายของโครงการ PGII คือการแสดงให้เห็นถึง “การกระตุ้นการลงทุนเชิงบวกในโลก” เพื่อทำให้บรรดาหุ้นส่วนในประเทศกำลังพัฒนาได้เห็นว่าพวกเขามีทางเลือก

เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 คืออะไร

ประธานาธิบดีสี ได้เปิดเผยถึงแนวคิดในการสร้างเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 เป็นครั้งแรกในปี 2013 โดยมีเป้าหมายในการขยายการเชื่อมโยงทางการค้าระหว่างทวีปเอเชีย แอฟริกา ยุโรป และไกลกว่านั้น

โปรดเปิดการใช้งาน JavaScript หรือบราวเซอร์ต่างออกไป เพื่ดูเนื้อหานี้

โครงการที่ว่านี้ประกอบด้วย เส้นทางสายไหมทางบก คือถนนและทางรถไฟจากจีนมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก และเส้นทางสายไหมทางทะเล คือเส้นทางทางทะเลจากจีนมุ่งหน้าลงใต้แล้วเข้าสู่ทิศตะวันตก เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางการค้าใน 3 ทวีป

อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิจารณ์ว่า BRI เป็นช่องทางให้จีนปล่อยเงินกู้อย่างเอารัดเอาเปรียบ เพราะจะบีบให้ประเทศลูกหนี้ต้องยอมยกทรัพย์สินสำคัญให้แก่จีน หากไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ได้

กรณีที่เกิดขึ้นกับศรีลังกาคือตัวอย่างหนึ่งที่ผู้วิจารณ์บอกว่าจีนสร้างกับดักหนี้เพื่อเข้าไปมีอิทธิพลในประเทศ

หลายปีก่อนหน้านี้ จีนเข้าไปลงทุนในโครงการท่าเรือขนาดใหญ่ที่เมืองแฮมบันโตตา

โครงการมูลค่าหลายพันล้านซึ่งอาศัยเงินกู้และผู้รับเหมาจากจีนเผชิญอุปสรรคจนศรีลังกามีหนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุด รัฐบาลศรีลังกาก็ตกลงให้บริษัทของทางการจีนจะได้สิทธิเช่าท่าเรือนาน 99 ปี เพื่อแลกกับการลงทุนจากจีนต่อ

นอกจากกรณีของศรีลังกาแล้ว มีกรณีที่จีนให้ชาติอื่น ๆ กู้เงินพร้อมสัญญาที่เปิดช่องทางให้จีนมีความได้เปรียบที่จะได้ผลประโยชน์จากสินทรัพย์ของประเทศเหล่านั้นได้อีกมากมาย

อย่างไรก็ดี จากการศึกษาหลายร้อยกรณีโดยเอดดาตา (AidData) ศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัยวิลเลียมแอนด์แมรี (William & Mary) ในสหรัฐฯ ยังไม่พบว่าบริษัทหรือสถาบันให้กู้เงินที่ทางการจีนเป็นเจ้าของ เข้าไปยึดครองสินทรัพย์ของประเทศนั้นจริง ๆ เวลาผิดนัดชำระหนี้

……..

ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว