โควิด : ศบค. วอนวัยรุ่นและผู้สูงวัยรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ชี้ป้องกันป่วยหนักได้ผลดี

เมื่อ 7 นาทีที่ผ่านมา

ผู้หญิงคนหนึ่งกำลังได้รับวัคซีน

ที่มาของภาพ, Getty Images

แม้ทีมสาธารณสุขไทยกำลังเดินหน้าลดลดระดับให้โควิด-19 เข้าสู่สถานะโรคประจำถิ่น ทว่าการระบาดรอบล่าสุดจนต้องมีการปิดโรงเรียนและกลับไปสอนออนไลน์ทำให้สังคมผวาไม่น้อย

ยิ่งเมื่อมีการเปิดประเทศอีกครั้ง การวางแผนรับมือจึงต้องระมัดระวังมากขึ้น

เมื่อ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้คำจำกัดความว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเป็นแบบ “ระลอกเล็ก ๆ” แต่ย้ำว่าให้ทุกฝ่ายเตรียมพร้อม โดยขอให้เร่งการเดินหน้าฉีดวัคซีนเข้มกระตุ้น

ล่าสุด 8 ก.ค. ไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 2,144 ราย และมีผู้เสียชีวิต 20 คน

กลุ่มเสี่ยง: ผู้สูงอายุและเด็ก

ในแถลงสถานการณ์โควิด-19 เมื่อ 8 ก.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ชี้ว่า สัดส่วนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ที่มีอายุระหว่าง 12-17 ปี มีความน่ากังวล

โดยตัวเลขผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนเข็มที่สามมีเพียง 47.1% ของตัวเลขผู้สูงอายุทั้งหมด ขณะที่ฝั่งนักเรียนซึ่งได้รับเข็มกระตุ้นมีเพียงแค่ 20.5% เท่านั้น

แม้ นพ.ทวีศิลป์ ถ่ายทอดคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งนั่งเป็นประธานการประชุมฯ ว่า “วัคซีนถือเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของไทยในการเอาชนะหรือพยายามอยู่กับโควิดให้ได้” ทว่าโฆษก ศคบ. ยอมรับว่า “การฉีดวัคซีนยังไปไม่ถึงเป้าหมาย”

นพ.ทวีศิลป์ เปิดเผยผลสำรวจสาเหตุที่ประชาชนไม่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นซึ่งจัดทำโดยกรมควบคุมโรค พบว่า 34.8% ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าพวกเขาฉีดวัคซีนเพียงพอแล้ว ขณะที่อีก 20.5% กำลังรอเข้ารับการฉีดวัคซีนอยู่

พยาบาล

ที่มาของภาพ, Getty Images

อย่างไรก็ดี มีผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 20% ที่ชี้ว่าพวกเขากลัวอันตรายจากการฉีดเข็มกระตุ้น

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามเกินกว่าครึ่งหนึ่ง หรือเกือบ 70% ชี้ว่าพวกเขาไม่แน่ใจหรือคิดว่าจะไม่ฉีดเข็มกระตุ้น

เมื่อถามต่อว่าต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างไร เกินครึ่ง หรือ 57.6% ตอบว่าอยากให้มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่บ้าน/ใกล้บ้าน ขณะที่อีก 41.1% อยากมั่นใจว่าพวกเขาจะรับการเยียวยาหากเกิดผลข้างเคียง

กราฟฟิค

ที่มาของภาพ, กรมควบคุมโรค

สำหรับแผนการฉีดวัคซีนนั้น นพ.ทวีศิลป์ ขอให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และกลุ่มนักเรียนวัน 12-17 ปี ออกไปฉีดไปวัคซีนเข้มกระตุ้น

“อยากให้ประชาชนช่วยกันเปลี่ยนแปลงกลุ่มที่ไม่อยากฉีด ให้มาฉีดกันมากขึ้น เพื่อรักษาชีวิตของคนไทยให้ได้มากที่สุด”

ประสบการณ์ รมว. สธ.

เมื่อ 10 มิ.ย. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว. สธ.) ใช้เวทีงาน “มหกรรม 360 องศา ปลดล็อคกัญชา ประชาชนได้ประโยชน์อะไร” ที่ร่วมจัดโดย สธ. และจังหวัดบุรีรัมย์ ประกาศความสำเร็จของพรรคภูมิใจไทย ในการปลดล็อกการปลูกและการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์และสุขภาพระหว่างการปราศรัย พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนให้ไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นป้องกันโควิด-19

“วัคซีนพี่น้องต้องฉีด เข็มหนึ่ง ดึงเข็มสอง ส่องเข็มสาม ตามเข็มสี่ ตีเข็มห้า คว้าเข็มหก ชกเข็มเจ็ด เด็ดเข็มแปด แผดเข็มเก้า ฉีดไปให้เต็มตัว ให้โควิดทำอะไรเราไม่ได้” เขากล่าวด้วยความสนุกสนาน และเสริมว่าตัวเขาฉีดแล้ว 5 เข็ม

ต่อมา 28 มิ.ย. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า นายอนุทิน มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและระคายคอ ภายหลังเดินทางกลับจากการนำคณะผู้แทนชาวไทย เข้าร่วมประชุมสามัญประจำปีของสำนักงานองค์การนิทรรศการนานาชาติที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส เมื่อ 19-21 มิ.ย. เมื่อตรวจเอทีเคพบว่ามีผลเป็นบวก ⁣ จากการสอบสวนโรคคาดว่า ได้รับเชื้อระหว่างการไปปฏิบัติภารกิจ แพทย์สั่งแยกตัว 1 สัปดาห์ โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ส่วนผู้ที่ร่วมคณะเดินทาง นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่าหลายคนพ้นระยะกักตัวเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่ยังอยู่ในระยะที่ต้องเฝ้าสังเกต ขณะนี้ตรวจแล้วก็ยังไม่มีใครติดเชื้อ

นายอนุทิน เพิ่งเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 เข็มที่ 6 คือ ไฟเซอร์ ไปเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. หลังจากรับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม และไฟเซอร์ 1 เข็ม

ทำไมต้องฉีดเข็มกระตุ้น

สถิติจากกระทรวงสาธารณสุขไทยที่ศึกษาข้อมูลจากประชากร 5 แสนราย พบว่า ประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีน 2 เข็ม นับว่าป้องกันการติดชื้อ “น้อยมาก” และป้องกันการป่วยหนักจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตได้ราว 75%

ขณะที่การฉีดวัคซีน 3 เข็ม ช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ราว 15% แต่สามารถป้องกันการป่วยหนักจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจหรือเสียชีวิตได้ถึง 93% โดย สธ.เสริมว่า “ทุกสูตร [การฉีด] ป้องกันได้ใกล้เคียงกัน”

นอกจากนี้ สถิติของผู้ฉีดวัคซีน 4 เข็ม ชี้ว่า สามารถลดการติดเชื้อได้ถึง 76% และลดการป่วยหนักจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตได้ถึง 96%

ข้อมูลปัจจุบันยังไม่พบผู้เสียชีวิตในกลุ่มที่ฉีดวัคซีน 4 เข็ม

คลังวัคซีน

นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า ปัจจุบันนี้ไทยมีวัคซีนเพียงพออย่างแน่นอน โดยมีวัคซีนที่ได้รับมอบแล้วทั้งสิ้น 169.76 ล้านโดน ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นวัคซีนที่รัฐบาลจัดซื้อมา 156.04 ล้านโดส และวัคซีนบริจาคอีก 13.72 ล้านโดส

สำหรับวัคซีนที่ผ่านการจัดซื้อของรัฐบาล ได้แก่

  • วัคซีนซิโนแวค จำนวน 30.5 ล้านโดส
  • วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 69.35 ล้านโดส
  • วัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 56.19 ล้านโดส

LAAB คืออะไร

นอกจากแถลงตัวเลขจำนวนวัคซีนที่ได้รับมอบแล้ว ลงลึกในฝั่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า นพ.ทวีศิลป์ ชี้ว่าจะมีการเปลี่ยนวัคซีนจำนวน 257,500 โดส เป็น ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ ที่เรียกว่า Long-acting antibody: LAAB ด้วยกรอบวงเงิน 7,500 ล้านบาท

บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า อธิบายว่า ประชากรทั่วโลกจำนวนหนึ่ง แม้จะได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว (2 เข็ม) ก็ยังมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 อยู่ดี เนื่องจากพวกเขามีภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองต่อวัคซีนได้ไม่ดีนัก

โดยเมเน แพนกาลอส รองประธานบริหารฝ่ายวิจัยและพัฒนาด้านยาชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals) ของแอสตร้าเซนเนก้า กล่าวว่า การใช้ยา Evusheld ซึ่งเกิดจากแอนติบอดี 2 ชนิด คือ tixagevimab และ cilgavimab “เพียงโดสเดียว…สามารถลบล้างเชื้อ SARs-CoV-2 สายพันธุ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบันได้”

นอกจากนี้ยา Evusheld ยังมีเทคโนโลยีที่สามารถเพิ่มความยืนยาวของแอนติบอดีได้จากระดับทั่วไป โดยมี “ประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อที่ยาวนานอย่างน้อย 6 เดือน”

ก่อนหน้านี้ นพ.โอภาค การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้ว่า แนวทางในการใช้ยา Evusheld สามารถใช้ได้ในกลุ่มผู้ใหญ่และวัยรุ่นที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ที่มีน้ำหนักตัวอย่างน้อย 40 กิโลกรัม

และยังใช้ได้กับผู้ป่วยซึ่งมีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกัน คือผู้ป่วยโรคไต ผู้เปลี่ยนไต ฟอกไต

การฉีด Evusheld จะฉีดเข้ากล้ามเนื้อสะโพกทั้งสองข้าง ในปริมาณข้างละ 1.5 มิลลิลิตร