เรือดำน้ำจีน : เส้นตาย 9 ส.ค. จีนหาเครื่องยนต์จากไหนมาใส่ S26T ให้ไทย

CSOC

นับถึงเดือน ก.ค. 2565 China Shipbuding & Offshore International Co. Ltd. หรือ CSOC บริษัทต่อเรือของจีนยังไม่สามารถหาเครื่องยนต์ MTU369 จากประเทศเยอรมนี มาติดตั้งในเรือดำน้ำ S26T ให้กองทัพเรือ (ทร.) ไทย ได้ตามข้อตกลง ซึ่ง ทร. ไทยยืนยันว่าจะไม่รับข้อเสนอใช้เครื่องยนต์จีนมาติดตั้งแทน

CSOC มีเวลาถึง 9 ส.ค. ศกนี้ ในการเสนอทางออกใหม่ เมื่อยังไม่ถึงวันนั้นอาจพูดได้ว่าโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ที่รัฐบาลมองว่าเป็นของดีราคาถูกยังเป็นโครงการที่คลุมเครือ

ย้อนรอยก่อนคว้า S26T

ก่อนที่กองทัพเรือจะตกลงสั่งซื้อเรือดำน้ำ S26T จากจีน มีแรงต้านจากคนในกองทัพเรืออยู่ไม่น้อย เพราะภาพจำในอดีตเกี่ยวกับอาวุธที่ผลิตจากจีน ที่มีปัญหาทั้งเรื่องอะไหล่ การซ่อมบำรุง อย่างรถถัง T-69 ที่สุดท้ายต้องเอาไปทิ้งทะเลเป็นแนวปะการัง และเมื่อมาถึงเรือดำน้ำที่จะต้องใช้ปฏิบัติการใต้ทะเลลึก เรื่องความปลอดภัยจึงเป็นประเด็นสำคัญเนื่องจากกำลังพลต้องแบกรับความเสี่ยง แต่เมื่อพิจารณาแนวทางโครงการที่จีนยอมให้ส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยเข้าไปประกบระหว่างต่อเรือได้ กองทัพเรือจึงฟันธงเลือกเรือดำน้ำจีน

จากประสบการณ์ในอดีตที่กองทัพเคยถูกตัดงบประมาณ ทำให้รู้ว่าการได้เรือดำน้ำจีน “ยังดีกว่าไม่ได้” และในเวลาที่ตัวเลือกอื่นที่มี ทั้งราคา และเงื่อนไขโครงการที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลที่มาจากการก่อรัฐประหาร ทำให้กองทัพเรือเอื้อมไปไม่ถึง

เมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี โดย มี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ความใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลไทยและจีนก็มีมากขึ้น จนกระทั่ง ก.พ. 2558 รมว.กลาโหม ของจีนในขณะนั้น พร้อมคณะ เข้าพบ พล.อ. ประยุทธ์ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางทหาร

ต่อมาเมื่อ 28 เม.ย. 2558 ประเด็นการซื้อเรือดำน้ำ ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้ยกเลิกการชะลอโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำซึ่งเป็นมติ ครม. เดิม เมื่อปี 2555 และเห็นชอบในหลักการให้กองทัพเรือศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ พร้อมทั้งให้สำรวจอู่ต่อเรือดำน้ำชั้นนำของโลก ซึ่งต่อมาพบว่า มีอู่ต่อเรือดำน้ำชั้นนำ 6 แห่ง แต่ข้อเสนอที่ดีที่สุดอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน และเรือดำน้ำที่กองทัพเรือเสนอคือ Yuan Class S26T

เดือน ก.ค. 2559 กระทรวงกลาโหมอนุมัติความต้องการซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำ ของกองทัพเรือ

พล.ร.อ. ลือชัย รุดดิษฐ์ เซ็นสัญญากับจีน

ที่มาของภาพ, CSOC

21 มี.ค. 2560 พล.อ. ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ยอมรับถึงข้อตกลงการซื้อเรือดำน้ำแบบซื้อ 2 แถม 1 ตามข้อเสนอของจีน

“กรณีนี้รู้สึกว่าราคาจะถูกที่สุด และคุณภาพใช้ได้ มีการบริการต่าง ๆ ทั้งระบบอาวุธ ระบบการซ่อม อะไหล่ต่าง ๆ การช่วยสนับสนุน ก่อสร้างโรงเก็บเรือ ที่เป็นข้อเสนอเพิ่มเติมขึ้นมา และโครงการนี้เป็นโครงการรัฐต่อรัฐ ซึ่งผมได้สอบถาม พล.อ. ประวิตร ท่านยินดีให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาตรวจสอบแล้ว และที่ผ่านมา สตง. ก็ตรวจสอบมาตลอด เรื่องการซื้ออาวุธของกองทัพ สมัยผมเป็น ผบ.ทบ. ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ก็เข้าไปตรวจสอบ มีข้อสังเกตให้ทางกองทัพก็รับข้อสังเกตมาพร้อมชี้แจงตามข้อเท็จจริง เมื่อรับได้เขาก็ให้หน่วยงานดำเนินการต่อ ไม่ใช่ว่าเป็นรัฐบาลนี้แล้วไม่ตรวจสอบ เขาตรวจสอบทุกโครงการ” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

27 มี.ค.2560 พล.อ. ประวิตร ขยายความว่าวงเงินจัดหาเรือดำน้ำอยู่ 3.6 หมื่นล้านบาท ไม่ว่าจะซื้อ 2 แถม 1 หรือไม่ และคงไม่ใช่ความตั้งใจของจีนที่ต้องการให้ไทยซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำ แต่เหตุผลที่ซื้อ 2 แถม 1 นั้น ก็เพราะจีนลดราคาลงเหลือลำละ 1.2 หมื่นล้านบาท จากเดิมลำละ 1.8 หมื่นล้านบาท

18 เม.ย. 2560 ครม. อนุมัติจัดซื้อเรือดำน้ำ จากประเทศจีน จำนวน 1 ลำ ในวงเงิน 13,500 ล้าน บาท กำหนดส่งมอบในปี 2566 และมีแผนการจัดซื้อ อีก 2 ลำ รวมเป็นเงิน 36,000 ล้านบาท ในเวลา 11 ปี โดยพิจารณาเป็นวาระ และไม่มีการแถลงข่าวมติ ครม.ดังกล่าว จนปรากฏเป็นรายงานข่าวในภายหลัง ทำให้ พ.อ. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ต้องออกมาชี้แจงยอมรับเมื่อถูกผู้สื่อข่าวสอบถามข้อเท็จจริง

พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์

ที่มาของภาพ, เพจเรือดำน้ำไทย

1 พ.ค. 2560 พล.ร.อ. ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ (ยศขณะนั้น).และประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำในขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้แทน ผบ.ทร. ไปลงนามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน โดยแถลงข่าวบนเรือหลวงจักรีนฤเบศร์ ยืนยันเรือดำน้ำจีนทั้งคุ้มค่า มีคุณภาพ และน่าเชื่อถือ

ฝันค้างซื้อลำที่ 2-3

เพื่อสานต่อโครงการซื้อ 2 แถม 1 เมื่อ 7 ต.ค. 2562 กองทัพเรือ เสนอของบประมาณรายจ่าย ปี 2563 เพื่อจัดซื้อเรือดำน้ำ ลำที่ 2 และ 3 ในวงเงิน 22,500 ล้านบาท

ต่อมาในเดือน พ.ค. 2563 ไทยเผชิญวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลจึงขอให้แต่ละหน่วยงาน โอนงบประมาณปี 2563 กลับคืนมา เพื่อนำเงินไปแก้ปัญหาโควิด-19 โดยกองทัพเรือได้คืนงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ซึ่งรวมถึงงบประมาณซื้อเรือดำน้ำด้วย แต่ในการจัดทำร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ก็ได้เสนอขอนำงบผูกพันมาจัดซื้อเรือดำน้ำ ทั้ง 2 ลำที่เหลือ

21 ส.ค. 2563 คณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจและทุนหมุนเวียนในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ร่วมกันพิจารณาเรื่องที่กองทัพเรือ ขอซื้อเรือดำน้ำจากจีน 2 ลำ เป็นเงิน 22,500 ล้านบาท

โดยคณะอนุกรรมาธิการฯ ชุดนี้ มี 9 คน ไม่เข้าร่วมพิจารณา 1 คน ผลการลงมติ คะแนนเสียงเสมอกัน 4 ต่อ 4 โดยผู้ที่ลงมติอนุมัติ 4 คน เป็น ส.ส. จากฝั่งรัฐบาล ส่วนผู้ที่ลงมติไม่อนุมัติ 4 คน เป็น ส.ส.จากฝั่งฝ่ายค้าน

เมื่อคะแนนเสียง เสมอกัน 4 ต่อ 4 ทำให้ “นายสุพล ฟองงาม” ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ จากพรรคพลังประชารัฐ จึงชี้ขาดลงมติเห็นชอบทำให้การซื้อเรือดำน้ำผ่านการอนุมัติ ท่ามกลางรายงานว่ามีโทรศัพท์สายตรงที่ไม่อาจปฏิเสธการรับสายได้ ดังขึ้นระหว่างประชุม

เสียงวิจารณ์การอนุมัติซื้อเรือดำน้ำท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ดังกระหึ่ม ตามมาด้วยการเปิดเผยข้อมูลเบื้องลึกของ ส.ส. ฝ่ายค้านที่นั่งเป็นอนุกรรมาธิการฯ ระบุว่าบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ที่ลงนามกับจีนนั้นไม่มีเนื้อหาตอนใดที่ระบุถึงความเสียหาย หากไทยจะเลื่อนการจัดหาเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 ออกไป ดังนั้นโดยหลักการแล้ว คณะอนุกรรมาธิการฯ จึงไม่ควรเห็นชอบ

รัฐบาลถูกกระหน่ำซ้ำ เมื่อนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ ได้นำเอกสารบันทึกข้อตกลงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2563 โดยระบุว่า ไม่ใช่สัญญาจีทูจี แต่เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงข้อตกลง ส่วนสัญญาที่ลงนามกันแล้วก็เป็นเพียงแค่การจัดซื้อเรือดำน้ำ 1 ลำเท่านั้น ไม่มีลำที่ 2 หรือ 3 และไม่มีข้อผูกพันอะไร ขณะเดียวกันคู่สัญญาฝ่ายจีนที่ลงนามกับ พล.ร.อ. ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในขณะนั้น (ปี 2560) คือบริษัทเอกชนไม่ใช่รัฐบาลจีน จึงจะเสนอให้คณะกรรมาธิการฯ ชุดใหญ่พิจารณาต่อไป

24 ส.ค. 2563 กองทัพเรือ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวยืนยันว่าเป็นโครงการจีทูจี และบริษัท CSOC คือผู้ได้รับมอบอำนาจจากหน่วยงานของรัฐบาลด้านการบริหารงานด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและส่งออกอาวุธ (SASTIND) เป็นผู้แทนรัฐบาลมาลงนามในสัญญากับไทย ส่วนเรือดำน้ำที่ซื้อไปแล้ว 1 ลำ เป็นเงิน 13,500 ล้านบาทนั้น กองทัพเรือ ทยอยชำระเงินให้จีนระหว่าง ปี 2560 – 2566

ทร.แถลงข่าว

31 ส.ค.2563 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบฯ 2564 มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ตัดงบจัดหาเรือดำน้ำ 2 ลำ จำนวน 3,925 ล้านบาท ของกองทัพเรือ ออกจากงบฯ 2564 แต่ต่อมากองทัพเรือก็ได้เสนอกลับเข้ามาอีกครั้งในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบฯ 2565 ซึ่งนายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.กลาโหม ได้ถอนออกไป จนกลายเป็นปรากฏการณ์ “งบฯ ตกน้ำ” ปีที่ 2 และความหวังที่จะเสนอซื้อเรือลำที่ 2-3 ในปีงบประมาณถัดไป ก็ค่อยๆ ลดน้อยถอยลง

เปลี่ยนขั้วโยกย้าย ทร.-เกมพลิก

นับแต่เริ่มจัดหาเรือดำน้ำจีน ผู้ที่ถูกมองว่ามีความใกล้ชิดกับผู้นำทางทหารของจีนในยุคนั้น และมีอิทธิพลสูงในการผลักดันให้โครงการเดินหน้าได้อย่างไร้รอยต่อ คือ “บิ๊กป้อม”พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รวมถึง พล.ร.อ. ลือชัย รุดดิษฐ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการเรือดำน้ำ ที่มีความมุ่งมั่นเดินหน้าโครงการเรือดำน้ำให้เป็นรูปธรรม ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งเสนาธิการ จนขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ

แต่ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง “เอียงจีน” และผูกติดกับยุทโธปกรณ์อีกหลายโครงการที่ต่อเนื่องกับการซื้อเรือดำน้ำ S26T เช่นการจัดหาเรือจัดซื้อเรือยกพลขึ้นบก (Landing Platform Dock :LPD) จากจีน ที่ใช้งบประมาณกว่า 6,100 ล้านบาท ที่ถูกเอ่ยอ้างว่าจะเป็น “เรือพี่เลี้ยง” ให้กับเรือดำน้ำ ซึ่งใกล้จะมีการส่งมอบในไม่ช้านี้

เรือดำน้ำจีน ชั้น Yuan class

พล.ร.อ. ลือชัย เคยให้เหตุผลว่าปัจจุบันเรือยกพลขึ้นบกของกองทัพเรือที่มีอยู่ 4 ลำ ปลดระวางไปแล้วทั้ง 4 ลำ และมีมาทดแทนเพียง 1 ลำจึงต้องจัดหามาเพิ่มเพื่อทดแทนเรือที่หายไป ส่วนเหตุผลที่จัดซื้อเรือขนาดใหญ่กว่า 20,000 ตันจากจีนนั้น เพราะเรือขนาดใหญ่ถูกบรรจุอยู่ในโครงสร้างกำลังรบ ซึ่งความสัมพันธ์ในอาเซียนมีการก่อตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยนานาชาติร่วมกัน จึงจำเป็นต้องใช้เรือขนาดใหญ่ในกิจการด้านการให้ความช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งมีความเหมาะสมแล้วที่จะให้ความช่วยประชาชนทั้งในและนอกประเทศ

นอกจากนั้น ยังมีโครงการจัดหาอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ประจำฐานบินชายฝั่ง ซึ่งถูกมองว่าเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่ยุค พล.ร.อ. ลือชัย คาบเกี่ยวมาถึง พล.ร.อ. ชาติชาย ศรีวรขาน จนเข้าสู่ยุค พล.ร.อ. สมประสงค์ นิลสมัย ผบ.ทร. คนปัจจุบัน ที่ต้องนำโครงการของ ทร.ในช่วงที่ตั้งต้นในยุคก่อนหน้านี้มาดูทั้งหมด ทำให้ปัญหาเรื่องล็อกสเป็กให้กับ Wing Loong ของประเทศจีนยุติไป เพราะผลการคัดเลือกแบบก็เปลี่ยนมาเป็น HERMES 900 ของอิสราเอล แต่ก็ยังเป็นโครงการที่ถูกฝ่ายค้านนำไปโจมตีในหลายจุด และอยู่ระหว่างการขอความเห็นชอบแบบจากกระทรวงกลาโหม

อีกทั้งแผนงานในการเสริมสร้างกำลังรบ ที่ทุ่มเทไปกับ “เรือดำน้ำ”ที่ผูกพันงบประมาณระยะยาว รวมไปถึงเรือ LPD ที่กำลังเข้าประจำการ ยังส่งผลต่อการซ่อมบำรุงเรือผิวน้ำ และการจัดหาเรือทดแทนเรือที่จะปลดประจำการ ทำให้เกิดปัญหาการบริหารงบประมาณให้สมดุล และยากจะขยับในการเดินหน้าโครงการอื่น

ช่วงที่ พล.ร.อ.ลือชัย ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทร. เกิดปัญหาคลื่นใต้น้ำใน ทร. อันเกิดจากการปรับย้ายนายทหาร จนกลายเป็นความขัดแย้งร้าวลึกในทร.หลายปี ด้วยการเลือกนายทหารที่ไว้ใจ ใกล้ชิด วางตัวไว้ในตำแหน่งสำคัญเพื่อขึ้นมาอยู่ในระดับบริหารสานต่อโครงการที่ได้ริเริ่มไว้ และส่งนายทหารที่อยู่ในข่ายพิจารณาคนอื่นออกไปนอกเส้นทางรับราชการ ทร. เช่น ผบ.ทร. คน.ปัจจุบันที่ถูกส่งออกไปอยู่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

แต่เมื่อการปรับย้ายเดือน ก.ย.2564 ซึ่งเป็นช่วงที่ ทร.เจอกับมรสุมจากการตรวจสอบของฝ่ายค้าน โดยเฉพาะโครงการต่าง ๆ ในยุค พล.ร.อ. ลือชัย ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายในสภาฯ มีการซักฟอกในคณะกรรมาธิการฯ งบประมาณ ในช่วงการพิจารณางบประมาณของกระทรวงกลาโหม ทำให้ทายาทที่ พล.ร.อ. ลือชัย วางตัวไว้ไม่ถูกเลือก เพราะแกนนำเตรียมทหารรุ่น 20 ที่มีอิทธิพลต่อทั้ง นายกฯ และ พล.อ. ประวิตร ร่วมกันผลักดันให้ พล.ร.อ. สมประสงค์ นิลสมัย รองปลัดกระทรวงกลาโหม (เตรียมทหารรุ่น20) ข้ามกลับมาเป็น ผบ.ทร. ล้างขั้วอำนาจของ พล.ร.อ.ลือชัย ที่วางไว้ และกลับมาสังคายนาปัญหาอันเกิดจากโครงการที่เป็นปัญหา

สำรวจทางออกเรือดำน้ำจีน

เมื่อเล็งเห็นว่าโครงการเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 อาจต้องชะลอไปอีกนาน กองทัพเรือจึงตั้งความหวังไว้ที่เรือดำน้ำลำที่ 1 ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยจีนขอขยายระยะเวลาส่งมอบไปเป็นเดือน เม.ย. 2567 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19

โมเดล "Yuan Class S26T

แต่ต่อมาเมื่อ 9 ม.ค.2565 นายยุทธพงศ์ ส.ส. พรรคเพื่อไทย เปิดแถลงข่าวที่ที่ทำการพรรค เปิดประเด็นเยอรมนีอาจไม่ขายเครื่องยนต์ MTU 396 ให้จีนเพื่อติดตั้งให้กับเรือดำน้ำ S26T รุ่นที่ผลิตให้ไทย ตามมาด้วยคำยืนยันของ ผู้ช่วยทูตทหารของเยอรมนีประจำประเทศไทย เกี่ยวกับการที่ยังไม่ออกใบอนุญาตส่งออกหรือ Export License ของเครื่องยนต์ MTU ว่า ทางการจีนไม่ได้ประสานหรือสอบถามมาทางเยอรมนีก่อนที่จะเสนอเครื่องยนต์ MTU ในฐานะส่วนหนึ่งของเรือดำน้ำของจีนจนกระทั่งลงนามในสัญญาระหว่างไทยและจีนไปก่อนแล้ว ซึ่งการที่เยอรมนีห้ามส่งออกเครื่องยนต์ให้กับทางจีน เป็นไปตามมาตรการของสหภาพยุโรป (อียู) ที่ห้ามส่งออกสินค้ายุทโธปกรณ์ให้จีน อันเป็นผลมาจากการปราบปรามผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

แม้ฝ่ายจีนได้เจรจากับเยอรมนี แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถนำใบสั่งซื้อเครื่องยนต์รุ่นดังกล่าวส่งมาให้ ทร. ไทยเพื่อดำเนินขั้นตอนเบิกจ่ายงบประมาณปี 2565 ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน ก.ย. นี้

จนกระทั่ง 9 มิ.ย. 2565 ได้มีการประชุมหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาระหว่าง กองทัพเรือ กับ บริษัท CSOS โดยมี พล.ร.อ. เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ เป็นประธานฝ่ายไทย และ Mr. Liu Song รองประธาน CSOC เป็นประธานฝ่ายจีน

CSOC แจ้งว่าได้ใช้ความพยายามในการเจรจา กับบริษัท MTU สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ทั้งในระดับ บริษัท-บริษัท รัฐบาล-รัฐบาล และ ช่องทางทางการทูต ในการจัดหาเครื่องยนต์ขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แต่ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลงได้ จึงได้เสนอ เครื่องยนต์รุ่น CHD 620 ให้กองทัพเรือพิจารณาแทน แต่กองทัพเรือได้แจ้งยืนยันความต้องการใช้ เครื่องยนต์ดีเซลขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า MTU 396 ตามข้อตกลงเดิม เนื่องจากเครื่องยนต์ CHD620 ที่ บริษัท CSOC เสนอไม่เคยมีการใช้งานในเรือดำน้ำของประเทศใดมาก่อน พร้อมขอให้ทางบริษัท จัดทำข้อเสนอแนวทาง ระยะเวลา และแผนงานการดำเนินการแก้ไขปัญหา ตลอดจนกำหนดระยะเวลาในการส่งมอบเรือดำน้ำให้ กองทัพเรือ พิจารณา ภายใน 60 วัน (ภายใน 9 สิงหาคม 2565)

ความหวังที่เรือดำน้ำรุ่นดังกล่าวจะติดตั้งเครื่องยนต์ MTU396 และส่งมอบให้ไทยเข้าประจำการในปี 2567 ยิ่งเลือนรางลงไปทุกที กลายเป็นอาถรรพ์ของโครงการนี้ที่ไปได้ไม่สุดทางในทุกรัฐบาล

ยกเลิกสัญญา-รอลุ้นนโยบาย

หากเป็นตามที่กองทัพเรือประกาศเดินหน้าตามข้อตกลงและสัญญาที่เขียนไว้ ( ซึ่งยังไม่เคยมีการเปิดเผยสัญญา) ในการที่จีนต้องหาเครื่องยนต์ MTU396 มาติดตั้งให้เท่านั้น อาจถือเป็นประตูที่ปิดตายในการเดินหน้าโครงการ S26T ให้จบ และเมื่อครบกำหนดขีดเส้นตายให้ CSOC เสนอแผนแล้วไม่ได้มีทางออกที่กองทัพเรือยอมรับได้ ก็อาจต้องนำไปสู่การยกเลิกสัญญาที่ทำไว้ ส่งผลให้จีนต้องคืนเงิน 7,000 ล้านบาท ที่กองทัพเรือชำระผ่านรัฐบาลจีนเพื่อว่าจ้างบริษัท CSOC ต่อเรือคืนให้ไทยทั้งหมด และกองทัพเรือต้องพิจารณาว่าจะมีแผนพัฒนากองทัพต่อไปอย่างไร เพราะในระยะเวลาอันใกล้คงไม่สามารถจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการได้ทันในปี 2567

แนวทางแรก หากจีนเสนอเรือดำน้ำมือสอง YUAN CLASS จำนวน 2 ลำในราคามิตรภาพ แต่เป็นเครื่องยนต์ที่จีนได้รับใบอนุญาตมาตรฐานการผลิตจากเยอรมนี หรือ ที่เรียกกันว่า MTU เวอร์ชั่นจีนให้กับไทย พร้อมข้อเสนอที่ดีก็อาจเป็นตัวเลือกที่น่ารับไว้พิจารณา

แนวทางที่สอง กองทัพเรืออาจจะมองหาเรือดำน้ำมือสองจากประเทศอื่นมาพิจารณาเป็นอีกตัวเลือก ซึ่งมีหลายประเทศที่พร้อมขายให้ไทย

แนวทางที่สาม นำงบฯ ไปซื้อเรือผิวน้ำแทน

แนวทางสุดท้าย คือการตัดสินใจเชิงนโยบายระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจีนมีความพยายามที่จะใช้ช่องทางนี้เจรจาเพื่อไม่ให้กองทัพเรือเปลี่ยนขั้วไปซื้อเรือดำน้ำฝั่งตะวันตก ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่จะมีข้อเสนอเรือดำน้ำมือสอง แบบลด แลก แจก แถม หรือ บรรลุข้อตกลงให้เดินหน้า S26T ต่อ โดยมีออปชั่นอื่นเพิ่มเติม

แต่การจะริเริ่มตั้งโครงการใหม่ก็คงไม่ง่ายนัก เพราะต้องผ่านการพิจารณาของ ครม. ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าต้องตั้งงบประมาณใหม่เข้าสู่การจัดทำงบประมาณหรือไม่ เพราะต้องนำเงินที่จีนคืนให้ส่งคืนคลังก่อน หรือกองทัพเรือสามารถนำงบฯดังกล่าวมาเกลี่ยเพื่อใช้ในโครงการอื่นได้เลย

แต่ในสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ รัฐบาลมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ กระแสสังคมคงไม่ตอบรับ และยังไม่เห็นความจำเป็นเร่งด่วนด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงเหนือกว่าปัญหาปากท้องของประชาชนอย่างแน่นอน

….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว