แนนซี เพโลซี : นักการเมืองหญิงที่กล้ากระตุกหนวดมังกร ด้วยการเยือนไต้หวัน

การเดินทางเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรพรรคเดโมแครต ที่สร้างความไม่พอใจอย่างมากต่อจีน ไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลก หากพิจารณาท่าทีต่อจีนของเธอตลอดชีวิตทางการเมือง

นางแนนซี เพโลซี เป็นสมาชิกรัฐสภามาถึงเกือบ 40 ปีแล้ว และตอนนี้ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่มักจะวิพากษ์วิจารณ์จีนอยู่เป็นประจำ แต่ก็ไม่มีครั้งไหนที่ชัดเจนไปกว่าตอนที่เดินทางไปกรุงปักกิ่งในปี 1991 โดยเธอไปยืนถือป้ายแสดงความเห็นใจเหยื่อเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน พร้อมกับเพื่อน ส.ส.ชายอีกสองคน

นางเพโลซี อายุ 82 ปีแล้ว แต่ยังกระฉับกระเฉง และไม่ปิดบังท่าทีที่เรียกได้ว่าเป็นการเผชิญหน้ากับจีนอยู่เนือง ๆ ซึ่งรวมถึงการรู้จักมักคุ้นอย่างใกล้ชิดกับองค์ดาไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบต ที่ต้องลี้ภัยออกจากทิเบตเมื่อปี 1959 หลังการลุกฮือต่อต้านการปกครองของจีนล้มเหลว


Nancy Pelosi in the 2022 Pride march in San Francisco
Getty Images

นางเพโลซี ยังเป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลัง ผลักดันการตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว ที่ออกมาชี้ว่าจีนก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ และอาจจะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอุยกูร์

นางเพโลซีเคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Politico เมื่อวันที่ 28 ก.ค. ว่า “หากคุณยืนหยัดปกป้องสิทธิมนุษยชนในจีนไม่ได้ เพียงเพราะผลประโยชน์ทางการค้า คุณก็หมดอำนาจที่ชอบธรรมในทางจริยธรรมทั้งหมด ที่จะพูดถึงสิ่งนี้ไม่ว่าที่ใดก็ตาม”

การเดินทางเยือนไต้หวันของนางเพโลซี ถือเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสที่สุดของสหรัฐฯ ที่เยือนไต้หวัน นับแต่ปี 1997 แต่เป็นข้อเท็จจริงว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้สนับสนุนการเยือนไต้หวันครั้งนี้ของเธอ โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ระบุเมื่อวันที่ 22 ก.ค. ว่ากองทัพสหรัฐฯ คิดว่า “ไม่ใช่ความคิดที่ดี และชี้ว่าอาจถูกจีนมองว่าเป็นการยั่วยุได้

Joe Biden and Nancy Pelosi at a White House picnic

ที่มาของภาพ, Getty Images

แต่นางเพโลซี ซึ่งก่อนหน้านี้ ไม่ได้ยืนยันว่าจะไปไต้หวัน สวนกลับทันควันว่า “ฉันคิดว่าการสนับสนุนไต้หวันนั้นเป็นสิ่งสำคัญ”

บ่มเพาะทางการเมือง

นางเพโลซี เกิดเมื่อปี 1940 พ่อของเธอเป็นอดีตนายกเทศมนตรีของเมืองบัลติมอร์

เพโลซี ได้เข้าร่วมการประชุมใหญ่พรรคเดโมแครต ครั้งแรก ตอนอายุ 12 ปี และได้ร่วมงานเลี้ยงในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีจอห์น เคนเนดี ตอนที่เธอมีอายุ 20 ปี

เพโลซีเริ่มทำงานทางการเมืองด้วยการอยู่เบื้องหลัง เป็นคนช่วยหาทุนและทำโครงการรณรงค์ให้พรรคเดโมแครตในรัฐแคลิฟอร์เนีย

กระทั่งมีอายุได้ 47 ปี และลูกคนสุดท้องจากทั้งหมดห้าคนที่เธอมีกับนายพอล เพโลซี สามีซึ่งเป็นนักการเงิน ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้วนั่นเอง ที่นางเพโลซี ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งตามที่นางซาลา เบอร์ตัน สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ แห่งซานฟรานซิสโก ขอให้ลงสมัครแทนเพราะนางเบอร์ตันนั้นป่วยและใกล้จะเสียชีวิต

เพโลซี ได้รับเลือกตั้งในปี 1987 และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่นั้นมา และตอนนี้ เธอเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร มาสามสมัยแล้ว และเป็นผู้หญิงคนแรกในอเมริกาที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้

Nancy Pelosi in 1987

ที่มาของภาพ, Getty Images

แต่ว่าหนทางการเมืองของเพโลซีไม่ได้เกี่ยวพันเฉพาะกับเรื่องจีนเท่านั้น เธอคัดค้านตั้งแต่เรื่องการทำสงครามอิรักในปี 2003, สนับสนุนสิทธิของกลุ่มแอลจีบีทีมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 และ 1990 ตอนนั้นเรื่องนี้ยังไม่อยู่ในกระแสการเมืองของสหรัฐฯ เลย

นางเพโลซี ยังวิจารณ์การตัดสินใจของศาลสูงสหรัฐฯ ที่มีคำพิพากษาซึ่งถือเป็นการล้มล้างคำพิพากษาคดีในอดีต ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ Roe v Wade ที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว ว่าด้วยการวินิจฉัยของศาลว่าการทำแท้งไม่ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

นางเพโลซี บอกว่า “คนอเมริกันในทุกวันนี้มีเสรีภาพน้อยกว่าคนในรุ่นแม่เสียอีก” และสิ่งที่เกิดขึ้น “ไม่ต่างจากการตบหน้าเข้าอย่างจัง” หลังทราบผลการตัดสินใจของศาลสูง

ดังนั้น หากพิจารณาบทบาทและอุดมการณ์ทางการเมืองของเธอแล้ว การเดินทางเยือนไต้หวันครั้งนี้ของนางเพโลซี ยิ่งตอกย้ำจุดยืนของเธอในการต่อต้านการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่มองว่าไต้หวันไม่มีอธิปไตยของตนเอง และเป็นมณฑลหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ ที่สักวันหนึ่งจีนต้องการให้กลับไปเป็นของจีน แม้ว่าจะต้องใช้กำลังทางทหารก็ตาม

แนนซี เพโลซี เยือนไต้หวัน แม้รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่เห็นด้วย

ที่มาของภาพ, TAIWAN MINISTRY OF FOREIGN AFFAIRS

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว