ธุรกิจประกันชีวิต ปี 2566 ตั้งเป้าเบี้ย 6.23 แสนล้าน โต 0-2%

สมาคมประกันชีวิตไทย เผยภาพรวมเบี้ยปี 2565 ลดลง 0.45% พอร์ตซิงเกิ้ลพรีเมียม ยูนิตลิงก์-ยูนิเวอร์แซลไลฟ์-เครดิตไลฟ์ ฉุดตลาด ตั้งเป้าปี 2566 เบี้ยรวม 6.12-6.23 แสนล้านบาท โต 0-2% ล้อจีดีพีขยายตัว 2.7-3.7% สินค้าสุขภาพตัวชูโรง กังวลเศรษฐกิจโลก-บอนด์ยีลด์ ท้าทายธุรกิจ เร่งหารือวางแนวปฏิบัติป้องกันภัยไซเบอร์

เป้าเบี้ย 6.23 แสนล้าน โต 0-2%

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต (MTL) ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ในปี 2566 สมาคมฯประมาณการเบี้ยประกันชีวิตรับรวมทั้งอุตสาหกรรมฯจะอยู่ที่ระหว่าง 612,500-623,500 ล้านบาท เติบโต 0-2% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ซึ่งจะล้อไปตามตัวเลขเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้ที่ทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2.7-3.7%

พอร์ตซิงเกิ้ลพรีเมียมฉุดเบี้ยปี 65 ดิ่ง

จากในปี 2565 ที่มีเบี้ยรับรวม 611,374 ล้านบาท ลดลง 0.45% YOY แต่อย่างไรก็ดีถือว่าเป็นการปรับตัวดีขึ้นจากสิ้นเดือน พ.ย.2565 ที่ติดลบอยู่กว่า 1% โดยแยกเป็นเบี้ยปีต่ออายุ จำนวน 441,496 ล้านบาท ลดลง 0.43% เบี้ยรับรายใหม่ 169,878 ล้านบาท ลดลง 0.49% แยกเป็นเบี้ยรับปีแรก 105,192 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.42% แต่เบี้ยชำระครั้งเดียว( single premium) ลดลงกว่า 14.27% มาอยู่ที่ 64,686 ล้านบาท

ทั้งนี้สาเหตุเบี้ยชำระครั้งเดียวที่ปรับตัวลดลงแรงเป็นผลมาจากพอร์ตผลิตภัณฑ์ควบการลงทุน ทั้งยูนิตลิงก์และยูนิเวอร์แซลไลฟ์ ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลให้เกิดความผันผวนต่อการลงทุนในพอร์ตกองทุนรวม โดยเห็นสัญญาณมาตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมา ซึ่งมีช่องทางขายหลักผ่านธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันส์) และตัวแทนประกันชีวิต

ขณะเดียวกันพอร์ตเบี้ยประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ (credit life) ที่หายไปมาก สะท้อนจากความระมัดระวังของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อจากผลกระทบของเศรษฐกิจ รวมไปถึงผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) ที่มีความผันผวนสูง

โพรเทคชั่น เบี้ยเล็กกว่าออมทรัพย์ 10 เท่า

“ในอดีตเบี้ยประกันชีวิตของเราเคยโตเป็นดับเบิ้ลดิจิตของจีดีพี แต่ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันสืบเนื่องจากแบบประกันสะสมทรัพย์ไม่ได้เป็นพอร์ตหลักของธุรกิจอีกต่อไป ทำให้ขนาดเบี้ย (Ticket Size) ไม่ได้ใหญ่เหมือนเดิม และขนาดเบี้ยคุ้มครองชีวิต (protection) ที่เราเน้นขายในปัจจุบันก็มีขนาดเบี้ยเล็กกว่าแบบประกันสะสมทรัพย์ถึง 10 เท่า เช่นเดียวกับขนาดเบี้ยประกันสุขภาพ (health) ที่มียอดขายเติบโตอย่างโดดเด่น แต่ยังไม่สามารถเข้ามาชดเชยเบี้ยรวมได้

Advertisment

นอกจากนี้เรายังมีกรมธรรม์ครบกำหนดชำระเบี้ยแล้วแต่ยังต้องให้ความคุ้มครองอยู่ (paid-up policy) และมีกรมธรรม์ครบกำหนด (maturity policy) ที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่” นายสาระกล่าว

อย่างไรก็ตามแม้ว่าบอนด์ยีลด์จะปรับตัวสูงขึ้น แต่บริษัทประกันชีวิตยังมีลิมิตในการขายประกันสะสมทรัพย์เพื่อมาชดเชยพอร์ตทั้งหมด เนื่องจากจะมีการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS17) ในอนาคต ซึ่งจะต้องบริหารจัดการสินค้าและผลตอบแทนที่ขายให้ได้ แม้ว่ามาร์เก็ตแชร์จะสำคัญ แต่มูลค่าของแบบประกันตลอดอายุสัญญากรมธรรม์จะมีความหมายมากกว่า ฉะนั้นการขายเบี้ยใหม่สำคัญ แต่ต้องขายสินค้าที่มีความยั่งยืน เพื่อไม่ให้กระทบต่องบการเงิน” นายสาระ กล่าว

Advertisment

สุขภาพสินค้าชูโรง

สำหรับทิศทางภาพธุรกิจในปีนี้มองว่าประกันชีวิตยังเป็นภาพที่คนหลายเจเนอเรชั่นให้การตอบรับมากขึ้น และเริ่มเข้าถึงข้อมูลผ่านช่องทางดิจิทัลได้ เช่น การเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ หรือราคา และการทำความเข้าใจสินค้า เป็นต้น

เพราะฉะนั้นถือว่าคนไทยเปิดใจต่อการประกันชีวิตมากขึ้น และประกันสุขภาพยังเป็นสินค้าชูโรง ขณะเดียวกันหลายบริษัทเองเริ่มมีการปรับสินค้าเพื่อไปตอบโจทย์ภาวะสังคมผู้สูงอายุมากขึ้นด้วย

เศรษฐกิจโลก-บอนด์ยีลด์ ท้าทายธุรกิจ

แต่อย่างไรก็ตามในปีนี้ถือว่ายังมีความท้าทายหลักจากภาวะเศรษฐกิจโลกและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งธุรกิจประกันชีวิตถูกตรึงด้วยทิศทางบอนด์ยีลด์ ทำให้อาจจะกระทบต่อความผันผวนในอนาคตได้ ขณะเดียวกันยังกังวลต่อภาพกำลังซื้อของประชาชนที่จะลดลงด้วย แม้ว่าตอนนี้ภาคการท่องเที่ยวไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัวดีก็ตาม รวมไปถึงความท้าทายด้านมาตรฐานและกฎหมายใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น

เร่งหารือแนวปฏิบัติป้องภัยไซเบอร์

นอกจากนี้เรามีความกังวลต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่อาจจะมีดิสรัปบางช่องทางในการเข้าถึงสินค้าประกันชีวิตด้วย เช่น ช่องทางเทเลเซลล์ เป็นต้น

ทั้งนี้เราเห็นภาคธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ได้ออกมาตรการป้องกัน โดยมีการยกเลิกการส่ง SMS หรือจัดการกับบัญชีม้า ซึ่งในมุมธุรกิจประกันชีวิตอยู่ในความระมัดระวัง โดยในปัจจุบันยังคงมีการส่ง SMS แจ้งข้อมูลให้กับลูกค้าอยู่ แต่ก็กำลังอยู่ในวาระที่สมาคมฯจะหารือเพื่อวางแนวปฏิบัติเรื่องเหล่านี้ เพื่อให้ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันต่อไป เพราะเราไม่ต้องการเปิดช่องให้เกิดผลกระทบต่อผู้เอาประกัน