บาทอ่อนค่าหลังเปลี่ยนนายกฯ ขณะตลาดลดมุมมองเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว

บาทอ่อนค่าหลังเปลี่ยนนายกฯ ขณะตลาดลดมุมมองเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว

วันที่ 16 สิงหาคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 12-16 สิงหาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันอังคาร (13/8) ที่ระดับ 35.16/17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/8) ที่ระดับ 35.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ (9/8) ที่ผ่านมาทางธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตาได้มีการเปิดเผยแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐ ขยายตัว 2.9% ในไตรมาส 3/2567

ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.4% ในไตรมาส 1/2567 และ 2.8% ในไตรมาส 2/2567 สำหรับในปี 2566 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.2%, 2.1%, 4.9% และ 3.4% ในไตรมาส 1, 2, 3 และ 4 ตามลำดับ สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่มีการเปิดเผยระหว่างสัปดาห์นั้น กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.2% ในเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบรายปี ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.3% และต่ำกว่าเดือนมิถุนายน ที่ระดับ 2.7%

อีกทั้งดัชนี PPI พื้นฐาน (Core PPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 2.4% ในเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.7% หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.0% ในเดือนมิถุนายน

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคประจำเดือนกรกฎาคม ระบุว่าดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.9% ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 และต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 3.0% หลังจากปรับตัวขึ้น 3.0% ในเดือนมิถุนายนและปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนกรกฎาคม สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ หลังจากปรับตัวลง 0.1% ในเดือนมิถุนายน

ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.2% ในเดือนกรกฎาคมและสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์จากระดับ 3.3% ในเดือนมิถุนายน และปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนกรกฎาคม สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์จากระดับ 0.1% ในเดือนมิถุนายน ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิเผยว่ายอดค้าปลีกปรับตัวขึ้น 1.0% ในเดือนกรกฎาคม สูงกว่าระดับคาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% หลังจากปรับตัวลดลง 0.2% ในเดือนมิถุนายน

ADVERTISMENT

ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐมีการเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกปรับตัวลดลง 7,000 ราย สู่ระดับ 227,000 ราย ทำให้นักลงทุนเริ่มลดมุมมองที่เศรษฐกิจสหรัฐ อาจจะเข้าสู่สภาวะถดถอยลง ทางด้านธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 5.25% ในการประชุมนโยบายการเงินประจำเดือนสิงหาคม

ซึ่งเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2563 สวนทางกับคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่คาดว่า RBNZ จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.50% เนื่องจาก RBNZ ระบุว่าดัชนี CPI ของนิวซีแลนด์กำลังกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของ RBNZ ที่ระดับ 1-3% เมื่อเทียบรายปี และคาดว่าดัชนี CPI จะเคลื่อนไหวใกล้ระดับ 2% ในอนาคต

ADVERTISMENT

สำหรับการเจรจาหยุดยิงในฉนวนกาซายังคงดำเนินต่อไป โดยมีการรวมตัวกันเจรจาอีกครั้ง ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เพื่อผลักดันให้มีการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงในฉนวนกาซา ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตในดินแดนปาเลสไตน์พุ่งสูงขึ้นเกิน 40,000 รายแล้ว หลังสู้รบมานานกว่า 10 เดือน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ในวันจันทร์ (12/8) ตลาดในประเทศเปิดทำการเนื่องจากเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยนายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง ได้จำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 2 บนวอลเลต สบม. (สะสมบอนด์มั่งคั่ง) วงเงิน 10,000 ล้านบาท เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยเป็นการจัดสรรแบบ First-Come, First-Served (มาก่อนได้รับสิทธิก่อน) และจำกัดวงเงิน ไม่เกินรายละ 50 ล้านบาท นอกจากนี้ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ล่าสุดประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-11 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ทั้งสิ้น 21,796,763 คน สร้างรายได้จาการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วประมาณ 1,025,938 ล้านบาท

โดยจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน 4,398,623 คน และมาเลเซีย 3,021,624 คน อินเดีย 1,255,358 คน เกาหลีใต้ 1,154,990 คน และรัสเซีย 1,035,192 คน ในวันพุธ (14/8) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติวินิจฉัยคดีถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน ผู้เคยถูกพิพากษาโทษจำคุก เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง ให้นายเศรษฐาพ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากขาดคุณสมบัติด้านความซื่อสัตย์สุจริต ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง เนื่องจากนายเศรษฐาย่อมต้องรู้คุณสมบัติต้องห้ามของนายพิชิตตั้งแต่ก่อนแต่งตั้งแล้ว ไม่สามารถอ้างว่าไม่ทราบได้ อีกทั้งเมื่อนายเศรษฐาพ้นจากสภาพการเป็นนายกรัฐมนตรี จึงเป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย

สำหรับการคัดเลือกนายกฯใหม่นั้น ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเลือก นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของไทย ด้วยคะแนนเห็นชอบ 319 เสียง ไม่เห็นชอบ 145 เสียง และงดออกเสียง 27 เสียง ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.80-35.71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (16/8) ที่ระดับ 35.05/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันอังคาร (13/8) ที่ระดับ 1.0930/31 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/8) ที่ระดับ 1.0919/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ในวันพฤหัสบดี (15/8) สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอังกฤษขยายตัว 0.6% ในไตรมาส 2/2567 ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์ หลังจากที่มีการขยายตัว 0.7% ในไตรมาส 1 โดยข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ถึงการฟื้นตัว หลังจากที่เศรษฐกิจอังกฤษถดถอยเล็กน้อยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566

ทั้งนี้ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ขยายตัวของ GDP ปี 2567 ขึ้นสู่ระดับ 1.25% จากระดับ 0.5% เนื่องจากเศรษฐกิจอังกฤษทำผลงานในช่วงต้นปีได้แข็งแกร่งเกินคาด ด้านนายเคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ต้องการให้เศรษฐกิจของประเทศบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ระดับ 2.5% ในช่วงที่เขารณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านา

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการเงินในปี 2551 เศรษฐกิจอังกฤษยังไม่สามารถขยายตัวที่ระดับดังกล่าวได้ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0881-1.1047 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (16/8) ที่ระดับ 1.0984/88 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดวันอังคาร (13/8) ที่ระดับ 147.35/37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/8) ที่ระดับ 147.21/23 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ดัชนีนิกเคอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดตลาดพุ่งขึ้นกว่า 3% ในช่วงระหว่างวัน ทะลุระดับ 36,000 จุด เนื่องจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นตามหุ้นกลุ่มเดียวกันในตลาดหุ้นสหรัฐ ตลอดจนได้แรงหนุนจากเงินเยนที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

โดยหุ้นเกือบทุกกลุ่มปิดบวก นำโดยกลุ่มประกัน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ ส่วนกลุ่มเดียวที่ปิดลบคือกลุ่มขนส่งทางอากาศ ในวันพุธ (14/8) นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น แถลงต่อสื่อมวลชนว่าเขาจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้้งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ในเดือนกันยายน และจะก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อพรรคมีการเลือกผู้นำคนใหม่

อีกทั้งยังให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนผู้นำพรรคคนใหม่อย่างเต็มที่ ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี ที่เขาดำรงตำแหน่งในช่วงผลักดันให้เพิ่มค่าจ้างและเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหม โดยในวันพฤหัสบดี (15/8) มีการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่น ขยายตัวสูงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ในไตรมาสที่ 2

โดย GDP ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 0.5% และเมื่อเทียบเป็นรายปี GDP เพิ่มขึ้น 3.1% ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของรอยเตอร์คาดการณ์ไว้อย่างมาก ที่ระดับ 2.1% แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่า GDP ญี่ปุ่นจะแข็งแกร่งในไตรมาสที่ 2 แต่หดตัวเมื่อเทียบเป็นรายปีเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน โดยปรับตัวลดลง 0.8% จากที่หดตัว 0.9% ในไตรมาสที่ 2 ทางด้านนักวิเคราะห์ชี้ว่า BOJ อาจดำเนินนโยบายเข้มงวดต่อไป

ส่วนด้านนายจุน ไซโตะ นักวิจัยอาวุโสจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจญี่ปุ่น กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า ตัวเลข GDP ญี่ปุ่นดังกล่าวนับเป็นข้อมูลเชิงบวกที่ดีมาก และจะเป็นปัจัยสนับสนุนให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป และดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดยิ่งขึ้นตามปฏิกิริยาของตลาด ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 141.66-149.39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (16/8) ที่ระดับ 149.07/09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ