เอกชนชี้ขึ้นภาษี 15% ส่งผลกระทบวงกว้าง-กำลังซื้อลดลง ส่อดันราคาสินค้าเพิ่มขึ้น 13-20% เชื่อเจ็บปวดกันถ้วนหน้า แนะควรขึ้นไม่เกิน 10%
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า ที่จริงแล้วทางรัฐบาลมีแนวคิดที่จะปรับโครงสร้างภาษีทั้งหมด โดยหากพูดถึงการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 15% นั้น ปัจจุบันประเทศไทยมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% โดยเฉลี่ย 1 ปี ยอดจากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจะอยู่ที่ 9.2 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นภาษีที่ใหญ่ที่สุดที่เก็บได้
และถ้าหากรัฐบาลจะมีแนวคิดที่จะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 15% อย่างจริงจัง ก็จะต้องมาศึกษาถึงผลกระทบว่าจะเป็นอย่างไร แต่โดยส่วนตัวตนคิดว่าการที่รัฐบาลจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 15% ส่วนหนึ่งก็จะเป็นแนวทางการนำมาชดเชยงบประมาณการขาดดุลของปี 2567
นายธนิตกล่าวว่า การที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กระโดดจาก 7% ไปยัง 15% ต้องเข้าใจก่อนว่า การจะผลิตสินค้าประเภทหนึ่ง ขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ จนไปถึงขั้นตอนการส่งขายที่ร้านค้า ก็จะมีการเก็บภาษีหมด
ดังนั้น จึงขอประเมินว่าถ้ามีการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 15% ราคาสินค้าก็จะเพิ่มขึ้น 13-20% ซึ่งสิ่งที่ประชาชนต้องเจอ คือ ของแพงขึ้นแน่นอน และถ้าของแพงขึ้นก็จะส่งผลกระทบวงกว้าง เช่น ภาคการท่องเที่ยว และ กำลังซื้อของผู้บริโภคก็จะลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าต้องมีการปรับเพิ่มการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจริง ๆ ก็แนะนำว่าเพดานไม่ควรจะเกินที่ 10% หรือกรอบ 7-10%
นายธนิตกล่าวว่า ในส่วนการลดภาษีนิติบุคคลเป็น 15% ส่วนหนึ่งเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ อันนี้ตนว่าอาจจะยังไม่ได้ช่วยมากขนาดนั้น เพราะถ้าเก็บภาษี หรือขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในกรอบ 15% ตนมองว่าเจ็บปวดหมดถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจน
อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าขณะนี้ภาษีนิติบุคคลของประเทศไทย ไม่ได้มีความได้เปรียบหรือเสียเปรียบกับประเทศอื่น ๆ และมองว่าหากปรับมา 15% ก็ไม่ได้เป็นตัวช่วยการดึงนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น เพราะส่วนมากนักลงทุนต่างชาติเวลามาลงทุนก็เข้ามาทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ