กลายเป็นผลกระทบลูกโซ่ต่อรับเหมาก่อสร้าง หลังรัฐบาล คสช. ประกาศ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ทำให้แรงงานต่างด้าวที่แฝงตัวในไซต์ก่อสร้างแตกตื่นแห่กลับประเทศเห็นภาพชัดไซต์รถไฟฟ้าสายสีแดงช่วง “บางซื่อ-รังสิต” หลังการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ติดตามงานจากผู้รับเหมาทั้ง 2 สัญญา
ปรากฏว่าสัญญาที่ 1 งานสถานีกลางบางซื่อ อาคารซ่อมบำรุงและสถานีจตุจักรของกลุ่มซิโน-ไทยฯ และยูนิคฯ วงเงิน 34,118 ล้านบาท งานเริ่มชะงัก
“หารือกับผู้รับเหมา พบปัญหายูนิคฯมีแรงงานพม่ากลับประเทศไปดำเนินการต่าง ๆ ให้ถูกกฎหมาย เพราะตกใจคิดว่าใบสีชมพูใช้ไม่ได้ จะกลับมา 10-20 วัน มีผลกระทบระยะสั้น ๆ ส่วนสัญญาที่ 2 ของอิตาเลียนไทยฯ ไม่มีปัญหา แรงงานที่ใช้ถูกกฎหมาย”
จากรถไฟฟ้าสายสีแดง ถามไปยังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย “ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” รองผู้ว่าการด้านวิศวกรรมและก่อสร้าง กล่าวว่า ทั้งสายสีน้ำเงินต่อขยายบางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค และสีเขียวต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เป็นผู้รับเหมารายใหญ่ก่อสร้าง จึงไม่ได้รับผลกระทบ เพราะมีใบอนุญาตที่ถูกกฎหมายอยู่แล้ว
ขณะที่บิ๊กรับเหมาที่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว แม้จะดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย แต่ลึก ๆ ก็กังวลใจ
“ภาคภูมิ ศรีชำนิ” กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น กล่าวว่า บริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาหลายปี ทุกปีขอโควตาไว้ล่วงหน้า ปัจจุบันมีแรงงานเมียนมา 2,000 คน กัมพูชา 1,000 คน และได้ตั้งศูนย์บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวตามกฎหมายมาร่วม 3 ปีแล้ว
“พ.ร.ก.ฯไม่ส่งผลกระทบต่อเราโดยตรง จะกระทบรับเหมารายกลางและรายเล็ก เพราะดำเนินการไม่ทันเวลา ต้องเสียค่าปรับและเกิดแรงงานขาดแคลนขึ้น”
และอาจกระทบต่อผู้รับเหมาช่วงหรือต่อเนื่องถึงโครงการก่อสร้างในมือของบริษัทได้ จะรีบหามาตรการป้องกันให้เร็วที่สุด และการที่รัฐขยายเวลาจะช่วยประคับประคองสถานการณ์ไปได้บ้าง