อีก10ปี”อู่ตะเภา”ใหญ่กว่าสุวรรณภูมิ สร้างเมืองใหม่แปดริ้วไข่แดงที่อยู่อาศัยตะวันออก

ไข่มุกแห่งภาคตะวันออก - สนามบินอู่ตะเภา พื้นที่ความมั่นคงในอดีตกำลังถูกแปรให้เกิดมูลค่าเพิ่มระดับประเทศ เทียบเท่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

บิ๊กประชารัฐ “กานต์ ตระกูลฮุน” ฟันธง ไม่เกิน 10 ปี “สนามบินอู่ตะเภา” ใหญ่กว่า “สุวรรณภูมิ” รับอานิสงส์เต็ม ๆ จากโครงการอีอีซี เป็นแม่เหล็กดูดนักลงทุนจากทั่วโลก รัฐเร่งสร้างความมั่นใจปูพรมการลงทุนเชื่อมโครงข่ายคมนาคม จับตา “แปดริ้ว” เมืองใหม่ที่อยู่อาศัยในอนาคต

นายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานโครงการประสานพลังประชารัฐ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเร่งรัดโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมบ้างแล้วในปี 2560

“สนามบินอู่ตะเภาถือเป็นโครงการหลักที่จะเชื่อมโยงทุกธุรกิจและทุกบริการเข้าหากัน ภายในสิ้นปีจะเห็นรูปธรรมชัด เพราะพื้นที่มีอยู่แล้ว ไม่ต้องเวนคืนอะไร ทุกฝ่ายมั่นใจ

แล้วเทอร์มินอลสามารถรองรับผู้โดยสารได้จำนวนมาก และมีโอกาสรับได้ถึง 40-50 ล้านคน หรือไปถึง 60 ล้านคน”

ขณะที่ท่าอากาศยานนานาชาติดีไซน์ไว้ให้รองรับได้ประมาณ 45 ล้านคน และเชื่อว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า สนามบินอู่ตะเภาจะใหญ่กว่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแน่นอน เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักธุรกิจนักลงทุนจากทั่วโลก

อีอีซียังมองถึงความเป็นเมืองใหม่ที่ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยชลบุรีกับระยองนั้นจะเป็นแหล่งนิคมอุตสาหกรรม

“ส่วนฉะเชิงเทราจะเป็นเมืองใหม่ เน้นพัฒนาให้เป็นแหล่งที่พักอาศัย รองรับคนที่หลั่งไหลเข้ามาทั้งนักลงทุน นักธุรกิจ และแรงงานต่างชาติ เหมือนที่สิงคโปร์ทำสำเร็จ”

“วันนี้ใน 3 จังหวัดที่กล่าวมา มีประชากรเกือบ 2 ล้านคน แต่อีก 5-10 ปีข้างหน้า ประชากรจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคน ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ”

แผนพัฒนามี 4 องค์ประกอบคือ 1.โครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงทั้งระบบ สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือสัตหีบ ท่าเรือแหลมฉบัง รถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์ 2.อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อุตสาหกรรมอากาศยาน ปิโตรเคมีขั้นสูง ชีวภาพ ยานยนต์อัจฉริยะ อิเล็กทรอนิกส์ หุ่นยนต์ และเกษตรแปรรูป 3.การท่องเที่ยว พัฒนาเมืองชั้นนำ ศูนย์ประชุมนานาชาติ และ 4.พัฒนาเมืองใหม่ ศูนย์กลางการบริการธุรกิจนานาชาติ และเขตปลอดภาษี

รายงานข่าวระบุว่า สนามบินอู่ตะเภาปัจจุบันรับผู้โดยสาร 7 แสนคน/ปี หรือ 4% ของนักท่องเที่ยว 17 ล้านคน ที่เดินทางมาพัทยา และระยอง ประกอบด้วย 1.ทางวิ่ง 1 ทางวิ่งขนาดมาตรฐาน สามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้ 2.อาคารผู้โดยสาร 2 หลัง รับผู้โดยสารได้รวมกัน 3.7 ล้านคน/ปี แยกเป็นอาคารหลังที่ 1 หรืออาคารใช้งานในปัจจุบัน รองรับได้ 7 แสนคน/ปี และอาคารหลังที่ 2 จะเปิดใช้งานในเดือน ส.ค. 2560 รับได้ประมาณ 3 ล้านคน/ปี 3.ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานของ บมจ.การบินไทย ที่มีโรงซ่อมเครื่องบินขนาด 24,000 ตร.ม. ซ่อมได้ 3 ลำพร้อมกัน

ความสำคัญของสนามบินอู่ตะเภา ช่วยแบ่งเบาความแออัดของสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง โดยประมาณการว่าใน 5 ปีข้างหน้า แม้สุวรรณภูมิ เฟส 2 และ 3 จะแล้วเสร็จ รองรับผู้โดยสารจะขยายจาก 45 ล้านคน/ปี เป็น 90 ล้านคน/ปี ในปี 2564 แต่ยังไม่เพียงพอ แม้เมื่อรวมกับดอนเมืองที่มีการขยายเฟส 3 รองรับได้เพิ่มจาก 18 ล้านคน/ปี เป็น 40 ล้านคน/ปี ในปี 2568 รวมเป็น 130 ล้านคน/ปี ก็ยังไม่เพียงพอ จึงต้องพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบแห่งที่ 3 สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 15-30-60 ล้านคน ในระยะ 5-10-15 ปีตามลำดับ และเชื่อมโยงกับสุวรรณภูมิและดอนเมืองด้วยรถไฟความเร็วสูง

นอกจากนี้ รัฐบาลจะยกระดับสนามบินอู่ตะเภา เป็น “เมืองการบินภาคตะวันออก” พื้นที่ 6,500 ไร่ สนับสนุนการเป็นศูนย์กลางทางการบินของภูมิภาค ทั้งโครงการใช้เงินลงทุน 5 ปีแรก (2561-2566) ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1.สนามบิน 2 ทางวิ่ง ให้รองรับผู้โดยสารและกิจกรรมเชื่อมโยงได้อย่างเพียงพอ 2.กลุ่มอาคารผู้โดยสาร โรงแรม ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน สถานีรถไฟความเร็วสูงอยู่ชั้นใต้ดินของอาคารผู้โดยสาร 3.กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอากาศยาน เช่น เขตการค้าเสรี 4.กลุ่มธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ 5.กลุ่มธุรกิจซ่อมเครื่องบิน และ 6.ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรอากาศยานและธุรกิจการบิน อนาคตจะเพิ่มเติมกลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะด้าน กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและธุรกิจท่าเรือสัตหีบและท่าเรือสำราญขนาดใหญ่

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันกำลังทยอยเปิดประมูลก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 วงเงินกว่า 5 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 33 เดือน เปิดใช้ ส.ค. 2562 รองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคน/ปี

อีกทั้งจะลงทุนอีก 4-5 หมื่นล้านบาท ขยายสุวรรณภูมิเฟส 3 สร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ด้านทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A อยู่ด้านซ้ายมือก่อนถึงอาคารผู้โดยสาร ปัจจุบันเป็นลานจอดของการบินไทย วงเงิน 34,662 ล้านบาท รองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคน อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียดและทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จะใช้เวลา 1 ปี ตามแผนจะสร้างเสร็จในปี 2564 และมีรถไฟ APM วิ่งรับส่งระหว่างอาคาร