ภัยแล้งเกษตรวูบ 3.7 หมื่นล้าน พ่อค้าเล่นตลาดเก็งราคาพุ่ง

ภัยแล้งทำราคาพืชเกษตรผันผวนหนัก ข้าว-มัน-ข้าวโพด-อ้อย ผลผลิตลด ลุ้นราคาพุ่ง แต่โดนพ่อค้าเล่นเกมกดราคา-เก็บสต๊อก หวังส่วนต่างเงินประกันรายได้ หวั่นภัยแล้งยืดเยื้ออีก 2 เดือน หวั่นเสียหายเพิ่ม 3.7 หมื่นล้าน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ประเมินเบื้องต้นว่าความเสียหายจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นในเดือน ก.ค. มีมูลค่า 9,807 ล้านบาทและหากยังยืดเยื้อต่อเนื่องไปถึงสิ้นเดือนก.ย. จะเสียหายถึง 37,378 ล้านบาท ฉุด GDP ลดลงไปอีก 0.2-0.3% และมีโอกาสให้ GDP ไทยต่ำสุด 2.9% จากเดิมที่เคยประเมินไว้ว่าจะขยายตัว3.2-3.5%

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์  อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าและสภาอุตสาหกรรมจังหวัด 109 ตัวอย่างพบว่า มูลค่าเสียหายจากภัยแล้งอยู่ที่ 9,807.61 ล้านบาท แบ่งเป็นความเสียหายจากผลผลิตข้าวลดลง 7,549.95 ล้านบาท และสินค้าเกษตรชนิดอื่น 2,257.66 ล้านบาท ส่งผลให้พื้นที่ทางการเกษตรเสียหายรวม 838,981ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 411,549 ไร่,ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 157,943 ไร่, มันสำปะหลัง 119,957 ไร่ และอ้อยโรงงาน 149,532 ไร่

“แต่ยังยืดเยื้อต่อไป 1 เดือน จะเพิ่มเป็น 18,871.57 ล้านบาท และหากยืดเยื้อเกิน 2 เดือนจะส่งผลกระทบมากขึ้นปริมาณข้าวทั้งนาปีและนาปรังจะลดลง 4 ล้านตัน ภาพรวมความเสียหายจะเพิ่มขึ้นเป็น 37,378.87 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น ข้าวเสียหาย 31,680 ล้านบาท และสินค้าเกษตรอื่นเสียหาย 5,698.9 ล้านบาท

สอดคล้องกับ น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพรผู้อำนวยการสํานักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในส่วนของสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น 7.6% โดยเป็นการปรับสูงขึ้นต่อเนื่องมา 9 เดือน นับจากเดือนพฤศจิกายน 2561 เกษตรหลักทุกรายการราคาปรับสูงขึ้น เช่น ข้าวปรับขึ้น34.2%, ข้าวโพดปรับขึ้น 10.4% และยางพาราปรับขึ้น 15.2%

หอมมะลิราคาพุ่งพรวด

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้คาดการณ์ความเสียหายของผลผลิตข้าวหอมมะลิในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหากยังไม่มีฝนตกลงมาในเดือน ส.ค. ผลผลิตข้าวหอมมะลิจะลดลงเหลือ 4-4.5 ล้านตัน หรือหายไปทันที 40-50% ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิจะขยับขึ้นไปจาก 16,000 บาท เป็น 25,000 บาท/ตัน

ส่วนราคาข้าวสารหอมมะลิจะพุ่งขึ้นไปถึง 36,000 บาท/ตันทีเดียว ด้านกลุ่มโรงสีข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ว่า พื้นที่ปลูกข้าวตอนกลางของภาค (นครราชสีมา-ขอนแก่น-บุรีรัมย์-สุรินทร์) ซึ่งคาบเกี่ยวกับทุ่งกุลาร้องไห้ แหล่งปลูกข้าวหอมมะลิสำคัญในสัดส่วนกว่า

ร้อยละ 50 ของพื้นที่ “ยังไม่มีน้ำ”

นายบู๊เฮียง รุ่งรัชกานนท์ เจ้าของ หจก.โรงสีข้าวเอกไพบูลย์ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า แม้ในพื้นที่จะเริ่มมีปริมาณฝนมากขึ้น แต่ผลผลิตข้าวจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับว่า

“ชาวนาจะปลูกซ่อมข้าวที่เสียหายจากภัยแล้งไปแล้วทันหรือไม่ส่วนทิศทางราคาข้าวเปลือกนาปี 2562/2563 มีโอกาสที่ราคาข้าวจะปรับสูงขึ้น นาภาคอีสานราคาข้าวจะสูงไปกว่า 17,000 บาทแน่นอน ถ้ารัฐบาลตั้งราคาประกันรายได้ที่ตันละ 15,000 บาท เกษตรกรที่เอาข้าวไปขายจะไม่ได้ประโยชน์จากโครงการเลย” นายบู๊เฮียงกล่าว

ส่วนผลผลิตข้าวโพดนั้น ทางสมาคมพ่อค้าพืชไร่คาดการณ์ว่า ผลผลิตข้าวโพดปีนี้จะมีปริมาณลดลงเหลือ 3-3.4 ล้านตันจากปกติที่มีปริมาณ 4.5-5 ล้านตัน หรือลดลง 1.1-2 ล้านตัน จากภาวะภัยแล้ง ประกอบกับผลผลิตได้รับความเสียหายจากหนอนกระทู้ข้าวโพด โดยระดับราคาจำหน่ายขณะนี้ยังอยู่ที่ กก.ละ 9-10 บาท

แล้งนำโรคระบาดสู่ไร่มัน

นายรังสี ไผ่สะอาด นายกสมาคมผู้ประกอบการมันสำปะหลังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลผลิตมันสำปะหลังในปีนี้จะลดต่ำลงจากปัญหาภัยแล้งที่มาพร้อมกับ “โรคใบด่าง” ที่แพร่เชื้อไปในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง โดยจังหวัดนครราชสีมา, ปราจีนบุรี, ฉะเชิงเทรา, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีสะเกษ, ชลบุรี, สระแก้ว เสียหายหนักที่สุดกว่า 100,000 ไร่ มูลค่าราว 9,000 บาท/ไร่ และสมาคมคาดการณ์ผลผลิตมันสำปะหลังรวมจะลดลงต่ำกว่า 29 ล้านตัน จากปกติมีปริมาณ 29-30 ล้านตัน/ปี

“ราคาหัวมันสดตอนนี้ยังอยู่ที่ 1.60-1.70 บาท/กก. (เชื้อแป้ง 25%) หากเทียบช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา 2.10-2.20 บาท/กก. ที่ราคาลดลงทั้ง ๆ ที่ควรจะปรับราคาขึ้นเป็นเพราะโรงแป้งอ้างสต๊อกเต็ม ราคาแป้งมันในตลาดโลกลดลง แต่ผมเชื่อว่าเป็นการกดราคาชาวไร่มากกว่า จากการที่โรงแป้งไปขายล่วงหน้าในราคาต่ำ”

มีรายงานข่าวจากผู้ประกอบการมันเส้นส่งออกว่า ภัยแล้งกระทบกับผลผลิตมันแน่นอน ทั้ง ๆ ที่มันสำปะหลังจัดเป็นพืชที่ทนแล้งได้ดีที่สุดแล้ว ประกอบกับมีภาวะโรคใบด่างระบาดหนัก ผลผลิตเสียหาย ตอนนี้ชาวไร่มันบางพื้นที่เริ่มปลูกมันเป็นรอบที่ 3 แทน 2 รอบแรกที่เสียหายเกือบหมด อนาคตราคาหัวมันจะปรับสูงขึ้นแน่ “ราคามันเส้นส่งไปจีนตอนนี้ 235-240 เหรียญ/FOB เป็นราคาที่ดี แต่ผู้ส่งออกไม่มีของส่ง” แหล่งข่าวกล่าว

อ้อยขั้นต้นแค่ 700 บาท

ด้านนายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า ผลผลิตอ้อยปี 2562/2563 ของทุกภาค “จะลดลงจากปัญหาภัยแล้งแน่นอน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน ทั้งประเทศจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบประมาณ 120 ล้านตันอ้อย สอดคล้องกับการคาดการณ์ของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ราคาน้ำตาลในตลาดโลกน่าจะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14-15 เซนต์/ปอนด์ แต่ค่าเงินบาทยังแข็งอยู่ ทำให้การคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นต่ำลง

ด้านแหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาลกล่าวว่า ราคาอ้อยขั้นต้นน่าจะอยู่ที่ไม่เกิน 700 บาท/ตัน ในขณะที่ รมว.อุตสาหกรรมมีนโยบายจะให้ราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 1,000 บาท/ตัน “ปัญหาก็คือจะเอาเงินจากไหนมาอุดหนุนชาวไร่อีก 300 บาท/ตัน โดยไม่ผิดกฎขององค์การการค้าโลก (WTO)” ผู้ส่งออกซ้ำหยุดซื้อยาง

สำหรับสถานการณ์ยางพาราในภาคตะวันออกเฉียงเหนือขณะนี้นอกจากชาวสวนยางจะประสบภัยแล้งจนไม่สามารถกรีดยางได้ (ต้นยางไม่ผลิตน้ำยาง) แล้ว ปรากฏผู้ส่งออกยางรายใหญ่ (บริษัทวงศ์บัณฑิต-บริษัทไทยฮั้วฯ) ได้ประกาศหยุดการรับซื้อยาง ส่งผลให้ราคาน้ำยางและผลิตภัณฑ์ปรับตัวลดลงทันที ประมาณ กก.ละ 1-2 บาท โดยคาดว่าจะมาจากการที่สถาบันการเงิน

ชะลอการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ ขณะเกษตรกรกลับตั้งข้อสังเกตว่า ประเด็นนี้เป็นผลจากได้มีการสต๊อกซื้อยางไว้แล้ว จึงมีการทุบราคาลง เพื่อรอการประกาศโครงการประกันรายได้ หากราคาตลาดอยู่ที่ กก.ละ 40 บาท ลบกับราคาเป้าหมายประกันรายได้ที่ประกาศไว้ กก.ละ 60 บาท ผู้ที่นำยางไปขายจะได้รับชดเชยส่วนต่างราคา กก.ละ 20 บาท

ดังนั้นหากใครมีสต๊อกในส่วนนี้เก็บไว้ก็จะได้ประโยชน์จากราคามาก