ส่งออกข้าวไทยต่ำสุดรอบ 10 ปี จี้รัฐส่ง “พันธุ์ข้าวขาวพื้นนุ่ม” สู้ตลาดโลก

FILE PHOTO: REUTERS/ Athit Perawongmetha

ข้าวไทยวิกฤตต่ำสุดเสี่ยงส่งออกหดเหลือแค่ 4-5 ล้านตันใน 3-4 ปีข้างหน้าล่าสุด 5 เดือนแรกปีนี้ยอดตก 31% คาด”เวียดนาม” แซงไทยขึ้นแท่นเบอร์ 3ส่งออกทะลุ 7 ล้านตันเป็นปีแรก ส่วนไทยทำได้แค่ 6 ล้านตัน จากปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า บาทแข็ง-แล้งกระทบผลผลิต-ผู้นำเข้าสต๊อกเต็ม “เอกชน” จี้แก้ปัญหาพันธุ์ข้าว เสริมศักยภาพแข่งขัน ส่ง”ข้าวขาวพื้นนิ่ม” ลงสนามแข่ง

นายวัลลภ มานะธัญญา อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวในงานการประกวดข้าวเพื่อรองรับและส่งเสริมการส่งออกของตลาดข้าวโลก ประจำปี 2563 ว่า จากการติดตามประเมินสถานการณ์การแข่งขันข้าวไทยในตลาดโลกเทียบกับคู่แข่งหลัก 5 ประเทศ พบว่า การส่งออกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากปัญหาศักยภาพและคุณภาพข้าวลดลง หากไม่เร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวเพิ่มผลผลิตลดต้นทุน ขยายช่องทางการขาย คาดว่ามีโอกาสการส่งออกข้าวทั้งปี 2563 จะเหลือเพียง 6 ล้านตัน ต่ำกว่าเป้าหมายที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยวางไว้ที่ 7.5 ล้านตัน ต่ำสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 3 จากเดิมที่เป็นอันดับ 2รองจากอินเดีย ซึ่งคาดว่าจะส่งออกได้ 10 ล้านตัน และเวียดนามจะขยับจากอันดับ 3 ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 คาดว่าจะส่งออกได้ 7 ล้านตัน

จากการติดตามการส่งออกข้าวไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2561 ส่งออกปริมาณ 11 ล้านตัน ปี 2562 การส่งออกข้าวทั้งปี 7.5 ล้านตัน ขณะที่ช่วง 5 เดือน(มกราคม-พฤษภาคม) 2563 ไทยส่งออกได้เพียง 2.5 ล้านตัน ลดลง31.9% และเมื่อดูปริมาณการส่งออกรายเดือนลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยหลักมาจากราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง50-60 เหรียญสหรัฐต่อตัน

โดยหากเทียบราคาข้าวส่งออกไทยกับประเทศส่งออกข้าวอื่น พบว่าราคาข้าวที่ซื้อขายล่วงหน้า ในส่วนของข้าวขาวไทยตันละ 505-509 เหรียญสหรัฐ เวียดนามตันละ 463-467 เหรียญสหรัฐ และอินเดียตันละ 368-372 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลูกค้าย่อมเลือกสินค้าที่มีราคาถูกกว่า เพราะต้องยอมรับว่าคุณภาพข้าวประเทศคู่แข่งนั้นมีคุณภาพข้าวที่ดีขึ้นเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับไทย เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค อีกทั้งความนิยมบริโภคข้าวเปลี่ยนไป ปัญหาของโควิด-19ทำให้การแข่งขันสูงขึ้น หากทุกฝ่ายไม่ร่วมมือกันและไม่เพิ่มศักยภาพ และคุณภาพข้าวไทยให้ดีกว่าคู่แข่ง มีโอกาสที่การส่งออกข้าวไทยจะลดลงอย่างมาก

“ปริมาณการซื้อ-ขายข้าวในตลาดโลกต่อปี เฉลี่ย 44-45 ล้านตัน โดยข้าวขาวเป็นข้าวที่มีปริมาณการซื้อ-ขายกันมากที่สุด เฉลี่ยต่อปี 21 ล้านตัน และมีแนวโน้มปริมาณความต้องการก็มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าวขาวพื้นนุ่มหรือข้าวขาวพื้นนิ่ม ซึ่งขณะนี้มีประเทศที่ส่งออกข้าวกลุ่มนี้เพียงเวียดนามและปากีสถานเท่านั้น ขณะที่ข้าวขาวพื้นแข็งมีประเทศที่ส่งออก คือ ไทย เวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน และจีน แข่งขันกันมากกว่า ส่วนประเทศผู้นำเข้าข้าวขาวพื้นนุ่ม เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย จีน อินโดนีเซีย ฮ่องกง และสิงคโปร์ ซึ่งล้วนแต่เป็นตลาดสำคัญของไทย หากความต้องการมีเพิ่มขึ้น แต่ประเทศไทยไม่พัฒนาพันธุ์ข้าวตามความต้องการของตลาด ไทยก็เสี่ยงที่จะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดไปมากขึ้น และยิ่งปริมาณผลผลิตต่อไร่ของไทยน้อยส่งผลกระทบต่อราคาข้าวในตลาด ทำให้ราคาข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่งอีก หากไม่ทำอะไรเลยเชื่อว่าภาย ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า มีโอกาสที่จะเห็นการส่งออกข้าวไทยต่อปีเหลือ 4-5 ล้านตันแน่นอน”

แนวโน้มผู้แข่งขันข้าวในตลาดโลกจะมีเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน โดยเฉพาะจีนอาจกลายเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลกในอีก 3-5 ปีข้างหน้าก็เป็นได้ เห็นได้จากการที่จีนพัฒนาพันธุ์ข้าวเพิ่มขึ้น ปริมาณการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น แม้ปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกยังน้อย เช่น ปี 2561 จีนส่งออกข้าว 2.09 ล้านตัน เพิ่มเป็น 2.75 ล้านตันในปี 2562 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งที่น่าจับตา คือ ปริมาณข้าวในสต๊อกของจีนมีถึง117 ล้านตัน เพื่อการบริโภคภายในประเทศโดยจะเห็นได้ว่าปริมาณการผลิตข้าวของจีนมีปริมาณมาก โอกาสที่จะระบายข้าวออกมาในตลาดก็เป็นไปได้มากเช่นกัน

นายวัลลภกล่าวอีกว่า สิ่งที่ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันตลาดข้าวนั้น คือ การพัฒนาพันธุ์ข้าวของไทยโดยเฉพาะข้าวขาวพื้นนุ่ม การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนามแล้ว เวียดนามมีพื้นที่การเพาะปลูกข้าวเพียง 7 ล้านไร่ แต่กลับมีผลผลิต 45 ล้านตันต่อปี ขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่การเพาะปลูกข้าวอยู่ที่11 ล้านไร่ ผลผลิตมีเพียง 32 ล้านตันต่อปี ทำอย่างไรให้ผลผลิตข้าวไทยเพิ่มขึ้นลดต้นทุนการเพาะปลูก ทำให้เกษตรกรขายข้าวได้ราคาดี นอกจากนี้ยังต้องการให้มีการปรับปรุงมาตรฐานการส่งออกข้าวหอมมะลิเพื่อการส่งออกด้วย โดยจัดให้มีการตั้งหน่วยงานตรวจสอบรับรองการเพิ่มด้วย

ด้านนายสมเกียรติ มรรคยาธร เลขาธิการสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกล่าวระหว่างบรรยายเรื่อง ตลาดข้าวไทย :โอกาสและความท้าทายในตลาดโลก ว่า คาดว่าช่วงครึ่งปีหลังนี้ สินค้าเกษตรไทยมีโอกาสแย่ลง คาดว่าราคาสินค้าเกษตรอาจจะหดตัว 4.5% ได้ โดยการส่งออกข้าวในเดือนมิถุนายน 2563ไทยมีโอกาสทำได้ 450,000-500,000 ตันจากปัจจัยค่าเงินบาทแข็งค่ากระทบต่อราคาข้าวไทยในตลาดโลก ปัญหาภัยแล้งทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง ประเทศผู้นำเข้ามีสต๊อกข้าวเพียงพอแล้ว จีนมีสต๊อกข้าวเพิ่มขึ้น ประเทศคู่แข่งพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่อง เวียดนาม มีข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป และเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

“ไทยต้องปรับกลยุทธ์การแข่งขันพัฒนาช่องทางการขายรุกตลาดแพลตฟอร์มต่างประเทศ โลจิสติกส์ตอบโจทย์การบริโภคข้าวให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เน้นทำการตลาดข้าวขาวพื้นนุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว เลี่ยงการแข่งขันเรื่องราคา เน้นไปแข่งขันด้านคุณภาพมากขึ้น”