สำรวจ ห้าง-ร้านค้า ญี่ปุ่น ในประเทศไทย ตอนนี้เหลือที่ไหนบ้าง?

ภาพจากเฟซบุ๊ก Siam Takashimaya

หลังเข้ามาลงทุนในประเทศไทยยาวนาน 35 ปี ในที่สุด “ห้างโตคิว” สัญชาติญี่ปุ่น ก็ถึงคราวกล่าว “ซาโยนาระ” อำลาลูกค้าชาวไทย ด้วยการปิดสาขาสุดท้ายที่มาบุญครองในเดือนมกราคมปีหน้า โดยให้เหตุผลเรื่องกิจการย่ำแย่ จากปัญหานักท่องเที่ยวที่ลดลง ตามการรายงานของ สำนักข่าว นิคเคอิ เอเชีย

การปิดสาขาในครั้งนี้ จะเท่ากับว่ากลุ่มโตคิว ได้ถอนตัวออกจากวงการห้างสรรพสินค้าของไทยอย่างสมบูรณ์ หลังจากปิดสาขาพาราไดซ์ พาร์ค ศรีนครินทร์ ไป เมื่อปี 2562

โตคิวปิด
ภาพจากเฟซบุ๊ก Bangkok Tokyu Department Store

นอกจาก “ห้างโตคิว” ของกลุ่ม “โตเกียว กรุ๊ป” ก่อนหน้านี้ “อิเซตัน มิตสึโคชิ โฮลดิ้ง” ก็เพิ่งปิด “ห้างอิเซตัน” ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ไป เมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา เนื่องจากหมดสัญญาเช่ากับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)

หลังจาก “อิเซตัน” ผ่านร้อนผ่านหนาวจากวิกฤตต่างๆ ในประเทศไทย นานกว่า 30 ปี

ปิดห้าง อิเซตัน เซ็นทรัลเวิลด์

แต่สำหรับสาวกสินค้าญี่ปุ่น ตัวเลือกห้างและร้านค้าญี่ปุ่นในประเทศไทย ยังไม่หมดเสียทีเดียว

“ประชาชาติธุรกิจ” พาสำรวจ “ห้างและร้านค้าญี่ปุ่น” ที่ยังเปิดดำเนินกิจการในประเทศไทย ว่ามีที่ไหนบ้าง

เริ่มที่ “ห้างสยามทาคาชิมายะ” ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 บนพื้นที่โครงการไอคอนสยาม

“ทาคาชิมายะ” ซึ่งเป็นห้างเก่าแก่อายุกว่า 180 ปี ในญี่ปุ่น เข้ามาประเทศไทย ด้วยการร่วมทุนระหว่าง “กลุ่มทาคาชิมายะ” สัดส่วน 51% และ “กลุ่มไอคอนสยาม” สัดส่วน 49%

“ชิเกรุ คิโมโตะ” ประธานบริหารทาคาชิมายะ ญี่ปุ่น เผยว่า “สยามทาคาชิมายะ” ถือเป็นการขยายสาขาห้างสรรพสินค้าในเอเชียแห่งที่ 4 ของบริษัท ต่อจากสิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้ และโฮจิมินห์ โดยเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของการเติบโตของทาคาชิมายะ ญี่ปุ่น ที่ต้องการขยายสาขาในต่างประเทศ ซึ่งทาคาชิมายะเปิดในสิงคโปร์มานานกว่า 20 ปี และได้รับการตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่อง จึงตัดสินใจเปิดเพิ่มในภูมิภาคอาเซียน ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม

สยามทาคาชิมายะ มาในคอนเซ็ปต์ผสมผสานระหว่างที่สุดของห้างสรรพสินค้าในไทยและทาคาชิมายะของญี่ปุ่น โดยรวบรวม “ของดีจากแดนอาทิตย์อุทัย” มาไว้ที่นี่ ทั้งเสื้อผ้าและของใช้สุภาพสตรี เครื่องสำอาง นาฬิกา เสื้อผ้า และของใช้สุภาพบุรุษ เสื้อผ้าเด็ก ของใช้ในชีวิตประจำวัน ผลิตภัณฑ์อาหาร ไปจนถึงร้านอาหาร

รวมกว่า 530 แบรนด์ โดย 170 แบรนด์เป็นแบรนด์จากญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นสัดส่วนมากถึง 30% มากไปกว่านั้นยังมีร้านค้าที่เข้ามาขายในประเทศไทยเป็นครั้งแรกอีกกว่า 80 ร้าน บนพื้นที่ 7 ชั้น ขนาด 36,000 ตร.ม.

สยามทาคาชิมายะ
ภาพจากเฟซบุ๊ก Siam Takashimaya
สยามทาคาชิมายะ
ภาพจากเฟซบุ๊ก Siam Takashimaya
สยามทาคาชิมายะ
ภาพจากเฟซบุ๊ก Siam Takashimaya
สยามทาคาชิมายะ
ภาพจากเฟซบุ๊ก Siam Takashimaya
สยามทาคาชิมายะ
ภาพจากเฟซบุ๊ก Siam Takashimaya
สยามทาคาชิมายะ
ภาพจากเฟซบุ๊ก Siam Takashimaya
สยามทาคาชิมายะ
ภาพจากเฟซบุ๊ก Siam Takashimaya
สยามทาคาชิมายะ
ภาพจากเฟซบุ๊ก Siam Takashimaya
สยามทาคาชิมายะ
ภาพจากเฟซบุ๊ก Siam Takashimaya
สยามทาคาชิมายะ
ภาพจากเฟซบุ๊ก Siam Takashimaya

อีกแห่งคือ “ดองกี้” (ดองกิโฮเต้) ที่ซุ่มร่วมทุนกับ TOA ยักษ์ธุรกิจสี ตั้งแต่ปี 2559  เพื่อสร้างศูนย์การค้า ดองกิ มอลล์ ทองหล่อ แห่งแรกในเมืองไทย เปิดตัวเต็มรูปแบบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ไม่เพียงร้านดองกี้ที่เข้ามาเปิดในประเทศไทยครั้งแรก แต่ยังรวมถึงการขนแบรนด์สินค้า ร้านค้าต่าง ๆ จากญี่ปุ่น เข้ามาเมืองไทยด้วยเช่นกัน

ดองกิโฮเต้ เรียกได้ว่าเป็นสวรรค์ของนักช็อปอย่างแท้จริง มีสินค้าวางขายสารพัด ตั้งแต่ขนม เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า ของเล่น อุปกรณ์ดิสเพลย์ กระเป๋า รองเท้า แฟชั่นแบรนด์เนม แฟชั่นแบรนด์เนมมือ 2 สินค้าอุปโภคบริโภค หรือแม้แต่สินค้าอาหารสดและโฟรเซ่นฟู้ด

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก DON DON DONKI Thailand
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก DON DON DONKI Thailand
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก DON DON DONKI Thailand
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก DON DON DONKI Thailand
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก DON DON DONKI Thailand
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก DON DON DONKI Thailand

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร้านค้าปลีกรูปแบบดิสเคานต์สโตร์สัญชาติญี่ปุ่น “ดอง กิโฮเต้” จับมือกับกลุ่มทุน “ทีโอเอ” ของตระกูลตั้งคารวคุณ เปิดสาขาแรกในไทยเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา ที่ทองหล่อซอย 10 บนพื้นที่ 3 ไร่ ที่เดิมเป็นสำนักงานของทีโอเอ กรุ๊ป เป็นอาคารสูงทั้งหมด 6 ชั้น มีพื้นที่รวมกว่า 27,000 ตร.ม. คิดเป็นพื้นที่รีเทล 10,000 ตร.ม.

ประกอบไปด้วย ร้านค้า ร้านอาหาร คาเฟ่ คาราโอเกะ สวนสนุก สปอร์ตเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ฯลฯ และ ร้านดองกิโฮเต้ หรือ ร้าน “ดอง ดอง ดองกิ” ที่เป็นชื่อเรียกในไทย และประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน อีก 2,500 ตร.ม.

โดยศูนย์การค้าดองกิ มอลล์ ทองหล่อ มีมูลค่าการลงทุนรวม 700 ล้านบาท ระยะแรกเป็นการร่วมทุนระหว่าง 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท แพน แปซิฟิค อินเตอร์เนชันแนล โฮลดิงส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มดองกิโฮเต้ สำนักงานใหญ่ ประเทศสิงคโปร์ ถือหุ้น 49% บริษัท ทีโอเอ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 40% และบริษัท พี พี ไอ จำกัด ถือหุ้น 11%

อย่างไรก็ตาม เมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่า แพน แปซิฟิค อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้งส์ ได้เพิ่มทุนในบริษัทย่อย บริษัท ดองกิ ทองหล่อ จำกัด ผู้บริหารร้านดอง ดอง ดองกิ ในไทย เปิดทางให้กลุ่มสหพัฒน์ นำโดยบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เข้าไปถือหุ้นในสัดส่วน 22% หรือ 99,000 หุ้น

ขณะที่บริษัท ทีโอเอ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ลดสัดส่วนการถือหุ้นลงมาอยู่ที่ 18% หรือ 81,000 หุ้น ส่วนบริษัท พี พี ไอ จำกัดที่เป็นบริษัทลูกของแพน แฟซิฟิคฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 60% หรือ 270,000 หุ้น

หลังจากมีการร่วมทุนกับเครือสหพัฒน์ ได้มีการปรับเปลี่ยนชื่อและโลโก้อย่างเป็นทางการ พร้อมขยายสาขา 2 ที่ เดอะ มาร์เก็ต สี่แยกราชประสงค์

นอกจากนี้ บริษัทยังมองหาทำเลในการเปิดสาขาใหม่ๆ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ และ ระยอง รวมถึงในกรุงเทพฯ ตั้งเป้าว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะขยายครบ 20 สาขา เป็นสาขา “ดองกิโฮเต้” 15 สาขา และ ธุรกิจรูปแบบใหม่อีก 5 สาขา