เงินเยียวยา: แรงงานแต่ละกลุ่ม แต่ละจังหวัด รับเงินวันไหนบ้าง เช็กที่นี่

ตรวจสอบวันรับเงินเยียวยา

ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 39 และ 40 ที่ได้รับเงินเยียวยาจากภาครัฐ ตรวจสอบรายละเอียดการรับเงินได้ที่นี่

วันที่ 3 สิงหาคม 2564 กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนประกันสังคม มาตรา 33 39 และ 40 ได้รับเงินเยียวยาจากการที่ภาครัฐมีมาตรการยกระดับคุมเข้มการระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ 13 จังหวัดสีแดงเข้ม

“ประชาชาติธุรกิจ” สรุปรายละเอียดว่า แรงงานแต่ละกลุ่มและแต่ละจังหวัด ได้รับเงินเยียวยาวันไหนบ้าง ดังนี้

ผู้ประกันตนตามมาตรา 33

ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (พนักงานเอกชนทั่วไป ลูกจ้างที่ยังทำงานในสถานประกอบการที่มีนายจ้าง) ที่จะได้รับการเยียวยา เป็นเงิน 2,500 บาท โอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนเท่านั้น

ส่วนนายจ้างจะได้รับการเยียวยา ตามจำนวนลูกจ้าง หัวละ 3,000 บาท สูงสุดลูกจ้างไม่เกิน 200 คน โดยนายจ้างบุคคลธรรมดา จะได้รับเงินโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนเช่นกัน นายจ้างสถานะนิติบุคคล จะโอนเข้าบัญชีธนาคารตามชื่อนิติบุคคล

ใน 13 จังหวัดสีแดงเข้ม ได้แก่ กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี และฉะเชิงเทรา

ใน 9 ประเภทกิจการ ได้แก่ 1.ก่อสร้าง 2.ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 3.ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ 4.กิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ 5.การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ 6.การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 7.ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 8.กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ และ 9.กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะทำการโอนให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ได้รับสิทธิในวันที่ 4-6 สิงหาคม 2564 เฉพาะ 10 จังหวัด จำนวนผู้ประกันตนกว่า 2.87 ล้านราย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานเร่งรัดขยับเวลาการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ประกันตนไม่ให้เกินวันที่ 6 สิงหาคม 2564 โดยจะเริ่มทยอยจ่ายตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคมนี้ ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะระบบการโอนผ่านพร้อมเพย์สามารถดำเนินการได้วันละ 1 ล้านบัญชีเท่านั้น

“ผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยามีจำนวน 2.87 ล้านคน จะต้องใช้เวลาถึง 3 วันจึงได้สามารถโอนได้ครบภายในกำหนดเวลาวันที่ 6 สิงหาคม ตามเจตนารมณ์ ของนายกรัฐมนตรี และจะทยอยโอนครั้งต่อไปให้กับนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ทุก ๆ วันศุกร์ จนถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2564”

ส่วนอีก 3 จังหวัดที่เหลือ ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และ พระนครศรีอยุธยา จะโอนเงินในวันที่ 9 สิงหาคมนี้ ให้ลูกจ้างผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนเท่านั้น ส่วนนายจ้างบุคคลธรรมดา จะโอนเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนเช่นกัน และนายจ้างสถานะนิติบุคคล จะโอนเข้าบัญชีธนาคารตามชื่อนิติบุคคลนายจ้าง

ผู้ประกันตนตามมาตรา 39-40

ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (ผู้ประกันตนที่ลาออกจากพนักงานเอกชนแล้ว) และ 40 (อาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ ค้าขาย) ในพื้นที่ที่ระบาดหนัก 13 จังหวัด (กทม. ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และพระนครศรีอยุธยา) จะได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท

รมว.แรงงานกล่าวว่า ในวันจันทร์และอังคารนี้ (2-3 ส.ค.) จะนำยอดไปให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เพื่อผ่านกระบวนการการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณาโครงการเงินกู้ร่วมกับกระทรวงการคลัง เมื่อประชุมเสร็จ จะนำยอดเงินเข้า ครม. อย่างเร็วน่าจะวันอังคารที่ 10 สิงหาคมนี้

หลังจากผ่าน ครม. แล้วสภาพัฒน์ และสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง จะโอนเงินให้ประกันสังคม และคาดการณ์ว่า จะจ่ายเงินให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 และ 40 ใน 13 จังหวัด วันที่ 24 สิงหาคมนี้

เคาะเพิ่มอีก 16 จังหวัด

วันที่ 3 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงาน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติจ่ายเงินเยียวยาประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 30 ขยายจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เป็น 29 จังหวัด หรือเพิ่มจากเดิมอีก 16 จังหวัด จำนวน 1 เดือน สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวน 360,000 คน และผู้ประกอบการ 30,000 ราย

นอกจากนี้ยังเยียวยา 13 จังหวัดเดิมอีก 1 เดือน รวมเป็น 2 เดือน (ก.ค.-ส.ค.) แหล่งเงินงบประมาณจากพ.ร.ก.กู้เงิน เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท รวมจำนวน 60,000 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 30,000 ล้านบาท

สำหรับคำสั่งขยายพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม เดิมมี 13 จังหวัด คือกรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, พระนครศรีอยุธยา, นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา สงขลา

ขณะที่ 16 จังหวัดที่เพิ่มใหม่ คือ กาญจนบุรี, ตาก, นครนายก, นครราชสีมา, ประจวบคีรีขันธ์, ปราจีนบุรี, เพชรบุรี, เพชรบูรณ์, ระยอง, ราชบุรี, ลพบุรี, สิงห์บุรี, สมุทรสงคราม, สระบุรี, สุพรรณบุรี, อ่างทอง, รวมมีพื้นที่สีแดงเข้มทั้งหมด 29 จังหวัด