ทุนไทยลุย “เวิลด์ เอ็กซ์โป” “ชายสี่ฯ-เซนทารา” ปักธงดูไบ

นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบจนทำให้ “ดูไบ” ต้องเลื่อนการจัดงาน World Expo 2020 ออกมา 1 ปี เป็น 2021 ถึงวันนี้ดูไบมีความพร้อมมาก ในการเปิดรับทั่วโลกเข้าประเทศในวันที่ 1 ตุลาคมนี้

วัคซีน 90%

นายปณต บุณยะโหตระ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคต.) ดูไบ หรือทูตพาณิชย์ดูไบ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ดูไบมีความพร้อมในการเปิดงาน World Expo 2021 ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้มาก ปัจจุบันประชาชน 10 ล้านคน เข้าถึงวัคซีนเข็ม 2 ไปแล้ว 90% โดยหลักที่นี่จะฉีดซิโนฟาร์มเพราะดูไบร่วมผลิตกับทางจีน

 

และล่าสุดหลังจากครบเข็ม 2 มีกำหนดให้ประชาชนฉีดวัคซีนเข็มที่ 3-4 เป็นไฟเซอร์ และยังได้มีการดูแลถึงพนักงานและเจ้าหน้าที่ต่างชาติที่ประจำในดูไบด้วย

พร้อมกันนี้มีการตรวจสอบโดยใช้วิธี PCR ให้กับประชาชน เฉลี่ยคนละ 7 ครั้ง หรือประมาณ 70 ล้านครั้ง โดยมาตรการสำคัญเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดทั้งการตรวจสอบด้วย PCR การเว้นระยะห่าง ยังดำเนินการอยู่ แม้ว่าทุกคนจะกลับมาใช้ชีวิตปกติเกือบหมดแล้ว

เศรษฐกิจฟื้น 3.2%

“อาจกล่าวได้ว่าตั้งแต่มีโควิดมา ที่ดูไบได้มีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เข้มข้นไปเพียงแค่ 1 ครั้ง ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 ซึ่งจะห้ามออกจากบ้านเลย ถ้าจะออกจากบ้านต้องขออนุญาตผ่านแอปพลิเคชั่นให้ไปเฉพาะซื้ออาหาร แต่ปัจจุบันจำนวนคนติดก็ยังเยอะ เคยขึ้นสูงสุด 5-6 พันคน แต่ด้วยเหตุที่มีการฉีดวัคซีนไปเกือบครบแล้ว จึงไม่ได้มีการใช้มาตรการอีก”

“ดูไบ” มีความจำเป็นจะต้องรีบเปิดประเทศให้เร็วที่สุด เพราะอย่างที่ทราบกันดี เศรษฐกิจของดูไบพึ่งพารายได้จากการที่นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจที่มางานแฟร์ เพราะที่นี่ถือเป็นประเทศ “Exhibition City”

ในกลุ่มคาบสมุทรอ่าวอาหรับ (GCC) รัฐบาลดูไบจึงมีนโยบายที่จะพลิกฟื้นประเทศกลับมาให้เร็วที่สุดหลังสถานการณ์คลี่คลาย จึงได้วางมาตรการทุกอย่างทั้งตรวจ ฉีดวัคซีน

“จีดีพีปีก่อนลดลง 6.3% เพราะรายได้หลักพึ่งพานักท่องเที่ยวและนักธุรกิจ เช่น ตลาดทองเก่าแก่ 70-80% ที่ขายเป็นคนอินเดียที่เดินทางเข้ามาไม่ได้ ส่วนปีนี้จีดีพีที่ประเมินตอนต้นปี 2.6% แต่ปัจจุบันคาดว่ารายได้จากงานนี้จะหนุนให้ขยายตัว 3.0-3.2%”

มาตรการดูแล COVID

ภายในงานเวิลด์เอ็กซ์โปจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึง 31 มีนาคม 2565 กินเวลา 6 เดือน จะถือเป็นงานแสดงสินค้างานแรกที่จัดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชียใต้

มีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าชมงาน ประมาณ 20 ล้านคน จากมีผู้เข้าเยี่ยมชมประมาณ 60 ล้านคน แต่ละประเทศจะถูกกำหนดให้มีพาวิลเลี่ยนของประเทศเลย ทำให้ปีนี้มีจำนวนพาวิลเลี่ยนมากที่สุด เป้าหมายเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์และวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ

ในส่วนของ “ไทยพาวิลเลี่ยน” ปีนี้มีขนาดใหญ่มาก ทาง “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” เป็นเจ้าภาพมาตรการดูแลความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดในงานแสดงสินค้าในดูไบ ไม่เฉพาะแต่งานนี้ ได้มีการกำหนดมาตรการ เช่น การเว้นทางเดินกว้างมากขึ้น กำหนดขนาดบูทใหม่ เช่น ขนาด 4×4 ตร.ม. เข้าไปอยู่ได้หนึ่งคนเท่านั้น นั่นแสดงว่าตัวบูทก็จะต้องใหญ่ขึ้น

ส่วนผู้ที่จะเดินทางเข้าดูไบ หากมาจากเมืองไทยก็ต้องมีผลตรวจ PCR แต่พอลงจากสนามบินก็ไม่ต้องกักตัว (เว้นที่มาจากบางประเทศ เช่น อินเดีย) ฉะนั้น นี่จึงทำให้เขาฟื้นเศรษฐกิจได้เร็วมาก ซึ่งหลังสิ้นสุดงาน พื้นที่จัดแสดงงานนี้ถูกพัฒนาเป็น “มิกซ์ยูส” ทั้งที่ที่จัดแสดงสินค้า ที่อยู่อาศัย และออฟฟิศ เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต ในชื่อ “distric 2020” อยู่ในโซนดูไบเซาท์ ติดท่าอากาศยานใหม่ เชื่อมต่ออีกฝั่งหนึ่งที่เป็นท่าเรือถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญเลย

โปรโมตอาหารไทยสู่โลก

“มีคนมาร่วมงาน 15-20 ล้านคน ไทยใช้ประโยชน์ตรงนี้ได้อย่างไร นี่คือโจทย์ที่ทางสำนักงานมอง นำมาสู่แผนการจัดกิจกรรม Top Thai Brands ตั้งเป้านำแบรนด์ไทยมาจัดแสดงแบบคู่ขนาน 40 บริษัท”

ส่วนที่ 2 การสร้างโอกาสทางการค้าให้กับ “บริการ” จากการที่คนจากทั่วโลกมา เรามีโอกาสที่จะ promote เครื่องหมาย Thai Select ได้ ซึ่งภายในไทยพาวิลเลี่ยนจะมีร้านอาหารไทย

นายปณตเล่าว่า ในดูไบมีร้านอาหารไทยที่ได้รับการรับรอง Thai Select 16 ร้านจาก 80 ร้าน แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมา ซึ่งนักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางไปเมืองไทยได้ ดังนั้น เราตั้งเป้าว่าในช่วงระหว่างงานเอ็กซ์โปจะส่งเสริมให้ได้ 20 ร้าน

‘ชายสี่หมี่เกี๊ยว’ บุก

ธุรกิจบริการของไทยเป็นธุรกิจที่มีจุดแข็งมากที่นี่ โดยร้านที่ดังที่สุดน่าจะเป็น “ชายสี่หมี่เกี๊ยว” ที่ได้เข้ามาทำตลาดในไทยมาร์ทที่บาห์เรนก่อน โดยการขายบะหมี่ไก่แดงไม่ใช่หมูแดง ข้าว และมีชาไข่มุก กำลังจะมาเปิด “แฟลกชิป” สาขาแรกที่ยูเออี ในเดือนพฤศจิกายนนี้

แผนการลงทุนชายสี่ฯ จะมีครัวกลางที่นี่ และจะลงทุนพัฒนาโรงงานเพื่อผลิตและขายวัตถุดิบ เช่น เส้น ผงซุปให้กับซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะมีเป้าหมายคือ คนจีน และคนฟิลิปปินส์ 1,000,000 คน อีกทั้งมีแผนจะขายแฟรนไชส์ โดยตั้งเป้าไว้ว่าอย่างน้อย 4 สาขาในปีหน้า

ไม่เพียงเท่านั้น ปัจจุบันมีร้านอาหารลิตเติ้ลแบงคอก ซึ่งเป็นของไทย มีครัวกลาง มี 6-7 สาขา ใหญ่ที่สุดในดูไบ และจะขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ในกลุ่ม GCC ด้วย นอกจากนี้ก็มีกลุ่มอเมซอนที่มาเปิดที่โอมาน เพราะมีการลงทุนร่วมกับพาร์ตเนอร์ โอมานออยล์

“แนวโน้มธุรกิจอาหารไปได้ดีมากในตลาดตะวันออกกลาง ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากร้านไทยซีเล็ค ทาง สคต.ก็กำลังทำโปรโมตให้กับร้านอาหารในเดือนกันยายนนี้ ผ่านทางทุกสื่อซึ่งจะเห็นว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความนิยมร้านอาหารไทยมากขึ้น คนไปเที่ยวเมืองไทยเยอะ รู้จักเมืองไทย มีคนมาสมัครเข้ารับรองเครื่องหมายไทยซีเล็คมากขึ้น และมีการปรับขยายหมวดหมู่ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น”

Thai souk ค้าปลีกไทย

ในส่วนของธุรกิจค้าปลีก “ไทยมาร์ท” เปิดที่บาห์เรน ซึ่งประสบความสำเร็จมาก มีร้านค้าของไทยที่เปิดจำนวนมาก จึงได้ขยายมาเปิดมาร์ท ชื่อ “Thai souk” ในทำเลที่เป็นเหมือนเยาวราช ซึ่งเรียกว่า ปาล์มเดียร่า (plam dira) เป็นเมืองเก่าที่มาจากการถมเกาะพัฒนาใหม่ ช่วยรองรับผู้ประกอบการรายเล็กรายจิ๋วให้สามารถที่จะมาเปิดร้านอาหารได้ รองรับได้ประมาณ 80 ราย

และตอบรับการปรับกฎหมายลงทุน ซึ่งเดิมบริษัทที่จะมาลงทุนต้องมีคนท้องถิ่นถือหุ้น 51% แต่กฎหมายใหม่อนุญาตให้เราถือหุ้นเป็นเจ้าของได้ 100% ในธุรกิจเป้าหมาย เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับนวัตกรรม ยกเว้นเฉพาะบางธุรกิจที่มีความอ่อนไหวสูง เช่นที่เกี่ยวข้องกับอาวุธ หรือศาสนา การเงิน

“ที่นี่สนใจดึงการลงทุนสตาร์ตอัพในเทคโนโลยีใหม่ เช่น ก็จะมีการให้ฟรีวีซ่า ดึงครีเอทีฟอีโคโนมี ประเทศที่มีน้ำมัน แต่มีการพัฒนาการลงทุนโซลาร์ฟาร์มที่ใหญ่ที่สุด เค้าไม่ใช่แค่รวย แต่ยังมีแผนที่ชัดเจน”

ทุนโรงแรมบุก

ธุรกิจบริการที่ไทยมีจุดแข็งมาก ๆ อีกอย่าง คือ “โรงแรม” ซึ่งในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ทางโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ มิราจ จะเปิดบริการโรงแรมขนาด 600 ห้องที่ปาล์มเดียร่าเช่นกัน เป็นการวางแผนเพื่อรับงานเวิลด์เอ็กซ์โป

จากก่อนหน้านี้มีธุรกิจโรงแรมจากไทยเข้ามาแล้วหลายแห่ง คือ ดุสิตธานี ดุสิตดีทู เซ็นทารา อนันตรามี 2 แห่งทั้งอาบูดาบีและดูไบ รวมถึงร้านอาหารภายในโรงแรมก็ได้รับความนิยมมาก

ส่งออกคึกคักรอบ 4 ปี

แน่นอนว่าผลพวงจากเศรษฐกิจฟื้น ทำให้ภาพรวมการส่งออกทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง 15 ประเทศกลับมาคึกคัก โดยเฉพาะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคมีสัดส่วน 30% ซึ่งคาดว่าทั้งปีจะเติบโต 10-12% จากภาพรวมล่าสุดช่วง 7 เดือนแรกขยายตัว 17.66% ปัจจัยหลักมาจากสินค้าส่งออกเบอร์ 2 คือ อัญมณีและเครื่องประดับฟื้นกลับมาขยายตัวถึง 48.97%

และแม้ว่าสินค้าหลักเบอร์ 1 สัดส่วน 93-94% คือ กลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบ ยังคงติดลบ 0.2% แต่ก็ยังมีสินค้าไม้ สำหรับใช้ในโครงการก่อสร้าง คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์และส่วนประกอบ โทรศัพท์มือถือผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์ ตู้เย็นตู้แช่ เป็นต้น

ที่สำคัญ สคต.ได้เข้าร่วมงานแฟร์ถึง 5 งาน และปรับโฉมงานออกในลักษณะ mirror and mirror การนำสินค้ามาแสดงจัดให้มีการเจรจาผ่านระบบซูม ทำให้ผู้ซื้อเห็นสินค้าไม่ต้องเดินทางและสามารถเจรจาธุรกิจได้ ถือเป็นการมาถูกทาง

เช่น งานแสดงสินค้าหลักอย่าง “Gulfs food” ใช้วิธีนี้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานถึงครึ่งหนึ่ง หรือล่าสุด งาน Construction จัดเพียง 4 วัน มีคนซูมเจรจาถึง 163 คน ซึ่งหลังจากนี้ยังมีงาน Beauty World เป็นงานคอสเมติกที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคจะจัดในเดือนนี้ และสุดท้ายเดือนธันวาคมจะมีงานอะไหล่รถยนต์


“ภาพรวมทั้งปี ยูเออีอย่างน้อยต้องโต 10-12% ซึ่งจะเป็นการเติบโตครั้งแรกในรอบ 4 ปี จากที่เจอปัญหาเศรษฐกิจไม่ดีจากเรื่องอสังหาริมทรัพย์ในดูไบดิ่งเหว จากนั้นก็มาเจอโควิด ราคาน้ำมันลดลง ซึ่งกระทบรายได้สัดส่วน 7% ของดูไบ แต่กระทบอาบูดาบีสัดส่วน 60-70% แต่มาตอนนี้เศรษฐกิจดี ราคาอสังหาฯดีกว่าตอนก่อนโควิด และการเริ่มพลิกฟื้นรีสตาร์ตได้เร็วก่อนคนอื่น ยิ่งเป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจโต และมีแนวโน้มดีต่อเนื่องไปถึงปีหน้า”