ไว้อาลัยตำนานคอลัมนิสต์กอสซิป “ลัดดาซุบซิบ” แถมสิน รัตนพันธ์ วัย 92 ปี

สิ้นลัดดาซุบซิบ

เช้าวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 รศ.ต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเสียใจและขอไว้อาลัยกับผู้ใหญ่ที่สนิทและนับถือ “แถมสิน รัตนพันธ์” เจ้าของนามปากกา “ลัดดาซุบซิบ” ความว่า

อาลัย พี่แถมสิน รัตนพันธ์ ( ลัดดา ซุบซิบ) และขอแสดงความเสียใจกับพี่ลัดดา รัตนพันธ์ ด้วยครับ

พี่แถมสินจากไปอย่างสงบด้วยอายุ 92 ปี ตอนครบ 87 ปีพี่ยังเดินเหินได้โดยไม่ต้องใช้รถเข็น

ผมรู้จักพี่แถมสิน ตอนที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รุ่นแรกด้วยกัน กลายเป็นคู่หู เพื่อนต่างวัย ต่างกันเกือบ 20 ปี

ได้รับฟังเรื่องราวต่างๆ ที่ล้วนตื่นเต้นจากปากผู้อาวุโส ผ่านร้อนผ่านหนาว มาหลายยุคหลายสมัย พี่แถมสินเป็นคนที่ได้เจอเหตุการณ์ร้ายแรงเฉียดตาย แต่จะผ่านรอดชีวิตมาได้ตลอด นับตั้งแต่ตอนหนุ่มๆรถคว่ำไฟไหม้ทั้งคัน พี่ก็คลานรอดออกมาได้คนเดียว

ตอนอายุ 80 สุขภาพแข็งแรงได้รับเชิญไปตรวจด้วยเครื่องสแกนคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ของ รพ. กรุงเทพ ได้ตรวจทั้งร่างกาย ผลออกมาปรากฏว่าเจอมะเร็งในเม็ดโลหิต โดยไม่เคยมีอาการมาก่อน ตอนนั้นมีผู้ใหญ่มาเยี่ยมที่บ้าน กันยกใหญ่ นึกว่าคงไม่รอดแล้ว ผมก็ไปเยี่ยม ปรากฏว่าในที่สุดรักษาหายได้เพราะเจอเร็ว

เมื่อวานนี้ ( 3 พฤศจิกายน ) พี่แถมสินได้จากไปอย่างสงบ ไปสบายแล้ว

กำหนดการพิธีสวดพระอภิธรรม นายแถมสิน รัตนพันธ์ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม ศาลา 9 ระหว่างวันที่ 4-8 พฤศจิกายน 2564 เวลา 18.00 น. วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 รดน้ำศพ เวลา 16.30 น. พระราชทานเพลิงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 เวลา 17.00 น. .(วันที่ 9 เว้น เนื่องจากมีกฐินพระราชทาน)

เมื่อพลิกแฟ้มบุคคล ระบุว่า แถมสิน รัตนพันธ์ เกิดวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2472 ณ จังหวัดพัทลุง เป็นบุตรของ ร้อยตรีถัด รัตนพันธุ์ (ผู้ร่วมก่อการกบฏ ร.ศ. 130, อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุงคนแรก ที่ได้รับเลือกตั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2477, อดีตเลขานุการของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม สมัยที่เป็นรมว.กระทรวงมหาดไทย, อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ศรีกรุง และสยามราษฎร์) และ นางแส รัตนพันธุ์ (สกุลเดิม ณ พัทลุง) หลานสาวของพระยาโสภณพัทลุงกุล อดีตเจ้าเมืองพัทลุงคนสุดท้าย มีพี่น้อง 4 คน คือ แถมศรี, แถมสิน,แถมสุข และแถมสร้อย

ชีวิตครอบครัวของแถมสิน สมรสกับ ลัดดา รัตนพันธุ์ มีบุตรชาย 1 คนคือ สิน รัตนพันธุ์ นักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ปัจจุบันอาศัยอยู่ในบ้านพักย่านถนนอรุณอมรินทร์ กรุงเทพฯ

วัยเด็กเรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินี ต่อด้วยโรงเรียนอำนวยศิลป์ ปี 2483-2485 ชื่อรุ่นว่า “ลมหวน” เป็นเพื่อน 2 อดีตนายกรัฐมนตรีคือ อานันท์ ปันยารชุน – พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ พร้อมรัฐมนตรี และบุคคลที่มีชื่อเสียงอีกหลายคน

แถมสิน เริ่มงานนักหนังสือพิมพ์ และนักเขียน ตั้งแต่ปี 2496 เป็นผู้สื่อข่าว หัวหน้าข่าวกีฬาและบันเทิง คอลัมนิสต์ และหัวหน้ากองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ มากกว่า 15 ฉบับ ผลงานสร้างชื่อคือ การเขียนข่าวในวงสังคม ผ่านคอลัมน์ “ลัดดาซุบซิบ” ในหนังสือพิมพ์เสียงอ่างทอง (สมัยกำพล วัชรพล เจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ) เมื่อปี 2502 เนื่องจากรู้จักบุคคลชั้นสูงหลายวงการและเป็นคนช่างสังเกต จึง “รอบรู้” ทุกเรื่องเกี่ยวกับแต่ละบุคคล

ทั้งเคยเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี, รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, เลขานุการ มท.1, เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี 2516 , สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย, กรรมการและรักษาการผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทยและเกษียณในตำแหน่ง ผู้ตรวจการรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม

รวมทั้งเป็นประธานชมรมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อาวุโสปี 2559, อาจารย์พิเศษ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.) และ ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.) รวมถึง วุฒิบัตรวิชาการบริหารหนังสือพิมพ์ระดับอำนวยการ จากสถาบันหนังสือพิมพ์นานาชาติ กรุงเบอร์ลิน โดยทุนรัฐบาลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ปี 2516-2517, วุฒิบัตรหลักสูตรนักบริหารระดับอธิบดี รุ่นที่ 24 ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, วุฒิบัตรหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สำหรับนักบริหารระดับสูง (ป.ป.ร.) รุ่นที่ 7 จากสถาบันพระปกเกล้า และ วุฒิบัตรหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 7 สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.)

ได้รับรางวัลโล่พระราชทาน ผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทยยอดเยี่ยม จากในหลวง รัชกาลที่ 10 เมื่อปี 2519, รางวัลเกียรติคุณ “นราธิป” ของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยปี 2552, โล่รางวัลนักหนังสือพิมพ์ยอดเยี่ยม ของสมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยปี 2553 และ รางวัลนักเรียนเก่าดีเด่น โรงเรียนราชินี ปี 2552

มีผลงานหนังสือ 6 เล่ม เช่น ลัดดาครอบสังคม, ลัดดาเอ็กซคลูซีฟ, ทระนง-คนหนังสือพิมพ์, ใต้ละอองธุลีพระบาท, ลึก(ไม่)ลับกับลัดดา และ ใกล้เบื้องพระยุคลบาท ซึ่งทำสถิติขายดี ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เมื่อปี 2549 สำนักพิมพ์ต้องจัดพิมพ์ใหม่ถึง 38 ครั้ง ในเวลาเพียง 2 ปี

ช่วงหลังสุด แถมสิน เป็นผู้ผลิตรายการ “สุดสัปดาห์กับลัดดาซุบซิบ” ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมทีเอ็นเอ็น (TNN 24) หรือ ช่องทรูวิชั่นส์ 7 ซึ่งมีเรตติ้งดีมาก

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า บุคลิกของแถมสินมีความโดดเด่น โดยเฉพาะท่วงท่าการเดิน การพูดที่มีลักษณะเฉพาะตัว มีคำคม ลูกล่อลูกชน เรียกความสนใจและความฮาจากวงสนทนามาตลอด

ส่วนตัวเป็นคนประหยัดมัธยัสถ์ รู้จักใช้เงิน ไม่สุรุ่ยสุร่าย ชอบดื่ม ชอบกินของอร่อย และรู้จักร้านอาหารในตำนานหลายแห่งทั่วกรุงเทพฯ และทั่วประเทศ

ด้วยความรอบรู้เรื่องอาหารการกิน นอกเหนือจากเรื่องส่วนตัวของบุคคลในวงสังคมแล้ว แถมสิน ยังเป็นกูรูแนะนำร้านอาหารและเมนูเด็ดในสไตล์คนรุ่นเก่าด้วย หรือนักรีวิวก่อนเกิดโลกโซเชียล

ครั้งหนึ่ง “แถมสิน” แนะว่า ถ้าชอบกินหมูสะเต๊ะ แถมด้วย “ตับสะเต๊ะ” จะสั่งมาให้กิน แต่จะไม่บอกว่า ร้านไหน ขอเป็น “ความลับ” เพื่อว่า ถ้าอยากกินอีก จะได้นึกถึงเขา

เมื่อ “ประชาชาติธุรกิจ” ตื๊ออยากรู้ชื่อร้าน ท่านก็แอบบอกด้วยสไตล์เสียงกระซิบ และทำมือจุ๊ ๆ

“บอกให้ก็ได้ แต่อย่าดังนะ ร้านนี้ชื่อ ชองกี่ หมูสะเต๊ะ มีตับสะเต๊ะด้วย อยู่ตรอกโรงหมู (ซอยสุกร 1) ตลาดน้อย มีอะไรให้โทรไปก่อน เขาทำไม่เยอะ”

นี่คือความทรงจำ ประสบการณ์ตรง ที่ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสได้เรียนรู้ และร่วมนั่งกินดื่มในบ่ายวันทำงาน ย่านถนนพระอาทิตย์ ที่ลัดดาซุบซิบทิ้งท้ายว่า

“แถวนี้มีเสน่ห์ เหมาะกับคนยุคผม เลยขอนัดเลี้ยงกาแฟ (คาปูชิโน่) กับกระจอกข่าวสาวสักหนึ่งแก้ว คงจะยินดีนะคร้าบ”

วันนี้สิ้นเสียงเสน่ห์และการเล่าเรื่องที่แสนสนุก ลุ่มลึกของคอลัมนิสต์เบอร์ต้น ๆ ผู้สร้างตำนาน “คอลัมน์ซุบซิบ” ในวงสังคมไทยไปแล้ว


แต่เชื่อว่า งานเขียนในรูปแบบพ็อกเก็ตบุ๊ก ยังคงดำรงอยู่ และคงได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้ง เพื่อย้อนความทรงจำ และรำลึกถึงชีวิตของคนวัย 92 ปีที่มีอะไรให้ค้นหาไม่สิ้นสุด