สิงคโปร์สวนทางโลก ไร้คุมเข้มโอไมครอน ใช้ชีวิตร่วมโควิดกลายพันธุ์

REUTERS/Caroline Chia

เชื้อโควิดกลายพันธุ์ “โอไมครอน” ที่สร้างความปั่นป่วนให้กับหลายชาติทั่วโลกต่างยกระดับมาตรการคุมเข้มการเดินทาง ไปจนถึงการปิดประเทศอย่าง ญี่ปุ่น และอิสราเอล ทว่า “สิงคโปร์” กลับมีมาตรการเพียงแค่เพิ่มการตรวจคัดกรองเชื้อที่สนามบินเท่านั้น แม้ยืนยันพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนแล้ว 2 ราย ที่เป็นนักเดินทางจากแอฟริกาใต้ แวะเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินชางงี

วันที่ 2 ธันวาคม 2564 สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน ว่า แอชลีย์ เซนต์. จอห์น รองศาสตราจารย์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยา จากวิทยาลัยการแพทย์ Duke-NUS แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า เชื้อกลายพันธุ์โอไมครอน จะถูกกักกันได้และมีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายไปทั่วโลก แม้บรรดาชาติต่างๆ จะออกมาตรการคุมเข้มจำกัดการข้ามพรมแดน หรือเพิ่มการตรวจคัดกรองเชื้อก็ตาม

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า กุญแจความสำเร็จของสิงคโปร์ที่สามารถควบคุมความรุนแรงของโควิดได้ในทันทีคือ อัตราการ”ฉีดวัคซีน”ที่สูงสุดในโลก ซึ่งนั่นได้ปกป้องระบบสาธารณสุขของประเทศไม่ให้รับภาระหนัก นั่นทำให้สิงคโปร์สามารถผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว

REUTERS/Edgar Su/File Photo

เศรษฐกิจของสิงคโปร์พึ่งพิงการค้าและการขนส่งเป็นหลัก โดยก่อนหน้าช่วงที่ทั่วภูมิภาคกำลังเผชิญการระบาดของเชื้อเดลต้า สิงคโปร์สวนทางด้วยความพยายามเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการหลายอย่าง ถือเป็นเพียงไม่กี่ชาติในแถบเอเชียแปซิฟิกที่ใช้มาตรการสวนทางหลายชาติ ที่ต่างพยายามปิดกั้นไวรัส

สอดคล้องกับ “อุย เง็ก ออง” ศาสตราจารย์ด้านโรคติดเชื้ออุบัติใหม่จากสถาบันเดียวกันมองว่า ไม่ง่ายที่จะพยายามจำกัดการแพร่กระจายของเชื้อโอไมครอนให้อยู่ในวงจำกัด “หากโอไมครอนสามารถแพร่ได้ง่ายเช่นเชื้อเดลต้า มีแนวโน้มว่าเชื้อกลายพันธุ์ชนิดนี้ จะแพร่ไปได้ทั่วโลกแม้จะมีมาตรการเข้มข้ามพรมแดน แต่ทำให้ไวรัสแพร่เชื้อได้ช้าลงเท่านั้น”

ออง กล่าวอีกว่า การฉีดวัคซีนยังคงเป็นวิธีการป้องกันเชื้อที่ดีที่สุด แม้ประสิทธิภาพในการป้องกันโอไมครอนจะลดลง แต่การสร้างภูมิคุ้นกันหมู่มีแนวโน้มช่วยป้องกันไม่ให้การติดเชื้อลุกลามกลายเป็นโควิดที่รุนแรงได้

โดยปัจจุบันมากกว่า 85% ของประชากรสิงคโปร์ที่มีราว 5 ล้าน เข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิดอย่างครบถ้วน ขณะที่ยอดการติดเชื้อรายใหม่มีความเสถียร รัฐบาลจึงอนุญาตให้ครัวเรือนต่าง จับกลุ่มรับประทานอาหารในร้านได้กลุ่มละ 5 คน ทั้งยังค่อยๆ ขยายมาตรการเดินทางเข้าสิงคโปร์โดยไม่ต้องกักตัว ภายใต้เงื่อนไข Vaccinated Travel Lane (VTL) ซึ่งสำหรับประเทศไทย สามารถเดินทางเข้าสิงคโปร์ด้วยวิธี VLT ตั้งแต่ 14 ธ.ค. นี้เป็นต้นไป

“หากโอไมครอนถูกพบในสิงคโปร์ ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่เชื้อกลายพันธุ์ดังกล่าวจะเป็นอีกหนึ่งบททดสอบการแก้ปัญหาของรัฐบาล การตัดสินใจว่าจะล็อกดาวน์หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถของโรคพยาบาล และระบบอำนวยการรักษาผู้ติดเชื้อ ซึ่งระบบสาธารณสุขยังคงทำหน้าที่ได้ดี” หลง โฮ นัม ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ จากโรงพยาบาลเมาท์ เอลิซาเบธ โนเวนา กล่าว

Photo by Roslan RAHMAN / AFP

แม้รัฐบาลสิงคโปร์ดูจะยังคงไม่ตื่นตูมกับกระแสเชื้อกลายพันธุ์ แต่รัฐบาลก็ตัดสินใจที่จะเพิ่มการตรวจเชื้อที่ชายแดนให้มากขึ้น ด้วยอัตราการเข้าถึงวัคซีนที่สูงและมีประสิทธิภาพ สิงคโปร์เชื่อว่าจะสามารถต้านทานไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนี้ได้ค่อนข้างดี

อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาท “ออง เย คุง” รัฐมนตรีสาธารณสุขสิงคโปร์ เปรียบสถานการณ์โอไมครอนว่า ไม่ต่างจากการเล่น “เกมบันไดงู” หากสถานการณ์เลวร้ายกว่าในอดีต ก็เท่ากับสิงคโปร์พ่ายแพ้ต่อโอไมครอน แต่หากติดเชื้อสูง อาการไม่รุนแรง ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ชี้ว่า สิงคโปร์จะเข้าสู่การใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19

“ในระหว่างนี้ เราควรใช้ชีวิตด้วยความรอบคอบพร้อมกับมาตรการที่เหมาะสม เพื่อป้องกันชุมชนของเราให้ห่างจากโอไมครอน ในระหว่างที่เรากำลังศึกษาเพิ่มเติม และเมื่อเราเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเชื้อชนิดนี้ ผมมั่นใจว่าเราจะเรียนรู้ที่จะอยู่กับโอไมครอน เช่นเดียวกับที่เรียนรู้ที่จะอยู่กับเดลต้า” รมว. สาธารณสุขสิงคโปร์กล่าว

ทั้งนี้ สิงคโปร์เป็นชาติที่หลีกเลี่ยงกลยุทธ์ “โควิดเป็นศูนย์” รัฐบาลมียุทธศาสตร์ชัดเจนให้ประชาชนใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด โดยรัฐบาลปฏิบัติกับเชื้อโควิดเสมือนเป็นโรคประจำถิ่น หรือเป็นไข้หวัดตามฤดูกาล ผู้ที่ติดเชื้อแต่อาการน้อยหรือผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ ให้เฝ้าระวังด้วยตนเอง เน้นมาตรการป้องกันที่จำเป็นและปฏิบัติตามมาตรการจัดการอย่างปลอดภัย หรือ SMMs (Safe Management Measures) ประกอบกับการฉีดวัคอย่างทั่วถึง