เปิดประวัติ สมเด็จพระวันรัต มรณภาพ สิริอายุ 85 ปี 65 พรรษา

สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร รับหน้าที่พระสงฆ์นั่งราชรถน้อย อ่านพระอภิธรรมนำพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในวันที่ 26 ต.ค. 2560 ภาพจากกรมประชาสัมพันธ์

เปิดประวัติ “สมเด็จพระวันรัต” หลังละสังขารด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง สิริอายุ 85 ปี 65 พรรษา

วันที่ 15 มีนาคม 2565 กรณี มติชน รายงานว่า นายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากทางวัดบวรนิเวศวิหาร ว่า สมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรฯ ละสังขารแล้ว เมื่อเวลา 14.22 น.ด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ส่วนพิธีการต่าง ๆ ทางวัดจะแจ้งให้ทราบต่อไป

สำหรับพระประวัติของสมเด็จพระวันรัต คอลัมน์มงคลข่าวสด เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2563 ระบุว่า มีนามเดิมว่า จุนท์ พราหมณ์พิทักษ์ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 ก.ย.2479 ที่บ้านเกาะเกตุ ต.ชำราก อ.เมือง จ.ตราด บิดา-มารดา ชื่อ นายจันทร์และนางเหล็ย พราหมณ์พิทักษ์

ช่วงวัยเยาว์ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดคิรีวิหาร ต.ชำราก อ.เมือง จ.ตราด จากนั้น เข้าพิธีบรรพชา เมื่อวันจันทร์ที่ 12 พ.ค.2491 ที่วัดคิรีวิหาร ต.ชำราก อ.เมือง จ.ตราด โดยมีพระวินัยบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดคิรีวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์

กระทั่งอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 ก.ค.2499 ที่พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (ม.ร.ว.ชื่น สุจิตโต) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระวินัยบัณฑิต (ถาวร ฐานุตตโร) วัดคิรีวิหาร จ.ตราด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูวิสุทธิธรรมภาณ (แจ่ม ธัมมสาโร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์

มุ่งศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างจริงจัง ด้วยความขยันและตั้งใจศึกษาเล่าเรียน พ.ศ.2495 ท่านจึงสอบได้นักธรรมชั้นเอก พ.ศ.2516 สอบได้ประโยคเปรียญธรรม 9 ประโยค จากสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร และสร้างผลงานอันทรงคุณูปการในหลากหลายด้าน อาทิ ด้านสาธารณูปการ ดูแลการบูรณปฏิสังขรณ์และก่อสร้างเสนาสนะวัดบวรนิเวศวิหาร ให้งดงามมั่นคงถาวร

ด้านสาธารณสงเคราะห์ จัดตั้งทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ วัดตรีทศเทพฯ จัดหาทุนสมทบสร้างตึกวชิรญาณวงศ์ ตึกวชิรญาณสามัคคีพยาบาล และตึก ภปร. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดหาทุนสมทบสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จ.สิงห์บุรี สร้างตึกโรงพยาบาลตราด รับอุปถัมภ์นักเรียนโรงเรียนวัดคิรีวิหาร และโรงเรียนมัธยมคีรีเวศน์รัตนูปถัมภ์ จ.ตราด แจกทุนการศึกษานักเรียนโรงเรียนวัดบวรนิเวศ เป็นต้น

งานพิเศษ พ.ศ.2541 ตรวจการณ์คณะสงฆ์ภาค 3 (ธรรมยุต) จังหวัดสิงห์บุรี, อุทัยธานี, ลพบุรี และตรวจการณ์คณะสงฆ์ภาค 7 (ธรรมยุต) ในจังหวัดเชียงใหม่

ด้านการศึกษาสงฆ์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นแม่กองธรรมสนามหลวง มีหน้าที่ควบคุมดูแลการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรม ดำเนินการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรนักธรรม ธรรมศึกษา ชั้นตรี-โท และเอก อีกทั้งจัดให้มีการสอบไล่วัดผลประจำปีตามหลักสูตรนักธรรมกับธรรมศึกษา ที่มีการเปิดสอนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ส่วนภาระหน้าที่ที่แสดงสติปัญญาอันสูงส่ง และหายากที่จะหาผู้ใดทำหน้าที่นี้ได้ในยุคปัจจุบัน คือ การที่ทรงได้รับมอบหมายจากมหาเถรสมาคมเป็นผู้ตรวจสอบการคำนวณปฏิทินหลวง (ปฏิทินจันทรคติของไทย) และให้ความเห็น ก่อนที่จะประกาศใช้ในแต่ละปี

ประติมากรรมสมเด็จวันรัต ในริ้วขบวนพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงร.9 ใช้ในการจำลองพระเมรุมาศร.9 ภาพจากเว็บไซต์ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร

นอกจากนี้ ยังเดินหมุดและคำนวณปฏิทินปักขคณนา สำหรับบอกอุโบสถให้คณะสงฆ์คณะธรรมยุตด้วย

สำหรับตำแหน่งงานปกครองคณะสงฆ์ ประกอบด้วย กรรมการมหาเถรสมาคม, เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร-สมุทรปราการ (ธรรมยุต), เป็นพระอุปัชฌาย์, ผู้อำนวยการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย และอื่นๆ อีกมากมาย

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2517 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระอมรโมลี พ.ศ.2531 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชสุมนต์มุนี

พ.ศ.2535 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพกวี พ.ศ.2541 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมกวี

พ.ศ.2543 ได้รับพระราชทานสถาปนา สมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัณยบัฏที่ พระพรหมมุนี

พ.ศ.2552 ได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่ สมเด็จพระวันรัต