รู้จัก “ธนาคารที่ดิน” หน่วยงานดูแลที่ดิน แหล่งทุนเกษตรกรยากจน

รู้จัก

รู้จัก “ธนาคารที่ดิน” หน่วยงานบริหารที่ดิน แหล่งเงินทุนสำหรับเกษตรกรยากจน ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติลดหย่อนค่าธรรมเนียมโอนของธนาคารที่ดิน เหลือ 0.01% ถึง 7 มิ.ย. 2568

หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ว่า ตามที่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมและยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจนและให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เหมาะสม

โดยมีสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (บจธ.) เป็นหนึ่งในหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ดำเนินงานผ่าน 2 โครงการ คือ โครงการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน และโครงการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน

มีสาระสำคัญ เป็นการลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามภารกิจของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) เกี่ยวกับค่าจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียน การจำนองอสังหาริมทรัพย์ จากอัตราร้อยละ 2 และร้อยละ 1 เหลืออัตราร้อยละ 0.01 ตามราคาประเมินทุนทรัพย์ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2568

ประชาชาติธุรกิจ ชวนทำความรู้จัก สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หน่วยงานบริหารที่ดิน แหล่งเงินทุนสำหรับเกษตรกรยากจน ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติลดหย่อนค่าธรรมเนียมโอนของธนาคารที่ดิน เหลือ 0.01% ถึง 7 มิ.ย. 68

ธนาคารที่ดิน คืออะไร

ข้อมูลจาก สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ระบุว่า สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือธนาคารดิน จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา ให้จัดตั้งองค์การมหาชนขึ้น เรียกว่า “สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน)” เรียกโดยย่อว่า “บจธ.” และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “The Land Bank Administration Institute (Public Organization)” เรียกโดยย่อว่า “LABAI”

โดยมีวัตถุประสงค์การจัดตั้งตามพระราชกฤษฎีกามาตรา 7 และมาตรา 8 อยู่ภายใต้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ จากการศึกษาโครงการศึกษา “กระบวนการดำเนินงานธนาคารที่ดิน” โดย ดร.รุ่งทิพย์ จันทร์ธนะกุล และคณะ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ให้คำนิยามอ้างอิงจากนักวิชาการในประเทศและต่างประเทศได้ให้คำนิยามของ “ธนาคารที่ดิน” สอดคล้องกันว่า เป็นหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรสาธารณะ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะบริหารจัดการที่ดินเพื่อป้องกันการสูญเสีย สิทธิในที่ดิน และทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมและยั่งยืน

ตลอดจนส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยธนาคารที่ดินสามารถใช้เครื่องมือทางกฎหมายและมาตรการทางการเงินในรูปกองทุนที่ดินในการรวบรวมที่ดินของรัฐและ/หรือของเอกชน เพื่อนำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงที่ดิน ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น เช่า เช่าซื้อ และแนวทางอื่น ๆ ที่เหมาะสม

บทบาทและภารกิจธนาคารที่ดิน

บจธ. มีภารกิจหลักในการบริหารจัดการที่ดินในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การกระจายการถือครองที่ดิน การตรวจสอบ การใช้ประโยชน์ที่ดิน การป้องกันการสูญเสียสิทธิ รวมถึงการสร้างกลไกในการบริหารจัดการที่ดินด้วยการจัดตั้งธนาคารที่ดิน กล่าวคือ

1. การจัดตั้งธนาคารที่ดิน บจธ. มีหน้าที่ตามพระราชกฤษฎีกาฯ ให้จัดตั้งธนาคารที่ดิน เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจและบริหารจัดการที่ดิน เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับเกษตรกรและผู้ยากจนที่เข้าถึงได้ง่ายและมีความคล่องตัวสูง เพื่อให้เกษตรกรได้มีสิทธิในที่ดินและได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างมั่นคงในรูปของธนาคาร เพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจนได้มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เพื่อคงสิทธิในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เช่น การไถ่ถอนจำนอง การไถ่ทรัพย์จากการขายฝาก และเพื่อการใช้ประโยชน์ในที่ดิน

2. การสร้างนวัตกรรมต้นแบบ (Model) ในการลดความเหลื่อมล้ำด้านที่ดินอย่างยั่งยืน โดยทดลอง การดำเนินงานในการลดความเหลื่อมล้ำด้านที่ดิน ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน ดังนี้

2.1 การกระจายการถือครองที่ดิน มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในการถือครองที่ดินแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านที่ดินทำกินของเกษตรกรและผู้ยากจนที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพเพื่อให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและอยู่อาศัย โดยมีสิทธิในการครอบครองที่ดินร่วมกัน รวมทั้งเป็นกรณีศึกษาเพื่อประโยชน์ในการกำหนดแนวทางและหลักเกณฑ์การกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมและยั่งยืนต่อไป

2.2 การตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจ รวบรวมข้อมูลด้านสิทธิและการใช้ประโยชน์ในที่ดินระดับอำเภอทั่วประเทศ โดย บจธ. กำหนดเป้าหมายในการเป็นฐานข้อมูลเกี่ยวกับที่ดิน ผู้ถือครองที่ดิน ผู้ไม่มีที่ดินทำกินผู้ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ทำกิน ที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ ข้อมูลมีความทันสมัย และเป็นจริง เพื่อสนับสนุน การปฏิบัติงานการปฏิรูปที่ดินประเภทต่าง ๆ สนับสนุนการใช้ประโยชน์ในที่ดินต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน การกำหนดภาษีที่ดิน ตลอดจนการสนับสนุนข้อมูลเชิงนโยบายเพื่อประกอบการตัดสินใจของรัฐบาล และเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเต็มศักยภาพไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อให้เกิดความคุ้มค่า การจัดการการใช้ที่ดินให้ถูกประเภท เพื่อเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

2.3 การป้องกันการสูญเสียสิทธิ ให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยหรือเกษตรกรซึ่งใช้ที่ทำกิน
เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้ยืมเงิน โดยดำเนินการในรูปแบบกองทุนรับฝากซื้อที่ดินดังกล่าวไว้ เนื่องจากปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจนทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง บจธ.จึงมุ่งหมายที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยให้ความสำคัญกับการป้องกันการสูญเสียสิทธิเป็นลำดับแรก คือให้การช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ ก่อนเข้าสู่กระบวนการขายฝาก