หนี้ครัวเรือนไตรมาส 2 พุ่ง 14.78 ล้านล้าน จับตากลุ่มเสี่ยง 3.87 ล้านบัญชี

หนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 2/2565 ขยับขึ้นเป็น 14.78 ล้านล้านบาท สัดส่วนต่อจีดีพีต่ำกว่าไตรมาสก่อนหน้า ส.ธนาคารไทย จับตากลุ่มเข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ 2.8 ล้านล้านบาท ใกล้ชิด 

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มหนี้ครัวเรือนในไตรมาสที่ 2/65 ยังเติบโตในกรอบจำกัดอยู่ที่ 3.5-3.7% ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 1 ที่เติบโต 3.6% เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ครัวเรือนยังคงเปราะบางจากปัญหาค่าครองชีพ และรายได้ยังไม่กลับมาปกติ จึงมีความระมัดระวังการก่อหนี้

โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในไตรมาส 2/65 คาดว่าจะต่ำกว่าไตรมาส 1 ซึ่งอยู่ที่ 89.2% ส่วนหนึ่งมาจากการขยายตัวของ nominal GDP จากเงินเฟ้อที่เร่งตัว

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีจะไม่ได้ขยับ แต่ภาระหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง โดยคาดว่ายอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2 จะขยับมาอยู่ที่ 14.78 ล้านล้านบาท จากไตรมาส 1 อยู่ที่ 14.65 ล้านล้านบาท พบว่าในส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคยังโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ยังคงเป็นตัวที่ต้องระมัดระวังในเรื่องของคุณภาพหนี้

“สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอาจจะต่ำลง แต่ภาระหนี้ครัวเรือนยังขยับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นต่อเนื่องที่ยังต้องติดตาม ภาคครัวเรือนยังเผชิญโจทย์หลายอย่างพร้อมกัน ทั้งรายได้ยังไม่ฟื้น เงินเฟ้อ ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ภาคครัวเรือนยังคงเปราะบาง”

สมาคมธนาคารไทย เฝ้าระวังหนี้เสี่ยง 2.8 ล้านล้าน

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ปัจจัยอัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และหนี้ครัวเรือนที่ปรับเพิ่มขึ้น ถือเป็นความท้าทายต่อเนื่องของสถาบันการเงิน ซึ่งออกจากวิกฤตโควิด-19 มาเจออีกวิกฤต ซึ่งเป็นปัจจัยที่เข้ามากระทบลูกหนี้ และกิจกรรมการทำธุรกิจของธนาคาร

ยอมรับว่าช่วงนี้ต้องประคองลูกหนี้ให้ดี ๆ เพื่อให้สามารถผ่านพายุลูกใหม่นี้ไปให้ได้ ซึ่ง ธปท.ก็เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด (soft landing) อย่างไรก็ดี ในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านจะกระเทือนถึงผู้ประกอบการ ลูกหนี้ และระบบของธนาคารพอสมควร

ทั้งนี้ ภายใต้เงินเฟ้อที่เป็นปัจจัยอ่อนไหวกับผู้มีรายได้น้อย ในมุมของสถาบันการเงินยังคงต้องประคองลูกหนี้ต่อเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ที่ธนาคารประคองมาแล้วรอบหนึ่งก็ต้องประคองให้ยาวและนานขึ้น

นายผยงกล่าวว่า ปัจจุบันลูกหนี้ที่อยู่ในโครงการความช่วยเหลือของ ธปท.ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ยังมีอยู่ 2.8 ล้านล้านบาท จำนวน 3.87 ล้านบัญชี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหาในการชำะหนี้ แต่ได้รับความช่วยเหลือทำให้ไม่ตกชั้นเป็นเอ็นพีแอล ซึ่งกลุ่มนี้จำเป็นต้องประคองและแก้หนี้เป็น step ยอมรับว่าเป็นกลุ่มเปราะ บางรายอาจกลับมาชำระหนี้ได้ปกติ แต่บางรายอาจจำเป็นต้องยืดหนี้ออกไปอีก

“ในแง่เครื่องมือช่วยเหลือเรามีครบ แต่การใช้ต้องใช้ต่อเนื่อง ซึ่งสมาคมและธนาคารได้มีการคุยกันว่า หลัง ธปท.ผ่อนคันเร่ง และปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งมีผลกับลูกหนี้กลุ่มเปราะบางอย่างแน่นอน เราก็ต้องประคองปรับโครงสร้างหนี้ให้การชำระหนี้เหมาะสมกับรายได้ และเฝ้าติดตามใกล้ชิด ซึ่งในมุมการปรับขึ้นดอกเบี้ย มองว่าเพื่อให้กลไกการทำงานเป็นปกติ เพราะถ้าฝืนกลไกอาจทำให้เกิดการบอบช้ำ

จุดนี้จะต้องดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อที่จะประคองไม่ให้เกิดความบอบช้ำ เหมือนน้ำท่วมหากฝืนมากน้ำจะมุดใต้ดิน น้ำก็ท่วมอยู่ดี แต่เชื่อว่าระบบสถาบันการเงินมีความพร้อมรองรับพายุ ทั้งในแง่ buffer เงินกองทุน สภาพคล่อง แต่ก็เป็นประเด็นที่มีความท้าทายเช่นกัน”

ลูกหนี้รายได้โตไม่ทันรายจ่าย

นางสาวพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจสินเชื่อบุคคล บริษัท บัตรกรุงไทย หรือเคทีซี กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลช่วงที่เหลือยังมีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่ยังคงต้องติดตาม ยอมรับว่าปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ทำให้รายได้โตไม่ทัน โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ระดับล่างถึงกลาง ซึ่งอาจกระทบต่อความสามารถการชำระหนี้ อย่างไรก็ดี เคทีซียังไม่มีนโยบายปรับเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ โดยยังคงเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ 1.2 หมื่นบาทต่อเดือน เพราะหากเพิ่มฐานรายได้จะเป็นการปิดกั้นกลุ่มรายได้ต่ำออกสู่นอกระบบ

“จากภาวะเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้น ส่วนหนึ่งทำให้มีความต้องการใช้วงเงินในการหมุนเวียนในชีวิตประจำวันมากขึ้น การกดเงินสดที่โตขึ้น 7-8% แต่อีกส่วนก็อาจกระทบความสามารถการชำระหนี้ ความต้องการสินเชื่อที่เข้ามาก็ต้องจับตาดูกำลังความสามารถการจ่ายคืนด้วย” นางสาวพิชามนกล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก ธปท. ตัวเลขหนี้ไตรมาสที่ 1/65 อยู่ที่ 14.64 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89.2% ต่อจีดีพี ประกอบด้วย สินเชื่อที่อยู่อาศัย 5.06 ล้านล้านบาท, สินเชื่อรถยนต์-จักรยานยนต์ 1.79 ล้านล้านบาท, หนี้การศึกษา 2.42 แสนล้านบาท, สินเชื่ออุปโภคบริโภคอื่น 4.05 ล้านล้านบาท, หนี้บัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล 1.15 ล้านล้านบาท สินเชื่อประกอบอาชีพ 2.68 ล้านล้านบาท และอื่น ๆ 8 แสนล้านบาท