บทบรรณาธิการ : พายุหนี้ครัวเรือน

Photo by Jack TAYLOR / AFP
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ตัวเลขหนี้ครัวเรือนคนไทยค่อย ๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ข้อมูลล่าสุดอยู่ราว ๆ 14.6 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เมื่อเจาะลึกไส้ในส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่อยู่อาศัย รองลงมาคือหนี้รถยนต์ แต่ที่น่ากังวลคือหนี้ส่วนบุคคลและบัตรเครดิต สัดส่วนอยู่ราว ๆ 1.1 ล้านล้านบาท แม้หากเทียบกับหนี้ครัวเรือนทั้งระบบอยู่ราว ๆ 8% แต่ที่น่าห่วงคือคนที่เป็นหนี้ในส่วนอื่น ๆ เช่น บ้าน รถ ธุรกิจ มีจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย

ยิ่งหากมองตัวเลขภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติมีข้อมูลที่น่าตระหนกอยู่หลายข้อ อาทิ ครัวเรือนไทยมีสัดส่วนเป็นหนี้มากขึ้นถึง 51.5% เทียบกับปี 2562 อยู่ที่ 45.2% จำนวนหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนไทยปี 2562 อยู่ที่ 164,005 บาท

แต่ผลสำรวจเมื่อปี 2564 อยู่ที่ 205,679 บาท เพิ่มขึ้น 25.4% ขณะที่รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในช่วงปี 2562-2564 เพิ่มขึ้นเพียง 5.1%

แสดงให้เห็นว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา หรือช่วงโควิด-19 ระบาด ครัวเรือนไทยเป็นหนี้พอกพูนอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่คิดดอกเบี้ยสูง แม้ที่ผ่านมารัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีมาตรการผ่อนปรน

อาทิ จ่ายหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำเพียง 5% แทนของเดิมที่ 10% การรวมหนี้เพื่อจ่ายดอกเบี้ยน้อยลง เป็นต้น แต่นั่นอาจเพียงพอต่อลมหายใจเป็นเฮือก ๆ ไป

อย่างการให้จ่ายหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำ 5% น่าห่วงหากมองในระยะยาว เพราะหนี้สินยิ่งเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ ตามเงินต้นบวกดอกเบี้ยค้างชำระ ส่วนภาครัฐหรือสถาบันการเงินเจ้าหนี้ เหมือนประคองไม่ให้เกิดหนี้เสียมากขึ้น

แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ดีขึ้น ทั้งโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน และเงินเฟ้อที่ ธปท.เตรียมประกาศขึ้นดอกเบี้ยภายในเดือน ส.ค.นี้ ล้วนไม่ต่างจากตัวเร่งปฏิกิริยาไปสู่วิกฤตหนี้ครัวเรือนมากขึ้นเรื่อย ๆ

ยิ่งเมื่อดูตัวเลขการขยายตัวสินเชื่อรายย่อยยังทรงตัวระดับใกล้เคียงกับปี 2564 เพราะความต้องการกระแสเงินสดมีมากขึ้น บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี ระบุว่า ผู้กดเงินสดผ่านบัตรเครดิตขยายตัว 7-8% ทั้ง ๆ ที่ดอกเบี้ยค่อนข้างสูงและมีค่าธรรมเนียมใช้วงเงิน แต่ผู้ถือบัตรต้องจำยอมเนื่องจากรายได้ไม่สมดุลกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2/2565 ทรงตัวในกรอบ 2.90-2.93% ต่อสินเชื่อรวม ใกล้เคียงกับไตรมาส 1/2565 ที่ต้องจับตามากที่สุดไม่พ้นปัญหาการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อในพอร์ต SMEs และรายย่อย อาทิ สินเชื่อบ้าน บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ทั้งหลายทั้งปวงนี้จึงไม่ต่างจากระเบิดเวลา หรือพายุที่กำลังตั้งเค้าอย่างน่ากลัว