บทบรรณาธิการ: เงินเฟ้อยังน่ากังวล

เงินเฟ้อ
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ปัญหาเงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยใหญ่อีกเรื่องสำคัญที่เขย่าเศรษฐกิจทั่วโลก ไม่แพ้ราคาพลังงานปรับตัวสูง การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ประเทศไทยเจอศึกเงินเฟ้อกระหน่ำ ตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เดือน พ.ค.ที่ผ่านมาเงินเฟ้อพุ่งสูงถึง 7.1% ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ 4.65%

ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเดือน พ.ค.อยู่ที่ 2.28% ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ 2.20% มาจากราคาอาหารและน้ำประปาที่ปรับเพิ่มขึ้น และหากมองเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าคาดว่าจุดสูงสุด (พีก) น่าจะยังอยู่ในไตรมาส 3 ปีนี้ บางช่วงมีโอกาสเห็นเงินเฟ้อขึ้นไปสู่ระดับ 8% แต่ทั้งไตรมาสคาดว่าเงินเฟ้อยังเฉลี่ยอยู่ที่ 7.5% และทั้งปีอยู่ที่ 6.2%

ธปท.ยังคงนิ่งไม่เคลื่อนไหวเพื่อรับมือเงินเฟ้อ หลัก ๆ ไม่พ้นการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจุบันตรึงอยู่ที่ 0.50% มายาวนาน ขณะที่เกือบทุกประเทศทั่วโลกขึ้นกันไปหลายรอบแล้ว และมีแนวโน้มจะขึ้นอีกหลายครั้งก่อนหมดปีนี้ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่เจอเงินเฟ้อถล่มหนัก สะท้อนถึงภาพรวมในตลาดหุ้นใหญ่ของสหรัฐ ที่ปิดครึ่งปีกอดคอกันร่วงระนาวโดยเฉพาะ “S&P 500” ดิ่งแรงสุดในรอบ 52 ปี

การขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้งของสหรัฐ ทำให้เงินเริ่มไหลกลับไปยังดอลลาร์ จากความกังวลของนักลงทุนที่เห็นธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็ว ความกังวลเศรษฐกิจถดถอย พลอยทำให้เงินในหลายประเทศแถบเอเชียอ่อนค่าลง เช่นเดียวกับเงินบาทที่แกว่งตัวอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา มีแนวโน้มอ่อนค่ามากกว่าแข็งค่า แต่กระนั้นหากเทียบทั้งภูมิภาคเงินบาทอยู่ในระดับกลาง ๆ

ขณะที่ราคาพลังงานและต้นทุนวัตถุดิบมีแนวโน้มเพิ่มสูง ทำให้หอการค้าไทย-จีนประเมินว่าภายในไตรมาส 3 ราคาสินค้ากลุ่มบริโภคอุปโภคน่าจะปรับตัวขึ้นอีกระลอก เพราะแม้กระทรวงพาณิชย์จะพยายามตรึงราคาสินค้าควบคุม แต่ฟากเอกชนแทบประคองตัวไม่ไหวแล้ว เนื่องจากต้นทุนทุกอย่างปรับตัวขึ้นแรง เรียกร้องขอปรับราคาแทบจะรายวัน

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางข่าวร้ายยังพอมีข่าวดีเรื่องการเปิดประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ไหลกลับเมืองไทย ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าช่วงครึ่งปีหลังจะมีจำนวนมากกว่าครึ่งแรก ประเมินว่าปีนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยราว ๆ 6 ล้านคน บวกด้วยแรงของภาคส่งออกที่แม้ปริมาณจะลดลงแต่มูลค่าเพิ่มขึ้น ธปท.จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ตามประมาณการที่ 3.3%

สถานการณ์เศรษฐกิจปีนี้คงทำได้เพียงประคองตัวให้ผ่านพ้นไปแบบทุลักทุเล รอลุ้นกันอีกในปีหน้าซึ่งมีปัจจัยสำคัญของไทย คือ การเลือกตั้งใหญ่ว่าจะได้เครือข่ายชุดเดิมมาบริหารประเทศต่อเนื่องหรือได้คนใหม่เข้ามา เมื่อได้บทสรุปของผู้บริหารประเทศชุดใหม่ คงพอเห็นแนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจไทยว่าจะ “รุ่ง” หรือ “ร่วง”