บทบรรณาธิการ: เจาะกลุ่มเป้าหมายให้ถูก

THAILAND-ECONOMY
File (Photo by Jack TAYLOR / AFP)
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

“ธนาคารแห่งประเทศไทยจะดูแลกรอบเงินเฟ้อโดยการขึ้นดอกเบี้ยในยามจำเป็น ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในสถานการณ์ให้เหมาะสม” นโยบายนี้ ผู้ว่าการ ธปท. ย้ำอีกครั้งเมื่อไม่นานนี้ หลังเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.สูง 7.6% และยังมีแนวโน้มแตะที่ 8% ซึ่งมีผลกระทบต่อภาคครัวเรือน โดยเฉพาะครัวเรือนที่เปราะบาง

การรับมือเงินเฟ้อด้วยการขึ้นดอกเบี้ยเป็นเรื่องที่หลายประเทศใช้กัน โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา นอกจากมีผลให้ตลาดหุ้นร่วงกราวแล้ว คำว่า เศรษฐกิจถดถอย จะตามมาย้ำซ้ำ ๆ หลายครั้ง

นักวิเคราะห์บางท่านระบุว่า ภาวะถดถอยไม่ได้กำลังจะตามมา แต่เกิดขึ้นแล้วก็มี ฉะนั้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจึงน่าจะเป็นไปอย่างยากลำบาก

สำหรับประเทศไทย ธปท.วิเคราะห์สถานการณ์ว่าเมื่อขึ้นดอกเบี้ยจะกระทบภาคครัวเรือน จากที่หนี้ครัวเรือนของไทยสูงมาก เป็นอันดับที่ 12 ของโลก คิดเป็นสัดส่วน 90.1% ของจีดีพี

แต่หากปล่อยให้เงินเฟ้อ ค่าครองชีพเพิ่มจะกระทบหนักกว่าการขึ้นดอกเบี้ยและภาระหนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงหลังนี้ ราคาสินค้าต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ยิ่งกระทบต่อกลุ่มเปราะบางหรือคนที่มีรายได้ต่ำเป็นพิเศษนี้มากขึ้น

ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยน่าจะเป็นทางออกที่คาดการณ์ได้โดยเฉพาะเมื่อคำนวณจากการที่ดอกเบี้ยของไทยที่ยังต่ำมาก ผู้ว่าการ ธปท.เปรียบให้เห็นภาพว่า ขณะที่ชาติตะวันตกต้องเหยียบเบรกแรง ของไทยคือต้องถอนคันเร่งน้อยลง

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณานโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลที่เคยปูพรมช่วยเหลือประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิดระบาดหนัก มาถึงตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนแล้ว จึงมีคำแนะนำสำหรับรัฐบาลให้คงบางมาตรการที่จำเป็นและจำกัดวงการช่วยเหลือให้เน้นไปที่กลุ่มเปราะบาง หรือใช้มาตรการที่รองรับแต่ละกลุ่มที่มีปัญหาและช่วยเหลือให้ตรงจุดมากขึ้น

ดังนั้นความสามารถของรัฐบาลที่ประชาชนต้องการอย่างยิ่งคือการเจาะกลุ่มเป้าหมายให้ถูกว่าคนเปราะบางคือใคร อยู่ที่ใด และควรใช้มาตรการใดเข้าไปช่วยเหลือ

ขณะเดียวกันต้องดูแลคนอื่น ๆ ให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปให้ได้ โดยเปิดทางการลงทุนในเรื่องสำคัญที่จะเป็นผลดีในระยะยาว เช่น พลังงานทางเลือกที่ลดคาร์บอน รวมทั้งลดระเบียบทางราชการและข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรค

การรับฟังและพิจารณาข้อเรียกร้องจากกลุ่มต่าง ๆ ต้องอาศัยข้อมูลเชิงลึกทางเศรษฐกิจ ซึ่งน่าสงสัยว่าการดึงสภาความมั่นคงแห่งชาติเข้ามารับมือวิกฤตเศรษฐกิจ พลังงาน และอาหาร จะเข้าถึงประชาชนหลากหลายกลุ่มนี้ได้มากเพียงใด