บทบรรณาธิการ: เงินเฟ้อเขย่าโลก

เงินเฟ้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต สหรัฐ
Photo by Frederic J. BROWN / AFP
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

แตกตื่นกันทั้งโลกกับตัวเลขเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.ของสหรัฐอเมริกาที่พุ่งถึง 9.1% สูงสุดในรอบ 40 ปี จากเดือน พ.ค.ที่ว่าสาหัสแล้วที่ 8.6% กระนั้นก่อนเปิดตัวเลขออกมา นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 8.8% เนื่องจากราคาพลังงานและอาหารยังเพิ่มขึ้นไม่หยุด ก่อนลามไปยังภาคบริการ

ด้วยตัวเลขที่ออกมาสูงเกิดคาด ทำให้ประเมินว่าการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้ อาจขยับดอกเบี้ยนโยบายแรงขึ้นเป็น 0.75-1.0% จากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอยู่ระหว่าง 1.50-1.75% สิ่งที่ตามมาทำให้ดอลลาร์ยิ่งแข็งค่าจากเงินทั่วโลกที่ไหลกลับประเทศ

การเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อเป็นสถานการณ์เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้เกือบทุกประเทศขยับดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง อาทิ ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% นับเป็นรอบที่ 3 แล้ว ทำให้ดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 2.50% ตลาดยังคาดว่าจะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุมเดือน ส.ค.นี้

ส่วนใกล้ ๆ บ้านเรา เช่น เกาหลีใต้ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 2.25% เพื่อหวังสกัดเงินเฟ้อหลังจากดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้น 6% สูงสุดในรอบ 24 ปี ขณะที่ฟิลิปปินส์ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% สู่ระดับ 3.25% หลังจากอัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.อยู่ที่ 6.1% สูงสุดในรอบเกือบ 4 ปี

หันมาดูประเทศไทย ที่น่าจะเป็นประเทศท้าย ๆ ของโลกที่จ่อปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพราะแม้เงินเฟ้อเดือน มิ.ย.จะพุ่งถึง 7.66% สูงสุดในรอบ 13 ปี นับเป็นการพุ่งสูงเกิน 7% 2 เดือนต่อเนื่องกัน

แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังใจแข็งไม่เรียกประชุมนัดพิเศษ แต่ให้เป็นไปตามวาระคือเดือน ส.ค. ซึ่งคาดว่าอาจปรับขึ้น 0.25-0.50% จากปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 0.50%

อีกสิ่งที่น่ากังวลไม่พ้นการอ่อนตัวอย่างหนักของเงินบาทที่ใกล้แตะระดับ 37 บาท/ดอลลาร์ ยิ่งหากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบก่อนการประชุมของ ธปท.ในเดือน ส.ค.นี้

ยิ่งกดดันค่าเงินทั่วโลกให้อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แม้ทางหนึ่งไทยจะได้อานิสงส์จากภาคท่องเที่ยวและส่งออกซึ่งส่งผลดีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่การนำเข้าวัตถุดิบต่าง ๆ โดยเฉพาะพลังงานจะใช้เงินมากขึ้น

รวมถึงการรับมือเงินเฟ้อไทยที่คาดว่าไตรมาส 3 จะพุ่งสูงสุด จึงเป็นจุดที่ผู้เกี่ยวข้องต้องชั่งน้ำหนักให้เหมาะสมว่าการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้จะขึ้นกี่รอบ รอบละเท่าไหร่ จะสามารถสกัดปัญหาต่าง ๆ ได้มากน้อยขนาดไหน รวมถึงหามาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ย ปัญหาเงินเฟ้อ และค่าเงินบาทอ่อนค่า ทั้งทางตรงและทางอ้อม