ความยากในการเข้าถึง “ยา” โควิด

ยารักษาโรค
แฟ้มภาพ
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

หลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ประกอบกับการเปิดประเทศเพื่อรับต่างชาติ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า โควิด-19 กำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ตามมาด้วยการปรับวิธีการนับจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน โดยจะนับเฉพาะผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ปรากฏยอดการติดเชื้อโควิดอย่างเป็นทางการ (นับเฉพาะผู้ป่วยในโรงพยาบาล) ได้ลดลงฮวบฮาบเหลือเพียงวันละ 2,000 กว่าคน “สวนทาง” กับตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 นอกโรงพยาบาล (ยอดจากชุดตรวจ ATK) ได้พุ่งพรวดขึ้นสูงวันละกว่า 28,000 คน สัปดาห์ละ 201,000 คนหรือเฉลี่ยเดือนละ800,000 คน

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เกือบทุกครอบครัวในประเทศนี้จะต้องมีคนติดเชื้อโควิด มีอาการหนักเบากันไปตามสถาวะ-อายุของร่างกาย ท่ามกลางข้อเท็จจริงที่ว่า ยิ่งมีผู้ป่วยทวีจำนวนขึ้น ยอดคนเสียชีวิตก็จะเพิ่มขึ้นตามมา หากนับตั้งแต่การระบาดตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบันมีคนเสียชีวิตจากโรคนี้ไปแล้ว 31,492 คน และถ้าจะให้แคบเข้ามาอีกกับการระบาดของโควิดรอบนี้ เฉลี่ยปัจจุบันมีคนเสียชีวิตประมาณ 20-30 คน/วัน หรือเดือนละ 600-900 คน

ต้องย้ำว่า “ตาย” อยู่ระหว่างตัวเลข 600-900 คนต่อเดือน ซึ่งถือว่า “สูงมาก” เมื่อเทียบกับการตายจากสาเหตุอื่น ๆ จนกลายมาเป็นความ “ชาชิน” หรือรู้สึก “เฉย ๆ” กับรายงานผู้เสียชีวิตประจำวันของ ศบค.

จำนวนคนติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกับการส่งสัญญาณผิด ๆ ที่ว่า โควิด-19 กำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งยังห่างไกลจากเกณฑ์ที่ตั้งไว้ทั้งจำนวนผู้ป่วย-ตัวเลขคนฉีดวัคซีน-จำนวนผู้เสียชีวิต การผลีผลามเปิดประเทศโดยอ้างความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจ การยกเลิกมาตรการควบคุมโรค ท่ามกลางความไม่พร้อมทางด้านสาธารณสุข ทั้งจำนวนเตียงที่จะรองรับผู้ป่วยและการบริหารจัดการยารักษาโรคที่มีรายงานข่าวถึงการขาดแคลนออกมาเป็นระยะ ๆ ยิ่งตอกย้ำความย่ำแย่ของสถานการณ์

จากข้อเท็จจริงที่ว่า จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ต่างทยอยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนอย่างแน่นขนัด (จำนวนผู้ป่วยสัปดาห์ละ 28,000 คน) แน่นอนว่าไม่มีเตียงไม่มีที่ทางเพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วยเหล่านี้จนนำมาซึ่งการกำหนดเกณฑ์การรักษาตัวแบบ home isolation หรือการรักษาตามอาการด้วยการให้กลับไปกินยารักษาตัวเองที่บ้าน ซึ่งดูจะเหมาะกับสถานการณ์การติดเชื้อในขณะนี้มากที่สุด โดยการจัดยารักษาโควิด-19 จะขึ้นอยู่กับ “ความเห็น” ของแพทย์ที่ทำการรักษา ณ สถานพยาบาลนั้น ๆ ภายใต้วิธีการที่เรียกกันว่า การรักษาตามอาการ

แน่นอนว่า การรักษาตามอาการแบบ home isolation นั้น ความพร้อมจะอยู่ที่ยารักษาโรค ภายใต้หลักการที่ว่า ผู้ป่วยที่มีอาการจะต้องได้รับยาให้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นยา Favipiravir ยา Molnupiravir หรือยา Paxlovid ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เชื่อกันว่ามีคุณภาพและสรรพคุณที่เหนือกว่า ยาฟ้าทะลายโจร ที่ได้รับแจกเป็นยาหลักในการรักษา “ไข้” อยู่ในปัจจุบัน

ด้วยอาการความหนัก-เบาของโรคที่แตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคนกับความ “ยาก” ในการเข้าถึงการวินิจฉัยเพื่อที่จะได้มาซึ่ง “ยา” ที่เหมาะสมกับอาการจากจำนวนคนป่วยที่ทวีจำนวนขึ้นอย่างมหาศาล จนการรักษาแบบ home isolation กลายเป็น “ข้อจำกัด” ในการเข้าถึงยาที่ล้วนแล้วแต่มีราคาแพง (Fivipiravir กระปุกละ 1,500-2,000 บาท-Molnupiravir คอร์สละ 10,000 กว่าบาท) ส่งผลให้เกิดกระบวนการลักลอบนำเข้ายาแบบเดียวกันที่มีราคาถูกกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Fivipiravir-Molnupiravir ตลอดจน Remdesivir จากประเทศอินเดียที่มีราคาถูกกว่ากัน “มากกว่า” ครึ่งต่อครึ่ง


กลายมาเป็นปัญหาการลักลอบนำเข้า “ยาเถื่อน” หรืออีกนัยหนึ่ง ยาที่ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนหรือได้รับอนุญาตจาก อย.ให้นำเข้ามาในประเทศ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่พร้อมที่จะ “เสี่ยง” ขวนขวายหาซื้อมารักษาด้วยความกังวลจากการได้รับยาจากระบบสาธารณสุขที่อาจช้าเกินไป จนกลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งตราบเท่าที่การเข้าถึงยายังมีความยากและมีราคาแพงเกินกว่าที่ผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึง