ราคาที่ Volkswagen ต้องจ่าย เมื่อแผนลดต้นทุนกระทบแรงงาน

พนักงาน Volkswagen ประท้วงในเมืองวูล์ฟสบวร์ก
พนักงาน Volkswagen ประท้วงในเมืองวูล์ฟสบวร์ก เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2024 (ภาพโดย Moritz Frankenberg / POOL / AFP)
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : รุ่งนภา พิมมะศรี

ในประเทศที่กฎหมายป้องแรงงานเข้มข้น สหภาพแรงงานมีความเข้มแข็ง การที่ธุรกิจจะเลิกจ้างหรือตัดสินใจใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อคนทำงานนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ทำง่าย ๆ เห็นได้จากข่าวโฟล์คสวาเกน (Volkswagen) พิจารณาปิดโรงงานในเยอรมนีเมื่อเร็ว ๆ นี้

โฟล์คสวาเกนพยายามจะลดต้นทุน ท่ามกลางสภาพการแข่งขันที่ดุเดือดในตลาดรถยนต์ จึงพิจารณาจะปิดโรงงาน 1-2 แห่งในเยอรมนี ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของบริษัทที่จะปิดโรงงานในประเทศบ้านเกิด นอกจากนั้น โฟล์คสวาเกนประกาศว่าจะยกเลิกข้อตกลงแรงงานหลายฉบับ รวมถึงจะยกเลิกการรับประกันการจ้างงานจนถึงปี 2029 ในโรงงาน 6 แห่ง

ปกติแล้วการปิดโรงงานหรือปิดกิจการ ซึ่งจะทำให้คนทำงานต้องตกงานนั้นเป็นเรื่องใหญ่อยู่แล้ว แต่สำหรับกรณีของโฟล์คสวาเกนนั้น “เรื่องใหญ่กว่า” เพราะสหภาพแรงงานโฟล์คสวาเกนนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งที่สุดในเยอรมนี

มีการวิเคราะห์ว่าแผนปิดโรงงาน-ลดกำลังการผลิต จะส่งผลให้ซีอีโอของโฟล์คสวาเกนต้องเผชิญหน้ากับสหภาพแรงงานที่มีความเข้มแข็งมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนี่จะเป็นบททดสอบที่สำคัญของเขา หลังจากที่สหภาพแรงงานเคยปะทะกับผู้บริหารระดับสูงหลายคน จนผู้บริหารเหล่านั้นต้องลาออกจากตำแหน่งไปก่อนเวลาอันควร

ตามรายงานข่าวบอกว่า โฟล์คสวาเกนจ้างพนักงานประมาณ 650,000 คนทั่วโลก โดยเกือบ 300,000 คนอยู่ในเยอรมนี สหภาพแรงงานโฟล์คสวาเกนมีตัวแทนแรงงานครองที่นั่งในคณะกรรมการกำกับดูแลบริษัทอยู่ครึ่งหนึ่ง และรัฐโลเวอร์แซกโซนีของเยอรมนีซึ่งถือหุ้นบริษัทโฟล์คสวาเกนอยู่ 20% ก็มักจะเข้าข้างสหภาพแรงงานด้วย

ถัดมาจากที่มีข่าวโฟล์คสวาเกนพิจารณาปิดโรงงานราวสองสัปดาห์ มีการวิเคราะห์ “ราคา” ที่โฟล์คสวาเกนต้องจ่ายออกมาแล้ว

ADVERTISMENT

บริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เจฟเฟอรีส์ (Jefferies) วิเคราะห์ว่า โฟล์คสวาเกนอาจจะเลิกจ้างพนักงาน 15,000 คนในปีนี้ และคาดว่าจะต้องเตรียมเงินสำรองไว้สูงถึง 4,000 ล้านยูโร (ประมาณ 147,750 ล้านบาท) สำหรับแผนการลดกำลังการผลิตในช่วงต้นไตรมาสที่ 4 เพื่อใช้เป็นค่าชดเชยการเลิกจ้างพนักงาน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการปิดโรงงาน ซึ่งเจฟเฟอรีส์มองว่าแผนการลดกำลังการผลิตอันเร่งรีบของโฟล์คสวาเกนนั้น เป็นความเร่งรีบที่ไม่ปกติ และไม่เคยเห็นความเร่งรีบระดับนี้มาก่อน

การรับประกันการจ้างงานที่โฟล์คสวาเกนจะยกเลิกเป็นข้อตกลงที่ใช้มานาน 30 ปี และฝั่งสหภาพแรงงานจะไม่ยอมสูญเสียไปอย่างง่าย ผู้บริหารหลายคนในอดีตเคยพยายามที่จะยกเลิกข้อตกลงนี้ แต่ก็พ่ายแพ้

ADVERTISMENT

น่าติดตามว่าการเจรจาครั้งใหม่นี้ที่จะเริ่มต้นในวันที่ 25 กันยายน จะได้ผลลัพธ์อย่างไร จะถอยคนละก้าว หรือฝ่ายไหนจะถอยหลายก้าวกว่ากัน