Cyberbullying การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์

คอลัมน์ New Normal

โดย ดร.ธีรศานต์ สหัสสพาศน์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตกลายเป็นช่องทางพื้นฐานในการสื่อสารในสังคม คนในสังคมสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เป็นเรื่องธรรมชาติที่ปัจเจกมากหน้าหลายตามาอยู่รวมกันในสังคม แล้วปัจเจกจะกระทำความผิดพลาดขึ้นมา มนุษย์จึงได้ประดิษฐ์มาตรการการลงโทษทางสังคมเพื่อลงโทษผู้ที่กระทำผิด ซึ่งนั่นคือ “การกลั่นแกล้ง” (bullying) เช่น การที่บุคคลจะต้องถูกโกนผมหากมีการสืบทราบว่า ผู้นั้นมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือผู้ต้องหาในยุคกลางจะถูกบังคับให้สวมหมวกกรวยสูง ในขณะที่คดีความดำเนินไปในระหว่างการไต่สวน เป็นต้น

ทั้งหมดเป็นการทำเพื่อสร้าง “ความอับอายต่อสาธารณะ” (public humiliation) เพื่อกดดันผู้กระทำผิดให้เข็ดขยาดหลาบจำ ไม่ทำพฤติกรรมแบบนี้อีก

เมื่อสังคมถูกขับเคลื่อนด้วยอินเทอร์เน็ตผ่านระบบเครือข่ายสังคมที่ข้อมูลข่าวสารเดินทางได้อย่างรวดเร็วในระดับวินาที ทำให้การกลั่นแกล้งไม่ถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่เฉพาะแต่อย่างใด แต่กลายเป็น cyberbullying ซึ่งสามารถสร้างความอับอายในทุกมิติชีวิตของเป้าหมายและอาจยกระดับไปสู่ความรุนแรงในอนาคตอันใกล้Cyberbullying คืออะไร ?

cyberbullying คือ “การกลั่นแกล้งกันผ่านโลกไซเบอร์” โดยรูปแบบการรังแกกันมีทั้งการใส่ร้ายป้ายสี การใช้ถ้อยคำหยาบคายต่อว่าผู้อื่นหรือการส่งต่อข้อมูลลับ เพื่อทำให้ผู้อื่นเสียหายผ่านทางอินเทอร์เน็ต ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อความ (text message) คลิปวิดีโอ (video-clip) จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Mail) เพื่อทำให้ฝ่ายที่ถูกกระทำรู้สึกอับอาย รู้สึกเจ็บปวด ได้รับผลกระทบทางจิตใจ

การรังแกผ่านพื้นที่ไซเบอร์เป็นความรุนแรงที่อาจจะทราบหรือไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ ซึ่งผู้กระทำสามารถทำความรุนแรงกับใคร ที่ไหน เมื่อใดก็ได้ เพราะในโลกไซเบอร์นั้น ผู้รังแกไม่ได้เผชิญหน้ากับเหยื่อจริง ๆ จึงสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง และที่สำคัญ การกระทำนี้เป็นการแกล้งแบบต่อเนื่อง ไม่ใช่ครั้งเดียวจบ

การแกล้งกันผ่านโลกออนไลน์มองเผิน ๆ อาจคิดว่าไม่เห็นสำคัญอะไร ผู้รังแกและสังคมมักจะมองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะไม่ได้มีความรุนแรงเกิดขึ้น แต่หลายครั้งที่ข่าวอาชญากรรมในหน้าหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ บอกเล่าว่า ความรุนแรงส่วนมากมีจุดเริ่มต้นจากพฤติกรรมยั่วยุเสมอ การถูกทำลายความมั่นใจ หรือถูกลดทอนคุณค่าในตัวเอง บวกเข้ากับอารมณ์ที่หุนหันพลันแล่นของผู้ถูกกระทำในเวลานั้น และวุฒิภาวะที่ไม่มีภูมิคุ้มกันมากพอ ทั้งหมดสามารถยกระดับคำพูดตัวอักษรไปสู่ความรุนแรงได้

เว็บไซต์ nobully.com ที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้อยู่ แบ่งการกระทำ cyberbullying เป็น 7 ประเภท คือ

1.gossip : ส่งข้อความนินทาเพื่อน ทำให้เพื่อนเสียหาย2.exclusion : ไล่บางคนออกจากกลุ่มออนไลน์ เช่น กลุ่มไลน์ หรือเฟซบุ๊กกรุ๊ป

3.nation : การแอบเข้าไปใน log in ของคนอื่นและโพสต์ข้อความให้เจ้าของ account ดูไม่ดี เสียหาย คนรอบตัวเข้าใจผิด เช่น เด็ก log in facebook ไว้ที่ร้านเกมแล้วลืม log out มีคนมาเล่นคอมพิวเตอร์ต่อแล้วโพสต์ว่าเด็กคนนั้นขายตัว ทำให้เด็กเสื่อมเสียชื่อเสียง

4.harassment : เป็นการว่ากล่าว ด่า ด้วยถ้อยคำหยาบคาย ตอกย้ำปมด้อย ทำให้เสียความมั่นใจ เช่น คนบนโลกอินเทอร์เน็ตที่นึกสนุกพิมพ์ว่าคนหน้าตาไม่ดีที่ถูกโจรข่มขืนว่าสงสารโจรจังเลย

5.cyber stalking : ส่งข้อความ รูป วิดีโอ หรืออะไรก็ตามที่ทำให้คนอื่นอับอายบนอินเทอร์เน็ต รวมถึงข่มขู่ เช่น ผู้หญิงไปร่วมกิจกรรมของที่ทำงานริมทะเลแล้วใส่บิกินี และมีผู้ชายทำงานเดียวกันแอบถ่ายรูปไปลงวิจารณ์เรื่องรูปร่างของผู้หญิงใน facebook แถมยังมีคนอื่นมาร่วมวิจารณ์แบบสนุกปาก

6.outing and trickery : หยอกล้อ ยั่วโมโหจนอีกฝ่ายเผยความลับที่น่าอายของตัวเองบนโลกออนไลน์

7.cyber threat : เห็นการกลั่นแกล้ง รังแกกันบนโลกออนไลน์แล้วเข้าไปร่วม

หากย้อนไปสมัยก่อนที่โลกรับรู้ข่าวสารต่าง ๆ ผ่านโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ สื่อมวลชนมักจะทำงานในระบบท่อ (pipeline) กล่าวคือ ข้อมูลข่าวสารจะไม่มีทางถูกเผยแพร่ออกไป ถ้าผู้ที่ควบคุมอยู่ยังไม่อนุญาต ทำให้สื่อมวลชนแต่ละคนต้องเสนอข้อมูลข่าวสารกันบนพื้นฐานของวิชาชีพและจรรยาบรรณสื่อ ที่ต้องเสนอข่าวอย่างไร้อคติ (impartial) จึงมีมาตรการควบคุมอย่างเป็นระเบียบแบบแผนชัดเจน

แต่โลกทุกวันนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยอินเทอร์เน็ต ประโยชน์ก็คือทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และทุกคนมีสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่รวมคุณสมบัติหลายอย่างไว้ด้วยกัน เช่น ถ่ายรูป อัดวิดีโอ บันทึกเสียง และสามารถอัพโหลดข้อมูลไปสู่อินเทอร์เน็ตได้ในแทบจะทันที ใคร ๆ ก็สามารถอัพโหลดเนื้อหาได้ ขอแค่มีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเท่านั้น

ทำให้ทุกคนล้วนทำตัวเหมือนสื่อมวลชนในแขนงใดแขนงหนึ่ง แต่เป็นสื่อมวลชนที่ยังไม่ได้จัดระเบียบ เพราะข้อเสียของอินเทอร์เน็ต คือ ไม่สามารถควบคุมดูแลอย่างทั่วถึงได้ พวกเขาจึงเผยแพร่เนื้อหาที่ยังไม่ถูกกลั่นกรองและไม่สมควรออกไปโดยที่ไม่ยั้งคิด และที่สำคัญ คือ ปราศจากความรู้สึกผิดใด ๆ

ประเด็นที่จุดความสนใจของผู้คนทั่วโลกให้มาสนใจประเด็น cyber bully คือ “เหตุการณ์ฆาตกรรมหมู่ในโรงเรียนไฮสกูลโคลัมเบีย” (Columbine High School Massacre) เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2542 เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่การก่อการร้ายเพื่อเรียกร้องใด ๆ จากองค์กรสงคราม แต่เกิดจากนักเรียน 2 คน ชื่อ อีริก แฮร์ริส (Eric Harris) และ ไดแลน เคลโบลด์ (Dylan Klebold) ที่ตกเป็นเป้าหมายของการกลั่นแกล้งในโรงเรียนบ่อยครั้ง

เหตุสะเทือนขวัญดังกล่าวเกิดจากการที่เขาทั้งสองชื่นชอบในเกมคอมพิวเตอร์ Doom เป็นชีวิตจิตใจ เขาทั้งสองจึงเลือกที่จะเล่มเกมในเวลาเลิกเรียนมากกว่าไปเที่ยวพูดคุยกับเพื่อนฝูง จึงโดนเพื่อนร่วมห้องล้อเลียนถึงพฤติกรรมแปลก ๆ ของเขา วันหนึ่งเขาพบปืนอัตโนมัติหลายกระบอกแขวนอยู่ที่บ้าน เขาจึงนำไปโรงเรียนและกราดยิงใส่นักเรียนและอาจารย์อย่างไม่เลือกหน้า ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไป 13 ศพ และบาดเจ็บกว่า 24 คน ก่อนที่ทั้งคู่จะยิงตัวตาย

อีกหนึ่งกรณีที่แสดงให้เห็นว่า การล้อเล่นเพียงน้อยนิดสามารถลุกลามทำให้เหยื่อเลือกที่จะไม่มีชีวิตอยู่ คือในเดือนกันยายน 2553 ไทเลอร์ ครีเมนต์ วัย 18 ปี (Tyler Clement) นักศึกษามหาวิทยาลัย Rutgers University ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีคืนหนึ่งเขาได้เอ่ยปากขอรูมเมตของเขาว่า ต้องการใช้ห้อง ด้วยความที่รูมเมตสงสัย เลยแอบเปิดโน้ตบุ๊กทิ้งไว้ในห้อง แล้วไปดูเว็บแคมจากที่อื่น เพื่อจะได้เห็นว่าไทเลอร์กำลังจะทำอะไร กลายเป็นว่า เขาพาเพื่อนผู้ชายมาที่ห้อง แล้วจูบกัน รูมเมตเห็นจึงทวีตข้อความว่า ไทเลอร์เป็นชายรักร่วมเพศ ทั้งเชิญชวนชาวเน็ตมาร่วมดูไทเลอร์ผ่านเว็บแคมหลังจากคืนนั้นไทเลอร์เครียด ขาดความมั่นใจและจิตตก สุดท้ายตัดสินใจกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย

cyberbullying ไม่ได้เกิดกับเด็กและเยาวชนเท่านั้น ภัยคุกคามชนิดนี้ยังสามารถเกิดกับผู้ที่บรรลุนิติภาวะได้ โดยเฉพาะคนที่มีชื่อเสียงโด่งดังและบุคคลสาธารณะ มีศิลปินทั้งไทยและต่างประเทศเคยประสบปัญหาโดนคุกคามบนโลกออนไลน์จนต้องหยุดใช้งานโซเชียลมีเดียของตัวเอง

เอ็ด ชีแรน (Ed Sheeran) ประกาศหยุดการใช้บัญชีโซเชียลมีเดียในปี 2015 เพราะเขาไม่อยากให้ข้อความด้านลบจากแฟนเพลงที่ไม่ชอบภาพลักษณ์ของเขาเป็นการส่วนตัว มาทำร้ายความรู้สึกของเขาจนส่งผลกระทบต่อการทำงานเพลง เช่นเดียวกับ อะเดล (Adele) ศิลปินชาวอังกฤษ ถอนตัวออกจากโซเชียลมีเดียตั้งแต่ปี 2012 เพราะมีคนจำนวนมากล้อเลียนเรื่องน้ำหนักของเธอ และพูดถึงลูกชายของเธอในแง่ลบ

หรือเมื่อเร็ว ๆ นี้ กรณี พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงพื้นที่ จ.เชียงราย ประสานงานช่วยเหลือน้อง ๆ ทีมหมูป่า 13 ชีวิต ได้รับผลกระทบจากคลิปที่ปล่อยออกมาไม่ครบถ้วนทางออนไลน์ สร้างความคลาดเคลื่อน ทำให้เกิดความเชื่อและความเข้าใจผิดขึ้นมาทันที

และไม่ใช่ว่า cyberbullying จะเกิดกับบุคคลสาธารณะเสมอไป คนธรรมดาที่ไม่มีชื่อเสียงก็ตกเป็นเหยื่อของภัยนี้ได้ เมื่อธันวาคม 2557 โลกออนไลน์และเว็บไซต์ชื่อดังหลายแห่งได้แชร์ภาพ

นายจิรวุฒิ ลิมปนาทไพศาล อายุ 28 ปี หนุ่มพนักงานโรงแรมแห่งหนึ่ง ย่านสุขุมวิท ใส่รองเท้าที่มีรูขนาดใหญ่ พร้อมได้ตั้งข้อสังเกตว่า รูรองเท้าดังกล่าวอาจจะเป็นที่เก็บซ่อนกล้อง เพื่อแอบถ่ายใต้กระโปรงสุภาพสตรี ผลลัพธ์จากการแชร์ ทำให้นายจิรวุฒิตกเป็นจำเลยของสังคม

ทั้งที่ความจริงไม่มีการติดกล้องที่รองเท้าแต่อย่างใด แต่การที่รองเท้าขาดเพราะไปช่วยเพื่อนซ่อมแอร์ จนเจ้าตัวต้องรุดเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางนา ถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด และเตรียมที่จะเอาผิดกับผู้ที่ลงโพสต์กล่าวหาจนตนเองได้รับความเสียหาย ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

สาเหตุของการเกิด cyberbullying เกือบทั้งหมด มักเริ่มก่อตัวจากความขัดแย้ง ความเห็นต่าง หรือมีกรณีพิพาทระหว่างคน 2 คน ลุกลามจนเป็นชนวนของการรังแกกันต่อในโลกออนไลน์ นอกจากนี้ ผู้คนยังเข้าใจว่าโซเชียลมีเดีย คือ พื้นที่ส่วนตัวระบายความรู้สึกได้ ถ้อยคำที่ใช้โพสต์จึงออกแนวรุนแรง โพสต์ เสียดสี หรือสร้างความเสียหายให้อีกฝ่าย และแสดงอารมณ์แง่ลบออกมาได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องเกรงใจ

ดังนั้น การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ทุกภาคส่วนในสังคมควรร่วมมือกันสร้างและปลูกฝังวัฒนธรรมใหม่ในสังคมไทย เพื่อสร้างจิตสำนึกในการใช้โซเชียลมีเดียในเชิงสร้างสรรค์ มากกว่าเป็นอาวุธในการทำลายคู่ขัดแย้ง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่ปราศจากการกลั่นแกล้งกัน ให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ลดคุณค่าในตัวเองของผู้อื่นลงเพื่อความสนุกสนาน