คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
โดย สร้อย ประชาชาติ
19 มิ.ย. เป็นวันต่อต้านการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์สากล (Stop Cyberbullying Day) ในสายตาคนไทยหลาย ๆ คน อาจจะมองว่า การกลั่นแกล้ง หรือบูลลี่ เป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่ไม่เห็นต้องใส่ใจ การเรียกเพื่อนว่า “อ้วนดำ” ไม่เห็นจะเป็นไร ยิ่งทุกวันนี้เปิดแอปพลิเคชั่น LINE ไปอ่านข่าวใน LINE TODAY ก็กดคอมเมนต์ข่าวได้สารพัด จะจิกหัวเรียก ส.ส. ที่ไม่ชอบหน้าว่า “อีเอ๋อ” “แมลงสาบ” ก็ง่าย ๆ แค่กด ๆ และนำพาข้อความเหล่านั้นไปสู่ผู้ใช้กว่า 36 ล้านคน นี่ยังไม่นับที่ส่งต่อกัน “เฉพาะกลุ่ม” ในโซเชียลมีเดียอื่น ๆ
ทำให้ผลสำรวจล่าสุดที่ “ดีแทค” ร่วมมือกับ Wisesight ผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดีย เก็บข้อมูลจาก Facebook, Twitter, Instagram, YouTube, ฟอรั่ม และบล็อกข่าวในประเทศ ช่วง พ.ย. 2561-ต.ค. 2562 พบว่า โลกออนไลน์ของไทย มีข้อความที่เกี่ยวข้องกับการบูลลี่ แกล้ง ล้อ และเหยียดราว 700,000 ข้อความ หรือเฉลี่ย 39 ข้อความต่อนาที และมีการขยายความต่อ ผ่านการรีทวีต ไลก์ แชร์ ทำให้เกิดการขยายข้อความดังกล่าวทั้งสิ้นราว 20 ล้านรายการ
จึงไม่ต้องแปลกใจที่พบว่า แค่ “เด็กอนุบาล” ก็ถูกบูลลี่แล้ว แต่ช่วงวัยที่ถูกบูลลี่มากที่สุด คือ “มัธยม” ซึ่งข้อความบูลลี่ ที่พบเจอไม่ใช่จำนวนน้อย ๆ อย่างเด็กอนุบาลต้องพบกับการบูลลี่ถึง 2,007 ข้อความ ขณะที่เด็กมัธยมถูกบูลลี่ 11,441 ข้อความ
โดยลักษณะการบูลลี่ที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียของไทยนั้น 36.4% เป็นการบูลลี่ด้านรูปลักษณ์ ตั้งแต่ขี้เหร่ หน้าเบี้ยว
อีก 31.8% เป็นเรื่องเพศวิถี ไม่ว่าจะเป็น ตุ๊ด สายเหลือง กะหรี่ แมงดา
10.2% เป็นการบูลลี่ทางความคิดและทัศนคติ ส่วนที่เหลือเป็นด้านอื่น เช่น รสนิยมความชอบ ฐานะการเงิน
ฉะนั้น อย่าแปลกใจ ถ้าจะได้ยินเด็ก “อนุบาล” ใกล้ตัวคุณ ล้อเลียนคนอื่นด้วยคำพูดเหล่านั้น และไม่ใช่แค่ “เลียนแบบ” ผู้ใหญ่ แต่พูดอย่าง “เข้าใจ” ความหมาย และต้องการให้คนอื่นรู้สึก “อับอาย-ต่ำต้อย”
ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า แม้แต่เด็กเล็ก ๆ ก็บูลลี่กันเพราะ
“เด็ก ๆ ถูกปลูกฝังว่า ใครที่แตกต่างเป็นตัวตลก และเขาก็สนุกที่ได้แกล้งคนอื่นแล้วไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะสังคมเราเป็นสังคมที่ไม่ยอมรับความหลากหลาย และการไม่ต้องรับผิดชอบเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา”
ที่ทุกวันนี้บูลลี่กันอย่างไม่รู้ตัว เพราะมันถูกกลืนเข้าไปในวัฒนธรรมสังคมไทย
“ผศ.ดร.ธานี” กล่าวว่า บูลลี่คือรูปแบบการใช้อำนาจ เพื่อกลั่นแกล้ง ข่มขู่ หรือละเมิดคนอื่น โดยอาจจะไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ
“อย่างที่คอมเมนต์ในออนไลน์ เวลาที่รุมด่า ทำกิจกรรมบูลลี่โดยคนอื่นไม่รู้ว่าเราเป็นใคร หรือเมื่อรู้ เราก็ออกมาขอโทษทำให้ไม่ต้องรับผิดชอบ แล้วมันรวมไปถึงอำนาจจากการที่มีพ่อใหญ่ พ่อรวย ก็จะเห็นบูลลี่เต็มไปหมด เพราะเรากลืนพฤติกรรมบูลลี่เข้าไปในวัฒนธรรม”
บูลลี่เป็นส่วนผสมของ 2 อย่าง หนึ่งคือ “การกลั่นแกล้ง” ในสังคมไทยการกลั่นแกล้งคือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ยิ่งสนิท ยิ่งจะแกล้งเขาได้มาก อีกด้านหนึ่งคือ “ใช้อำนาจ” ไปทำร้ายคนบางคน และไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะเมื่อถูกจับได้ก็ออกมาขอโทษ แล้วสังคมไทยก็อยู่ภายใต้สังคมที่พึงต้องให้อภัยแล้วก็จบ ๆ กันไป เพราะถ้าไม่ให้อภัย ก็จะมีคนต่อว่าเต็มไปหมด นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมคนไทยไม่ค่อยรู้สึกเรื่องบูลลี่ ไม่ได้ตระหนักว่าเป็นสิ่งที่ผิด และพึงถูกลงโทษ พึงถูกทำให้หยุด
“ถ้าปล่อยให้การบูลลี่ถูกเพิกเฉย เท่ากับสังคมไทยยอมรับให้ใช้อำนาจเพื่อกลั่นแกล้ง ข่มขู่ และละเมิดไปเรื่อย ๆ”
“ขณะที่ในโลกออนไลน์ทำให้การบูลลี่ภายในกลุ่มเล็ก ๆ กลายเป็นกลุ่มใหญ่ หรือบูลลี่ใครในที่สาธารณะก็ได้ และเมื่อโลกออนไลน์ไม่มีกติกาใด ๆ ก็จะกลายเป็นพื้นที่ปะทะของความรุนแรง” ผศ.ดร.ธานีกล่าว
เราจะปล่อยให้สภาพสังคมเป็นแบบนี้ต่อไป ปล่อยให้ “ใครอ่อนแอก็แพ้ไป” เหมือนเช่นกรณีที่มีเด็กน้อยถูกล้อเลียนจากเพื่อน หรือแม้แต่กระทั่งจาก “ครู” ที่โรงเรียน แล้วฆ่าตัวตาย ที่จะมีกรณีตัวอย่างให้ได้อ่านเยอะมาก แค่เปิด google แล้วพิมพ์ “เด็กผูกคอตาย + ล้อเลียน”
เราจำเป็นต้องฝึกฝนและทำให้เด็กเข้าใจว่า “กร้านโลก = เข้มแข็ง” ความสุภาพและคิดในแง่บวกคือ “โลกสวย-กระแดะ” เช่นนั้น เราจะเหลือรอด “ผู้ใหญ่” ในสังคมที่มีทัศนคติและพฤติกรรมเช่นไร
เราอาจจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ยาก เพราะแม้แต่ “ครู” ในโรงเรียน ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เข้ามาวนเวียนในชีวิต ยังคงคุ้นชินกับการบูลลี่ผู้น้อย
แต่เราเปลี่ยนแปลง “ครอบครัว” และ “ตัวเอง” ได้ ทุกคนเริ่มได้ตั้งแต่ “ส่วนเล็ก ๆ ที่อยู่ในอำนาจของตัวเอง”
หากใครยังไม่รู้จะเริ่มอย่างไรดี แวะเข้าไปที่เว็บไซต์ของ “dtac Safe Internet” มีตัวช่วยทั้งสำหรับผู้ปกครองและเด็ก ๆ ในการรับมือกับการบูลลี่ โดยเฉพาะ cyberbully ที่เรียกได้ว่าเป็นภัยอันหนักอึ้ง เกินกว่ามือน้อย ๆของเด็ก ๆ จะรับไว้ไหว รวมถึงข้อแนะนำในการเป็น “พลเมืองเน็ต” ที่มีความรับผิดชอบ